xs
xsm
sm
md
lg

สถานทูตแคนาดาหนุนการจัดการชุมชนเข้มแข็ง ต่อเรือใช้รับมือภัยน้ำท่วมใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบลราชธานี - เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย ลงพื้นที่ดูงานชุมชนเข้มแข็งรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมที่ อ.วารินชำราบ ซึ่งมีการต่อเรือใช้ขนย้ายสิ่งของและชาวบ้านด้วยตัวเอง เบื้องต้นจังหวัดเข้าสนับสนุนต่อเรือใช้ส่วนกลางเพิ่มอีก 10 ลำ



ที่ชุมชนเกตุแก้ว เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นายเจฟฟรีย์ ชีเนียร์ (Jeffrey Senior) ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย พร้อมเจ้าหน้าที่ของสถานทูตลงพูดคุยซักถามและดูการจัดการชุมชนเพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาให้การสนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วมผ่านไป โดยให้เงินสนับสนุนค่าอาหารและค่าน้ำมันแก่ทีมงานที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา

ขณะนี้ชาวชุมชนเกตุแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ได้ร่วมกับองค์กรการกุศลเข้ามาจัดตั้งโรงเรียนสอนต่อเรือ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับชาวชุมชนที่ต้องการต่อเรือไว้ใช้ขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ รวมทั้งใช้เป็นเรือขนถ่ายผู้ประสบภัยเข้าพักอาศัยตามศูนย์อพยพเพื่อใช้รับมือกับอุทกภัยในปีต่อๆ ไป เนื่องจากพื้นที่อำเภอวารินชำราบ และอำเภอเมืองอุบลราชธานีอยู่ในเขตน้ำท่วมซ้ำซาก

นายสังคม พันธ์สถิตย์ ครูภูมิปัญญาด้านการต่อเรือชาวบ้านคูสว่าง ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ กล่าวว่า พื้นที่ที่อาศัยอยู่เป็นเขตน้ำท่วมซ้ำซากของลุ่มแม่น้ำมูล ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับชาวชุมชนมีการต่อเรือไฟเบอร์ขนาดใหญ่ไว้ใช้เอง โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากทางราชการเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งอาจล่าช้าไม่ทันการณ์

เหมือนน้ำท่วมปี 2562 ที่เพิ่งผ่านไป ช่วงที่เกิดอุทกภัยยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยชาวบ้านขนย้ายสิ่งของ ก็ได้นำเรือที่ต่อไว้ 1 ลำลำเลียงข้าวของชาวบ้านออกไปได้ร้อยละ 40 ของชุมชน ส่วนที่เหลือได้รับความเสียหายทั้งหมดเพราะมีเรือเพียงลำเดียว แต่เรือลำนี้สามารถให้บริการรับส่งชาวบ้านเข้าออกบ้านเรือนและศูนย์อพยพได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

หลังน้ำท่วมผ่านไปเครือข่ายชุมชนน้ำท่วมในพื้นที่ได้มีการหารือและตกลงตั้งโรงเรียนสอนต่อเรือไฟเบอร์ขนาดใหญ่เท่ากับลำของชาวบ้านคูสว่างไว้ใช้เอง เพื่อใช้ขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้เมื่อเกิดน้ำหลากเข้าท่วมชุมชน ซึ่งได้ผลมากกว่ารอหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว เนื่องจากพื้นที่ประสบภัยกินบริเวณกว้าง การช่วยเหลือตัวเองจะลดความเสียหายให้ข้าวของเครื่องใช้ของชุมชน ซึ่งขณะนี้มีเรือที่ต่อไว้เตรียมรับมือในปีหน้าแล้วจำนวนหนึ่ง


ด้านนายอดิศร บุญมาก วิศวกรเครื่องกลชำนาญการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการสนับสนุนของภาครัฐ หลังชุมชนที่อยู่ในเขตน้ำท่วมแสดงความจำนงต้องการวัสดุใช้ในการต่อเรือ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้อนุมัติเงินจากกองทุนช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ได้รับการบริจาคมากว่า 3 แสนบาท เพื่อซื้อวัสดุมาให้ชาวบ้านใช้ต่อเรือเป็นกองกลางไว้ใช้งานในช่วงเกิดภัยน้ำท่วมจากที่มีอยู่เดิมแล้วเพิ่มขึ้นอีก 10 ลำ และผู้เข้ามาเรียนวิธีการต่อเรือยังสามารถต่อยอดไปสร้างอาชีพเสริมรับจ้างต่อเรือขายในอนาคตได้ด้วย

ทางราชการเห็นเป็นเรื่องดีที่ชาวชุมชนลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเองเพื่อลดความเสียหาย เพราะบางครั้งกว่าเรือจากภายนอกเข้ามาช่วยก็อาจไม่ทัน จึงได้เข้ามาสนับสนุนเงินสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ใช้ต่อเรือให้ชาวชุมชนทั้งหมดในครั้งนี้


สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีเกิดอุทกภัยใหญ่ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2562 โดยเป็นน้ำท่วมใหญ่อันดับ 2 ของจังหวัดรองจากเมื่อปี 2521 ซึ่งในปีนั้นแม่น้ำมูลมีระดับน้ำขึ้นสูงสุดถึงเกือบ 12 เมตร ส่วนปี 2545 น้ำสูง 10.77 เมตร สำหรับปี 2562 แม่น้ำมูลมีน้ำสูง 10.97 เมตร ทำให้มีชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูลทั้งในเขตอำเภอวารินชำราบ และอำเภอเมืองจมน้ำกว่า 60 ชุมชน


หลังน้ำลดชุมชนและภาคประชาสังคมได้ประชุมหารือ วางแผนรับมือภัยน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากแม่น้ำทุกสายของภาคอีสาน จึงหลีกเลี่ยงผลกระทบจากน้ำท่วมไม่ได้ จึงหาทางช่วยเหลือกันเองไว้ล่วงหน้าดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น