ผ่านเข้าสู่ปี 2563 ดูเหมือนจะพบเจอแต่ข่าวร้อนๆ แล้งๆ แรงๆ ทุกวัน ทั้งจากที่เป็นภัยธรรมชาติ และภัยน้ำมือมนุษย์
ไล่เรียงมาตั้งแต่เรื่องไฟป่าออสเตรเลียครั้งรุนแรงที่สุด
ภัยแล้งในบ้านเราที่หนักหนาชนิดมาเร็วและมาแรง
หรือเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านทำทำท่าจะบานปลาย และน่ากังวลว่าอาจกลายเป็นชนวนสงคราม !
เรียกว่ามีเรื่องเครียดทั้งระดับประเทศและระดับโลกให้ได้ปวดหัวรับปีชวดกันทีเดียว
แต่ที่สลดใจและตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องที่ทำให้ทั่วโลกต้องร่วมใจกับภาวนาและติดแฮชแทคกันว่าPrayForAustraliaก็คือกรณีไฟป่าที่ออสเตรเลีย เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากมายเหลือเกิน และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ง่ายๆ
ล่าสุดมียอดรวมผู้เสียชีวิตจากไฟป่ารวม 25 คน ทำลายบ้านเรือนหลายพันหลังและทำให้ในหลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เผาผลาญพื้นที่ไปแล้วกว่า 19.8 ล้านเอเคอร์ทั่วประเทศ
ขณะที่บีบีซีสื่ออังกฤษรายงานถึงชีวิตสัตว์ป่าในออสเตรเลียที่มีการคาดการณ์ว่าร่วม 480 ล้านตัวเสียชีวิตในไฟป่ารอบนี้ โดยอ้างอิงศาสตราจารย์คริสดิคแมน( Prof. Chris Dickman) ผู้เชี่ยวชาญความหลากหลายทางชีววิทยาของออสเตรเลีย(Australian Biodiversity)ประจำมหาวิทยาลัยซิดนีย์(University of Sydney) กล่าวว่า
“เราได้ประเมินว่าในพื้นที่ 3 ล้านเฮคเตอร์ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่ถูกไหม้ไปเมื่อ 10 วันก่อนหน้าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลาน มากถึง 480 ล้านตัวเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากไฟป่า”
ศ.ดิคแมน อธิบายว่าตัวเลขนี้พูดถึงจำนวนสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ที่กำลังตายเพราะไฟป่าโดยใช้วิธีประเมินจากการที่ออสเตรเลียเฉลี่ยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมราว 17.5 ตัว สัตว์ปีก 20 ตัว และสัตว์เลื้อยคลาน 129.5 ตัว ต่อพื้นที่ 10,000 ตร.ม. ก่อนจะใช้วิธีคูณเข้ากับจำนวนพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้เสียหายไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าสัตว์ขนาดเล็กรวมถึงสัตว์เลื้อยคลาน ที่ต้องอาศัยในป่าเป็นหลักจะได้รับผลกระทบ ส่วนสัตว์ใหญ่อย่างจิงโจ้หรือนกอีมูยังพอเอาชีวิตรอดจากเปลวเพลิงได้บ้าง แต่ทว่าสัตว์เล็กที่พึ่งป่าอาจจะติดอยู่บริเวณแนวไฟ แต่อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียชี้ว่า ถึงแม้ว่าสัตว์ป่าที่รอดชีวิตจากไฟป่ามาได้แต่อาจต้องเสียชีวิตในภายหลังเพราะขาดน้ำและที่อยู่
ไฟป่าครั้งนี้แม้สาเหตุหลักจะมาจากความแห้งแล้งและอุณหภูมิที่สูงผิดปกติ อุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกๆ 1 องศาจะทำให้เกิดฟ้าผ่าถี่ขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ในห้วงเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่ไฟไหม้ป่าอเมซอน แคลิฟอร์เนีย มาจนถึงที่ประเทศออสเตรเลีย
ผลกระทบจากไฟป่าครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต และอีกนับล้านคนกำลังเผชิญกับฝุ่นควันพิษ ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
