“รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย” เตือนเศรษฐกิจปี 63 น่าห่วง หากรัฐบาลยังทำแบบเดิม เชื่อจงใจสร้างความไม่สมดุลระหว่างทุนใหญ่-เล็ก สถาปนาระบบเศรษฐกิจผูกขาดประชารัฐ หวังผลสืบทอดอำนาจอยู่ยาว
วันที่ 15 ม.ค. 63 รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในประเด็น “เศรษฐกิจไทยปี 63 จะป่วนทั้งระบบ ถ้ายังคิดและทำแบบเดิม!!”
โดย ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าวว่า เพื่อการสืบทอดอำนาจ สิ่งที่รัฐบาลทำประการแรก คือ สถาปนาระบบเศรษฐกิจผูกขาดประชารัฐ เพื่อให้เกิดอำนาจการควบคุม และยังตั้งเป็นชื่อพรรคการเมือง จนคนติดปากติดหู ลำดับแรกเขาทำ จัดการระบบเศรษฐกิจก่อน เพราะเป็นฐานของปากท้องชีวิต
ลำดับต่อมา เรื่องยุทธศาสตร์ ต้องการให้เติบโตไม่สมดุล หมายความว่า จงใจให้ไม่สมดุลระหว่างทุนใหญ่กับทุนเล็ก ให้ความสำคัญกับทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนผูกขาดในเครือข่าย และละเลยทุนขนาดกลางและย่อม คนตัวเล็ก พ่อค้าแม่ขาย ถูกวางไว้ในลำดับหลัง
แล้วก่อนที่จะจัดการสองเรื่องข้างต้นได้ ต้องจัดการกฎหมายก่อน เราจึงเห็นความพิลึกพิลั่น ถ้าดูที่มาที่ไป นายกฯใช้บริการคนที่เคยทำงานกับรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มาแล้วทั้งนั้น เอาหลักคิดนโยบายเก่าๆ มาปัดฝุ่นทำใหม่ เช่น อีอีซี ขับเคลื่อนไม่ได้ในสมัยทักษิณ พอมารัฐบาลทหารออกอำนาจพิเศษมาตรา 44 จัดการเลย การเปิดสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช
ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า ทหารเข้าใจดี หนีไม่พ้นเรื่องยุทธศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ถ้ายุทธศาสตร์ ยุทธวิธีถูกต้อง ผลลัพธ์ก็จะถูกต้อง แต่ตัวเลขฟ้องแล้วว่าผลลัพธ์นโยบายเศรษฐศาสตร์ไม่ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลยังยืนหยัดว่าตัวเองถูกต้อง มัวแต่ชมตัวเอง มันไม่ใช่นโยบายสาธารณะแล้ว นี่คือ สิ่งที่น่าเป็นห่วงในปี 63
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่รัฐบาลทำ ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อต่อจิ๊กซอว์ดูก็รู้ว่าต้องการอยู่ยาว การให้ทุนผูกขาดระยะยาว เปิดโอกาสสิทธิพิเศษสารพัด การจัดสรรทรัพยากร เกิดความไม่สมดุลระหว่างคนมีมากกับมีน้อย พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ความคิดเก่าที่ตกรุ่น ล้าหลังในองค์ความรู้เศรษฐศาสตร์พัฒนา หมดสภาพแล้วแต่ฝืนเอามาใช้ เป็นวิธีท็อปดาวน์เพื่อไม่ให้คนตรวจสอบ คสช. จึงเกิดความอัปลักษณ์ รวยกระจุกจนกระจาย