มิสอินเตอร์เนชั่นแนล 2019 "บิ้นท์-สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์" เปิดใจกลางมินิทอล์คโชว์ "จากเภสัชกรสู่นางงามโลก" ตัดสินใจประกวดนางงามเพราะตามฝันวัยเด็ก แต่กว่าจะผ่านมาได้ไม่ง่าย เผยหลักคิดหาตัวเองให้เจอ และรู้จักวางแผน อย่าไปกลัวความผิดพลาด ชี้ "ไม่มีอะไรที่เราเรียนรู้ไม่ได้"
เภสัชกรหญิงสิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ หรือ บิ้นท์ มิสอินเตอร์เนชั่นแนล 2019 และนางสาวไทย ประจำปี 2562 กล่าวในงานมินิทอล์คโชว์ "PAT Talk จากเภสัชกรสู่นางงามโลก" ซึ่งจัดขึ้นที่เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซอยสุขุมวิท 38 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสที่สมาคมฯ จัดงานแสดงความยินดี และมอบตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ โดยมีเภสัชกรธีระ ฉกาจนโรดม นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธาน
เภสัชกรหญิงสิรีธร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บิ้นท์เป็นเด็กค่อนข้างซน ชอบคิด ชอบพูด พ่อแม่ไม่เคยบังคับ แต่ให้มองว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร เช่น ตอนที่ไม่อยากเรียนภาษาอังกฤษ แม่ถามว่าทำไม ตนตอบไม่รู้ว่าทำไม แม่จึงถามว่า ถ้าไม่เรียนจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรียนคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวิชาชีพเภสัชกรที่มักจะถามคำถามปลายเปิด ซึ่งแม่บอกว่าถ้าไม่เรียนก็ไม่ดี เหมือนให้คิดด้วยตัวเองว่าเรียนดีกว่า จึงตั้งใจเรียนตั้งแต่นั้นมา เมื่อโตขึ้นเป็นนักเรียนที่ตั้งใจเรียน เรียกว่าเด็กเนิร์ด ไม่ได้สนใจความสวยความงาม คิดว่าอยากเรียนให้ได้เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00
ก่อนหน้านี้ตอนเด็กๆ อยากเป็นนางงาม เพราะอาม่าและแม่มักจะคอยบอกว่า นางงามคนนั้นเก่ง เป็นแพทย์ด้วย จึงอยากให้แม่และอาม่าชมบ้าง พอโตขึ้นเรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ความฝันวัยเด็กจางหายไป แต่มีความฝันว่าอยากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ถึงช่วงสอบเอ็นทรานซ์ ลงคณะแพทยศาสตร์ ปีแรกสอบไม่ติด แต่สอบติดปีที่สอง จึงอยากบอกกับเยาวชนว่า เรามีสิทธิ์เลือกเอง เราเลือกตัวเราดีที่สุด ตนตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเรียนคณะเภสัชศาสตร์ ที่เรียนมาแล้ว 1 ปี หรือคณะแพทยศาสตร์ จึงไปซื้อหนังสือศึกษาแนวทางการเรียนคณะเภสัชศาสตร์และสายงานที่เกี่ยวข้อง เมื่ออ่านจบจึงเห็นว่าตนเหมาะกับอาชีพเภสัชกรมากกว่า จึงตัดสินใจเรียนต่อ