สำนักงานรัฐบาลกลางออสเตรเลียที่รับผิดชอบต่อการจัดการฉุกเฉินได้สั่งปิดชั่วคราวสำนักงานในกรุงแคนเบอร์รา หลังคุณภาพอากาศอยู่ในขั้นวิกฤตซึ่งพบว่ามีอัตราดัชนีคุณภาพอากาศขั้นวิกฤตพบว่าสูงกว่า 340 ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยออสเตรเลียให้เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่อยู่ในส่วนสำคัญให้อยู่ห่างจากสำนักงานในกรุงแคนเบอร์รา ส่วนกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของตัวเองไม่ต้องไปทำงานในที่ตั้งของกระทรวงและสำนักงานด้านการให้บริการดูแลเด็กออสเตรเลียปิดลงเช่นกัน
YWCA แคนเบอร์รา ซึ่งบริหารศูนย์ให้บริการดูแลเด็กออสเตรเลียจำนวนมากก็ปิดการให้บริการดูแลเด็กทั้งหมดในเขตออสเตรเลียนแคปิตอล เทอร์ริทอรีย์ (Australian Capital Territory)ซึ่งมีกรุงแคนเบอร์ราตั้งอยู่ และเมืองเมอร์รัมบาเตแมน(Murrumbateman) ในพื้นที่ห่างไกลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ เนื่องมาจากสภาพหมอกควันพิษที่เป็นอันตราย
ดร.โทมัสนิวซัม นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย กล่าวภายหลังที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศว่า
“จากข้อมูลที่เรามีอยู่นั้น ชัดเจนว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ หากมนุษย์ไม่เร่งแก้ไข มีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าที่เคยพบเจอกันมาอย่างมาก เช่นบางพื้นที่ของโลกอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป”
หลังจากติดตามข่าวคราวเรื่องนี้ด้วยความสลดใจและก็อยากส่งกำลังใจพร้อมกับผู้คนจากทั่วโลก จึงอยากนำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียนร่วมกันในครอบครัวด้วย
อยากชวนพ่อแม่ถือโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ร่วมกันต่อกรณีดังกล่าว ปลูกฝังให้ลูกหลานของเราได้ตระหนักว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่พวกเขาต้องเติบโตขึ้นไปในโลกที่พวกเขากำลังเผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติ และมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเช่นกัน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังสถานการณ์ร้ายแรงนี้ยุติลง มนุษยชาติจะต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ต่อจากนี้อย่างแน่นอน และประเทศออสเตรเลียต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้าง
หนึ่ง -โลกร้อนขึ้น สภาพอากาศแปรปรวนต่อเนื่อง
สอง -สัตว์ป่าล้มหายตายจาก บางประเภทอาจถึงขั้นสูญพันธุ์
สาม -บ้านเรือนไฟไหม้หรือได้รับผลกระทบไร้ที่อยู่อาศัย
สี่ -อากาศไม่ดี มีมลพิษ
ห้า -นักท่องเที่ยวหายไปจำนวนมาก รายได้ของประเทศก็จะหายไป
หก - สภาวะจิตใจของผู้คนที่ต้องเผชิญกับความเครียด
เจ็ด - สุขภาพร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้
แปด - ผืนป่าหายไปจำนวนมาก ระบบนิเวศมีปัญหา
สิ่งที่ควรปลูกฝังให้กับลูกหลานของเราได้ซึมซับต่อสถานการณ์
ประการแรก -ภัยธรรมชาติเป็นเรื่องใกล้ตัว
สิ่งที่ควรพูดคุยกับลูกก็คือ ให้เขาได้ตระหนักว่าภัยธรรมชาติไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่ผู้คนไม่คาดคิดว่าจะเกิดก็เกิดขึ้น และในยุคสมัยของลูกก็จะพบเจอะเจอได้บ่อยจากทั่วทุกมุมโลก ควรให้เขาได้ติดตามและเฝ้ามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากทั่วสารทิศด้วย
