รอยเตอร์ – ประธานาธิบดีเลบานอนเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียชี้แจงเหตุผล กรณีนายกรัฐมนตรี ซาอัด อัล-ฮารีรี ของเลบานอน เดินทางกลับประเทศไม่ได้ หลังจากลาออกกะทันหันระหว่างเดินทางไปซาอุฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
เจ้าหน้าที่อาวุโสของเลบานอนเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (11 พ.ย.) ว่า ประธานาธิบดี มิเชล อูน บอกกับเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ว่า ฮารีรีถูกลักพาตัว และควรได้รับความคุ้มครอง
การประกาศลาออกกะทันหันของฮารีรีนำเลบานอนกลับสู่สถานะแนวหน้าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างซาอุดีอาระเบียที่นับถือนิกายสุหนี่ กับอิหร่านที่นับถือนิกายชีอะต์ คู่อริที่ต่อสู้กันพัลวันในซีเรีย อิรัก เยเมน และบาห์เรน
แถลงการณ์ของอูนระบุว่า เลบานอนไม่ยอมรับที่นายกรัฐมนตรีของตนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ การแสดงความคิดเห็นหรือการเคลื่อนไหวใดๆ ของฮารีรีขัดแย้งกับความจริง เนื่องจากเกิดคำถามเกี่ยวกับสถานะของเขาภายหลังการประกาศลาออกขณะอยู่ในซาอุดีอาระเบีย
เจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายคน รวมทั้งนักการเมืองอาวุโสที่ใกล้ชิดฮารี และแหล่งข่าวคนที่ 4 บอกว่า ทางการเลบานอน เชื่อว่า ริยาดกักตัวฮารีรีที่บินไปซาอุดีฯ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน
ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แสดงความกังวลเช่นเดียวกัน โดยบอกกับอูนทางโทรศัพท์เมื่อวันเสาร์ว่า ผู้นำทางการเมืองของเลบานอนควรมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว
รัฐบาลฝรั่งเศสแถลงว่า มาครงที่เดินทางไปริยาดโดยไม่ได้กำหนดล่วงหน้าเมื่อต้นสัปดาห์ จะให้การต้อนรับรัฐมนตรีเลบานอนที่ปารีส ในวันอังคาร (14 พ.ย.)
ด้านริยาดยืนยันว่า ฮารีรีไม่ได้ถูกจับกุม ส่วนที่ตัดสินใจลาออกเพราะฮิสบอลเลาะห์ที่เป็นพันธมิตรของเลบานอน เข้าไปบงการรัฐบาลร่วมของเลบานอน
ทั้งนี้ ฮาริรีไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนอีกเลย นับจากประกาศลาออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมระบุว่า กลัวถูกลอบสังหาร และยังกล่าวหาอิหร่านร่วมมือกับฮิสบอลเลาะห์สร้างความแตกแยกในโลกอาหรับ
ฮารีรียังไม่ได้บอกว่า จะกลับไปเบรุตเมื่อไหร่ ขณะที่ครอบครัวของเขาทำธุรกิจก่อสร้างในซาอุฯ
นายกรัฐมนตรีเลบานอนเข้าร่วมพิธีต้อนรับสมเด็จพระราชาธิบดีซาลมานของซาอุดีฯ จากเมดินาเมื่อวันเสาร์ ฮารีรียังพบเอกอัครราชทูตตุรกีและอังกฤษที่บ้านพักในริยาดช่วงบ่ายวันเดียวกัน
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดฮารีรี เผยว่า ซาอุฯ สรุปว่า ฮารีรี ซึ่งเป็นพันธมิตรกับริยาดมายาวนาน ต้องลาออกเนื่องจากไม่ยินดีเผชิญหน้ากับฮิสบอลเลาะห์ ขณะที่แหล่งข่าวอาวุโสที่ใกล้ชิดฮารีรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและนักการเมืองอาวุโสของเลบานอน บอกว่า ฮารีรีถูกยึดโทรศัพท์นับจากเดินทางถึงริยาด จากนั้นในวันถัดมา เขาก็ถูกบังคับให้แถลงลาออกผ่านสถานีทีวีของซาอุฯ
อูนต้องการให้ริยาดชี้แจงว่า เหตุใดจึงไม่ยอมให้ฮารีรีกลับเลบานอน ขณะที่ฝรั่งเศสและชาติตะวันตกอื่นๆ จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดนี้อย่างใกล้ชิด
การลาออกของฮารีรีเผยให้เห็นข้อตกลงทางการเมืองในหมู่ฝ่ายต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์กันในเลบานอนที่มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ฮารีรี และตำแหน่งประธานาธิบดีให้อูน ซึ่งเป็นพันธมิตรของฮิสบอลเลาะห์ เมื่อปีที่แล้ว
รัฐบาลร่วมของเลบานอนยังรวมถึงสมาชิกฮิสบอลเลาะห์ที่นับถือนิกายชีอะต์ กองทัพ และองค์กรทางการเมือง
ไซเอ็ด ฮัสซัน นาสราลลาห์ ผู้นำฮิสบอลเลาะห์กล่าวเมื่อวันศุกร์ (11 พ.ย.) ว่า ซาอุฯ ประกาศสงครามต่อเลบานอนและฮิสบอลเลาะห์ พร้อมกล่าวหาริยาดบีบให้ฮารีรีลาออกเพื่อให้เลบานอนไร้เสถียรภาพ
ต่อมาอีกวัน พรรคของฮารีรีประณามการแทรกแซงของอิหร่านในประเทศอาหรับต่างๆ และการโจมตีซาอุฯ
ทางฝ่ายอเมริกาออกแถลงการณ์โดยเรียกฮารีรี ว่า “พันธมิตรที่ไว้ใจได้” และระบุว่า ฮารีรียังคงเป็นนายกรัฐมนตรีเลบานอน แถลงการณ์ระบุว่า ทำเนียบขาวคัดค้านความพยายามใดๆ ของกลุ่มติดอาวุธภายในเลบานอนหรือกองกำลังต่างชาติที่คุกคามเสถียรภาพของเลบานอน หรือใช้เลบานอนเป็นฐานข่มขู่คุกคามประเทศอื่น
เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ว่า ไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่า ฮารีรีถูกบีบบังคับ และอเมริกาติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด
การลาออกของฮารีรีมีขึ้นขณะที่ริยาดห์กำลังกวาดล้างทุจริต โดยมีการจับกุมเจ้าชายและนักธุรกิจนับสิบคน