สรุปสำนวนคดีบิลลี่ เดิมพัน “แก่งกระจาน” ขึ้นมรดกโลก “ดีเอสไอ” เตรียมใช้คดี “พญ.ผัสสร บุญเกษมสันติ” ที่ถูกสามีฆ่าหั่นศพปี 2544 เป็นแนวทางต่อสู้ในชั้นศาล
... รายงานพิเศษ
หนึ่งในเงื่อนไข 3 ข้อ ที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไข หลังอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ยังไม่ได้ประกาศเป็นมรดกโลก คือ “ให้จัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยาน กับ เจ้าหน้าที่รัฐ”
แน่นอนว่าการหายตัวไปของ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ เป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่เห็นเป็นรูปธรรม และอาจจะเป็นปัญหาข้อที่ใหญ่ที่สุดด้วยซ้ำไป
อย่าลืมว่า บิลลี่ ถูกพบเห็นครั้งสุดท้าย ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
และอย่าลืมว่า บิลลี่ เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิการอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่เดิมที่บ้านใจแผ่นดิน ในนามของ “ปู่คออี้” และชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน
วันนี้ (23 ธ.ค.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ นัด น.ส.วพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ “มึนอ” ภรรยาของบิลลี่ พร้อมทีมทนายความฝ่ายผู้เสียหาย มารับแจ้งผลการสอบสวนและการสรุปสำนวนสั่งฟ้องคดีสังหารบิลลี่ ก่อนจะส่งสำนวนให้กับอัยการ
มาถึงวันนี้ มึนอ และทีมทนายความยังไม่มีหลักฐานเพิ่มเติมไปจากในสำนวนของดีเอสไอ จึงทำให้สำนวนเป็นไปตามที่ดีเอสไอทำไว้ แต่ฝ่ายผู้เสียหายยังสามารถส่งข้อมูลหรือหลักฐานให้อัยการภายหลังได้ หากมีหลักฐานเพิ่มเติม
สิ่งที่น่าสนใจในสำนวนที่ถูกสรุปส่งต่อให้อัยการ คือ
1. บทบาทของบิลลี่ ที่เป็นผู้นำชาวกะเหรี่ยงในนามของปู่คออี้ เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิการอยู่อาศัยในป่าแก่งกระจานมาตลอด โดยเฉพาะที่บ้านใจแผ่นดิน .... โดยบิลลี่ ยังเป็นผู้ประสานงานชาวกะเหรี่ยงฟ้องต่อศาลปกครองในประเด็นการถูกขับไล่และถูกเผาบ้านเรือน รวมทั้งเป็นผู้ร่างจดหมายถวายฎีกาขอความเป็นธรรม บทบาทของบิลลี่จึงเป็นประเด็นสำคัญในสำนวนว่า เป็นผู้ที่มีความขัดแย้งกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาก่อน แต่หนึ่งในผู้ต้องหาเคยให้สัมภาษณ์หลังจากที่บิลลี่หายตัวไปว่า ไม่รู้จักบิลลี่มาก่อน เพื่ออ้างว่า วันที่ควบคุมตัวบิลลี่เมื่อ 17 เม.ย. 2557 ไม่ใช่เป็นการล็อกเป้าหมาย
2. คำให้การของพยานปากสำคัญ ที่เคยเป็นพยานให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ว่า เห็นบิลลี่ที่ถูกปล่อยตัวแล้ว แต่มากลับคำให้การว่า “ไม่เห็นบิลลี่” ... พยานกลุ่มนี้คือ “นักศึกษาฝึกงาน 2 คน” ที่มาฝึกงานกับอุทยานแก่งกระจาน และเห็นบิลลี่ถูกควบคุมตัวที่ด่านตรวจเขามะเร็ว แต่เดินทางออกจากด่านตามหลังรถของอุทยานที่ควบคุมตัวบิลลี่ไป โดยห่างกันเป็นเวลา 3 นาที โดยสองคนนี้เคยให้การว่า เห็นบิลลี่ที่ถูกปล่อยตัวแล้ว แต่พูดไม่ตรงกันระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกับการให้การต่อศาล ทำให้ถูกเรียกมาสอบสวนใหม่ จึงกลับคำให้การ “ยอมรับว่าไม่ได้เห็นบิลลี่” ... 2 คนนี้ ให้การยืนยันกับดีเอสไออีกครั้งว่า ไม่เห็นบิลลี่ถูกปล่อยตัว
3. สำนวนการสืบสวนของตำรวจภูธรภาค 7 ที่สรุปสำนวนว่า “ไม่พบการปล่อยตัวบิลลี่” โดยเนื้อหาในสำนวนนี้ ทั้งภาพวงจรปิดที่ระบุช่วงเวลาที่รถผ่านจุดต่างๆ ... ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การของเจ้าหน้าที่อุทยานที่อ้างว่า ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว ... เนื้อหาในสำนวนนี้ คือ พื้นที่ต่างๆ ที่ดีเอสไอบินสำรวจเพิ่มเติม 6 จุด เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ส่วนข้อกังวล ก็พอมีอยู่บ้าง แต่เปิดเผยไม่ได้ และดีเอสไอยังมั่นใจว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อการตัดสินใจส่งฟ้องหรือไม่ของอัยการ
