xs
xsm
sm
md
lg

ปีนังแตก!สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงเผชิญภัยสงคราม!ขณะลี้ภัยการเมืองต้องเสวยผักในสวน!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระราชานุสาวรีย์กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้ากระทรวงมหาดไทย
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ เพื่อความสบายพระทัย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พร้อมด้วย ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดา จึงเสด็จลี้ภัยความวุ่นวายทางการเมืองไปพำนักที่เกาะปีนัง ซึ่งเป็นดินแดนที่สงบสุข มีอากาศดี โดยไปเช่าบ้านเก่าๆอยู่ชานเมือง ไม่ได้หอบเงินไปเสวยสุขเหมือนนักลี้ภัยในสมัยนี้ แต่เมื่อถึง พ.ศ.๒๔๘๔ ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นบุกเข้ายึดปีนังที่อังกฤษครอบครอง จึงต้องทรงเผชิญกับภัยสงครามที่ญี่ปุ่นถล่มระเบิดใส่อย่างหนัก ซึ่ง ม.จ.หญิงพูนพิศมัยได้ทรงบันทึกไว้ในไดอารีบางตอน มีทั้งความน่ากลัวจากสงครามและเรื่องขบขันก็มีคู่กันไปกับเรื่องเศร้า ดังนี้

วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
ราว ๙ น. พวก เอ.อาร์. พี. (Air Raid Precaution) อาสาสมัคร เข้ามาในบ้านคนหนึ่ง เขาพบกับหญิงพิลัยซึ่งกำลังเดินดูสวนอยู่ และบอกเบาๆว่า “อังกฤษประกาศสงครามกับญี่ปุ่นแล้วเมื่อคืนนี้ แต่ท่านไม่ต้องตกใจ เป็นแต่ควรจะเก็บของเสียบ้าง เพื่อการย้ายที่ในเวลาสงคราม” แล้วเขาก็ลา บอกว่าจะต้องไปส่งข่าวบ้านอื่นๆต่อไป พิลัยรีบขึ้นมาบนเรือน ถามข้าพเจ้าว่าจะให้ทูลเสด็จพ่อหรือไม่ ข้าพเจ้าบอกว่า “ทูลซี แต่อย่าให้ท่านตกพระทัย” เมื่อทูลแล้วท่านตรัสแต่ว่า “ไม่นึกว่าจะเร็วอย่างนี้”

สักครู่เพื่อนๆวิ่งมาส่งข่าวว่า “ญี่ปุ่นขึ้นเมืองไทยแล้ว ๘ แห่ง” ข้าพเจ้าบอกให้พิลัยและเหลือให้ไปเอาเงินจากบริษัทมาไว้ใช้โดยเร็ว แล้วข้าพเจ้าก็ลงมือเก็บของ มีหนังสือที่ยังไม่ได้พิมพ์เป็นต้น ๑๑ น.เศษพอพิลัยเหลือกลับเข้าประตูบ้านมา ก็มีเสียงไซเรนภัยทางอากาศขึ้นอย่างโหยหวน และเสียง ป.ต.อ. ๒-๓ ตึงแล้วก็เงียบ เรานั่งลงหายใจแล้วก็จึงได้ความว่า...เหลือเบิกเงินมาได้เพียง ๑๘๐ เหรียญเท่านั้น เพราะทุกคนกำลังยุ่ง ไม่มีใจจะหยิบเงิน คิดว่าไปเอาใหม่ได้ เดินผ่านห้องหนังสือไป เห็นเสด็จพ่อกำลังบรรทมบนเก้าอี้ผ้าใบมองดูเพดานอยู่เฉยอยู่ ไม่ทรงพระอักษรเช่นเคย พอท่านเห็นก็ตรัสถามว่า...”ลูกพูน พบพระยารัษฎาฯ (ยู๋จ๋าย) แล้วหรือ?” ข้าพเจ้าทูลว่าพบแล้ว ท่านตรัสต่อไปว่า... “บอกให้ไปจดมาที่ว่า ๘ แห่งนั้นที่ไหนบ้าง?”

