xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ออสซี่เถียงคอเป็นเอ็น “วิกฤตไฟป่า” ไม่เกี่ยวกับ “โลกร้อน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - รัฐบาลออสเตรเลียแถลงย้ำจุดยืนเดิมว่าวิกฤตไฟป่าซึ่งลุกลามกินพื้นที่พอๆ กับประเทศเกาหลีใต้ “ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง” กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แม้จะเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนและได้รับคำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์ก็ตาม

นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน และ แอนกัส เทย์เลอร์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยืนยันว่าออสเตรเลียไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้เด็ดขาดจริงจังยิ่งกว่านี้ แม้จะเผชิญปัญหาภัยแล้งและไฟป่าที่รุนแรงมา 3 ปีติดแล้วก็ตามที

ในทางตรงกันข้าม พวกเขาเชื่อว่าออสเตรเลียซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียง 1.3% ของโลก แต่ยังเป็นอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐฯ เมื่อเทียบต่อหัวประชากร ควรจะได้รับเสียงชื่นชมด้วยซ้ำที่สามารถลดปล่อยคาร์บอนได้เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2020

“ในส่วนของการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ออสเตรเลียจำเป็นต้องทำและได้ทำอยู่แล้ว แต่ไฟป่าถือเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนควรต้องสามัคคีกัน ไม่ใช่แตกแยก” เทย์เลอร์ ซึ่งลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของศูนย์ควบคุมไฟป่าที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ระบุในอีเมลที่ส่งถึงรอยเตอร์วันนี้ (7 ม.ค.)

รัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า หากลดการปล่อยคาร์บอนลงอีกจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมถ่านหินและก๊าซ

ปีที่แล้วออสเตรเลียส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวมากเป็นอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าแชมป์เก่าอย่างกาตาร์

“สำหรับประเทศส่วนใหญ่แล้ว การกำหนดนโยบายลดปล่อยคาร์บอนที่จะไปเพิ่มค่าครองชีพ ทำลายการจ้างงาน ลดรายได้ และขัดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ถือเป็นสิ่งที่รับไม่ได้” เทย์เลอร์ เขียนในบทความซึ่งลงหนังสือพิมพ์ ดิ ออสเตรเลียน เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.

คำแถลงของ เทย์เลอร์ มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลออสเตรเลียถูกตำหนิติเตียนในเวทีประชุมสภาพอากาศของยูเอ็นที่กรุงมาดริดว่าไม่พยายามลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง

องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมชี้ว่า ออสเตรเลียจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามที่ตั้งเจตนารมณ์ไว้ก็ต่อเมื่อนำเครดิตคาร์บอนที่มีอยู่เดิมจากพิธีสารเกียวโตปี 1992 มาหักลบกับเป้าหมาย

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ไฟป่าในออสเตรเลียมีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้

“ปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรง อัตราการลุกลาม และพื้นที่ของไฟป่าก็คืออุณหภูมิ และออสเตรเลียก็เพิ่งเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นประวัติการณ์” มาร์ค ฮาวเดน ผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ระบุ

เป็ป คานาเดลล์ ผู้อำนวยการ Global Carbon Project อ้างข้อมูลจากดาวเทียมนาซาซึ่งพบว่า สถานการณ์ไฟป่าซึ่งลากยาวมาตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่แล้วทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศราว 350 ล้านตัน หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากฝีมือมนุษย์ที่ปลดปล่อยโดยออสเตรเลียในแต่ละปี




กำลังโหลดความคิดเห็น