xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 พ.ค.-2 มิ.ย.2561

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.โปรดเกล้าฯ ถอดสมณศักดิ์ 7 พระผู้ใหญ่เอี่ยวเงินทอนวัด ด้าน “อดีตพระพรหมสิทธิ” มอบตัวแล้ว ส่วน “อดีตพระพรหมเมธี” หนีเข้าลาว!
อดีตพระพรหมเมธี(จำนงค์ เอี่ยมอินทรา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามฯ อดีตกรรมการ มส.และเจ้าคณะภาค 4-7 ที่ยังคงหลบหนีหมายจับคดีเงินทอนวัด
ความคืบหน้ากรณีตำรวจบุกค้น 3 วัดดังใน กทม.ที่เกี่ยวข้องกับคดีเงินทอนวัดตามที่ศาลอนุมัติหมายจับ คือ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร และวัดสามพระยาวรวิหาร และควบคุมตัวพระผู้ใหญ่ 5 รูป ไปสอบปากคำ ก่อนขอศาลฝากขัง พร้อมค้านประกัน ซึ่งศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง และพฤติการณ์การกระทำผิด มีลักษณะทำเป็นขบวนการ ส่งผลให้พระทั้ง 5 รูป ต้องสึกจากความเป็นพระ ก่อนถูกนำตัวไปควบคุมในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับพระพุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ก็ถูกตำรวจบุกค้นวัดตามหมายจับข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร กรณีการ์ด กปปส.แจ้งวัฒนะ ทำร้ายตำรวจสันติบาลที่พกอาวุธและแฝงตัวเข้าไปในม็อบ และข้อหาใช้ตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธย กรณีสร้างพระเครื่องโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนถูกควบคุมตัว และศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ส่งผลให้ต้องสึก และถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีพระที่เกี่ยวข้องคดีเงินทอนวัดอีก 2 รูปที่หลบหนีไปได้ คือ พระพรหมสิทธิ(ธงชัย สุขโข) เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กรรมการ มส. และเจ้าคณะภาค 10 และพระพรหมเมธี(จำนงค์ เอี่ยมอินทรา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามฯ กรรมการ มส.และเจ้าคณะภาค 4-7 ขณะที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชาให้กรรมการ มส.ที่ถูกดำเนินคดีพ้นจากตำแหน่งกรรมการ มส.แล้ว ประกอบด้วย พระพรหมดิลก, พระพรหมเมธี และพระพรหมสิทธิ นั้น

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถอดถอนสมณศักดิ์พระจำนวน 7 รูปที่เกี่ยวข้องคดีเงินทอนวัด โดยถูกกล่าวหาว่าทุจริตและถูกดำเนินคดีอาญาฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ประกอบด้วย 1.พระพรหมสิทธิ(ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศฯ 2.พระพรหมเมธี(จำนงค์ เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศาราม 3.พระพรหมดิลก(เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา 4.พระราชอุปเสนาภรณ์(สังคม สังฆะพัฒน์) วัดสระเกศฯ 5.พระราชกิจจาภรณ์(เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศฯ 6.พระอรรถกิจโสภณ(สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา 7.พระศรีคุณาภรณ์(บุญทวี คำมา) วัดสระเกศฯ

ส่วนความคืบหน้าการติดตามตัวอดีตพระพรหมสิทธิ และอดีตพระพรหมเมธี นั้น เมื่อวันที่ 30 พ.ค. อดีตพระพรหมสิทธิ ได้ให้ทนายติดต่อตำรวจกองปราบฯ ว่าขอมอบตัวภายในอุโบสถวัดสระเกศฯ พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จึงเดินทางไปรับมอบตัว ก่อนนำตัวไปสอบที่กองปราบฯ คดีทุจริต ร่วมกันฟอกเงินอุดหนุนโครงการศูนย์กลางเผยแพร่พระพุทธศาสนา และโครงการของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงฯ ของวัดสระเกศ รวม 63.7 ล้านบาท จากนั้นได้นำตัวไปขอศาลฝากขัง พร้อมค้านประกัน เนื่องจากการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้ต้องหามีการทำเป็นขบวนการ และมีเอกสารจำนวนมากอยู่ในความครอบครองของผู้ต้องหา เกรงว่าจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน นอกจากนี้ คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจหลบหนี ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นด้วย จึงไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว อดีตพระพรหมสิทธิจึงต้องสึก และถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

