xs
xsm
sm
md
lg

พันท้ายนรสิงห์มีตัวตนหรือไม่! ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ ทำไมต้องซื้อลิขสิทธิ์สร้างหนังละคร!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พันท้ายนรสิงห์
มีบุคคลในประวัติศาสตร์หลายท่าน ถูกกล่าวขานว่าไม่มีตัวตนจริง แต่เป็นเรื่องราวในละครที่ถูกทึกทักว่าเป็นเรื่องจริง อย่างเช่น “พันท้ายนรสิงห์” นายท้ายเรือที่ชนฝั่งจนโขนเรือหัก “แม่บุญเหลือ” วีรสตรีระเบิดพลีชีพที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เมืองโคราช “ขุนรัตนาวุธ” ขุนดาบทะลวงฟันแห่งสงคราม ๙ ทัพ ว่าเป็นเช่น “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งเป็นวรรณกรรมอมตะที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แล้วมาแต่งเป็นกลอน เป็นเสภา ขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับความนิยมอย่างมากจนเกิดมีคุ้มขุนแผน คุ้มขุนช้าง ขึ้นหลายแห่ง แต่ก็เป็นแค่สถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น

ส่วน ขุนรัตนาวุธ แม้ไม่ปรากฏชื่อในพงศาวดาร แต่ก็เป็นเรื่องเล่าสืบทอดกันมาของลูกหลานผู้ผ่านสมรภูมิครั้งสำคัญของชาติในครั้งนั้น จนมามีอนุสาวรีย์ยืนอยู่หน้ากองพล ๙ ที่ลาดหญ้า กาญจนบุรีสมรภูมิของสงคราม ๙ ทัพ

“แม่บุญเหลือ” ก็เช่นกัน ไม่มีเรื่องราวปรากฏในบันทึกของประวัติศาสตร์ แต่มีอนุสาวรีย์อยู่ที่โรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดนครราชสีมา พลเอกเปรม ติณสูลานนท์มาทำพิธีเปิดขณะเป็นนายกรัฐมนตรี และทางจังหวัดกำหนดให้ทุกวันที่ ๘ มีนาคมเป็นวันสดุดีวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ วางพวงมาลากันทุกปี

สำหรับเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ เช่น ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ที่ทรงเรียบเรียงขึ้นเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงเรื่องราวของสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี หรือ พระเจ้าเสือ กษัตริย์พระองค์ที่ ๒๙ ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทรงโปรดกีฬาชกมวย คล้องช้าง ล่าสัตว์ และตกเบ็ด เสด็จไปทรงเบ็ดที่ปากน้ำเมืองสาครบุรี หรือสมุทรสาครเป็นประจำ พงศาวดารนี้ได้กล่าวถึงการเสด็จประพาสทรงเบ็ดครั้งหนึ่งว่า

“จุลศักราช ๑๐๖๖ (พ.ศ.๒๒๔๗) ปีวอก ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย จะไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ครั้นเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขามและคลองที่นั่นคดเคี้ยวมาก และพันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งคัดแก้ไขมิทันที ศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นโขนกระทบกิ่งไม้อันใหญ่เข้าก็หักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้นก็ตกใจ จึงโดดขึ้นเสียจากเรือพระที่นั่ง และขึ้นอยู่บนฝั่งแล้วร้องกราบทูลพระกรุณาว่า

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ ขอจงทรงพระกรุณาโปรดให้ทำศาลขึ้นที่นี่สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้ากับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักตกน้ำลงไปนั้นขึ้นบวงสรวงไว้ด้วยกันที่นี้ ตามพระราชกำหนดในบทพระอัยการเถิด จึงมีพระโองการตัดว่า อ้ายพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งโทษเอ็งถึงตายนั้นก็ชอบอยู่แล้ว แต่ทว่าบัดนี้กูจะยกโทษเสีย ไม่เอาโทษเอ็งแล้ว เอ็งจงคืนมาลงเรือไปด้วยกูเถิด ซึ่งศีรษะเรือที่หักนั้นกูจะทำต่อเอาใหม่แล้ว เอ็งอย่าวิตกเลย พันท้ายนรสิงห์จึงกราบทูลว่า ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดมิเอาโทษข้าพระพุทธเจ้านั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าจะเสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมายไป และซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาละพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินเสียดังนี้ ดูมิบังควรยิ่งนัก นานไปภายหน้าเห็นว่าคนทั้งปวงจะล่วงครหาติเตียนดูหมิ่นได้ และพระเจ้าอยู่หัวอย่าทรงพระอาลัยแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้ถึงแก่มรณโทษนี้เลย จงทรงพระอาลัยถึงพระราชประเพณีอย่าให้เสียขนบธรรมเนียมไปนั้นดีกว่า อันพระราชกำหนดมีมาแต่โบราณนั้นว่า ถ้าและพันท้ายผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่ง ให้ศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นหัก ท่านว่าพันท้ายผู้นั้นถึงมรณโทษให้ตัดศีรษะเสีย และพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระกรุณาโปรดให้ตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าเสีย ตามโบราณราชประเพณีกำหนดนั้นเถิด จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ขึ้นแล้ว แล้วดำรัสว่า อ้ายพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งโทษถึงตายแล้วนั้น กูจะประหารชีวิตเอ็งเสียพอเป็นเหตุแทนตัวเอ็งแล้ว เอ็งอย่าตายเลย จงกลับมาลงเรือไปด้วยกับกูเถิด พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้นก็มีความละอายนัก ด้วยกลัวจะเสียพระราชกำหนดโดยขนบธรรมเนียมโบราณไป เกรงทั้งปวงจะครหาติเตียนดูหมิ่นในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งตนได้ สู้เสียสละชีวิตของตัวมิได้อาลัย จึงกราบทูลว่า ขอพระราชทานซึ่งทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้าครั้งนี้ พระเดชพระคุณหาที่เปรียบมิได้ แต่ทว่าซึ่งจะตัดศีรษะรูปดินแทนตัวข้าพระพุทธเจ้าดังนี้ ดูเป็นทำเล่นไป คนทั้งหลายจะล่วงครหาติเตียนได้ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าโดยฉันจริงเถิด อย่าให้เสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดไปเลย ข้าพระพุทธเจ้าจะขอกราบทูลฝากบุตรและภรรยา แล้วก็จะกราบถวายบังคมลาตายไปโดยลักษณะยถาโทษอันกราบทูลไว้นั้น

