เนคเทคเปิดตัว “น้องขนมชั้น” หุ่นยนต์สอนปัญญาประดิษฐ์ครั้งแรกของอาเซียน ต่อยอดจาก KidBright บอร์ดสอนเขียนโปรแกรม และยังเป็นโอเพนซอร์ส เพื่อให้เป็นสื่อกลางในการพัฒนาแพลตฟอร์มการศึกษาทางด้านสะเต็ม ก่อให้เกิดผลกระทบไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงาน “วันรวมพลคน KidBright” (KidBright Developer Conference 2019: KDC19) ภายใต้แนวคิด “Empowered coding with AI ” เมื่อวันที่ 27 พ.ย.62 ณ สามย่านมิตรทาวน์
ภายในงานได้เปิดตัว KidBright AI หุ่นยนต์สอนปัญญาประดิษฐ์ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของอาเซียน โดย ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด หัวหน้าโครงการ KidBright และนักวิจัยสมองกลฝังตัว เนคเทค ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า KidBright AI เป็นการต่อยอดจาก KidBright แบบเดิมที่เป็นบอร์ดสอนเขียนโปรแกรมในรูปแบบบล็อก (Block base programing) โดยได้ผลิตต้นแบบ KidBright AI จำนวน 3 ชุด
ดร.เสาวลักษณ์อธิบายถึงการเขียนโปรแกรมในรูปแบบบล็อกว่า เด็กนักเรียนจะเขียนชุดคำสั่งในคอมพิวเตอร์ที่เป็นแยกเป็นบล็อก แล้วนำมาเรียงต่อกัน คำสั่งที่รวมกันได้จะต่อกันได้เหมือนจิ๊กซอว์ แต่คำสั่งที่รวมกันไม่ได้จะต่อกันไม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ จากนั้นส่งชุดคำสั่งผ่าน USB เข้าสู่บอร์ด KidBright เพื่อแสดงผล
สำหรับ KidBright AI นั้น ดร.เสาวลักษณ์ระบุว่า มีการต่อยอดให้ติดตั้งกล้อง ล้อ ลำโพง ไมโครโฟน รวมถึงเซนเซอร์ต่างๆ ได้ โดยซ้อนบอร์ดวงจรขึ้นเป็นชั้นๆ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “ขนมชั้น” และการทำงานก็จะมีความซับซ้อนขึ้น เช่น ต้องการให้หุ่นยนต์จำหน้าคนได้ กล้องที่ติดอยู่บนหุ่นยนต์ก็จะถ่ายภาพเพื่อค้นหาคน แล้วนำไปเปรียบเทียบกับภาพโมเดล (model) ว่าใช่คนที่ต้องการหาหรือไม่ ซึ่งเป็นการฝึกใช้โมเดล
ด้าน นายอนุชิต ลีลายุทธ์โท หนึ่งในทีมผู้พัฒนา KidBright นำเสนอว่า เปิดตัว KidBright ครั้งแรกเมื่อปี 2561 โดยใช้การประมวลผลผ่านสมองกลฝังตัว เพื่อให้เด็กใช้งานง่าย และทำเป็นโอเพนซอร์สทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ เพื่อให้เมกเกอร์ (Maker) นำไปต่อยอดได้ เพื่อช่วยกันพัฒนา และในปี 2562 ได้ขยายจากสมองกลฝังตัวสู่เทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น โดยเปลี่ยนแพลตฟอร์มของฮาร์ดแวร์เพื่อให้รองรับการประมวลผลที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายมาก เพราะท้ายสุดต้องส่งมอบงานให้เด็ก ดังนั้น การใช้งานต้องไม่ยาก และไม่ซับซ้อน
ขณะที่ ดร.ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่เอไอมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของการคำนวณ การเก็บข้อมูล และการสื่อสารข้อมูลระหว่างกันด้วยความแม่นยำ ส่วนเรื่องการแข่งขันระหว่างมนุษย์กับเอไอนั้นก็เหมือนมนุษย์กับม้า ที่เราไม่สามารถวิ่งให้เร็วกว่าม้าได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะขี่ม้าได้ ซึ่งเอไอจะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในงานที่ซ้ำซาก
“ข้อดีของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือ ทำให้เราเปลี่ยนการเรียนในฐานะผู้ใช้ตามวิชาการการงานพื้นฐานอาชีพ เช่น การใช้พิมพ์งาน การสร้างตารางต่างๆ มาเป็นวิทยาการคำนวณ ซึ่งทำได้ 2 ปีแล้ว เราอยากจะเปลี่ยนให้เด็กคิดเป็น ฝึกให้เด็กคิดมากขึ้น เราเริ่มแล้ว แต่เรื่องเอไอยังทำได้น้อย ผมเองก็พยายามถ่ายทอด อบรมให้นักเรียน และพยายามผลักดัน KidBright ไปสู่ IoT (Internet of Things) ให้มากขึ้น” ดร.ยืนกล่าวภายในงานวันรวมพลคน KidBright
ทางด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ให้ข้อมูลว่า ได้รับอนุมัติงบประมาณปี 2560 ทำโครงการ KidBright เพื่อสร้างเครื่องมือช่วยสอนโค้ดดิ้ง และแพลตฟอร์มการศึกษาทางด้านสะเต็ม (STEM) โดยโครงการได้พัฒนาบอร์ดขึ้นมา 200,000 ชุด และส่งมอบให้โรงเรียนมัยมนำร่อง 2,000 โรงเรียนทั่วประเทศ และส่งมอบให้วิทยาลัยอาชีวศึกษา 200 แห่ง พร้อมทั้งอบรมสอนโค้ดดิ้งให้บุคลากรผู้ฝึกสอนตามภูมิภาคต่างไม่ต่ำกว่า 5,000 คน เพื่อกระกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนโค้ดดิ้งในโรงเรียนมัธยมของไทย
นอกจากนี้ ดร.ณรงค์ระบุว่า การเปิด KidBright ให้เป็นโอเพนซอร์ส เพื่อให้เป็นสื่อกลางในการพัฒนาแพลตฟอร์มการศึกษาทางด้านสะเต็ม ก่อให้เกิดผลกระทบไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท มีผู้ประกอบการไทยผลิตแลจำหน่ายบอร์ด KidBright และบอร์ดขยายความสามารถหลายราย ประกอบด้วย บริษัท กราวิเทค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตบอร์ดหลักและบอร์ดขยายความสามารถ บริษัท INEX ผู้ผลิตบอร์ดขยายความสามารถ i-KB1 และ บริษัท GoGo Board Thailand ผู้ผลิตบอร์ดขยายความสามารถ GoGo Bright ซึ่งความร่วมมือของผู้ประกอบการไทยและกลุ่มเมกเกอร์ (Maker) นี้ ทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศที่ต่อกันไปอย่างต่อเนื่อง