... รายงาน
เมื่อเช้านี้ ตำรวจกองบังคับการปราบปราม และกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) จับกุม นายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) และพวกรวม 10 คน ตามหมายจับข้อหาร่วมกันทุจริตเงินทอนวัด ลอต 3
แม้จะไม่ค่อยฮือฮา เมื่อเทียบกับการจับกุมพระผู้ใหญ่ 3 วัดดัง “วัดสระเกศฯ-สามพระยา-สัมพันธวงศ์ฯ” เป็นถึงกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อเช้าตรู่วันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าทางคดีอีกก้าวหนึ่ง
เพราะก่อนหน้านี้ ในช่วงการจับกุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ก็มีกระแสสังคมจากฝั่งองค์กรชาวพุทธฯ ที่เป็นเครือข่ายลูกศิษย์ของวัดดัง ออกมาโจมตีว่าทำไมเลือกปฏิบัติ จับแต่พระ ทำไมไม่จับฆราวาสบ้าง
ในช่วงเวลาที่คดีเงินทอนวัด สั่นสะเทือนในวงการพระพุทธศาสนา ชื่อของ “พนม ศรศิลป์” เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกตรวจสอบมากเป็นพิเศษ พร้อมกับ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.พศ. ที่หลบหนีไปต่างประเทศ
กระทั่งเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2560 นายพนม เคยถูกตำรวจค้นบ้านหรู เลขที่ 199/8 หมู่ 9 ในหมู่บ้านบางกอก บูเลอวาร์ด ถนนพุทธมณฑล สาย 4 หนึ่งใน 14 จุดเป้าหมาย ที่ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัด ลอต 2
โดยก่อนหน้านี้ ตำรวจ ปปป. ตรวจสอบพบว่ามีการโอนเงินซื้อหุ้นสหกรณ์แห่งหนึ่ง และมีการซื้อทองสะสมไว้ มีพฤติการณ์เชื่อว่าร่ำรวยผิดปกติ และเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัด
เมื่อเปิดตู้เซฟ พบทองคำแท่งหนัก 80 บาท พระเครื่องเบญจภาคี เอกสารการซื้อหุ้นสหกรณ์ ขณะที่หมู่บ้านหรูดังกล่าว บริษัท เอสซี แอสเสท ของตระกูลชินวัตร เป็นเจ้าของโครงการ ราคาเริ่มต้นกว่า 6.9 ล้านบาท
ในตอนนั้น นายพนม ถูกแจ้ง 2 ข้อหา คือ ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (มาตรา 157) และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเบียดบังทรัพย์สินของรัฐเป็นของตัวเอง (มาตรา 147)
นอกจากนี้ นายพนม ยังถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร้องทุกข์กล่าวโทษกับ บก.ปปป. เอาผิดผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด ลอต 2 เมื่อ 13 ต.ค. 2560 พร้อมกับพวกรวม 19 ราย
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายพนม พร้อมกับนายนพรัตน์ และนางประนอม คงพิกุล รอง ผอ.สำนักพุทธฯ คดีทุจริตงบบูรณปฏิสังขรณ์วัดพนัญเชิง เมื่อ 19 พ.ย. 2560
รวมทั้ง นายพนม ยังถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และความผิดทางอาญา เมื่อ 8 ม.ค. 2561 กรณีทุจริตเงินโครงการอบรมพระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปี 2558 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายพนม เคยปรากฏตัวอีกครั้งเมื่อ 6 ก.พ. 2561 เข้ามอบตัวต่อตำรวจ บก.ปปป. ตามหมายเรียกคดีฟอกเงิน กรณีคดีทุจริตงบประมาณบูรณะ วัดไร่ขิง งบปริยัติธรรม วัดกวิศรารามฯ และงบบูรณะวัดช้าง เพชรบุรี
นายพนม ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันไม่ได้กระทำความผิด และขอต่อสู้คดีในชั้นศาล ก่อนที่จะปล่อยตัวกลับไป ความเคลื่อนไหวของนายพนมก็เงียบลง แทนที่ด้วยการจับกุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ 3 วัดดังแบบฟ้าแลบ
ย้อนกลับไปถึงเส้นทางการทำงานของนายพนม พบว่า เป็น ผอ.สำนักพุทธฯ คนที่ 7 ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 1 ต.ค. 2557 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ากันว่าได้รับการผลักดันจาก นายนพรัตน์ ให้สืบทอดเก้าอี้
เคยเป็น ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดหนองบัวลำภู ก่อนจะย้ายไปเป็น ผอ.กองกลาง ต่อด้วย ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา
หนึ่งในผลงานของนายพนมที่สำคัญ คือ ประธานคณะทำงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ตามนโยบายของมหาเถรสมาคมและรัฐบาลชุดก่อน
ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานกรรมการ
จะสังเกตได้ว่า วัดไหนที่เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จะต้องมีภาพของสมเด็จช่วงปรากฎอยู่
ปัจจุบัน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ตามเดิม เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560
แต่เนื่องจากสมเด็จช่วงยังรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลศิริราช จึงมอบหมายให้ พระวิสุทธิวงศาจารย์ รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นผู้แทนรับพระบัญชา
นายพนม อยู่ในตำแหน่งเพียง 2 ปี 6 เดือน ก็ถูก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้พ้นจากตำแหน่งไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
และให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาดำรงตำแหน่งแทน เมื่อ 26 ก.พ. 2560
ว่ากันว่าเพราะนิ่งเฉย กรณีจัดการพระไชยบูลย์ สุทธิผล หรือ อดีตพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาคดีสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร กรณีการทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ทำหนังสือถึงนายพนม ให้ดำเนินการกับพระธัมมชโยที่เข้าข่ายผิดอาญา แต่นายพนมกลับไม่ทำ อ้างว่าอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสาร เรื่องนานแล้ว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
สุดท้าย พ.ต.ท.พงศ์พร กลายมาเป็น ผอ.สำนักพุทธฯ คนที่ 8 และมีส่วนสำคัญในการขุดคุ้ยทุจริตเงินทอนวัด นายพนมจากสูงสุดคืนสู่สามัญ กลายมาเป็นผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด 2 ลอตถึงทุกวันนี้
ประวัติส่วนตัว นายพนม ศรศิลป์
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คนที่ 7 เกิดวันที่ 9 ก.พ. 2502 จบการศึกษา ครุศาสตรบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์) วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ผ่านการฝึกอบรม หลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส.) รุ่นที่ 61 จากสำนักงาน ก.พ. ปี 2551, หลักสูตรนักบริหารระดับสูง ผู้บริหารส่วนราชการ (นบส.2) รุ่นที่ 4 จากสำนักงาน ก.พ. ปี 2555 และหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารงานภาครัฐ และกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 13 จากสถาบันพระปกเกล้า ปี 2557
ประวัติการรับราชการ เคยเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม, รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดหนองบัวลำภู
ผลงาน ประธานคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ทั้ง 3 แผนก คือ แผนกธรรม แผนกบาลี และแผนกสามัญศึกษา, ประธานคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และแผนพัฒนาบุคลากรด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์
ประธานคณะทำงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ตามนโยบายของมหาเถรสมาคม และรัฐบาล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในชาติใช้หลักศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา สร้างความรัก ความสามัคคี อย่างยั่งยืน