เมื่อพ่อแม่ถามว่า ทำไมถึงอยากเรียนเภสัชศาสตร์ จึงอธิบายเหตุผล แต่ส่วนหนึ่งตั้งใจว่าจะเป็นเภสัชกรด้านการตลาด เป็นอาชีพที่มีสีสัน ได้ใช้ความรู้ในการช่วยเหลือคน ผสมกับการตลาดระดับโลก เพราะการตลาดแทรกซึมระดับโลกอยู่แล้ว ระหว่างที่ศึกษาแม้จะตั้งใจเรียนแต่ไม่ทิ้งกิจกรรม เพราะชีวิตเราจะทำกี่อย่างก็ได้ และมีประโยคหนึ่งคือ "ไม่มีอะไรที่เราเรียนรู้ไม่ได้" การเรียนเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลอาจเห็นว่ายาก แต่ตนรู้สึกว่าจะต้องเจอการกดดัน โดยเฉพาะการพรีเซ็นต์ช่วงฝึกงาน ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจารย์กดดันเพราะอยากให้เราเก่ง ดังนั้นแค่รับฟัง ปรับปรุง สุดท้ายก็ผ่านไป
ช่วงเวลาฝึกงานที่ยากพอกับสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ยอมรับว่ามีเสียน้ำตาบ้าง แต่ก็เป็นความรู้ใหม่ เพราะชีวิตผู้ป่วย คือสิ่งที่ต้องทำ เราทำผิดพลาดไม่ได้ เป็นความกดดันทางวิชาชีพซึ่งถือว่าเป็นบวกมาก แม้จะตื่นเต้น เจออาจารย์ดุจนร้องไห้ แต่ก็เป็นการร้องไห้ที่คิดว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ จะคิดทบทวนตลอดว่า การที่เราโดนดุทำให้ได้ความรู้ อยากบอกถึงเยาวชนที่เรียนแล้วท้อ ไม่ว่าคณะอะไรก็ตามที่มีความยาก เราอาจจะกดดันจากอาจารย์หรืออะไรหลายอย่าง แต่ทำให้เราโต และเมื่อผ่านตรงนั้นไปได้ จะมีความรู้ในเรื่องที่ผิดพลาดหรือผิดหวัง
ส่วนความเชื่อมโยงระหว่างวิชาชีพเภสัชกรกับการเป็นนางงาม เภสัชกรรมหญิงสิรีธร กล่าวว่า เริ่มจากเรียนจบ เริ่มเห็นตัวเองจากการฝึกงาน ที่รู้จักบริษัทยา ร้านขายยา หอผู้ป่วย (วอร์ด) และห้องยา รู้จักตัวเองต้องการอะไร แต่มีอีกอันหนึ่งคือเภสัชกรรมบนหอผู้ป่วย รู้สึกมีคุณค่า มีความหมาย สิ่งที่ทำไปคนไข้ดีขึ้นจริงๆ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยทิ้งโอกาส เช่น ตอนนั้นเพื่อนชวนให้สมัครงานที่บริษัทยา ทั้งที่ยังฝึกงาน จึงไปสมัครที่บริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่ก็ต้องตัดสินใจ สุดท้ายได้ทำงานตั้งแต่ยังฝึกงาน แต่ช่วงนั้นก็หนักเพราะต้องอ่านใบประกอบฯ ฝึกงาน และทำงานจริง ถ้าเชื่อว่าทำได้ บริหารจัดการได้และผ่านพ้นไปได้ตามแผนก็จะไปได้แน่นอน ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์มีส่วนช่วยในการบริหารจัดการงาน ถึงช่วงที่เป็นนางงามก็ได้บริหารเวลา
