กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
โครงการก่อสร้างสะพานบนทางหลวงชนบท สป.4010 เชื่อมทางหลวงหมายเลข 3243-บางขุนเทียน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ใกล้จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มเปิดการจราจรไปแล้วเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ลักษณะเป็นทางยกระดับต่อเชื่อมสะพาน (สะพานบก) กว้าง 9 เมตร ยาว 2.292 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างสะพานข้ามคลองผู้เฒ่า คลองตาหนัน และคลองแทน มีทางเชื่อมยกระดับ 9 แห่ง รวม 220 เมตร และถนนยาว 404.50 เมตร
โครงการนี้สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ มีบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผู้รับจ้าง ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 406.98 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาก่อสร้าง 14 กุมภาพันธ์ 2560
สะพานบกแห่งใหม่ อยู่ห่างจากถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ประมาณ 3.7 กิโลเมตร ไปทางวัดธรรมคุณาราม ข้ามสะพานคลองขุนราชพินิจใจ และแยกถนน อบต.บ้านคลองสวน (เชื่อมซอยเทียนทะเล 25 และซอยประชาอุทิศ 90)
สาเหตุที่ทำสะพานบก เข้าใจว่าดินตรงจุดนั้นเป็นดินอ่อน หากก่อสร้างถนนระดับดินธรรมดา พอใช้สัญจรไปมาไม่นานถนนก็พัง ใช้การไม่ได้เหมือนเดิม อีกทั้งในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงมีน้ำท่วมทาง ก็เลยสร้างสะพานบกตามแนวถนนลูกรังเดิม
แนวเส้นทางจะผ่านร้านอาหารครัวลุงโห ข้ามคลองผู้เฒ่า คลองตาหนัน ผ่านบ้านศรีคงคา แยกถนนไปวัดคลองสวน สิ้นสุดที่ทางหลวงชนบท สป.3040 (บ้านคลองสวน-บ้านล่าง) กับถนนเลียบคลองสรรพสามิตเดิม
จากจุดนี้เลยไปเล็กน้อยจะเป็นทางเข้าวัดสาขลา ตรงไปอีก 9 กิโลเมตร จะไปออกถนนสุขสวัสดิ์ (พระสมุทรเจดีย์-ป้อมพระจุล) ผ่านถนนประชาอุทิศ-วัดคู่สร้าง ผ่านวัดเอี่ยมประชามิตร (วัดแหลมฟ้าผ่า) ถึงสามแยกถนนสุขสวัสดิ์
นอกจากจะเป็นถนนสายรอง แบ่งเบาการจราจรบนถนนพระราม 2 แล้ว ยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เส้นทางจักรยานเพื่อสุขภาพ และโลจิสติกส์ขนาดเล็ก เชื่อมสมุทรปราการ กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร
เดิมโครงการถนนสมุทรปราการ-สมุทรสาคร เชื่อมต่อถนนเลียบคลองสรรพสามิต ฝั่ง จ.สมุทรปราการ กับถนนสหกรณ์-โคกขาม ฝั่ง จ.สมุทรสาคร เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจดี อสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู
แต่เมื่อเป็นถนนสายอนุรักษ์ ตลอดเส้นทางมีผืนป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นธรรมชาติคงอยู่จำนวนมาก ในยุคนั้นจึงเห็นว่าไม่ควรขยายเขตทางเพิ่มขึ้น เกรงว่าจะทำให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และการขยายตัวของชุมชนตามมา
ต่อมากรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อสร้าง ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ช่วงคลองเชิงตาแพ-โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ แล้วเสร็จในปี 2546 แต่ปัญหาก็คือสภาพพื้นที่เป็นดินอ่อน พอช่วงน้ำทะเลหนุนก็เกิดน้ำท่วมถนน รถเข้าไม่ได้ สุดท้ายถนนก็พัง
