เมื่อมีโอกาสได้เดินทางผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ก็เป็นทุกครั้งจะต้องแวะเวียนมารำลึกความหลังกับบึงน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลครั้งยังล่ำเรียนไล่ล่าหาใบปริญญามาประดับฝาบ้าน ความเดิมที่จำได้คือบึงแห่งนี้เป็นบึงตามธรรมชาติที่คงซึ่งความอุดมสมบูรณ์อยู่แม้จะมีการใช้ประโยชน์หลากหลายรูปแบบในพื้นที่ แต่การใช้ประโยชน์จากชุมชนรอบพื้นที่เหล่านั้นก็เป็นไปตามฤดูกาล ระหว่างฤดูแล้งน้ำลดพื้นที่บางส่วนของบึงก็ถูกใช้เพื่อทำนาข้าวและเลี้ยงสัตว์ เมื่อครั้งเปลี่ยนเป็นฤดูฝนน้ำเอ่อท่วม การประมงท้องถิ่นหาปู ปลา และกุ้งฝอย ก็เป็นทางเลือกสำหรับการประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว
บึงกะโล่ หรืออีกชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกคือ บึงทุ่งเศรษฐี เป็นบึงน้ำธรมชาติขนาดใหญ่ดั้งเดิมแต่เมื่อก่อนนานมาแล้ว มีตำนานเรื่องเล่าขานมากมายถูกบอกเล่าจากช้าวบ้านถึงพื้นที่นี้หลายเรื่อง เช่น เมืองเก่า พงศาวดาร และเรื่องเหนือธรรมชาติ เป็นต้น ในปัจจุบันมีการปรับปรุงพื้นที่หลายส่วน มีการทำคันดินล้อมรอบเพื่อการกักเก็บน้ำและใช้เป็นทางสัญจรระหว่างหมู่บ้าน บางจุดมีการสร้างเพิงที่พักอาศัยชั่วคราว มีการใช้พื้นที่เล็ก ๆ เพียงมุมหนึ่งเท่านั้นเพื่อสร้างอาคารสำหรับศูนย์ OTOP ของจังหวัดซึ่งมีถนนเชื่อมต่อเข้ามาจากทางหลวงแผ่นดินเส้นที่ 11 แต่ก็ถูกทิ้งร้างมานานก่อนหน้าการเริ่มต้นเก็บข้อมูลในโครงการศึกษา
ในปี พ.ศ. 2550 คณะสำรวจความหลากหลายของงูในพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้พบสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เฉพาะพื้นที่ลุ่มภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้น งูสายรุ้งดำ (Enhydris jagorii) อันเป็นจุดเริ่มต้นสนใจในการเริ่มโครงการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ของผม และทำให้ต่อมาทราบว่าบึงแห่งนี้เป็นบึงน้ำเพียงแห่งเดียวในที่ราบลุ่มภาคกลางซึ่งยังคงประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ได้อยู่ แต่ก่อนเสร็จสิ้นโครงการเกิดข่าวไม่สู้ดีนักถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากหน่วยงานของรัฐทั้งด้านการศึกษาและการปกครอง การเปลี่ยนแปลงจะเป็นการปรับพื้นที่ขนาดใหญ่ มีการขุด การถมดิน การก่อสร้างอาคาร และเส้นทางสัญจรตัดผ่านในพื้นที่บึงน้ำมากมาย แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องเล่าลอยดังมาจากปากต่อปาก
ไม่ถึงหนึ่งปี เรื่องเล่าจากปากต่อปากกลับเป็นเรื่องจริง พื้นที่บึงน้ำถูกกันออก ป้ายโครงการถูกติดตั้ง เครื่องจักรขนาดใหญ่มากมายถูกนำเข้ามา การเปลี่ยนแปลงพื้นที่และการก่อสร้างก็เริ่มต้นขึ้นหลังการเก็บข้อมูลในโครงการสิ้นสุดลงไม่นานนัก ในช่วงการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บมาผมเองไม่มีโอกาสได้แวะเยี่ยมเยือนบึงกะโล่จนกระทั่งพบเห็นข่าวประกาศบนสื่อออนไลน์ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ได้ปรับปรุงพื้นที่เกือบเสร็จเรียบร้อยและตามมาด้วยการสร้างสวนสาธารณะซึ่งจะนำต้นซากุระซึ่งเป็นพืชต่างถิ่นเข้ามาปลูก ในข่าวต้นซากุระเหล่านั้นเป็นพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงเพื่อให้สามารถทนทานสภาพอากาศร้อนอุณหภูมิสูงได้ถึง 30 องศาเซลเซียส ผมก้มเหลือบมองไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งใกล้ ๆ อุณหภูมิจากการเก็บข้อมูลสูงกว่าความทนทานที่กล่าวอ้างเยอะทีเดียว
"ไม่น่ารอด" ผมคิด
แล้วก็ไม่ผิดไปจากการคาดเดาเมื่อผมเข้าเยี่ยมเยือนพื้นที่บึงน้ำในหลายปีต่อมา สวนซากุระยังไม่เปิดให้เข้าชม เมื่อมองจากข้างนอกต้นซากุระที่เห็นหลายต้นแคระแกรนและแห้งเหี่ยว พื้นที่บึงถูกเปิดโล่งจากเดิมที่มีพืชน้ำปกคลุมมากมายกลายเป็นบ่อดินเปิดโล่งไร้พืชพรรณ ทางถนนทั้งลาดยางและดินลูกรังถูกตัดผ่านทั่วพื้นที่ ประตูกั้นน้ำถูกสร้าง สิ่งก่อสร้างมากมายผุดขึ้นมา หลายอาคารทิ้งร้างไม่ถูกใช้งาน แต่ส่วนที่น่าจะหนักหนามากที่สุดคงเป็นสิ่งที่เกิดจากกิจกรรมที่เรียกว่า การปลูกป่า ในพื้นที่บึง ด้วยเมื่อพิจารณาดูจากความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว จุดประสงค์ของการดำเนินการคล้ายไม่ใช่เพื่อการแก้ปัญหาหรือทางออก แต่เพื่อเป็นข้ออ้างสำหรับการแก้ตัวเสียมากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงจะเป็นอย่างที่คิดหรือเปล่านั้นผมเองก็ไม่อาจทราบได้ แต่หัวใจมันพาให้รู้สึกเช่นนั้น
ความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของบึงแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
"น่าอนาถ" ผมสบถดังในใจ
เกี่ยวกับผู้เขียน
"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน