xs
xsm
sm
md
lg

“ไมตรี จงไกรจักร์” สูญเสียญาติพี่น้อง 40 ชีวิตจาก “สึนามิ” สู่ผู้ผลักดันแนวคิด “ชุมชนจัดการภัยพิบัติ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



... รายงานพิเศษ

26 ธันวาคม 2547 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยรู้จักคำว่า “สึนามิ”

เมื่อคลื่นยักษ์ที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ที่เกาะสุมาตรา ก่อตัวใต้ท้องทะเลอันดามัน เดินทางประมาณพันกิโลเมตร ยกตัวขึ้นสูงนับ 10 เมตร พัดเข้าถล่ม 6 จังหวัดริมทะเลอันดามันของไทย โดยไร้สัญญาณเตือนใดๆ

นับเฉพาะในประเทศไทย 5 พันกว่าชีวิต ถูกพบเป็นร่างไร้วิญญาณกระจัดกระจายไปทั่ว อีกกว่า 5 พันชีวิตสูญหายยังไร้ร่องรอยจนถึงบัดนี้ โดยมี “บ้านน้ำเค็ม” ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นจุดที่เสียหายหนักที่สุด

ทุกครอบครัวแตกสลาย ญาติพี่น้องทั้งสูญหายและล้มตาย ผู้คนที่รอดชีวิตไร้ที่อยู่อาศัย เนื้อตัวเต็มไปด้วยโคลน อยู่ด้วยความหวาดผวา ท่ามกลางข่าวลือว่าคลื่นยักษ์จะถล่มเข้ามาซ้ำอีก

พวกเขาใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตื่นจากฝันร้ายมาได้ หรือบางคน ยังคงถูกฝันร้ายเมื่อ 15 ปีก่อนตามหลอกหลอนมาถึงวันนี้

นั่นเป็นเหตุผลที่อนุสรณ์สถานสึนามิ ตั้งอยู่ที่ “บ้านน้ำเค็ม” ... ที่นี่จึงเป็นพื้นที่จัดงานรำลึกสึนามิทุกๆ ปี


เมื่อเป็นชุมชนที่สูญเสียมากที่สุด “บ้านน้ำเค็ม” จึงเป็นพื้นที่ที่ถูกทดสอบเครื่องมือเตือนภัยต่างๆมาตลอดเช่นเดียวกัน การทดสอบทั้งหลายทำให้ชาวบ้านน้ำเค็ม เป็นกลุ่มคนที่มีองค์ความรู้เรื่องการจัดการภัยพิบัติมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ในวาระ 15 ปี สึนามิ จึงกลายเป็นเวทีผลักดันเพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ศูนย์ภัยพิบัติชุมชน” ทำให้ชุมชนที่เสี่ยงภัยต่างๆเข้มแข็ง ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น

ไมตรี จงไกรจักร์ ในวัย 31 ปี เมื่อปี 2547 สูญเสียญาติพี่น้องกว่า 40 คน จากการมาถึงของคลื่นยักษ์ ความสูญเสียทั้งหมด ผลักดันให้เขากลายเป็นจิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในเหตุการณ์นั้น

เขากลายเป็นผู้นำชุมชน เรียนรู้เครื่องมือการจัดการภัยพิบัติต่างๆ ทั้งที่เป็นอุปกรณ์และเป็นองค์ความรู้ เขาเดินสายสัมมนา เดินทางไปตามพื้นที่ประสบภัยต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้หาแนวทางการจัดการภัยพิบัติที่เหมาะที่สุด

เขากลายเป็นประธานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เดินทางไปทั่วประเทศเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ เพื่อให้คำแนะนำกับชุมชนต่างๆที่กำลังประสบภัย

15 ปี หลังคลื่นยักษ์พรากคนที่เขารักไปกว่า 40 ชีวิต ไมตรี จงไกรจักร์ เดินหน้าผลักดัน “ศูนย์ภัยพิบัติชุมชน” สู่หน่วยงานภาครัฐ ให้กลายเป็นนโยบายรัฐที่ต้องมีเครื่องมือ มีงบประมาณสนับสนุนอย่างจริงจัง