ขณะเดียวกัน เมื่อมีถนนสายใหม่ตัดเข้ามา ทำให้มีร้านอาหารทะเลเกิดขึ้นมาใหม่ตลอดเส้นทาง และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เพราะจุดขายของที่นี่คืออาหารทะเลสด ในบรรยากาศชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน
กทม. จึงก่อสร้างถนนบางขุนเทียน-ชายทะเลขึ้นมาใหม่ ช่วงถนนพระราม 2 ถึงคลองเชิงตาแพ ระยะทาง 11.45 กิโลเมตร เป็น 2-6 ช่องจราจร งบประมาณ 792 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างต้นปี 2550 แล้วเสร็จในปี 2552
ส่วนช่วงคลองเชิงตาแพ ถึงบ้านคลองพิทยาลงกรณ์ กทม. ได้ปรับปรุงถนนเดิม 2 ช่องจราจร ใช้งบประมาณราว 20 ล้านบาท ทำให้ชาวบ้านริมคลองพิทยาลงกรณ์ ที่เคยต้องขับรถอ้อมไปทางสมุทรสาคร สัญจรไปมาได้สะดวกขึ้น
ขณะที่กรมทางหลวงชนบท ก่อสร้าง ทางหลวงชนบท สค.4008 แยกทางหลวงหมายเลข 3423-นิคมบ้านไร่ ระยะทาง 8.745 กิโลเมตร แล้วเชื่อมกับถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ทำให้กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมกันเป็นสองจังหวัดถึงปัจจุบัน
ยังมีส่วนที่ขาดหาย (Missed Link) ระหว่างกรุงเทพมหานครกับสมุทรปราการ แม้กรมทางหลวงชนบทจะก่อสร้างสะพานข้ามคลองขุนราชพินิจใจ ตั้งแต่ปี 2547 แต่ยังเป็นถนนลูกรังและไม่เชื่อมต่อเพราะมีคลองขวางกั้น
ส่วนฝั่งถนนเลียบคลองสรรพสามิต หรือทางหลวงหมายเลข 3243 ระยะทาง 5.317 กิโลเมตร พบว่า กรมทางหลวงรับผิดชอบเพียง 635 เมตร นอกนั้นโอนให้เทศบาลตำบลแหลมฟ้าผ่ารับผิดชอบ
เช่นเดียวกับถนนสุขสวัสดิ์ ตั้งแต่สามแยกพระสมุทรเจดีย์ ถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า (กม. 21+732 ถึง กม. 27+800) กรมทางหลวงโอนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการไปแล้วก่อนหน้านี้
ขณะที่กรมทางหลวงชนบท ก่อสร้างถนน สป.4010 เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งแต่ถนนของกรมทางหลวงเดิม ถึงบ้านสาขลา ระยะทาง 4.890 กิโลเมตร และได้ก่อสร้างมาเรื่อยๆ กระทั่งมาถึงสะพานบกช่วงสุดท้ายดังกล่าว
ตลอดระยะทาง 35 กิโลเมตร จากปากทางถนนเลียบคลองสรรพสามิต ถึงจังหวัดสมุทรสาคร จะได้พบกับแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติริมชายฝั่งทะเล และวิถีชีวิตชุมชนตลอดแนวคลองสรรพสามิต และคลองพิทยาลงกรณ์
ขณะที่การขยายตัวของชุมชนเริ่มมีมากขึ้น ถนนสายนี้จะเป็นเส้นทางสำรองเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 โดยใช้สะพานกาญจนาภิเษก ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอพระสมุทรเจดีย์ประมาณ 7 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม สำหรับฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร ยังมีการขยายทางหลวงชนบท สค.4008 ช่วงวัดสหกรณ์โฆสิตาราม เป็น 4 ช่องจราจรในช่วงที่เหลือ ถึงสะพานข้ามคลองหัวถนน (อบต.พันท้ายนรสิงห์) ระยะทาง 2.9 กิโลเมตร
รวมทั้ง กรมทางหลวง กำลังก่อสร้างขยายถนนสหกรณ์-โคกขาม จากตัวเมืองสมุทรสาคร ถึงวัดสหกรณ์โฆสิตาราม เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 6.937 กิโลเมตร งบประมาณ 150 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563
ข้อมูลจากกรมทางหลวงชนบท ระบุว่า ทางหลวงชนบท สป.4010 (ฝั่งจังหวัดสมุทรปราการ) มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 1,197 คันต่อวัน และทางหลวงชนบท สค.4008 (ฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร) มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 8,025 คันต่อวัน