อาจจะทบทวนกับลูกถึงเหตุการณ์ในบ้านเราประกอบด้วย เช่น เหตุการณ์สึนามิ ที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในบ้านเรา แต่ท้ายที่สุดก็เกิดขึ้นจนได้ในปี 2547 ที่ต้องตกตะลึงกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์พัดเข้าหาชายฝั่งทะเลอันดามันคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก และเจ้าคลื่นยักษ์นี้ก็มีสาเหตุมาจากผลของแผ่นดินไหว ผลกระทบของการเกิดแผ่นดินไหวส่วนใหญ่มักเป็นอันตรายต่อสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือนทรุดพังทลายลงมา และถ้าหากแผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นใต้ท้องทะเลก็อาจนำไปสู่การเกิดคลื่นสึนามิได้
ประการที่สอง -เรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรมชาติ
จะเห็นได้ว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลกจริงๆ สภาพอากาศแปรปรวน คุณอาจชวนลูกพูดถึงสภาพอากาศของแต่ละประเทศทุกครั้งที่มีโอกาส เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวด้วยสภาพอากาศในบ้านเรา ลองถามว่าทำไมฤดูหนาวกลับร้อน และบางวันก็มีฝนตกอีกต่างหาก หรือให้เขาลองคิดว่าที่ไฟไหม้ป่าที่ออสเตรเลียน่าจะเป็นเพราะอะไร สภาพอากาศเป็นอย่างไร หรืออาจจะชวนคุยเรื่องพายุหิมะที่เกิดขึ้นที่ยุโรป หิมะที่ตกหนักในประเทศจีน และภัยธรรมชาติอีกมากมายที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก น่าจะมีสาเหตุจากอะไร นำมาเป็นประเด็นพูดคุยกัน
ที่สำคัญพ่อแม่ควรพูดนำเข้าสู่ประเด็นด้วยว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมนุษย์มีส่วนมากน้อยอย่างไร สภาวะโลกร้อนมีส่วนด้วยหรือไม่ จากนั้นก็สอนให้ลูกช่วยลดภาวะโลกร้อน รวมถึงการใช้พลังงานธรรมชาติทุกชนิดอย่างรู้คุณค่าและประหยัดทรัพยากร เช่น น้ำ ไฟ เท่าที่จะทำได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติไปด้วย
ถือโอกาสเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว โดยการพูดคุยกันถึงสาเหตุของการเกิดภัยธรรมชาติครั้งนี้ว่าน่าจะเกิดจากอะไรบ้าง ถามคำถาม และให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย เป็นการฝึกให้เขาได้เรียนรู้ว่าทุกเหตุการณ์มันมีที่มาที่ไป และมีเหตุผลที่สัมพันธ์กันอยู่เสมอ
ประการที่สาม- ความสูญเสียส่งผลอย่างไร
ควรเปิดประเด็นให้ลูกได้คิดต่อด้วยว่าสภาวะจิตใจของผู้คนที่ประสบภัยเป็นอย่างไร จะหนักหนาเพียงใด เพื่อให้เขาได้มองเห็นว่าในปัญหาหนึ่งปัญหา มันส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง แม้เหตุการณ์ต่างๆ จะได้รับการแก้ไขและเยียวยาไปบ้างแล้ว แต่ปัญหาและผลกระทบยังคงอยู่ เป็นการฝึกให้เด็กมองปัญหาให้รอบและมองให้ไกล ไม่มองเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
ประการที่สี่- สอนวิธีการป้องกันตัว
เมื่อลูกตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่คืบคลานเข้ามาใกล้ตัวจริงๆ ก็ควรให้เขาเรียนรู้ว่าไม่ควรตั้งอยู่บนความประมาท สอนลูกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยงแท้ ต้องเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์
