xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิตัวอย่าง! “กู้ภัยมังกร ชลบุรี” สั่งอาสาสมัคร ห้ามนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลที่จ่ายค่าหัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานหน่วยกู้ภัย มูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ (กู้ภัยมังกร) จ.ชลบุรี สั่งห้ามอาสาสมัครนำผู้บาดเจ็บ ส่งโรงพยาบาลที่จ่ายเงินนอกระบบ และห้ามรับเงินจากโรงพยาบาลนั้นเด็ดขาด ส่งได้เฉพาะตามสิทธิการรักษาเท่านั้น พบความหมายเป็นค่าหัวที่โรงพยาบาลเอกชนจ่ายให้อาสาสมัครบางคน แล้วไปฟันกับประกันและสิทธิการรักษาแทน

วันนี้ (18 ก.ค.) ในโลกโซเชียลได้แชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก “มนตรี ไตรรักษ์ กำนันแมน” ของนายมนตรี ไตรรักษ์ กำนันตำบลดอนหัวฬ่อ อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี และประธานหน่วยกู้ภัย มูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ (กู้ภัยมังกร) จังหวัดชลบุรี ได้ออกคำสั่งไม่ให้อาสาสมัครกู้ภัยมังกร นำผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่งโรงพยาบาลที่จ่ายเงินนอกระบบให้กับอาสาสมัคร และห้ามรับเงินโดยเด็ดขาด ส่งได้เฉพาะตามสิทธิการรักษาเท่านั้น

หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีการลงโทษ ให้รถที่นำส่งถูกถอดออกจากระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และ เจ้าหน้าที่ประจำรถพ้นสภาพการเป็นอาสาสมัครกู้ภัยมังกรทันที ทั้งนี้ นโยบายของหน่วยเราไม่มีการประท้วง แต่ถ้ามีการประท้วง จะนำเสนอเพื่อขอยุติการทำงานทั้งหมด (ปิดหน่วยกู้ภัย) ย้ำว่า รักงานจิตอาสา ต้องช่วยกัน แก้ไขในสิ่งที่บกพร่อง ข้อความดังกล่าวถูกแชร์กว่า 900 ครั้ง และได้รับเสียงชื่นชมจำนวนมาก



ผู้สื่อข่าว MGR Online สอบถามไปยังอาสาสมัครกู้ภัยรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ถึงความหมายของคำว่า “โรงพยาบาลที่จ่ายเงินนอกระบบ” ระบุว่า โดยปกติแล้ว การทำงานของหน่วยกู้ภัยจะมีลักษณะเป็นจิตอาสา ส่วนการจ่ายเงินในระบบ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะมีเงินอุดหนุนตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินให้กับอาสาสมัครกู้ภัย ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี

แต่การจ่ายเงินนอกระบบ คือ การที่โรงพยาบาลเอกชนบางราย จะมีค่าการตลาดเป็นสินน้ำใจ หรือค่าน้ำมันรถให้กับอาสาสมัครกู้ภัย ที่นำผู้บาดเจ็บเฉพาะอุบัติเหตุเท่านั้น ส่งมารักษาตัว เนื่องจากในปัจจุบันมีการแข่งขันโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ละแห่งต่างก็ต้องการลูกค้า ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะคิดเป็นรายหัว คนละ 300-500 บาท มากที่สุดที่เคยพบ คือ 1,300 บาท ส่วนต่างจังหวัด หากเป็นจังหวัดที่เจริญแล้ว ค่าหัวจะไม่ต่างกันมาก

ทั้งนี้ โดยหลักการแล้วการกู้ภัย คือ การนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ต้องถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด แต่เมื่อมีโรงพยาบาลที่จ่ายเงินนอกระบบ ทำให้อาสาสมัครกู้ภัยบางคนเลือกที่จะส่งผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลที่ให้ค่าตอบแทนเยอะ มากกว่าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือมีสิทธิการรักษา ยกตัวอย่างเช่น เหตุเกิดที่ห้วยขวาง แต่ไปส่งที่โรงพยาบาลไกลถึงทองหล่อ ทำให้ผู้บาดเจ็บเสียประโยชน์ และถูกโรงพยาบาลเอารัดเอาเปรียบ

เมื่อโรงพยาบาลได้รับผู้บาดเจ็บมาแล้ว นอกเหนือจากการรักษาพยาบาล คือ การใช้สิทธิจากประกันอุบัติเหตุต่างๆ อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่จะได้รับประมาณ 3-5 หมื่นบาท สิทธิจากประกันสังคม หรือประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ หรือหากไม่มีสิทธิการรักษาเลยก็จะเรียกค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้โดยตรง ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์ที่สูง ทำให้ผู้บาดเจ็บได้รับความเดือดร้อน

แหล่งข่าวจากอาสาสมัครกู้ภัยกล่าวว่า ปกติแล้วหากผู้บาดเจ็บยังมีสติ จะสอบถามว่ามีสิทธิการรักษาที่ไหน โดยส่วนมากจะเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค หากเป็นพนักงานบริษัทจะเป็นประกันสังคม หรือไม่เช่นนั้นควรเลือกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ผู้บาดเจ็บถึงมือแพทย์เร็วที่สุด แต่ปัญหาคือหากเป็นโรงพยาบาลของรัฐมักจะถูกต่อว่า เนื่องจากปกติคนไข้เยอะอยู่แล้ว

“บางอาชีพมีทั้งคนดีและไม่ดี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เสียสละ แต่ก็ต้องเข้าใจว่า บางคนหากินค่าเคส เอามาผ่อนรถก็มี ยิ่งถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนเขาจะต้อนรับเป็นอย่างดี มีน้ำมาให้กิน ซึ่งการจ่ายเงินนอกระบบ อาจเรียกได้ว่าเป็นค่าการตลาดสำหรับกู้ภัยก็ว่าได้” แหล่งข่าวจากอาสาสมัครกู้ภัย ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น