เราตั้งต้นเตรียมเรื่องพรางไฟ Black out ตามที่เคยซ้อมมา แล้วนอนหลับสบาย เพราะเชื่อว่าคงไม่มีอะไร

วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๔
เช้ามืดได้ยินเสียงเรือบิน แต่ไม่มีไซเรน คิดว่าเรือตรวจการ เพื่อนๆมาหา...
บ่าย ๑๖ น. ๒๐ นาที ไซเรนดังขึ้นเบาๆ แล้วเห็นเรือบิน ๒ ลำบินไปๆมาๆ เราออกไปดูที่ดาดฟ้า เห็นเรือบินมาหมู่ใหญ่ แล้วแยกออกยิงกับ ๒ ลำนั้น เห็นลำหนึ่งถูกยิงหัวปัก ควันดำขึ้นเป็นลำ และเห็นคนโดดร่มลอยลงมาทางแผ่นดินใหญ่เมนแลนด์ เราได้ดูรบกันจริงๆ! ค่ำไม่มีอะไร

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๔
พอกินข้าวเสร็จก็ได้ยินเสียงไซเรนและเครื่องบินมาเป็นหมู่ๆ เราพยายามเชิญเสด็จพ่อลงข้างล่าง เพราะเรือนที่เราอยู่มันเก่าแก่จวนพัง แต่ท่านไม่ยอมลุกจากโต๊ะเขียนหนังสือ ตรัสว่า “พ่อไม่ได้ทำอะไรผิด เคยทำอย่างไรก็จะทำอย่างนั้น ถ้ามันถูกพ่อเข้า ก็จะชมว่ามันแม่น” แล้วก็เขียนหนังสือของท่านต่อไปอย่างสบาย เราก็ต้องนิ่ง พอถึงเรือบินหมู่ ๒ ดังลั่นมาถึงหัวเราอีกครั้งเท่านั้น น้อย หลานหญิง (อายุ๑๔ ปี) ก็ร้องไห้งอเข้าไปฉุดเด็จพ่อว่า “เด็จตาขา ลงข้างล่างเถิดๆๆ! ท่านทนความรักของหลานไม่ได้ก็ยอมลงมากับเด็ก แต่แล้วก็ออกไปเดินดูในสนาม ซึ่งเรือบินหมู่ที่ ๓ (หมู่ละ ๓๐ ลำ) กำลังตรงมาทางหลังคาบ้านเรา ยายน้อยกับหลานพัฒน์ (หลานปู่) วิ่งออกไปฉุดเสด็จปู่และตากลับเข้ามาจนได้ เรือบินหมู่นี้บินต่ำจนเห็นคน พอลำหน้าให้สัญญาณด้วยปืนกลดังเปรี๊ยะๆแล้ว ลำหลังๆก็ปล่อยบอมบ์พร้อมกัน เราเห็นแล้วก็หลับตาจนหมดเสียงครืนใหญ่จึงค่อยๆหรี่ตาขึ้นดูว่าใครอยู่ใครตาย แต่เพราะมองไม่เห็นนี้เอง ทำให้บอมบ์เลยผ่านไปตกในเมือง พวกคนในเมืองวิ่งพรูๆเหมือนสายน้ำไหลออกจากในเมืองผ่านบ้านเรา บางพวกขออาศัยอยู่ในบ้านด้วย เราไม่รู้จักใคร จึงยอมให้แขกยาม (ซึ่งเป็นคนดี) เป็นผู้เลือกรับ ลงท้ายเราได้แขกเกือบทุกชนิดมาอยู่ด้วย และช่วยรักษาบ้านช่องให้ด้วยดี พอจบการบอมบ์แล้ว เสียงโจษเสียงลือต่างๆเต็มไปหมด ไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง...หลานร้องไห้ไม่หยุด บอกแกให้นึกว่าเขาซ้อมรบกันซี แกกลับตอบว่า “ก็มันไม่ได้ซ้อม มันจริงๆนี่คะ!” ไม่รู้จะปลอบอย่างไร! จะส่งไปฝากไว้เจ้าคุณมโนฯ (นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ลี้ภัยไปเหมือนกัน-ผู้เขียนคอลัมน์) เพราะเป็นสวนเงาะนอกเมือง ก็ไม่ยอมไปแต่ลำพัง ลงท้ายเจ้าคุณมโนฯทูลเชิญให้เด็จพ่อไปเสียด้วย เพื่อเห็นแก่ความสุขของหลานๆพูดกันอยู่จนเย็น จึงตกลงย้ายไปอยู่สวนเงาะรวมกันทั้งหมด

วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๘๔
๙ น.เช้า เครื่องบินมาเป็นหมู่ย่อยๆ เที่ยวบอมบ์ทั่วไป คนออกวิ่งแน่นทุกสาย จึงถูกปืนกลตายเป็นส่วนมาก วันนี้ลำบากเรื่องซื้อของกิน เพราะไม่มีตลาด ต้องหาไข่หาผักตามสวนข้างบ้านมาทำกิน ที่จริงเรากินข้าวกับปลาซาดีนกระป๋องและน้ำพริกส้มมะขามต้นในสวนมาหลายวันแล้ว มีแต่เด็จพ่อองค์เดียวที่เราทำถวายตามเคย แม้ท่านจะตรัสว่า “กินก็กินด้วยกัน พ่อกินคนเดียวไม่ได้!” เราก็ทูลว่าเราคอยไม่ไหว ขอประทานแยกกันตามสบาย จึงเป็นอันทำของดีๆไว้เฉพาะจานเล็กๆสำหรับท่านพระองค์เดียว
วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๘๔
เช้านี้ไม่มีหนังสือพิมพ์ ของขึ้นราคา คนเก็บศพฝังตามศาสนาของคนตาย เครื่องบินมาหมู่ใหญ่ แต่ไม่ได้ทิ้งบอมบ์ มีคนลือว่ามีเรือรบมา ๔ ลำ

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๔
๙ น.เช้า เสียงสัญญาณภัยทางอากาศและเสียงเครื่องบิน เสียง ป.ต.อ. ควันขึ้นโขมงทางเมนแลนด์ พักใหญ่ก็เงียบ บ่าย ๑๔ น. เราไปผสมยาถวายเสด็จพ่อที่ Logan Rd. (ถนนโลแกน) ร้านปิด เจ๊กหลังร้านบอกว่าร้านผสมยาที่บิชอปสตรีท (Bishop Street) ถูกบอมบ์ ให้ไปขอผสมยาจากหมอใหม่ เราไปตามหมอที่โรงพยาบาลกลางไม่พบ เห็นแต่คนเจ็บนอนเป็นแถวเต็มทุกห้อง ทุกคนทำงานแข็งแรง ตอนดึกได้ยินเสียงระเบิดเป็นพักๆ

วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๔
เช้าได้ยินเสียงระเบิดเป็นพักๆ ใกล้บ้างไกลบ้าง ราว ๔ โมงเย็นเห็นทหารเดินบ้างขึ้นรถบ้างผ่านไป บางคนโบกมือให้ ค่ำคนรถของเราส่งข่าวว่าทหารไปหมดแล้ว เขาสั่งให้ตามบ้านรักษาตัวเอง เราทุกคนในบ้านที่อยู่ด้วยกันทั้งแขกเจ๊กและไทย ต่างคนค้นหาอาวุธได้แล้ว พวกผู้ชายลงไปอยู่ในสวนและใต้ถุนเรือน ให้พวกเราผู้หญิงอยู่บนเรือนกับเสด็จพ่อและเด็กๆ เสียงระเบิดมิได้หยุดเลย บางคราวเรือนสั่นอย่างน่ากลัว เดินในสวนรู้สึกลมหวิวเฉียดหูไปในเวลาเสียงระเบิด ไม่มีใครรู้ว่าอะไรเป็นอะไร นอกจากเสียงระเบิดและเสียงคนวิ่งส่งข่าวกันว่า “ทหารไปแล้ว!!! ไฟฟ้าไม่มีมาแต่เที่ยง วิทยุก็ไม่มี น้ำก๊อกก็หยุด เรานอนลืมตานึกถึงไม่มีน้ำจะทำอย่างไร?

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๘๔
ตอนสายน้ำก๊อกกลับมีมาค่อยสบายใจ กงสุลแนะว่า ถ้าญี่ปุ่นขึ้นมาให้ชักธงญี่ปุ่น เราไม่มีธง ทั้งซื้อก็ไม่ได้ ตกลงตัดผ้าเช็ดชามกับผ้านุ่งแดงเย็บเอาพอใช้ได้ เสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวตลอดเช้า จนถึงบ่ายจึงรู้จากเจ๊กคนหนึ่งว่า ฝรั่งเขาระเบิดป้อมและที่สำคัญๆของเขาก่อนจะไป กลางวันมีเรือบินมาบอมบ์ในเมืองอีก พวกอาสาสมัครมลายู ๒ คนมาบอกว่า เจ้าเมืองตั้งกรรมการไว้ปกครองปีนัง มีมลายู ๓ คน เจ๊ก ๓ คน แขกอินเดีย ๓ คน และครึ่งชาติอีก ๓ คน เป็นกรรมการให้โปลิศและอาสาสมัครไว้เป็นกำลัง เมื่อเจ้าเมืองลงเรือออกจากปีนังไปแล้ว กรรมการก็ส่งคนเที่ยวบอกตามบ้านให้ยกธงขาว เราเอะอะกันเรื่องไม่มีธงขาวอีกพักหนึ่ง ลงท้ายเอาผ้าปูโต๊ะเย็บติดกับไม้กระบอกเป็นใช้ได้.

วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
เช้านี้ชักธงขาวทั่วทั้งเมือง ได้ข่าวว่ากรรมการส่งพ่อค้าญี่ปุ่นที่จับไว้ให้ไปบอกกองทัพญี่ปุ่นที่ mainland ว่า ปีนังยอมแพ้แล้ว ขอให้รีบมาครองเถิด ๑๐ น.เช้าเศษ เขาบินมาบอมบ์ทั่วๆไปอีกพักใหญ่ และแสงไฟแดงจับฟ้า ควันขึ้นคลุ้งไปหมด ไม่เข้าใจว่ายอมแพ้แล้วมาบอมบ์ทำไมอีก

เราถูกบอมบ์มากบ้างน้องบ้างอยู่เช่นนี้ติดๆกันมา ๑๑ วัน ถ้าจะพูดสำหรับเวลานี้ก็ไม่แปลกอะไร เพราะใครๆก็รู้รสบอมบ์กันแล้วโดยมาก แต่ถ้าจะนึกว่าเป็นครั้งแรกที่เรารู้จักกับบอมบ์ ก็ไม่สนุกนัก พอสงบเรียบร้อยแล้วต่างคนต่างก็วิ่งออกไปเที่ยวหากันว่าใครอยู่ใครตาย โปลิศแขกที่อยู่สวนน้ำตกถีบจักรยานมาหาเราในสวนเงาะ บอกว่าดีใจที่เราอยู่เรียบร้อยและขอเห็นต่วน (เสด็จพ่อ) สักหน่อยหนึ่ง สบายหรือไม่สบาย? เราต้องเข้าไปทูลให้เสด็จพ่อออกมาพบ เขาคำนับ ควักหีบอินทผาลัมออกมา ๒ หีบ ส่งถวายต่วน ๑ หีบ เอาใส่กระเป๋า ๑ หีบ บอกว่ามีอยู่เท่านี้เอง แม้เจ๊กลากรถก็เป็นเพื่อนที่ดีในเวลาทุกข์ เวลาเราต้องออกไปหาของกินเขาเป็นพี่เลี้ยงสอนให้เสร็จว่าจะซื้อที่ไหนได้ถูก ถนนไหนควรไปไม่ควรไป ก็พากันหลีกเลี่ยงไปทางสงบเรียบร้อย แม้จะเป็นทางอ้อมก็ไม่คิดสตางค์เพิ่มเติม ปีนังที่เคยสะอาด สวยงาม เรียบร้อย กลายเป็นเมืองตาย! ไม่มีใครออกนอกบ้าน นอกจากจำเป็น เศรษฐีถนนนอชทรัม Northrom ถูกริบหมดตัวทั้งถนน ทุกคนไปอยู่บ้านเล็กกันแน่นอัด ริมถนนมีแต่รถชนต้นไม้พัง หรือน้ำมันหมด ทิ้งไว้เป็นแห่งๆ เงียบสงบไม่เห็นผู้คนจอแจดังแต่ก่อน