วันต่อมา 31 พ.ค. มีพระที่เกี่ยวข้องกับคดีเงินทอนวัดและถูกออกหมายจับ ให้ทนายติดต่อตำรวจเพื่อขอเข้ามอบตัวอีก 1 รูป คือ อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์(สังคม สังฆะพัฒน์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ทั้งนี้ รายงานแจ้งว่า แนวทางสืบสวนพบหลักฐานว่า อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ทุจริตเงินงบประมาณของ พศ. 10 ล้านบาท ทั้งนี้ หลังมอบตัวและสอบปากคำ ตำรวจได้นำตัวขอศาลฝากขัง พร้อมค้านประกัน เนื่องจากต้องสอบพยานอีก 10 ปาก ด้านศาลพิจารณาแล้วไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากพฤติการณ์มีลักษณะทำเป็นขบวนการ และอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน หากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์จึงถูกจับสึก ก่อนนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ส่วนการติดตามตัวอดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามฯ นั้น หลังจากตำรวจได้เบาะแสว่า หลบหนีไปประเทศลาวแล้ว ปรากฏว่า ล่าสุด 2 มิ.ย. มีรายงานว่า สีกา จ. ซึ่งเป็นผู้พาอดีตพระพรหมเมธีหลบหนี ได้รับสารภาพแล้ว โดยเล่าว่า ได้ใช้รถตู้ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ร่วมเดินทางมี 3 คน คือ อดีตพระพรหมเมธี คนขับรถและตน มุ่งหน้าไปยังภาคเหนือของไทย ก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางลงมาที่ จ.นครพนม แล้วข้ามไปยังฝั่งลาวตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นได้พาอดีตพระพรหมเมธีไปพบนางจัน หญิงชาวลาว โดยอ้างกับนางจันว่า อดีตพระพรหมเมธี อยากเดินทางไปเที่ยวที่เมืองเชียงขวาง ทางภาคเหนือของลาว นางจันจึงหาที่พักให้

ต่อมา นางจันทราบข่าวทางโทรทัศน์ว่าอดีตพระพรหมเมธีหนีหมายจับจากประเทศไทย จึงตกใจ กลัวจะมีความผิดไปด้วย จึงขอให้สีกา จ.กลับประเทศไทย โดยให้คนขับรถข้ามสะพานไทย-ลาว 3 (นครพนม-คำม่วน) มาส่งที่ฝั่งไทยในเช้าวันที่ 31 พ.ค. ปรากฏว่า เมื่อมาถึงด่าน ตม.ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ก่อนที่สีกา จ.จะสารภาพในเวลาต่อมา ส่วนคนลาวที่ขับรถมาส่งนั้น ตำรวจได้ปล่อยตัวไป หลังสอบปากคำแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

สำหรับอดีตพระพรหมเมธีพร้อมคนขับรถที่เดินทางจากไทยไปลาวด้วยกันนั้น สีกา จ. อ้างว่า มีคนมารับช่วงต่อตั้งแต่ตอนสายของวันที่ 26 พ.ค. โดยไม่ทราบว่าไปหลบซ่อนอยู่ที่ใด ทั้งนี้ การข่าวทราบว่า สีกา จ. มีสามีเป็นคนไทย ทำสัมปทานเหมืองแร่ทองคำอยู่แขวงสาละวัน ทางภาคใต้ของประเทศลาว โดยอาจจะมีส่วนช่วยเหลืออดีตพระพรหมเมธีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

2.อังกฤษตบหน้าไทย ให้วีซ่า “ยิ่งลักษณ์” 10 ปี ใช้พาสปอร์ตยุโรป อยู่ได้ครั้งละ 6 เดือน!
นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองพี่น้องหนีคดี ถ่ายรูปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ความคืบหน้ากรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หลบหนี ไม่เข้ารับฟังคำพิพากษาในคดีปล่อยปละละเลยการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2560 ซึ่งต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 ปี ไม่รอลงอาญา หลังจากนั้น ตำรวจไทยได้ประสานตำรวจสากล เพื่อนำตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับมารับโทษ แต่ยังไม่เป็นผล นอกจากนี้ยังมีข่าวเป็นระยะๆ ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะขอลี้ภัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่อังกฤษ แต่ก็ยังไม่มีความขัดเจน ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เริ่มปรากฎตัวออกสื่อบ่อยครั้งขึ้น พร้อมกับนายทักษิณ ชินวัตร พี่ชายที่หนีคดีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 พ.ค. สำนักข่าวบีบีซีไทยได้อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ระหว่างพำนักในประเทศอังกฤษ พร้อมกับนายทักษิณ โดยการเยือนล่าสุดครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ใช้หนังสือเดินทางของประเทศหนึ่งในทวีปยุโรป พร้อมวีซ่าเข้าพำนักในอังกฤษเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งวีซ่านี้ ทำให้เข้าออกอังกฤษได้ตลอด โดยอยู่ได้ครั้งละไม่เกิน 6 เดือน

ด้าน น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด ในเรื่องการติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ มารับโทษ และก่อนหน้านี้ ได้มีการยกเลิกพาสปอร์ตของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปหมดแล้ว

