xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเราเป็น “อีสุกอีใส” วัยสามสิบต้นๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ตอนเด็กๆ เราเชื่อมาตลอดว่าโรคอีสุกอีใสน่าจะเกิดขึ้นเฉพาะวัยเด็กเท่านั้น เป็นครั้งเดียวก็หาย โตขึ้นมาก็ไม่เป็นอีกแล้ว

แต่ความเชื่อเหล่านั้นกลายเป็นว่าผิด เมื่อต้องมาเจอโรคอีสุกอีใสในวัยสามสิบต้นๆ ด้วยตัวเอง

เดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่มีแต่เรื่องเจ็บป่วย ไล่ตั้งแต่มีไข้ ท้องเสียตั้งแต่ก่อนเดินทางไป จ.ชุมพร จนต้องกลับกรุงเทพฯ ก่อนกำหนด

ตามมาด้วยเป็นตุ่มคล้ายฝีที่เท้า และมีอาการเป็นไข้ ต้องคอยกินพาราเซตามอลก่อนนอน

ชัดเจนที่สุด นอนหลับอยู่ตื่นขึ้นมาพบตุ่มแดงที่แขนหลายจุด และมีตุ่มแดงตามลำตัว

เช้ามืดวันจันทร์ ซึ่งต้องจัดรายการตอนเช้า มีตุ่มขึ้นมาเต็มใบหน้า ซึ่งมันคงไม่ใช่สิวธรรมดาแน่ๆ

ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าเป็นอีสุกอีใส ที่บ้านก็กลัวว่าจะเป็นโรคร้าย พยายามให้ไปหาหมอ แต่เนื่องจากหาคนมาแทนไม่ทัน จึงฝืนจัดรายการ

เสร็จแล้วจึงลางานไปโรงพยาบาลศิริราช ตามคำแนะนำของทางบ้าน

บอกตามตรงว่าถึงจะอยู่ใกล้ออฟฟิศเพียงแค่สองท่าเรือ แต่ก็ไม่เคยไปหาหมอที่นั่น

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ใช้สิทธิประกันสังคมโรงพยาบาลเอกชนแถวบ้าน

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน เพราะที่นี่มีหลายตึกมาก

เกิดมาเพิ่งจะได้รู้ว่า ถ้าจะเข้าโรงพยาบาลศิริราช ให้ไปทำบัตรใหม่ที่ “ตึกผู้ป่วยนอก” ก่อน

ข้ามไปยังหน่วยตรวจโรคผิวหนัง ชั้น 4 ห้อง 400 เราได้รับความกรุณาจาก พ.ญ.เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล

กล่าวว่า อาการของเราเป็นอีสุกอีใส เพราะโรคนี้ตอนโตก็มีโอกาสเป็น เหมือนจะติดมาจากที่คนเยอะ ๆ

ถามว่าตอนเด็ก ๆ เคยเป็นอีสุกอีใสหรือไม่ ระหว่าง “ไม่เคย” หรือ “จำไม่ได้”

เราก็ตอบไปว่าจำไม่ได้ เพราะไม่รู้จริง ๆ

แต่ก็ชมว่า อายุ 31 ปีแล้ว เพิ่งจะเป็นอีสุกอีใส แสดงว่าที่บ้านดูแลอย่างดีมาก เป็นคนรักสะอาด

หลังรับยาเสร็จ ได้แจ้งให้ทางออฟฟิศทราบว่าป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส ก็วุ่นวายไปบ้างเพราะเจอแบบนี้ต้องหยุดงานไปตามระเบียบ

อีกทั้งก่อนหน้าที่จะมาโรงพยาบาลก็ฝืนมาทำงาน กลายเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว

ต้องขอโทษที่ทำให้ต้องวุ่นวายขนาดนี้

ขณะที่เพื่อนร่วมงานโทรศัพท์มาบอกว่า “มึงไม่ต้องมาออฟฟิศเลยนะ หยุดอยู่บ้าน พักผ่อนเยอะๆ”

ระหว่างขึ้นแท็กซี่กลับบ้าน ตอนนั้นรู้สึกอยากนอนเต็มแก่ เพราะร่างกายอ่อนเพลียมาก ไหนจะเจ็บๆ คันๆ กับตุ่มที่เกิดขึ้นตามตัว ปวดศีรษะเป็นระยะ

ชีวิตประจำวันระหว่างนอนป่วยเป็นอีสุกอีใสก็คือ ต้องกินยาฆ่าเชื้อที่ชื่อว่า “อะไซโคลเวียร์” ทุก 4 ชั่วโมง

โรงพยาบาลศิริราชแตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นตรงที่ แพทย์ถามว่าปกติตื่นกี่โมง แล้วกำหนดเวลารับประทานยามาให้

เวลากินยาก็คือ 6 โมงเช้า, 10 โมงเช้า, บ่ายสองโมง, 6 โมงเย็น และ 4 ทุ่ม วันละ 5 เวลา