เรื่องที่ขบขันก็มีคู่ไปกับเรื่องเศร้า เช่นพวกกะลิง คนทำสวนตามบ้านฝรั่งเป็นต้น เมื่อนายของตนต้องรีบไปแต่กระเป๋าเดินทางคนละ ๒ ใบแล้ว ของที่ทิ้งอยู่ข้างหลังจึงตกเป็นของบ่าว ในบ้านมีของทุกอย่างที่บ่าวไม่เคยมี จึงเป็นธรรมดาที่เขาจะมีเลี้ยงกันอย่างสนุกสนาน แม้กำลังถูกบอมบ์อยู่ กะลิงบ้านเราได้รับเชิญไปกินเลี้ยงหลายบ้าน กลับมาเล่าว่า...บรั่นดีกับโซดาแช่ในตู้เย็นมันอร่อยนัก เปิดกินกันเสียจนเพื่อนคนหนึ่งนอนกับถนนชี้บอมบ์กำลังตกหัวร่อลั่น บางวันเอาเครื่องกระป๋องมาฝากพวกเรา ซ้ำยังถามอีกว่าไปเที่ยวไหม เพราะรถยนต์ก็มี วันหนึ่งเจ้าสูงในบ้านเราอุ้มเอาหีบวิทยุขนาดโตมาให้ บอกว่า Missy มิสซี่จะได้ฟังข่าวสงคราม เราตอบขอบใจว่าไม่เอา และไม่อยากฟัง ๒-๓ วันต่อมาเราเห็นเจ้าสูงกำลังขุดดินฝังวิทยุนั้นอยู่ จึงถามว่า อ้าว ฝังทำไม? เดี๋ยวเสียหมดซีแก!เจ้าสูงโบกมือไม่ให้พูด แล้วกระซิบว่าญี่ปุ่นกำลังตามจับของที่บ้านฝรั่ง บอกว่านายให้เขาก็ไม่เชื่อ เขาว่าขโมย อย่าอึกทึกไป บางวันพวกกะลิงเหล่านี้มีของแปลกๆ มีหีบใส่เสื้อผ้าชนิด trunk ใบโตๆ ยังมีชื่อเจ้าของที่เรารู้จักติดอยู่ก็มี ทำให้เราเศร้าใจเมื่อนึกถึงเจ้าของที่ต้องบ้านแตกสาแหรกขาด และถามกะลิงว่า “ถ้ามิสซี่ไม่ซื้อจะเอาไปทำอะไร?” ได้คำตอบว่า...จะเอาไปเผาไปรมยุง เราสะดุ้งด้วยสงสารของ และกลับต้องถามว่าขายเท่าไร? ราคาที่เขาขอคือ...๒.๕๐ อนิจจา trunk เอ๋ย เวลาเจ้าอยู่ในห้างวางไว้โชว์ แม้เราจะอยากได้เท่าไรก็ซื้อไม่ได้ เพราะป้ายที่เขาผูกไว้ถึง ๑๐๐-๒๐๐ เหรียญ บัดนี้เจ้าของใหม่ของเจ้าจะเอาไปเผาไฟไล่ยุง เราทนไม่ได้ก็ต้องยอมช่วยชีวิตเจ้าไว้ด้วย ๒.๕๐ เท่านั้นเอง!