ขณะที่เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยบอกว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลใดก็ตามที่พำนักอยู่ในสหราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า การได้วีซ่าระยะยาวพำนักในอังกฤษ เป็นประโยชน์ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์มากกว่าการได้สถานะผู้ลี้ภัย เพราะการขอสถานะผู้ลี้ภัยต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนในการขอจากกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ และหากได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ก็มีสิทธิพำนักอังกฤษได้เท่านั้น ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ไม่สามารถทำงานในประเทศได้ แม้แต่ทำงานช่วยเหลือองค์กรการกุศลก็ตาม ไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ และต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นทุก 2 สัปดาห์ การถือวีซ่าระยะยาว จึงทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอิสระในการเดินทางเข้าออกอังกฤษมากกว่าการขอเป็นผู้ลี้ภัย

ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีสำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้วีซ่าของประเทศอังกฤษ 10 ปี ว่า ข้อมูลเบื้องต้นจากกองการต่างประเทศ จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานใดว่าเป็นเรื่องจริง ต้องรอตรวจสอบก่อน พร้อมสั่งให้กองการต่างประเทศทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อยืนยันข้อมูลด้วย

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวอีกว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้วีซ่าจริง ก็จะทำให้การติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีทำได้ยากขึ้น จากที่ปัจจุบันก็ติดตามตัวยากอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายทักษิณ อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็นภาพเก่าหรือภาพใหม่ ใช้หนังสือเดินทางประเทศอะไร อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานงานกับตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์มาดำเนินคดีให้ได้

3.ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ พ.ร.ป. ส.ส.ไม่ขัด รธน. นัดชี้คำสั่ง คสช.53/2560 ขัด รธน.หรือไม่ 5 มิ.ย.นี้!

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาและลงมติกรณีประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช.27 คนที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 25(4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสาม หรือไม่ และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า มาตรา 35 ( 4) และ( 5) ที่บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ใด ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและไม่ได้เเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือเเจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ์การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและการดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งตามมาตราดังกล่าว เป็นสิทธิชนิดหนึ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ออกกฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าวได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรคสาม

ส่วนมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการหรือผู้ได้รับมอบหมายมีการอำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง ตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการเแทนโดยความยินยอม และเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น โดยให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์ว่า ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการอำนวยความสะดวกหรือจัดให้มีความช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุตามมาตราดังกล่าว ยังอยู่ในขอบเขตของวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 85 วรรคหนึ่ง

สำหรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ถึง 27 และมาตรา 45 หรือไม่ ตามที่ พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจาเพื่อนำไปสู่การลงมติในวันอังคารที่ 5 มิ.ย. นี้

4.กกต.มีมติ 3 : 2 ฟัน “ดอน” ขาดคุณสมบัตินั่ง รมต. เหตุภรรยาถือหุ้น ไม่แจ้ง ป.ป.ช. รอศาล รธน.ชี้ขาดอีกครั้ง!
 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 31 พ.ค. มีรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประชุมเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วและมีมติเสียงข้างมากว่า การถือครองหุ้นของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 ที่บัญญัติไม่ให้รัฐมนตรีถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือกรณีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นที่ถือครอง ให้แจ้งประธาน ป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้น ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 โดยขณะนี้ กกต.ได้มอบหมายให้สำนักกฎหมายของทางสำนักงานอกกต. ดำเนินการยกร่างคำร้องเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

ทั้งนี้ มติของ กกต.มีขึ้นเนื่องจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2560 ขอให้ กกต.ตรวจสอบการถือครองหุ้นสัมปทานของ 9 รัฐมนตรี ประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย, นายอดิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายพิเชฐ ดุรงคเวโรรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาในขณะนั้น, ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น และ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในขณะนั้น ว่าหลังรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อ 6 เม.ย. 2560 รัฐมนตรีทั้ง 9 คนเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงหรือไม่

ซึ่ง กกต.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นตรวจสอบ ต่อมา ได้เสนอรายงานผลการตรวจสอบต่อ กกต.ว่า การถือครองหุ้นของรัฐมนตรี 8 คนไม่มีปัญหา เห็นควรที่ กกต.จะยุติเรื่อง มีเพียงนายดอนคนเดียวที่อาจมีปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคู่สมรสถือครองหุ้นในธุรกิจเกินกว่าร้อยละ 5 และไม่มีการแจ้งต่อ ป.ป.ช.ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด

ที่ประชุม กกต.จึงได้มีมติตามที่อนุกรรมการตรวจสอบเสนอให้ยุติเรื่องในส่วนของ 8 รัฐมนตรี ขณะที่ในส่วนของนายดอนนั้น ที่ประชุมมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งว่าขัด อีกฝ่ายว่าไม่ขัด เมื่อการลงมติครั้งแรก ผลออกมาเท่ากัน 2 ต่อ 2 ทำให้นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ต้องออกเสียงชี้ขาดอีก 1 เสียง จึงกลายเป็นมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ว่าการถือครองหุ้นของนายดอนเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