คาดว่าหลังจากนี้ สะพานบกบนถนนช่วงพระสมุทรเจดีย์-บางขุนเทียน จะเป็น “แลนด์มาร์คแห่งใหม่”สำหรับการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล รวมทั้งนำพาความเจริญและชุมชนขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
10 ที่เที่ยวเส้นทาง “สองสมุทร” 3 จังหวัด
1. วัดพระสมุทรเจดีย์ อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมอยู่บนเกาะกลางปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระชัยวัฒน์ และพระปางห้ามสมุทร
2. ป้อมผีเสื้อสมุทร เป็นป้อมปราการคล้ายผีเสื้อกางปีก บนเกาะในแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ใกล้กับพระสมุทรเจดีย์ มีสะพานแขวนเดินเท้าเข้าไปศึกษาเส้นทางธรรมชาติ มีท่าเทียบเรือชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งตัวเมืองสมุทรปราการ
3. ป้อมพระจุลจอมเกล้า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อปกป้องสยามจากการรุกรานของต่างชาติ ชมป้อมปืนเสือหมอบ เรือหลวงแม่กลอง ซึ่งเป็นเรือรบเก่าแก่ที่สุดของไทย และพิพิธภัณฑ์ศึกษาประวัติและเหตุการณ์ ร.ศ.112
4. ชุมชนบ้านสาขลา เป็นชุมชนเก่าแก่สมัยอยุธยา ประกอบด้วยวัดสาขลา ประดิษฐานหลวงพ่อโต มีพระปรางค์เอียงซึ่งเกิดจากแผ่นดินทรุดตัว มีตลาดโบราณบ้านสาขลาทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และมีของฝากขึ้นชื่ออย่างเช่นกุ้งเหยียด
5. ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน หมู่บ้านบนแหลมที่ยื่นไปในทะเล ไม่มีถนนตัดผ่าน ต้องนั่งเรือจากท่าเรือป้าลี่ (ถนนสุขสวัสดิ์-วัดสาขลา) มีวัดขุนสมุทราวาส เจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย ชมวิถีชีวิตชาวบ้านเลี้ยงกุ้ง จับหอยแครง มีโฮมสเตย์ให้บริการ
6. ชายทะเลบางขุนเทียน เขตเดียวในเมืองหลวงที่ติดทะเล ล่องเรือไปยังจุดชมวิวทะเลกรุงเทพฯ ศึกษาธรรมชาติพื้นที่ป่าชายเลนกรุงเทพฯ ชมนกยางและนกนางนวล รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารทะเลสดๆ อย่างปูทะเลและหอยแมลงภู่
7. อุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์ อนุสรณ์สถานถึงพันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือสมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา สัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์จงรักภักดี ภายในศาลมีรูปปั้นของพันท้ายนรสิงห์ให้ประชาชนสักการะ
8. จุดชมปลาโลมา หรือ สะพานแดง ตั้งอยู่ที่บริเวณศาลเจ้าพ่อมัจฉานุ เป็นจุดชมวิวชายฝั่งทะเล ป่าชายเลนและไม้ไผ่ชะลอคลื่น โดยมีทางเดินเป็นสะพานไม้ทาด้วยสีแดงยาว 700 เมตร ในช่วงฤดูหนาวยังเป็นจุดชมปลาโลมาในอ่าวไทย
9. พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน บริเวณวัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) ใกล้ปากอ่าวมหาชัย ถือเป็นพระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูงจากระดับพื้นดิน 17 เมตร
10. วัดโกรกกราก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน พระประธานในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาแลง ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัยตอนปลาย ที่สวมแว่นตาดำ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน