ชื่อเต็มของกรุงเทพฯที่ขึ้นต้นว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา...” ซึ่งมีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มี่ใครรบชนะได้” และตั้งแต่ปี ๒๓๒๕ ที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมา ก็ยังไม่เคยมีอริราชศัตรูรายใดเข้ามาเหยียบถึงชายพระนครได้
แม้ในปี ๒๓๒๘ ขณะที่ยังไม่ทันสร้างกำแพงพระนคร พม่ากรีฑาพลถึง ๑๕๐,๐๐๐ คน ยก ๙ กองทัพเข้ามาทั้งทางเหนือ ทางใต้ และตะวันตก ขณะที่เรามีกำลังพลเพียง ๓๐,๐๐๐ กว่าคนเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงใช้ยุทธวิธีส่งกองทัพเล็กๆไปยันกองทัพพม่าทางเหนือถ่วงเวลาไว้ ส่วนทางใต้ปล่อยให้พม่ายึดไปก่อน แล้วส่งกองทัพใหญ่ของกรมพระราชวังบวรไปรับกองทัพหลวงของพม่าที่เมืองกาญจน์ ล่อให้เข้ามาในชัยภูมิที่ฝ่ายเราได้เปรียบ เมื่อตีกองทัพหลวงของพม่าแตกถอยกลับไปแล้ว ก็เร่งไปจัดการกับพม่าทีละทัพจนแตกพ่ายกลับไปทั้ง ๙ ทัพ
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์ คนสนิทของราชวงศ์ไทย เกิดน้อยใจที่ขอในสิ่งที่ต้องการไม่ได้ ถือโอกาสตอนเปลี่ยนรัชกาลคิดว่าจะชิงอำนาจกันวุ่นวาย จึงยกกองทัพเข้ามาโดยหลอกหัวเมืองรายทางว่าทางกรุงเทพฯเรียกให้เข้ามาช่วยรบกับอังกฤษ หวังแค่จะปล้นพระนครให้หายแค้นเท่านั้น ทางกรุงเทพฯรู้ข่าวก็ไปตั้งทัพรับที่ทุ่งส้มป่อย ซึ่งก็คือแถบพระตำหนักจิตรลดารโหฐานนี่เอง แต่เจ้าอนุก็เข้ามาได้แค่ทุ่งสัมฤทธิ์ นครราชสีมา ถูกคุณหญิงโมรวมพลคนโคราชต่อสู้จนต้องถอยกลับไป เข้ามาเหยียบชายพระนครไม่ได้อีกราย
เป็นเวลาถึง ๑๖๐ ปีก็ไม่เคยมีศัตรูรายใด้เข้ามาเหยียบถึงชายพระนครได้ แต่แล้วในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นซึ่งเตรียมแผนเปิดฉากสงครามมหาเอเซียบูรพา ขณะที่ทางยุโรปเยอรมันกับอิตาลีบุกอังกฤษกับฝรั่งเศสและอีกหลายประเทศในยุโรปแล้ว ญี่ปุ่นวางแผนถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฐานทัพใหญ๋ของอเมริกาที่ฮาวาย โดยไม่ประกาศสงครามก่อนให้รู้ตัว และจะส่งทหารขอผ่านไทยเพื่อไปยึดพม่าและมลายูของอังกฤษ แต่จะบอกไทยล่วงหน้าก็ไม่ได้กลัวความแตก จะให้ทูตเปิดเจรจาในเช้ามืดวันนั้นเลย เผอิญจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งถืออำนาจแต่ผู้เดียวไปตรวจราชการที่มณฑลบูรพา ก็คือเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ไม่มีใครให้คำตอบได้ ญี่ปุ่นก็รอไม่ได้เช่นกัน จึงยกพลขึ้นบกตลอดชายฝั่งด้านตะวันตกของอ่าวไทยตั้งแต่ปัตตานีจนถึงสมุทรปราการ ทหารไทยและคนไทยตลอดจนยุวชนทหารและลูกเสือไม่มีใครยอม ล้มตายกันทั้งสองฝ่าย จน ๐๗.๕๕ น.ของวันนั้นทูตญี่ปุ่นจึงได้พบนายกรัฐมนตรี หลังการประชุม ครม.ด่วน ตอนสายรัฐบาลไทยได้ขอให้ฝ่ายไทยวางอาวุธยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย ต่อมาก็จำใจต้องเซ็นสัญญาร่วมหัวจมท้ายกับญี่ปุ่นไปเลย แต่หลายคนก็ซ่อนความเต็มใจไว้ คิดว่าญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะแน่ เราจะได้ดินแดนที่อังกฤษกับฝรั่งเศสบีบบังคับเอาไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ คืนมา
เซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นไปแล้ว ยังไม่ทันประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ราว ๐๔.๐๐ น.ของวันที่ ๘ มกราคมต่อมา ในขณะที่คนกรุงเทพกำลังหลับสบายในอากาศของฤดูหนาว ก็ต้องสะดุ้งตกใจตื่นเพราะเสียงระเบิดกึกก้องกัมปนาท เครื่องบินหลายลำครางกระหึ่มอยู่บนฟ้า จากนั้นอีกครู่จึงได้ยินเสียงไซเรน สัญญาณภัยทางอากาศที่เรียกกันว่า “หวอ” ดังขึ้นอย่างโหยหวน เพราะคนเฝ้าสัญญาณก็ถูกปลุกขึ้นมาด้วยเสียงระเบิดเหมือนกัน เพิ่งลุกขึ้นมาหมุนสัญญาณด้วยมือ
คนกรุงเทพฯไม่คิดว่าจะต้องมาเผชิญกับเรื่องน่ากลัวขนาดนี้ อ่านแต่ข่าวที่อังกฤษฝรั่งเศสและเยอรมันถล่มกันในยุโรป ก็รู้ว่าพิษสงของมันขนาดไหน จึงต่างขวัญกระเจิงวิ่งกันลนลาน หามุมซุกตามซอกที่พอจะซุกได้ ท่ามกลางเสียงระเบิด เสียงเครื่องบินคราง กับเสียงปืนต่อสู้อากาศยาน เป็นเรื่องสยองขวัญครั้งแรกของคนกรุงเทพฯที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์สงคราม
เป้าหมายของการถล่มครั้งนี้ อยู่ที่จุดยุทธศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ทางด้านการคมนาคมขนกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่น ได้แก่ชุมทางรถไฟหัวลำโพงและสะพานพระพุทธยอดฟ้า แต่การทิ้งระเบิดในยุคนั้นยังสะเปะสะปะพอควร ระเบิดจึงไปลงแถวเยาวราชและตรอกบีแอลฮั้ว ตรงข้ามถนนกับวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี ทำให้บ้านเรือนพังไป ๓๐ หลัง คนตายไป ๑๑ คน บาดเจ็บ ๑๑๒ คน ตลอดวันรุ่งขึ้นจึงเห็นคนกรุงเทพฯหอบข้าวหอบของอพยพออกไปนอกเมืองเป็นขบวน เช่นสวนแถวฝั่งธน บางกะปิ แสนแสบ ย่านที่คิดว่าไม่มีจุดยุทธศาสตร์ จนรถราไม่มีพอจะขน หลายคนก็ต้องใช้วิธีเดินแบกของไป
เครื่องบินที่มาถล่มโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นมหามิตรอเมริกานี่เอง เที่ยวหลังๆก็มีอังกฤษด้วย ผลัดกันมาถล่มจนกระทั่งกรุงเทพฯไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้ตะเกียงกันเป็นปี น้ำประปาก็หยุดไหล การคมนาคม เครื่องอุปโภคบริโภคและยารักษาโรคขาดแคลน ถ้าเกิดขึ้นในวันนี้คงอยู่กันไม่ได้แน่ จนสงครามสงบเพราะญี่ปุ่นยอมแพ้ในปี ๒๔๘๘
มีรายงานเมื่อหลังสงครามครั้งนี้ว่า ประเทศไทยโดนระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรไป ๑๘,๕๘๓ ลูก มีผู้เสียชีวิต ๘,๗๑๑ คน ทำลายอาคาร ๙,๖๑๖ หลัง อีก ๑,๑๙๔ หลังอยู่ในขั้นเสียหาย หัวรถจักรรถไฟพังไป ๗๓ คัน ยานพาหนะอื่นๆอีก ๑๗๓ คัน ซึ่งก็ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่ตกอยู่ในสถานการณ์สงคราม ขนาดในสงครามกลางเมืองของลาว และเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเล็กๆแห่งนี้เท่านั้น เครื่องบินอเมริกันยังช่วยขนระเบิดไปถล่มถึง ๒๖๐ ล้านลูก รวมหนัก ๒ ล้านตัน โดยเที่ยวบิน ๕๘๐,๓๔๔ เที่ยว เพียงแค่ไม่ให้เวียดนามเหนือรุกเข้ามาช่วยฝ่ายขบวนการประเทดลาวเท่านั้น จนเป็นสถิติโลก
สรุปได้ว่า ที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามาเกลื่อนกรุงเทพฯ ก็เข้ามาอย่างมิตร เพื่อจะชวนเข้าร่วมวงไพบูลย์ “เอเซียเพื่อเอเซีย” ขับไล่พวกที่มาล่าอาณานิคมออกไป ส่วนที่อังกฤษอเมริกาขนระเบิดมาถล่มกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มุ่งโจมตีประเทศไทย แต่เพื่อทำลายญี่ปุ่นที่เข้ามากวนใจคนไทยเท่านั้น คนไทยที่รับผลไปก็แค่ลูกหลง
จึงถือได้ว่า จนบัดนี้ก็ยังไม่มีข้าศึกศัตรูเข้ามาเหยียบชานพระนครหรือเข้ามาทำลายกรุงรัตนโกสินทร์ได้ ที่โดนไปก็โดยมหามิตรผู้หวังดีทั้งน้าน...สัตรูซะที่ไหน