สำหรับการต่อสู้คดีในชั้นศาล มีรายงานว่าดีเอสไอจะใช้คดีฆาตกรรม “พญ.ผัสสร บุญเกษมสันติ” อดีตสูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร ที่ถูกสามีฆ่าหั่นศพเมื่อปี 2544 มาเป็นแนวทาง เพราะมีรูปคดีบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน คือ การใช้เพียงชิ้นเนื้อที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นของผู้ตาย แต่ไม่มีประจักษพยานในที่เกิดเหตุ มาเชื่อมโยงกับผู้ที่อยู่กับผู้ตายเป็นคนสุดท้ายก่อนเกิดเหตุ
อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า คดีของ “บิลลี่” มีเดิมพันด้วย “การขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก”
ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลไทยจะต้องตอบข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ที่ยูเนสโกเสนอให้แก้ไข คือ
1. ให้ดำเนินการเรื่องขอบเขตระหว่างไทยและเมียนมา
2. ให้ศึกษาเปรียบเทียบกรณีหากมีการลดขนาดพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับข้อหนึ่งว่ามีผลกระทบต่อคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ มรดกโลกหรือไม่อย่างไร
3. ให้รัฐบาลไทยนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับเกี่ยวกับข้อกังวลในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหมดในพื้นที่มรดกโลกว่าจะได้รับการดูแลและแก้ไขปัญหาหรือขัดแย้ง โดยผ่านกระบวนการหารืออย่างเต็มที่กับชุมชนพื้นเมืองในพื้นที่มรดกโลก
เห็นได้ว่า 1 ใน 3 ข้อ คือ แก้ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวกะเหรี่ยง ... คดีของ “บิลลี่” จึงเป็นหนึ่งในหนทางสำคัญ ที่รัฐต้องแสดงความจริงใจในการดำเนินการจับตัวคนสังหารบิลลี่มาลงโทษ เพื่อแสดงความจริงใจทั้งต่อญาติของบิลลี่ ต่อชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ต่อสังคม และต่อยูเนสโก
ในจดหมายเปิดผนึกของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ระบุถึง มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ย. 2562 ซึ่งอ้างว่า หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินโครงการต่างๆ ตามข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยงแล้ว เช่น จัดสรรที่ดิน ที่ทำกินและที่อยู่อาศัย พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนกะเหรี่ยง และจะทำข้อตกลงประชาคมร่วมกันกับชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
แต่ชาวกะเหรี่ยง ยืนยันว่า “ไม่เคยมีข้อเรียกร้อง” ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ไม่ได้รับการพัฒนาและไม่มีข้อตกลงประชาคมร่วมกับหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด
มีรายงานล่าสุดว่า นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคนปัจจุบัน ได้ลงไปทำบันทึกข้อตกลงในประเด็นนี้กับชาวกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยเมื่อสัปดาห์ก่อน
เมื่อสถานะความเป็นมรดกโลกของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยาน ก็น่าจับตามมองว่า จะมีผลกับ “คดีสังหารบิลลี่” ผู้นำที่เรียกร้องสิทธิชาวกะเหรี่ยงตั้งแต่ 8 ปีก่อน มากน้อยเพียงใด
รายงานพิเศษที่เกี่ยวข้อง : ก่อนจะมาเป็นหมายจับ “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ข้อหาหนัก ฆ่า “บิลลี่” โดยไตร่ตรอง!