ในตอนนั้นกลัวว่าจะลืมกินยา ก็ใช้วิธีตั้งนาฬิกาปลุกบนมือถือทุกวัน ถึงเวลากินยาก็จะปลุก แม้จะรู้สึกรำคาญแต่ก็ช่วยฝึกความมีวินัยในตัวเอง

ยาอะไซโคลเวียร์ตัวนี้ เป็นยาฆ่าเชื้อไวรัส ใช้รักษาโรคเริม โรคอีสุกอีใส โรคงูสวัด ฯลฯ ต้องกินอย่างต่อเนื่องครบตามระยะเวลาที่กำหนด ครั้งนี้หมอให้มา 35 เม็ด

ผลข้างเคียงโดยส่วนตัวก็คือ เริ่มปวดหัว ไม่สบายกาย ท้องเสีย ภาวะกายใจไม่สงบ มึนงง ง่วงนอน

นอกจากยากินแล้ว หมอยังให้ยาทา “ฟูซิดิก แอซิด” ทาบริเวณที่เป็นตุ่ม เช้า และ เย็น

คือหลังอาบน้ำเสร็จ ก่อนสวมเสื้อผ้าต้องทายาตัวนี้ อารมณ์เหมือนบิวตี้บล็อกเกอร์ทาครีม ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นคนไม่ชอบทาครีม

ส่วนเรื่องอาบน้ำ แม้แพทย์จะกล่าวว่าสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่ส่วนตัวก็พยายามใช้เฉพาะสบู่เด็ก ครีมอาบน้ำสำหรับเด็ก สระผมและฟอกตัว

ในตอนที่ฟอกหน้าจะเริ่มมีความรู้สึกตุ่มที่ใบหน้า แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละวัน

ที่สำคัญ ข้าวของเครื่องใช้อย่างผ้าเช็ดตัว ควรแยกจากสมาชิกในบ้านคนอื่น ๆ เพราะไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไปยังผู้อื่น ขนาดพี่ชายเองยังบอกว่ารู้สึกหวั่นใจว่าจะติดเชื้อหรือเปล่า

กิจวัตรประจำวันมีแค่กินยาให้ครบโดส อาบน้ำ ทายาตามตุ่มต่างๆ กินข้าว นอน วนเวียนอยู่แต่ในห้อง ออกนอกห้องไม่ได้เพราะจะกลายเป็นการแพร่เชื้อ

ถามว่าสบายไหม ตอบว่าทรมาน เพราะไหนจะเจ็บตุ่ม ไหนจะปวดศีรษะ ไหนจะคันอีก

ความบันเทิงที่ทำได้ก็คือ หาคลิปตลก คลิปซีรีส์ในยูทูปนอนดูระหว่างที่ยังไม่ง่วง

การต้องอยู่แต่ในห้องนอนโดยไม่ได้ออกไปไหน ต้องนับถอยหลังว่า “จะผ่านวันนี้ไปได้ไหม”

เพราะผลข้างเคียงจากยา จะเปิดคอมพิวเตอร์ทำงานยังทำไม่ได้เลย

นับตั้งแต่ทานยาฆ่าเชื้อและทายาที่ตุ่ม ผ่านไปประมาณ 5 วัน ตุ่มก็ยุบลง เหลือแต่ตุ่มแดงที่เริ่มแห้งเป็นสีน้ำตาล

หลายคนแนะนำไปว่าอย่าไปแกะ ไม่อย่างนั้นจะมีรอยแผลเป็นไปตลอดชีวิต

แต่บางครั้งก็หลุดออกเวลาขยับตัวระหว่างนอน

ช่วงที่เป็นใหม่ๆ แล้วยังไม่ได้ไปหาหมอ มีตุ่มอยู่จุดหนึ่ง ด้วยความที่เราคันเผลอไปเกาจนหลุด ผลก็คือกลายเป็นรอยแผลเป็นจุดแดงๆ ทายาก็ไม่หายจนถึงตอนนี้

เพราะฉะนั้น เมื่อมีคนเตือนแล้วก็อย่าลองดีกันอีกเลย

ผ่านไป 8 วัน วันที่แพทย์นัดก็มาถึง เมื่อเห็นตุ่มที่บริเวณแขนกลายเป็นสะเก็ดสีน้ำตาล ก็แนะว่าให้ใช้สกาเจลทา แต่ไปซื้อเอาจากข้างนอก เมื่อเห็นว่าหายดีแพทย์ก็ไม่ได้นัดอะไรอีก

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่มาโดยไม่รู้ตัว แม้จะไม่ได้สัมผัสกับตุ่มที่ผิวหนัง แต่แค่หายใจเอาฝอยละอองจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยเข้าไปก็ติดแล้ว

แม้การดูแลโรคอีสุกอีใส มองผิวเผินดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ด้วยความที่โรคนี้เป็นโรคติดต่อ เป็นโรคที่คนรังเกียจ ก็ทำให้เราจำต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว

แต่ก็เป็นความโดดเดี่ยวที่ต้องฝึกให้เราอดทน และมีวินัยในตัวเองมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น