ถ้าเกิดเราอยู่ในสถานการณ์ เราควรจะอยู่ในสถานที่ปลอดภัยและไม่ไปอยู่ในจุดเสี่ยง ติดตามความเคลื่อนไหวและปฏิบัติตัวอย่างไรให้ปลอดภัย หมายรวมไปถึงการสอนให้ลูกหัดสังเกตและมีทักษะในเรื่องความปลอดภัยด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สอนให้สังเกตสัญญาณต่างๆ ที่ธรรมชาติเตือนเรา เช่น เวลาน้ำทะเลพัดเข้ามาคลื่นสูงและยุบฮวบหายไป ทิ้งหาดให้ยาวเหยียด มีปลาเกยตื้น อย่าวิ่งลงไปดู เพราะแสดงถึงภัยทางทะเล
ประการที่ห้า- สอนให้ลูกคิดถึงผู้อื่น
พ่อแม่ลองเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลูกฟัง ให้ดูจากภาพข่าวก็ได้ ชวนลูกพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วลองตั้งคำถามโดยดูวัยของลูกด้วย แล้วถามว่าลูกรู้สึกอย่างไร
จากนั้นลองโยนคำถามต่อมา คือ แล้วเราจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเหล่านี้ได้อย่างไร หรืออาจยกสถานการณ์ว่าถ้าเราเป็นผู้ประสบภัย จะทำอย่างไรกันดี ปล่อยให้ลูกได้ฝึกคิด แสดงความคิดเห็น และชวนลูกต่อยอดด้วยความคิด โดยการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง และต้องไม่มีคำตอบผิดถูก เป็นการฝึกให้ลูกคิดหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยพ่อแม่อาจช่วยแนะนำว่าถ้าไม่ได้แบบนี้เป็นอีกแบบได้ไหม
ประการที่หก- ฝึกจิตอาสา
สอนให้ลูกรู้จักการให้ การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมไปถึงการสอนให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจากข่าวผู้ประสบภัยสถานการณ์จริง อาจจะชี้ให้เห็นถึงผู้คนที่อาสาสมัครไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย เขาช่วยเหลือผู้อื่นชนิดที่ไม่หวังผลตอบแทน พ่อแม่ควรจะยกย่องคนเหล่านั้นให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอ และอาจจะชักชวนให้ลูกร่วมเป็นอาสาสมัครด้วยก็ได้
การให้ลูกได้เรียนรู้จักการเป็น “ผู้ให้” เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกเรื่องการมีจิตอาสา
ถ้าครอบครัวนำมาเป็นบทเรียนร่วมกันในครอบครัว เท่ากับเป็นการปลูกฝังเรื่องจิตอาสาให้กับลูกตั้งแต่เล็ก ที่สำคัญ ควรบอกเขาด้วยว่า แม้เงินจะน้อยนิด แต่เมื่อรวบรวมกันมีคนจำนวนมาก ก็จะทำให้มีเงินจำนวนมากขึ้น และสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้เช่นกัน ทำให้เขาเรียนรู้ว่าจำนวนเงินยังไม่สำคัญเท่ากับจิตใจที่คิดจะ “ให้”
อาจชี้ให้ลูกได้เข้าใจว่าผู้คนที่ประสบเหตุมีความยากลำบากขนาดไหน ให้เขาได้มีโอกาสคิดตาม และลองตั้งคำถามว่าถ้าเป็นลูกหรือครอบครัวของเราจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไร รวมถึงสิ่งที่เราพอจะช่วยเขาได้มีอะไรบ้าง ทุกครั้งที่มีภัยธรรมชาติก็จะมีการรับบริจาคสิ่งของและเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ควรส่งเสริมและปลูกฝังให้ลูกๆ รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยการร่วมบริจาคหรือฝึกให้ช่วยเหลือบางด้าน ผ่านประสบการณ์จริง
ถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่ควรจะตระหนักถึงเรื่องภัยธรรมชาติอย่างจริงจังเพราะมีสัญญาณแรงๆ จากธรรมชาติส่งมาหลายครั้งแล้ว ความสูญเสียก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่าลืมว่าผลของภัยธรรมชาติที่สั่งสมมาจากภัยทำลายธรรมชาติของมนุษย์นี้ตกมาถึงมนุษย์รุ่นลูกหลานของเราแน่นอน!
ไหนๆ ก็ใกล้ถึงวันเด็กแล้ว ถือโอกาสสร้างการเรียนรู้เรื่องภัยธรรมชาติให้กับเด็กๆ ด้วยก็ดีนะคะ