เมื่อถามว่า “ศูนย์ภัยพิบัติชุมชน” ต้องมีอะไรบ้าง ไมตรี อธิบายเบื้องหลังก่อนว่า เขาไม่เชื่อว่า “รัฐ” จะสามารถรวมศูนย์การจัดการภัยพิบัติไว้ที่หน่วยงานรัฐเท่านั้น โดยยกตัวอย่างข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ

จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีชุมชนที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ชุมชนเสี่ยงภัย” ในประเทศไทย 4 หมื่นชุมชน จากจำนวนนี้ ปภ. สามารถเข้าไปอบรมให้ความรู้ได้ปีละ 200 ชุมชน

ซึ่งเขามองว่า คงต้องใช้เวลาประมาณ 100 ปี จึงจะอบรมได้ครบทุกชุมชน!


ไมตรี ยังไม่เชื่อว่า การอบรมเพียงครั้งเดียวแล้วหายไปเลยจะเป็นประโยชน์ เพราะมีงบประมาณจัดการอบรมแค่ตำบลละ 5 หมื่นบาท และต้องรออีก 5 ปี จึงจะสามารถตั้งงบประมาณเพื่ออบรมในตำบลเดิมได้อีกครั้ง

“ชุมชนหนึ่งอบรมครั้งเดียว อีก 5 ปี มาอบรมใหม่ ผมว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง มันต้องทำข้อมูลต่อเนื่อง ต้องทำแผนที่ภัยพิบัติมาประกอบการอบรม ต้องมีกิจกรรมหล่อหลอมให้คนในชุมชนมีความตื่นตัว มีการฝึกฝีมือ ซ้อมอย่างต่อเนื่อง เห็นภัยพิบัติที่อื่นแล้วอยากไปช่วยเหมือนกลุ่มอาสาสมัครกู้ภัย อย่างน้อยควรใช้เวลา 2 ปี ต่อชุมชน เพราะแบบนี้ผมถึงมองว่า กลไกของรัฐมันไม่พอ” ไมตรีกล่าว

เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไมตรีและเครือข่าย เดินทางไปช่วยในหลายพื้นที่ เขาเปิดรับบริจาคคนละ 200 บาท เพื่อให้ชุมชนที่ประสบภัยต่อเรือเอง ให้เรือที่มีเกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ชุมชนเป็นเจ้าของ และเพื่อให้ชุมชนมีเรือเป็นของตัวเอง

ไม่ต้องไปรอเรือจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งในภาวะวิกฤตบางครั้งก็เข้ามาในพื้นที่ไม่ได้ ที่มีก็ไม่พอ หรือต้องไปเบิกเรือที่ อบต.ที่มีอยู่แค่ตำบลละ 1 ลำ และมีปัญหาตามมาอีกหากเรือของรัฐเกิดความเสียหายในระหว่างที่นำไปใช้

ไมตรี ยกตัวอย่างชุมชนที่เขาเคยไปจัดตั้งองค์ความรู้ให้มี “ศูนย์ภัยพิบัติชุมชน” ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 30 ชุมชน เช่นที่ ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โดนพายุบ่อย

ที่นั่นถูกสร้างให้มีข้อมูลพื้นที่ แผนที่หลบภัย มีปฏิทินภัยพิบัติ มีข้อมูลครัวเรือนทั้งหมด มีข้อมูลอาชีพ มีข้อมูลปลา มีการอบรมพยากรณ์อากาศ มีข้อมูลสภาพอากาศทั้งหมด

ที่ชุมชนนี้มีการจัดตั้ง “อาสาเฝ้าระวังภัย” ทำหน้าที่แจ้งเตือน อพยพผู้ป่วยและคนชราได้ มีอุปกรณ์พื้นฐานบางอย่างในการปฐมพยาบาล และเมื่อถึงเวลาต้องแจ้งเตือน ก็จะใช้วิธีตีเกราะเคาะไม้

