ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชประกาศสงครามกับโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ว่าฯ สั่งจับสุนัขทั้งจังหวัดกว่า 3 แสนตัวฉีดวัคซีนให้ครบทุกตัวภายใน เม.ย.นี้ พร้อมให้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจตอบโต้โรคฯ ทั้ง 32 อำเภอ หากพบประชาชนถูกสุนัขกัดต้องบังคับนำส่งโรงพยาบาลทุกรายเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยผู้ป่วยเสียชีวิต 1 รายที่ อ.เสิงสาง
วันนี้ (14 มี.ค.) ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียกประชุมนายอำเภอทั้ง 32 อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด สาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า โดยล่าสุดพบการระบาดในพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประกาศให้เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว ประกอบด้วย อ.เมืองนครราชสีมา, ขามทะเลสอ, บัวลาย, สีดา, บ้านเหลื่อม, โนนสูง, ขามสะแกแสง และล่าสุดพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้วจำนวน 1 ราย ที่ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ลงพื้นที่ควบคุมโรค โดยได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ผู้ที่สัมผัสกับผู้ตาย และประชาชนในหมู่บ้านจำนวน 57 ราย
นายวิเชียรกล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกอำเภอตั้งศูนย์เฉพาะกิจตอบโต้โรคพิษสุนัขบ้าแล้ว โดยมีศูนย์ฯ ใหญ่อยู่ที่จังหวัด ซึ่งจะมีการรายงานและเกาะติดสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าหากติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้วรักษาไม่หายและเสียชีวิตในที่สุด แต่ประชาชนยังไม่ยอมพาสุนัขไปฉีดวัคซีนหรือแม้แต่เมื่อตัวเองโดนสุนัขกัดก็ยังไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน เช่นกรณีที่เกิดขึ้นที่ อ.เสิงสาง ผู้ป่วยไม่ยอมไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจนสุดท้ายต้องเสียชีวิต
วันนี้ตนได้สั่งการให้มีการแบ่งการทำงานกันอย่างชัดเจน โดยปศุสัตว์จะดูแลการป้องกันในสัตว์ ส่วนสาธารณสุขจะดูแลคนเป็นหลัก ขณะนี้ปศุสัตว์มีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ประมาณ 30,000 โด๊ด แต่ปัญหาตอนนี้คือประชากรสุนัขที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า 3.5 แสนตัวและสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของอีกกว่า 30,000 ตัว วันนี้ตกลงกันว่าเบื้องต้นหากพบการระบาดช่วงนี้จะใช้วัคซีนของปศุสัตว์จังหวัดเป็นหลักในการเข้าไปควบคุมโรคในรัศมี 1 กม.จะต้องจับสุนัขทุกตัวฉีดวัคซีน จากนั้นจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบประมาณของตัวเองในการจัดซื้อวัคซีนมาฉีดสุนัขในพื้นที่ให้ครบทั้งหมดทุกตัวแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้เพื่อสร้างความมั่นใจ โดยใช้บุคลากรที่ปศุสัตว์จังหวัดอบรมไปแล้วประมาณ 1,200 รายลงไปฉีด
ส่วนการป้องกันในคนนั้น จากการเช็กสต๊อกยาที่จะฉีดให้แก่คนตามโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ มีครบไม่ได้ขาด โดยจะฉีดให้ฟรีสำหรับผู้ที่ถูกสุนัขกัด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือประชาชนมักไม่ตระหนักเมื่อถูกสุนัขกัดไม่ยอมไปฉีดยาป้องกัน ซึ่งตนได้ให้นโยบายแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ไปแล้วว่าต้องไปบังคับ หากทราบว่ามีสมาชิกบ้านใดถูกสุนัขกัดแล้วไม่ยอมฉีดยาให้บังคับ โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องพาไปเองให้ได้เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น