ถ้าอยากจะถามว่า...เราไปอยู่ปีนังทำไม? ข้าพเจ้าขอคัดข้อความเมื่อญี่ปุ่นเขามาสำรวจสำมโนครัวในปีนัง เป็นคำตอบดังต่อไปนี้
ถาม – นี่บ้านใคร
ตอบ – พรินส์ดำรงเช่าอยู่
ถาม – มาอยู่ที่นี่นานเท่าไรแล้ว
ตอบ – ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๖ เกือบ ๑๐ ปีแล้ว
ถาม – ทำไมถึงมาอยู่ที่นี่
ตอบ – เพราะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ และเป็นธรรมดาที่ของใหม่ย่อมเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก เมื่อเข้าใจกันไม่ได้ ก็ย่อมจะแตกแยกกันไปคนละทางสองทาง พ่อฉันอายุ ๗๐ แล้วเวลานั้น จึงเห็นว่ามีทางเดียวแต่จะมาเสียให้พ้น เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ในทางการเมือง จึงได้มาเสีย
ถาม – พ่อท่านทำงานอะไรเมื่อก่อนรับเบี้ยบำนาญ
ตอบ – ทำงานที่หอพระสมุดและพิพิธภัณฑ์
ถาม – ใครเป็นพ่อของพ่อท่าน
ตอบ – ชื่อมงกุฎ
ถาม – เขามีอาชีพอะไร
ข้าพเจ้านิ่ง เขาจ้องดูท่าจะเอาความ ข้าพเจ้ากลัวจะเข้าใจว่า...นักเลงโต จึงตอบว่า...พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ในพระราชวงศ์นี้
เขาหยุดซักครู่หนึ่ง ก้มหน้าลงอ่านทบทวน ข้าพเจ้าก็ใจเต้นกลัวเขาไม่เชื่อ สักครู่เขานั่งตัวตรง แล้วถามต่อไปว่า
ถาม – ท่านอยู่ด้วยกันกี่คน
ตอบ – ๙ ทั้งหมด
ถาม – เอาเงินที่ไหนใช้
ตอบ – แต่ก่อนน้องชายส่งบำนาญของพ่อมาให้ทางบริษัทที่เขาทำงานอยู่เป็นเงินปีนัง ต่อมาเราขอยืมเขาใช้
ถาม – แรกสงครามลำบากมากไหม
ตอบ – เป็นธรรมดา ทุกคนลำบากเราก็ต้องลำบาก
ถาม – ท่านใช้เท่าไรต่อเดือนจึงจะพอ
ตอบ – ถ้าไม่มีใครเจ็บไข้ ๓๐๐ เหรียญก็พอ

แล้วข้าพเจ้าก็รีบตอบว่า “เวลานี้สบายแล้ว เพราะติดต่อทางบ้านได้แล้ว”
เขาส่งการ์ดของเขาให้ แล้วบอกว่า... “ถ้าท่านมีความลำบากอย่างไร ไปหาฉันที่ๆทำงานได้” แล้วลาไป

นั่นคือข้อความในไดอารีของ ม.จ.หญิงพูนพิสมัย ดิศกุล

ครั้นเมื่อเหตุการณ์ทางปีนังค่อยสงบลง ม.จ.พิสิษฐดิศพงศ์ พระโอรส ได้ขอให้พรรคพวกที่เป็นชาวญี่ปุ่น ช่วยพาสมเด็จกรมพระยาดำรงฯและครอบครัวกลับมาไทยได้ในเดือนตุลาคม ๒๔๘๕ ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระอาการด้วยโรคพระหทัยพิการ เมื่อได้เสด็จกลับมาอยู่ “บ้าน” เสด็จในกรมฯจึงทรงมีพระอาการดีขึ้นบ้าง แต่ต่อมาก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ ขณะพระชันษา ๘๑ ปี ซึ่งทางราชการได้กำหนดให้วันที่ ๑ ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดำรงราชานุภาพ” เพื่อระลึกถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ คนไทยคนแรกที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

นี่คือเรื่องราวของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งต้องลี้ภัยการเมืองไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยไม่ได้หอบเงินไปเสวยสุขหรือซื้อบ้านไว้ สำหรับเตรียมลี้ภัย
 ร.๕ กับกรมพระยาดำรงฯ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น