ทั้งนี้ ยังเหลือคำร้องของนายเรืองไกรเกี่ยวกับการถือครองหุ้นของ 3 รัฐมนตรี ประกอบด้วย นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงการถือครองหุ้นของ 90 สนช. ที่ กกต.ยังดำเนินการตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ

5.อัยการสั่งฟ้อง “บรรยิน” ข้อหาฆ่า “ชูวงษ์” โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ชี้ใช้ของแข็งทุบดับ ก่อนจัดฉากขับรถชนต้นไม้!
พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคไทยรักไทย ผู้ต้องหาคดีฆ่านายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง และรถคันที่นำมาจัดฉากว่าเป็นอุบัติเหตุชนต้นไม้ ทำให้นายชูวงษ์เสียชีวิต
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม(ผบก.ป.) เผยความคืบหน้าคดีฆาตกรรมนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง เศรษฐีอสังหาริมทรัพย์หมื่นล้านว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคไทยรักไทย ได้ขับรถไปชนต้นไม้ ทำให้นายชูวงษ์ที่นั่งมาด้วยถึงแก่ความตายในพื้นที่ สน.อุดมสุข เบื้องต้นพนักงานสอบสวนสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ ต่อมาญาติของผู้ตายสงสัยว่าน่าจะเป็นเหตุฆาตกรรม แล้วจัดฉากรถชนต้นไม้ให้เป็นอุบัติเหตุ เนื่องจากพบพิรุธว่า หุ้นของผู้ตายถูกโอนออกไปก่อนเสียชีวิตไม่กี่วัน จึงร้องเรียนไปยังสำนักตำรวจแห่งชาติเพื่อโอนคดีให้กองปราบปรามเข้ามาดำเนินการ

จากนั้น พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.) จึงสั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนของกองปราบปรามเข้ามาดำเนินการ จนมีพยานหลักฐานว่าไม่ใช่อุบัติเหตุ ไม่ได้เกิดจากการขับรถชนต้นไม้จนทำให้นายชูวงษ์ ถึงแก่ความตาย แต่เชื่อว่ามีการฆาตกรรมนายชูวงษ์ก่อน แล้วนำศพมาจัดฉากรถชน ต่อมาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา พ.ต.ท.บรรยิน ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดการกระทำอื่นที่ตนได้กระทำไว้ พร้อมส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิเศษ ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาสำนวนไปแล้ว

หลังจากนั้นอัยการได้สั่งให้พนักงานสอบสวนไปสอบเพิ่มเติมบางประเด็นอีกหลายครั้ง จนในที่สุดพนักงานอัยการมีความเห็นเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน และสรุปความเห็นสั่งฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน พร้อมนัดหมายให้นำตัว พ.ต.ท.บรรยิน มาพบในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ เพื่อสั่งฟ้อง โดยพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียก พ.ต.ท.บรรยิน ให้มาพบก่อนในวันที่ 8 มิ.ย. เวลา 09.00 น. เพื่อจะพาตัวไปส่งอัยการศาลอาญากรุงเทพใต้

พ.ต.อ.ชาคริตเผยด้วยว่า “ในส่วนของการการฆาตกรรมนั้น จากแนวทางการสืบสวนเชื่อว่า มีการใช้ของแข็งทุบตีนายชูวงษ์จนถึงแก่ความตาย ก่อนจะมาจัดฉากให้เป็นอุบัติเหตุ อีกทั้งยังได้มีการเตรียมการไว้ก่อน โดยมีการนัดหมายพานายชูวงษ์ไปเล่นกอล์ฟในตอนมืดค่ำ กระทั่งเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น แต่รายละเอียดนอกเหนือจากนี้ยังไม่ขอเปิดเผย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่อยู่ในสำนวน”

ส่วนผู้ร่วมก่อเหตุจะมีกี่คนนั้น พ.ต.อ.ชาคริตกล่าวว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบ เบื้องต้นสั่งฟ้อง พ.ต.ท.บรรยินเพียงคนเดียว สำหรับมูลเหตุแรงจูงใจน่าจะมาจากเรื่องหุ้นที่มีการสั่งฟ้องไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนการประกันตัวผู้ต้องหาให้เป็นดุลพินิจของศาลและพนักงานอัยการ แต่หาก พ.ต.ท.บรรยินมีพฤติการณ์เข้าไปยุ่งเหยิงกับหลักฐานในคดี ทำให้กระบวนการสืบพยานในอนาคตเกิดความเสียหาย ก็สามารถยื่นคำร้องขอคัดค้านการประกันตัวต่อศาลได้


กำลังโหลดความคิดเห็น