อีกแห่งที่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 มีโมเดลบ้านลอยน้ำ หรือบ้านที่สร้างใหม่ถูกยกสูง จัดตั้งทีมอาสากู้ภัยทางน้ำของชุมชนเอง

อาสาเหล่านี้ถูกนำมาฝึกอบรมที่ จ.พังงา ในน้ำทะเล ซึ่งดีกว่าการฝึกในแม่น้ำทั่วไป เพราะได้ความแข็งแรงมากกว่า ยากกว่า มีอุปสรรคมากกว่า


ในงาน 15 ปี สึนามิ ปี 2562 มีนิทรรศการศูนย์ภัยพิบัติชุมชน แบ่งระดับการสู้ภัยพิบัติเป็น 3 ขั้น

ขั้นแรก การเตือนภัยตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ คือ การสื่อสารเพื่อการเตือนภัย ให้พื้นที่เสี่ยงภัยได้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนแม่นยำกว่าการให้ข้อมูลกว้างๆ เขายกตัวอย่างว่า ในพื้นที่ประสบภัย อาจมีระบบเตือนภัยคนในพื้นที่ แต่คนนอกพื้นที่ที่เข้ามาไม่รู้

จึงมองเห็นตัวอย่างของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งประสานกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้มีระบบ SMS ส่งถึงนักท่องเที่ยวทุกคนที่เข้าพื้นที่ว่าต้องปฏิบัติตัวในพื้นที่นั้นอย่างไร มีข้อห้ามอะไร มีอันตรายอะไรบ้าง

ซึ่งระบบนี้น่าจะนำมาใช้กับการแจ้งเตือนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญ ก็เชื่อว่าน่าจะทำได้

ขั้นที่สอง ในขณะเกิดเหตุ ให้ความรู้ประชาชนว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร รวมทั้งต้องเตรียมตัวอย่างไร การเตรียมเสบียง การป้องกันความเสียหายของบ้านเรือน

และในภาวะวิกฤต ต้องใช้สื่อสารมวลชนเป็นเครือข่าย ช่วยกันส่งต่อข้อมูลที่สำคัญอย่างรวดเร็ว เพื่อเลือกอุปกรณ์ หรือเรือที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในการเข้าไปช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ขั้นที่สาม การฟื้นฟู ซึ่งไมตรีมองว่าจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ และต้องทลายกำแพงบางอย่างด้วย

เขายกตัวอย่างน้ำท่วมที่อุบลราชธานี ซึ่งมาถึงวันนี้งบประมาณในการซ่อมแซมบ้านเรือนยังติดระเบียบกระทรวงการคลัง ยังไม่ลงมาถึงผู้ประสบภัยเลย


15 ปี จากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เหตุการณ์ที่นำมาซึ่งการตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ใช้งบประมาณหลายพันล้านบาทลงทุนทำระบบเตือนภัย บอกว่าจะมีการส่งข้อมูลทาง SMS มีสัญญาณเตือนบนจอโทรทัศน์ ซึ่งบัดนี้ หายไปหมดแล้ว

แต่กลุ่มผู้ประสบภัยสึนามิ จัดงานปีนี้ พวกเขาไม่พูดแค่เรื่องสึนามิ ไม่ได้พูดถึงแค่ความปลอดภัยของพวกเขาเอง แต่พวกเขากำลังผลักดันองค์ความรู้ที่มาจากความสูญเสียของพวกเขาไปสู่พื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติทั่วประเทศ

พวกเขาเสนอองค์ความรู้ให้ “รัฐบาล” รับรู้ และหวังว่า จะยอมใช้จ่ายงบประมาณไปลงทุนกับความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ

ด้วยความหวังว่า “รัฐ” จะมองเห็นและให้ความร่วมมือ
กำลังโหลดความคิดเห็น