“รสนา” โต้ “ผอ.สำนักนโยบายและแผนพลังงาน” ย้ำ กองทุนน้ำมันเถื่อนไร้กฎหมายรองรับ ชี้มาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก. แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ํามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ไม่มีบทบัญญัติใดให้นายกฯมีอำนาจจัดตั้งกองทุนน้ำมันได้ อีกทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินเคยมีคำวินิจฉัยการจัดตั้งกองทุนน้ำมันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยันราคาเอทานอลไม่ได้อิงตลาดโลกเลยเพราะสูงกว่า 2 เท่าตัว เผยเอาเงินกองทุนฯชดเชยอี 85 ในอัตรา 9.35 บาท - อี 20 ในอัตรา 3บาท ทั้งที่ตามเนื้อเอทานอลในอี 85 สูงขึ้นแค่ประมาณ 3 บาท อี 20 ประมาณ 80 สตางค์เท่านั้น แต่กลับรวมค่าการตลาดที่ตั้งเอาไว้สูงเว่อร์เข้าไปด้วย ซึ่งทั้งราคาและค่าการตลาดไม่ได้มาจากกลไกการแข่งขัน แต่มาจากกลไกตั้งราคาตามต้องการ
วันที่ 3 มิ.ย. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ว่า
“นายทวารัฐ สูตะบุตรชี้แจงประเด็นกองทุนน้ำมันและเอทานอลแบบกำปั้นทุบดิน”
นายทวารัตน์ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานออกมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของดิฉันเรื่องที่รัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันที่ไม่มีกฎหมายรองรับในการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน และน้ำมันชนิดอื่นๆ มาอุ้มน้ำมัน อี 85 ลิตรละ 9.35 บาท และอุ้ม อี 20 ลิตรละ 3 บาท ซึ่งเป็นการอำพรางกำไรของโรงกลั่นน้ำมัน
นายทวารัฐ ชี้แจงว่า การจัดตั้งกองทุนน้ํามันเชื้อเพลิงถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากกองทุนน้ํามันเชื้อเพลิง จัดตั้งขึ้น ตามคําสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 เรื่อง กําหนดมาตรการเพื่อการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ํามันเชื้อเพลิง โดย อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกําหนดแก้ไข และป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ํามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 และกองทุนฯดําเนินการตั้งแต่ 2519 มิใช่เป็น กองทุนเถื่อนแต่อย่างใด
ดิฉันขอโต้แย้ง ดังนี้
1) บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 นั้น ไม่มีบทบัญญัติใดๆ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการออกคำสั่งเพื่อให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ แต่ประการใด ในเมื่อไม่มีอำนาจในการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันได้
อำนาจของนายกฯตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว คือ กำหนดมาตรการป้องกันการขาดแคลนเช่นกำหนดเวลาปิดไฟ เวลาปิดปั๊มตอน4ทุ่ม ดังบทเพลงฮิตสะท้อนนโยบายตามพระราชกำหนดในสมัยนั้นที่ว่า “น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ”
2) การจัดตั้งกองทุนต่างๆ ต้องเป็นไปตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ที่ระบุว่า “การจ่ายเงินเป็นทุนหรือเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อการใดๆ ให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย” แต่การเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและจ่ายเงินค่าชดเชยออกจากกองทุนน้ำมัน ไม่ได้ตราขึ้นเป็นกฎหมายและไม่ได้มีการนำเงินส่วนนี้เข้าคลัง จึงไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491
3)ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า การออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันสภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 เป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกคำสั่งเพื่อให้เรียกเก็บเงินและจ่ายเงินชดเชยหรือจ่ายคืนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4) การที่เก็บเงินจากคนใช้น้ำมันเหมือนรูปแบบภาษีประเภทหนึ่งโดยไม่ส่งเงินเข้าคลังจะทำได้ในกรณีที่มีกฎหมายยกเว้นไว้ ดังกรณีกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานก็ได้ออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่กองทุนน้ำมันไม่มีพระราชบัญญัติรองรับ การเก็บเงินของกองทุนน้ำมันโดยไม่มีกฎหมายรองรับย่อมเข้าข่ายเป็นกองทุนเถื่อน ใช่หรือไม่
5) นายทวารัฐ สูตะบุตรเป็นถึงผู้อำนวยการ สนพ. แต่จงใจปิดบัง และชี้แจงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของกองทุนน้ำมันที่ สนพ. เป็นผู้เสนอให้มีการยกร่างกฎหมายมารองรับกองทุนน้ำมัน ดังที่ปรากฎอยู่ในรายงานประจำปี 2559 ของกระทรวงพลังงาน ในข้อ 9 หน้า 45 ที่ระบุว่า
“การจัดทำกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความชัดเจนและมีกฎหมายรองรับ กระทรวงพลังงานจึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมัน ดังนี้ ......
ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผ่านมา ได้มีประเด็นคำถามเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และการใช้ประโยชน์ของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่าการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้รักษาระดับราคาน้ำมันจนทำให้เกิดการบิดเบือนราคา ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
สร้างความไม่เป็นธรรมจากการชดเชยราคาข้ามกลุ่มประเภทผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ขาดความยืดหยุ่นในวิธีการแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในรูปแบบอื่น เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน น้ำมันเชื้อเพลิง ระบบท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบคลังน้ำมันเชื้อเพลิง ท่าเรือสำหรับขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์
เพื่อให้เกิดความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ และการใช้ประโยชน์ของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นใหม่
สนพ. ยังได้นำร่าง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ..... ดังกล่าว เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ สนพ. (www.eppo.go.th) ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2559 - 28 มีนาคม 2559 และจัดพิมพ์เผยแพร่ให้แก่ผู้สนใจทั่วไป รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป .........
ขณะนี้อยู่ระหว่างให้กฤษฎีกาตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ...”
6) การอ้างวิธีคิดต้นทุนของเอทานอลว่าเป็นการสะท้อนกลไกตลาดแล้วนั้น เป็นการอ้างลอยๆ โดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับแต่อย่างใด ราคาที่กำหนดไม่ได้อาศัยราคาตลาดโลกมาเทียบเคียง แต่ปล่อยให้ราคาเอทานอลในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลกถึง2เท่าตัว จึงไม่ได้สะท้อนกลไกตลาดอย่างที่กล่าวอ้าง ปล่อยให้มีราคาสูงเกินความเป็นจริง จนเป็นภาระต่อผู้ใช้น้ำมัน
ข้ออ้างการชดเชย อี 85 และ อี 20 ให้มีราคาต่ำกว่าเบนซิน ที่เรียกว่า “เป็นการสร้างส่วนต่างราคา” นั้น ส่วนต่างราคาของน้ำมันที่ผสมเอทานอลต้องเกิดจากค่าความร้อนที่มาจากการแข่งขัน ไม่ใช่เกิดจาก “การกำหนดส่วนต่าง” ด้วยการเอากองทุนน้ำมันมาชดเชย อี 85 ในอัตรา 9.35 บาท ชดเชย อี 20 ในอัตราลิตรละ 3 บาท จึงไม่ใช่แค่ชดเชยเนื้อเอทานอลที่สูงขึ้นประมาณ 3 บาท ใน อี 85 และสูงขึ้นประมาณ 80 สตางค์ ใน อี 20 เท่านั้น แต่รวมถึงการชดเชยค่าการตลาดของ อี 85 ที่ถูกกำหนดไว้สูงเวอร์ถึง 6 บาทต่อลิตร และกำหนดค่าการตลาดของ อี 20 ที่สูงถึง 3 บาท ซึ่งทั้งราคาและค่าการตลาดไม่ได้มาจากกลไกการแข่งขัน แต่มาจากกลไกตั้งราคาตามที่ต้องการ ใช่หรือไม่
ที่มักกล่าวอ้างว่าราคาน้ำมันในไทยเป็นไปตามกลไกตลาด จึงไม่ใช่ความจริง เพราะความจริงคือราคาน้ำมันในไทยเป็นไปตามกลไกการจัดการโดยใช้กองทุนน้ำมันเป็นตัวถ่างราคาเบนซินให้สูงกว่าราคาตลาด และหดราคา อี 85 และ อี 20 ให้ต่ำกว่าราคาที่บวกเพิ่มเข้าไป ซึ่งไม่ใช่กลไกตลาดที่มาจากการแข่งขันแต่ประการใดเลย ใช่หรือไม่
ดิฉันขอโยนผ้าท้าให้ท่านตอบข้อโต้แย้งของดิฉันให้คนไทยผู้ใช้น้ำมันทั้งประเทศได้รับทราบใหม่อีกครั้ง !!!
รสนา โตสิตระกูล
2 มิถุนายน 2561