ปี 2020 ญี่ปุ่นจะคึกคักด้วยมหกรรม “โตเกียว โอลิมปิกและพาราลิมปิก” แต่สังคมสูงวัย ซึ่งต้องใช้งบประมาณด้านสวัสดิการจำนวนมหาศาล ฉุดรั้งให้ญี่ปุ่นไม่อาจพ้นจากสภาพ “อาทิตย์อัสดง” ได้
งบประมาณเป็นแม่บทที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในการสะท้อนทิศทางของประเทศ เพราะการใช้จ่ายของภาครัฐบ่งชี้ได้ชัดเจนถึงสิ่งที่แต่ละประเทศกำลังเผชิญอยู่ และรัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญมากที่สุด
ในปีงบประมาณ 2020 ที่เริ่มต้นในเดือนเมษายน รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีรายจ่ายทั้งหมด 102 ล้านล้านเยน (ราว 28 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงเกินระดับ 100 ล้านล้านเยนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยเงินที่จัดสรรสำหรับสวัสดิการสังคมมีมูลค่ากว่า 35 ล้านล้านเยน ซี่งหมายความว่า รัฐบาลญี่ปุ่นใช้งบประมาณมากกว่า 1 ใน 3 เพื่อสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ
จำนวนผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องใช้งบประมาณส่วนใหญ่เพื่อการนี้ จนแทบไม่เหลือเงินสำหรับการพัฒนาในด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อป้องกันภัยพิบัติ ทั้งแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ น้ำท่วม และพายุไต้ฝุ่น โดยในปีที่แล้ว ญี่ปุ่นถูกพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มมากกว่าปกติเกือบ 2 เท่า โดยเฉพาะไต้ฝุ่นฟ้าใสและไต้ฝุ่นฮากีบิส ที่สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับญี่ปุ่น
รัฐบาลของนายกฯ ชินโซ อาเบะ ยังต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คือการให้บริการเนอสเซอรีและการดูแลก่อนวัยเรียนฟรี และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในระดับอุดมศึกษา ให้นักศึกษาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
สวัสดิการคนชราอ่วม แต่ยังซื้ออาวุธเอาใจอเมริกา
รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งงบประมาณการป้องกันประเทศ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.3 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8 ในจำนวนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่นใหม่ ซึ่งจะนำมาใช้งานทดแทนเครื่องบินขับไล่ F-2 ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ นอกจากนี้ยังจัดสรรงบประมาณ เพื่ออัพเกรดเรือพิฆาตอิซูโมะ ให้เป็นเรือบรรทุกอากาศยาน รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35B ที่ผลิตโดยสหรัฐ ซึ่งจะนำไปใช้งานบนเรืออิซูโมะที่ปรับปรุงใหม่แล้ว
รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่าจำเป็นต้องยกระดับการป้องกันประเทศ เพื่อรับมือภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและจีน ทั้ง ๆ ที่ในญี่ปุ่นก็มีกองกำลังของสหรัฐตั้งอยู่ ซ้ำประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เรียกร้องให้ญี่ปุ่นเพิ่มเงินสนับสนุนให้กับกองกำลังสหรัฐหลายเท่าตัว ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังไม่มีท่าทีตอบรับแต่อย่างใด
กระตุ้นเศรษฐกิจหลังโอลิมปิก รับมือสงครามการค้า
สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นไม่ต่างจากทั่วโลก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเปิดศึกกับเกาหลีใต้ เนื่องจากความข้ดแย้งเรื่องการบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามโลก โดยถึงแม้ฝ่ายเกาหลีใต้จะเจ็บหนัก จากการควบคุมการส่งออกวัสดุเทคโนโลยีชั้นสูงจากญี่ปุ่นไปเกาหลี แต่ก็ใช่ว่าญี่ปุ่นจะไม่เจ็บ ทั้งผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น และการท่องเที่ยวต่างก็ได้รับผลสะเทือนเช่นกัน
รัฐบาลได้จัด “งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ” มูลค่าเกือบ 1.8 ล้านล้านเยน เงินก้อนนี้จะนำไปใช้การเสริมสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างสาธารณูปโภคเพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติ ลดผลกระทบจากสงครามการค้า และกระตุ้นเศรษฐกิจหลังมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ซึ่งการใช้จ่ายของภาครัฐ จะลดลงอย่างมาก หลังสิ้นสุดโครงการขนาดใหญ่นี้
เทคโนโลยีใหม่ก็จะได้รับงบประมาณด้วย งบประมาณราว 3,600 ล้านเยน จะจัดสรรให้กับการประยุกต์ใช้เครือข่าย 5G สำหรับการเกษตร และบริการทางการแพทย์
รายจ่ายมหาศาล รายได้มาจากไหน ?
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขึ้นภาษีผู้บริโภคเมื่อเดือนตุลาคม ทำให้รายรับของรัฐบาลที่มาจากเงินภาษีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 63 ล้านล้านเยน แต่รายได้จากภาษีคิดเป็นแค่ร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายเท่านั้น ส่วนที่เหลือรัฐบาลจำเป็นต้องออกพันธบัตรเพื่อหาเงิน ซึ่งหมายความว่าสร้างภาระหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซ้ำเติมสถานะที่ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่น มีภาระหนี้สูงมหาศาลมากที่สุดในโลก ถึงกว่า 200% ของ GDP
ร่างนโยบายงบประมาณของรัฐบาลญี่ปุ่นในปีนี้ ระบุว่า จะใช้มาตรการที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงจากสงครามการค้าและปัจจัยอื่น ๆ โดยมุ่งเป้าไปที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งนำโดยภาคเอกชน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศักยภาพในการแข่งขันของญี่ปุ่นถดถอยลงอย่างมาก บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นจำนวนมากต้องขายกิจการ หรือถอนตัวจากธุรกิจ Panasonic ยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น ยกธงขาวขายธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ให้บริษัทไต้หวัน เทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่เคยโดดเด่น วันนี้กลับตามหลังจีนและเกาหลีใต้ในหลายด้าน
แดนอาทิตย์อุทัยเคยยิ่งใหญ่ขึ้นมาด้วยความ “ทะนงตน” ของชาวญี่ปุ่น และการบริหารงานที่มีระบบระเบียบเคร่งครัด แต่วันนี้ความทะนงทำให้ญี่ปุ่นไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังถดถอย ระบบระเบียบที่มีกลับเป็นตัวถ่วง ทำให้ญี่ปุ่นปรับตัวไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ทัน จนไม่อาจหลุดพ้นจากสภาพอาทิตย์อัสดงได้.