ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯ ห่วงมติเลื่อนแบนสารพิษ ทำของรั่วไหลไปยังเกษตรกร ไม่เชื่อรัฐจะคุมได้ จี้ระหว่างรอแบนเร่งจัดการมาตรการทดแทน เผยเสียดายกรมวิชาการเกษตร องค์ความรู้มีเพียบแต่กลับหนุนสารเคมี จนเกษตรกรเข้าใจว่าไม่มีสารเคมีอยู่ไม่ได้
วันที่ 27 พ.ย. 62 น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและกมธ.วิสามัญศึกษาควบคุมสารเคมีเกษตรฯ ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน”
ขณะที่สนทนานี้เป็นเวลาก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติขยายเวลาแบน 2 สารเคมี “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” และอนุญาตให้ใช้ไกลโฟเซตต่อ โดยมีเพียงคาดการณ์กันว่าจะมีมติเลื่อนแบนสารพิษทั้ง 3 ตัว
น.ส.ปรกชลกล่าวว่า ข้ออ้างสต๊อกที่ค้างอยู่ จากที่ น.ส.มนัญญาให้ข่าว ยืนยันว่าใน 1 เดือนจัดการได้ แต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับบอกว่าต้องการระยะเวลาอีก 180 วัน ทำไมข้อมูลที่ส่งให้ผู้บังคับบัญชาถึงได้ต่างกัน อีกกรณีก่อนหน้านี้ตัวเลขสต๊อกลดลงเรื่อยๆ จากหมื่นกว่าตันกลับกระโดดมาอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าตัน หลังจากที่มีมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ไปแล้ว เกิดคำถามว่ามันมาจากไหน ทั้งที่ไม่มีการนำเข้าตั้งแต่ มิ.ย. 62 หรือที่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นข้ออ้างไม่ให้ทำลายสต๊อกหรือเปล่า
ส่วนที่บอกว่าค่าใช้จ่ายในการทำลายสต๊อกมหาศาล เงื่อนไขของ WTO เราสามารถส่งไปยังประเทศต้นทางหรือประเทศอื่นที่ยังใช้สารนี้อยู่ได้ ซึ่ง น.ส.มนัญญา ก็เซ็นอนุญาตส่งออกไปแล้ว มันมีกระบวนการที่จัดการได้
น.ส.ปรกชลกล่าวอีกว่า ถ้ามีการเลื่อนใช้ ต้องมีมาตรการที่ดีพอ เพื่อไม่ให้ของตกไปอยู่กับเกษตรกร ซึ่งมันเป็นเป็นได้เพราะคนขายต้องการระบายสต๊อก แล้วเราไม่ได้มีความมั่นใจอะไรเลยว่าหน่วยงานรัฐจะดูแลเรื่องนี้ได้ ที่สำคัญมาตรการทดแทนต้องรีบจัดการ ไม่เช่นนั้นก็วนเวียนอยู่อย่างนี้
กรณีที่อ้างแบบสำรวจคน 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับการแบนสารพิษ กรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพทำแบบสำรวจ เสียงส่วนหนึ่งมาจากคนโหวตทางออนไลน์ แต่เสียงส่วนใหญ่มาจากสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และ เครือข่ายคนรักแม่กลอง ซึ่งก็รู้กันอยู่แล้วว่าสองกลุ่มนี้สนับสนุนการใช้สารพิษต่อ
น.ส.ปรกชลกล่าวถึงข้อกังวลว่าหากแบนสารพิษจะกระทบต่อการนำเข้าสินค้าการเกษตร ว่า เราสามารถกำหนดปริมาณสารตกค้างให้ไม่เกินมาตรฐานได้ ไม่ต้องกังวลเราสามารถจัดการได้ หลายประเทศก็ทำกัน
ข้อเรียกร้องกลุ่มเกษตรกร 9 องค์กร ขอเอกสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เรื่องสารพิษตกค้าง เอกสารดังกล่าวเราเผยแพร่มาตลอด อยู่ที่ว่าจะฟังหรือเปล่า ความเชื่อในอดีตว่าพาราควอตจับกับดินแน่นผักไม่ดูดซม แต่ปรากฎว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เจอพาราควอตตกค้างในผัก ฉะนั้น ที่บอกว่าไม่ปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ไม่จริง
น.ส.ปรกชลยังกล่าวด้วยว่า รู้สึกเสียดายกรมวิชาการเกษตร องค์ความรู้การทดแทนสารพิษอยู่ในกรมวิชาการเกษตรตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว แต่ไม่เคยถูกพูดออกมา หนุนแต่สารเคมี จนเกษตรกรรู้สึกไม่มีทางออก เข้าใจว่าไม่มีสารเคมีจะอยู่ไม่ได้