หลังทำงานมาได้ 1 ปี เริ่มคิดว่าเราเรียนเภสัชกร เราทำสิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ควรทำทั้งหมดแล้ว ต้องมองว่ามีความฝันอะไรอีก จึงไล่มาตั้งแต่เด็กว่ามีความฝันอะไรบ้าง หนึ่งในนั้นคือนางงาม อีกทั้งนางสาวไทยเปิดรับสมัครพอดี จึงสมัครนางสาวไทย เพราะเชื่อว่าถ้าจะได้ก็ต้องได้ ไม่จำเป็นต้องพยายามถ่ายภาพสวย หน้าเป๊ะ อยากให้เห็นตัวตนว่าเป็นเด็กเนิร์ดมาก่อน สุดท้ายได้รับการตอบรับ แต่มีอุปสรรคตรงที่ให้เวลาเตรียมชุดราตรี ชุดไทย แต่งหน้า ทำผม 2 วัน ซึ่งตนไม่ได้เป็นนางงามเดินสาย เป็นเด็กเรียน ไม่มีทีมและไม่รู้จักใคร จึงโทรศัพท์ไปยกเลิกเพราะรู้สึกว่าทำไม่เต็มที่ แต่กองประกวดมีช่างแต่งหน้า ทำผม รวมทั้งคนที่เป็นมือใหม่จะให้เลือกชุด จึงรู้สึกดีใจมาก
ตอนนั้นต้องเรียนแต่งหน้า ทำผม เดินแบบ และต้องใส่รองเท้าส้นสูง ซึ่งคนที่ไม่เคยใส่จะเจ็บมากและต้องฝืน วันแรกที่ได้ตำแหน่งนางสาวไทย คิดอย่างเดียวว่าคนจะต้องยินดีกับเรา แต่พอดูโซเชียลเน็ตเวิร์ค ดูเฟซบุ๊ก คนด่าเต็มไปหมด ยอมรับว่าวันแรกตั้งตัวไม่ทันจึงร้องไห้ แต่ตนไม่ปล่อยให้ตัวเองเครียดถ้ารู้ว่าทำดีที่สุด ช่างมัน นอนก่อน พรุ่งนี้ค่อยคิดใหม่ เมื่อตื่นมาวันรุ่งขึ้นคิดได้ว่า การโดนบูลลี่เรื่องภายนอกสำคัญกับชีวิตหรือเปล่า ตนไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น การที่ได้ตำแหน่งไม่ใช่เพราะสวยที่สุด แต่เพราะเป็นตัวตนจากข้างในที่ทีมงานสัมผัสได้ จึงทิ้งคำบูลลี่ทุกอย่าง แต่ไม่ได้ทิ้งเลยกระทั่งวันที่พร้อมจึงกลับมาดูว่า คำบูลลี่ไหนทำให้เราพัฒนาได้บ้าง
เชื่อว่ามีกลุ่มคนที่ตำหนิเพื่อให้พัฒนาได้ เช่น บิ้นท์ยังต้องออกกำลังกายนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะเป็นตัวแทนประเทศที่จะไปประกวดมิสอินเตอร์เนชั่นแนล คิดว่าเราจะทำให้ประเทศขายหน้าไม่ได้ จากเด็กไม่เคยออกกำลังกายก็หนักกว่าเดิม ชีวิตจากที่ได้ตำแหน่งนางสาวไทยไปประกวดมิสอินเตอร์เนชั่นแนล เป็นช่วงเวลาที่หนัก ต้องเรียนเดินแบบอินเทรนขึ้นอีก โดยผู้จัดการส่วนตัวเป็นคนสอน และรู้สึกนอยด์ประมาณ 2 สัปดาห์เพราะต้องเรียนทุกอย่าง ทั้งการเดิน การพูด แต่งหน้า ทำผม เพราะเมื่อไปต่างประเทศต้องทำเองทุกอย่าง ถึงตอนนั้นมีท้อ ร้องไห้ รู้สึกท้อ ไม่ได้ท้อที่ใจ แต่ร่างกายจะไม่ไหว
อย่างไรก็ตาม เภสัชกรหญิงสิรีธร กล่าวอธิบายในช่วงตอบคำถามเพิ่มเติมว่า อุปสรรคในการเป็นนางงามคือ ต้องเรียนรู้ใหม่หมด แต่ไม่ค่อยมองเห็นอุปสรรคเพราะตื่นเต้น รู้สึกว่าเราทำได้ เมื่อมีคนสอนก็มีไกด์ไลน์บ้าง ส่วนการทำงาน ยังเป็นพนักงานแต่ให้พักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน เพราะต้องปฏิบัติภารกิจนางงาม ส่วนอาชีพอื่นคิดไว้ว่าอยากเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจและการตลาด และถ้าได้โอกาสในวงการบันเทิงก็อยากจะลอง ก่อนหน้านี้เคยเล่นละครเวที เป็นตัวร้ายเพราะอยากลอง ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มเรื่องเดียวกัน ขณะนี้มีการทาบทามอยู่ในช่วงพูดคุย ส่วนธุรกิจส่วนตัวเป็นช่วงที่คิดระหว่างทำงาน ก็คิดถึงอาหารเพราะชอบทาน แต่ตอนนี้ขอโฟกัสด้านนางงามก่อน แต่เมื่ออิ่มตัวจากความฝันก็อยากจะกลับไปเป็นเภสัชกรชุมชน เปิดร้านขายยา เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือด
เมื่อถามว่า มีปัญหาสาธารณสุขใดที่อยากมีส่วนร่วมช่วยเหลือ เภสัชกรหญิงสิรีธร กล่าวว่า เรื่องที่ทำได้เลยคือ การให้ความรู้กับประชาชน อาจจะดูง่ายแต่ยังมีคนไม่รู้ เช่น ความรู้เรื่องยาพาราเซตามอล ทั้งที่มีการประชาสัมพันธ์มาก แต่ประชาชนมองว่าไกลตัว มีอะไรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ตนไม่ได้เป็นคนที่คิดต้นโปรเจ็กต์เอง แต่เชื่อมั่นในการทำงานเป็นทีม เชื่อว่าบุคลากรเก่งอยู่แล้ว แต่ก็อยากช่วยประชาสัมพันธ์ เมื่อถามว่าชีวิตตัวเองเปลี่ยนไปหรือไม่ กล่าวว่า ก็เหนื่อยเพราะใช้ร่างกายทั้งวัน งานขยับขยายได้เรื่อยๆ แต่ไม่ค่อยท้อเพราะคิดว่านอนก็หาย ตื่นมาก็เป็นตามที่เราคิด ซึ่งการทิ้งความทุกข์เป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่ทิ้งปัญหา แต่ทิ้งความทุกข์ที่ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น
เมื่อถามว่า อยากจะแนะนำให้คนที่มีความฝันว่าจะเป็นเภสัชกรอย่างไร เภสัชกรหญิงสิรีธร กล่าวว่า ถ้าหาตัวเองเจอก็ดีใจ เพราะสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่มีและควรมี คือ หาตัวเองเจอ ในอนาคตจะเจอบุคลากรเก่งๆ ในสายงานวิชาชีพอีกมากมาย ถ้าอยากเป็นเภสัชกร เราสืบค้นได้เลยว่าต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง ทำให้เต็มที่ เชื่อในการวางแผนมาดี ถ้าทำเต็มที่ไปถึงแน่นอน ส่วนเวทีนางงามนอกจากวางแผนแล้ว ต้องวางกลยุทธ์แต่ละเวทีว่าต้องการอะไร ถ้าอยากให้ก้าวไปก่อน อย่าไปกลัวความผิดพลาด อย่างน้อยความผิดพลาดแสดงว่าเราก้าวไปในความฝัน และตอบโจทย์เราแล้ว นอกจากนี้ เป็นตัวของตัวเองในแบบที่ดีที่สุด ทัศนคติดีทุกคนเป็นได้ แต่อย่าทิ้งความเป็นตัวเอง ถ้าเราเป็นตัวเองที่ดี คนจะเห็นเราเอง
เมื่อถามว่า อยากจะฝากเพื่อนร่วมวิชาชีพเภสัชกรทั่วประเทศอย่างไร เภสัชกรหญิงสิรีธร กล่าวว่า ตนภูมิใจในการเป็นเภสัชกรมาก เชื่อในความสามารถของเภสัชกรประเทศไทย จากการแลกเปลี่ยน เจอเพื่อนต่างประเทศ รู้ว่าประเทศไทยไม่เคยแพ้ใคร เราสามารถพัฒนาประเทศได้ไกลกว่านี้อีก สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ ถ้าทุกคนมีโปรเจ็กต์ มีงานอะไร หรืออยากทำอะไรให้วงการดีขึ้น ทำเลย ตนรอเชียร์และอยากเห็นว่า วิชาชีพเราจะไปได้ไกลอีกแค่ไหน ขนาดตนไม่เคยสันทัดนางงาม ยังเป็นมิสอินเตอร์เนชั่นแนลได้ ถ้าทุกคนมีความรู้เป็นเภสัชกรอยู่แล้ว และอยากทำโปรเจ็กต์อะไรเพื่อให้วงการเภสัชกรไปไกลกว่านี้ ทำเลย ตนรอดูและสนับสนุนด้วย