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฟังดังนั้น ก็ดำรัสวิงวอนไปเป็นหลายครั้ง พันท้ายนรสิงห์ก็มิยินยอมอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาการุณภาพแก่พันท้ายนรสิงห์เป็นอันมาก จนกลั้นน้ำพระเนตรนั้นไว้มิได้ จำเป็นจำทำตามพระราชกำหนด จึงดำรัสสั่งให้นายเพชฌฆาตให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงประมาณเพียงตา และให้เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักนั้นขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น แล้วให้ออกเรือพระที่นั่งไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี แล้งเสด็จกลับยังพระนคร และศาลเทพารักษ์ที่ตำบลโตกขามนั้น ก็มีปรากฏมาตราบเท่าทุกวันนี้

จึงพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริว่า ณ คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวนัก คนทั้งปวงจะเดินเรือเข้าออกก็ยาก ต้องอ้อมวงไปไกลกันดารนัก ควรเราจะให้ขุดลัดตัดเสียให้ตรงจึงจะชอบ อนึ่งพันท้ายนรสิงห์ซึ่งตายเสียนั้น เป็นคนสัตย์ซื่อมั่นคงนัก สู้เสียสละชีวิตมิได้อาลัย กลัวว่าเราจะเสียพระราชประเพณีไป เรามีความเสียดายนักด้วยเป็นข้าหลวงเดิมมาแต่ก่อน อันจะหาผู้ซึ่งรักโคร่ซื่อตรงต่อเจ้าเหมือนพันท้ายนรสิงห์นี้ยากนัก แล้วดำรัสให้เอากเฬรพันท้ายนรสิงห์มาแต่งการฌาปนกิจพระราชทานเพลิงศพ และบุตรภรรยานั้นพระราชทานเงินทองสิ่งของเป็นอันมาก แล้วมีพระราชโองการตรัสสั่งสมุหนายกให้กะเกณฑ์เลขหัวเมืองให้ได้สามหมื่นให้ขุดคลองโตกขาม และให้ขุดลัดตัดให้ตรงตลอดไป โดยลึกหกศอก ปากคลองกว้างแปดวา พื้นคลองกว้างห้าวา และให้พระราชสงครามเป็นแม่กองคุมพงหัวเมืองทั้งปวง ขุดคลองจงแล้วสำเร็จดุจพระราชกำหนด”

เนื้อความเรื่องพันท้ายนรสิงห์ในพระราชพงศาวดารมีเท่านี้ ถือว่าเป็นเกล็ดประวัติศาสตร์ และไม่ได้บอกว่าพันท้ายนรสิงห์มีชื่อเดิมว่าอะไร มีเมียชื่ออะไร ทั้งมีเหตุผลที่ทำให้หัวเรือชนกิ่งไม้หักนั้น เนื่องจากคลองคดมาก

ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ คณะศิวารมณ์ได้นำพระนิพนธ์เรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล มาแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง ที่มีเพลงอมตะ “น้ำตาแสงไต้” เป็นเพลงเอก เรื่องนี้พันท้ายนรสิงห์มีชื่อเดิมว่า สิน มีภรรยาชื่อ นวล ส่วนเหตุผลที่คัดท้ายให้เรือพุ่งชนต้นไม้จนโขนหัวเรือหักนั้น ก็เพราะพันท้ายนรสิงห์รู้ว่ามีคนดักปลงพระชนม์อยู่ข้างหน้า จึงหยุดยั้งขบวนเสด็จไว้เพื่อถวายความปลอดภัย ซึ่งส่วนนี้เป็นงานสร้างสรรค์ของ “เสด็จพระองค์ชายใหญ่” พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล

การนำสร้างพันท้ายนรสิงห์ที่อยู่ในพงศาวดารไม่ว่าฉบับไหนไปสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์ ไม่ต้องซื้อบทประพันธ์จากใคร เพราะเป็นประวัติศาสตร์
แต่ถ้าจะให้พันท้ายนรสิงห์มีชื่อเดิมว่า สิน เมียชื่อ นวล แล้วมีคนดักปลงพระชนม์อยู่ข้างหน้า จึงถวายความปลอดภัยยับยั้งขบวนเสด็จ ก็เป็นพระนิพนธ์ของ “พระองค์ชายใหญ่” ซึ่งมีลิขสิทธิ์

แต่ถ้าจะดัดแปลงอิงประวัติศาสตร์เหมือนกัน ให้พันท้ายนรสิงห์ชื่ออื่น เช่น สิงห์ มีเมียชื่อ น่วม และเหตุที่ชนก็เพราะหลับใน ก็สร้างไปได้เลย ไม่ต้องไปซื้อลิขสิทธิ์ใคร

เรื่องประวัติศาสตร์ กับ วรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ จึงต่างกันตรงนี้
ศาลเก่าของพันท้ายนรสิงห์ที่ได้รับการบูรณะ
ศาลพันท้ายนรสิงห์ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น