สธ. ห่วงพื้นที่ “น้ำท่วม” พบโรคฉี่หนูระบาดเพิ่มมากขึ้น “กระบี่” เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า พบ 12 จังหวัดน้ำท่วมเสียชีวิตแล้ว 3 ราย ชี้ช่วงน้ำลดเข้าฟื้นฟูบ้านเรือน เชื้อยิ่งเข้มข้น โอกาสเกิดแผลง่าย เสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้น ย้ำ มีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ รีบแพทย์ทันที เตือนบุคลากรสาธารณสุขนึกถึงโรคฉี่หนูไว้ก่อน พร้อมให้ยารักษาทันที
วันนี้ (1 ก.พ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่ 12 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมกรณีการป้องกันโรคฉี่หนู ว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ จนขณะนี้ระดับน้ำลดลง พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูสะสมจำนวน 157 ราย เสียชีวิต 3 ราย แบ่งเป็น จ.กระบี่ 2 ราย และ ตรัง 1 ราย โดยสถานการณ์มีแนวโน้มพบผู้ป่วยมากขึ้น อย่าง จ.กระบี่ ก็พบการป่วยเพิ่มขึ้น 6 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน สำหรับสาเหตุที่ทำให้โรคฉี่หนูมีความรุนแรงจนเสียชีวิตนั้น อาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 เรื่อง คือ 1. มาพบแพทย์ช้า เนื่องจากไม่คิดว่าเป็นโรคนี้ ประกอบกับเมื่อมีอาการปวดในระยะแรกๆ ก็กินแค่ยาพาราเซตามอล และคิดว่าทนได้ และยังมีความเป็นห่วงบ้านเรือนอยากซ่อมแซมก่อนจึงไม่ไปพบแพทย์ 2. แพทย์วินิจฉัยได้ช้า เพราะเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกแทบทุกวัน จึงวินิจฉัยถึงโรคไข้หวัดและปอดบวมก่อน และ 3. เชื้ออาจมีความรุนแรงมากขึ้น
“เพื่อเป็นการป้องกันและลดความรุนแรงจากโรคฉี่หนู สธ. จึงยกระดับการดูแลเรื่องโรคฉี่หนูในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 3 เรื่อง คือ 1. ขอให้บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ร้านขายยา และคลินิกเอกชน หากพบผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสน้ำ มีไข้ มีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ให้สงสัยว่าเป็นโรคฉี่หนูไว้ก่อน และให้ยารักษาทันที เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค เพราะยาแทบไม่มีผลข้างเคียง แค่ทำให้รู้สึกอยากคลื่นไส้อาเจียนเท่านั้น 2. ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความรู้ประชาชนเรื่องโรคฉี่หนู และคอยดูแลว่าคนไหนที่มีประวัติสัมผัสน้ำและเป็นไข้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงได้ทันท่วงที และ 3. ขอให้โรงพยาบาลเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะในผู้เสียชีวิตจากโรคฉี่หนูและผู้ป่วยโรคฉี่หนูที่มีอาการรุนแรง โดยประสานกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่าเชื้อมีความรุนแรงขึ้นหรือไม่” รองปลัด สธ. กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ช่วงน้ำลดลง และเข้าสู่ระยะฟื้นฟูบ้านเรือนและที่สาธารณะ การติดเชื้อโรคฉี่หนูมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงน้ำท่วม เนื่องจากช่วงน้ำท่วมปริมาณน้ำมีมากทำให้เชื้อเจือจาง ดังนั้น เมื่อน้ำลดลงทำให้เชื้อมีความเข้มข้นมากขึ้น ประกอบกับเมื่อเข้าไปฟื้นฟู ซ่อมแซมบ้านเรือน จึงมีโอกาสเกิดแผลได้ง่าย ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกคนในพื้นที่น้ำท่วมมีความเสี่ยงทั้งหมด ทั้งบุคคลในพื้นที่และจิตอาสาที่มาช่วยเหลือ ดังนั้น เพื่อจึงควรมีการป้องกันตัวในการฟื้นฟูบ้านเรือน เช่น การใส่ถุงมือ การสวมรองเท้าเพื่อป้องกัน และหากเกิดบาดแผลให้รีบทำความสะอาดโดยเร็ว และเมื่อมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ขอให้นึกถึงโรคฉี่หนูและรีบไปพบแพทย์ทันที อย่ารอจนมีอาการรุนแรงแล้วจึงไปพบแพทย์ เพราะหากรอจนมีอาการหนัก คือ ตัวเหลือง ไอเป็นเลือด ส่วนใหญ่กว่า 50% ทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากแม้จะมียาในการรักษา แต่ภายในร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้