MGR Online - รองผู้การกองปราบปราม เผยอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง “บรรยิน ตั้งภากรณ์” ฆ่า “ชูวงษ์ แซ่ตั๊ง” โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เผยวางแผนชวนเล่นกอล์ฟยามค่ำคืน ก่อนใช้ของแข็งทุบดับ แล้วจัดฉากเป็นอุบัติเหตุขับรถชนต้นไม้ นัดตำรวจส่งตัวเพื่อสั่งฟ้อง 15 มิถุนายนนี้
วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่กองปราบปราม พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รอง ผบก.ป. เปิดเผยความคืบหน้าคดีฆาตกรรมนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือเสี่ยจืด เศรษฐีอสังหาริมทรัพย์หมื่นล้านว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี เมื่อ 2558 พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ ได้ขับรถไปชนต้นไม้ทำให้นายชูวงษ์ที่นั่งมาด้วยถึงแก่ความตายในพื้นที่ สน.อุดมสุข เบื้องต้นพนักงานสอบสวนสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ ต่อมาญาติของผู้ตายสงสัยว่าน่าจะเป็นเหตุฆาตกรรมแล้วจัดฉากรถชนต้นไม้ให้เป็นอุบัติเหตุ เนื่องจากพบพิรุธว่าหุ้นของผู้ตายถูกโอนออกไปก่อนเสียชีวิตไม่กี่วัน จึงร้องเรียนไปยังสำนักตำรวจแห่งชาติเพื่อโอนคดีให้กองปราบปรามเข้ามาดำเนินการ
จากนั้น พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก.จึงสั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนของกองปราบปรามเข้ามาดำเนินการ จนมีพยานหลักฐานปรากฏได้ว่าไม่ใช่อุบัติเหตุเกิดจากการขับรถชนต้นไม้จนทำให้นายชูวงษ์ ถึงแก่ความตาย แต่เชื่อว่ามีการฆาตกรรมนายชูวงษ์ก่อนแล้วนำศพมาจัดฉากรถชน ต่อมาพนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีต่อ พ.ต.ท.บรรยิน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดการกระทำอื่นที่ตนได้กระทำไว้ พร้อมส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิเศษ ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาสำนวนไปแล้ว
หลังจากนั้นอัยการได้สั่งให้พนักงานสอบสวนไปสอบเพิ่มเติมในบางประเด็นอีกหลายครั้ง จนในที่สุดพนักงานอัยการก็มีความเห็นเช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนว่าได้สรุปความเห็นสั่งฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน พร้อมนัดหมายให้ส่งตัว พ.ต.ท.บรรยิน มาพบในวันที่ 15 มิ.ย.นี้เพื่อสั่งฟ้อง โดยพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียก พ.ต.ท.บรรยิน ให้มาพบก่อนในวันที่ 8 มิ.ย. เวลา 09.00 น. เพื่อจะพาตัวไปส่งอัยการศาลอาญากรุงเทพใต้
พ.ต.อ.ชาคริตกล่าวอีกว่า เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องแล้วก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมที่จะไปสืบพยานในชั้นศาล เพราะพนักงานสอบสวนก็มีพยานหลักฐานหลายอย่างที่ลงไปรวบรวมมา ทั้งจากสถานที่เกิดเหตุที่ปรากฏได้อย่างชัดเจน จนให้เชื่อได้ว่าการขับรถไปชนต้นไม้ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่จะทำให้นายชูวงษ์ถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ ได้ส่งสำนวนให้ทางกองคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ซึ่ง ผบ.ตร.ได้พิจารณาเห็นตรงกัน คือ สั่งไม่ฟ้องในคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และสั่งฟ้องในคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดการกระทำอื่นที่ตนได้กระทำไว้
“ในส่วนของการการฆาตกรรมนั้น จากแนวทางการสืบสวนเชื่อว่ามีการใช้ของแข็งทุบตีนายชูวงษ์จนถึงแก่ความตายก่อนจะมาจัดฉากให้เป็นอุบัติเหตุ อีกทั้งยังได้มีการเตรียมการไว้ก่อน โดยมีการนัดหมายพานายชูวงษ์ไปเล่นกอล์ฟในตอนมืดค่ำ กระทั่งเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น แต่รายละเอียดนอกเหนือจากนี้ยังไม่ขอเปิดเผยเพราะเป็นส่วนสำคัญที่อยู่ในสำนวน” รอง ผบก.ป.กล่าว
พ.ต.อ.ชาคริตกล่าวด้วยว่า ส่วนผู้ร่วมก่อเหตุจะมีกี่คนนั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ เบื้องต้นขณะนี้มีการสั่งฟ้อง พ.ต.ท.บรรยินเพียงแค่คนเดียว ส่วนการประกันตัวให้เป็นดุลพินิจของศาลและพนักงานอัยการ แต่หาก พ.ต.ท.บรรยินมีพฤติการณ์เข้าไปยุ่งเหยิงกับหลักฐานในคดีทำให้กระบวนการสืบพยานในอนาคตเกิดความเสียหายก็สามารถยื่นคำร้องขอขัดค้านการประกันตัวต่อศาลได้
พ.ต.อ.ชาคริตกล่าวต่อว่า สำหรับมูลเหตุแรงจูงใจน่าจะมาจากเรื่องหุ้นที่มีการสั่งฟ้องไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีที่คดีฆาตกรรมนั้นทางญาติผู้ตายเคยยื่นฟ้องต่อศาลและศาลได้ประทับรับฟ้องก่อนหน้านี้จะมีผลกระทบกับในส่วนของการส่งฟ้องของทางตำรวจหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากอัยการมีอำนาจในการสั่งฟ้อง และน่าจะนำมารวมกันก่อนทำการพิจารณา แต่อาจจะเป็นโจทก์ร่วมระหว่างพนักงานอัยการและญาติผู้ตาย
กรณีอัยการมีคำสั่งฟ้องพ.ต.ท.บรรยิน ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ในขณะที่ญาตินายชูวงศ์ ได้เคยยื่นฟ้องพ.ต.ท.บรรยินในข้อหาฆ่าต่อศาลจังหวัดพระโขนงและศาลประทับฟ้อวไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วอัยการหรือญาติใครจะเป็นโจทก์ร่วม เพราะหากอัยการซึ่งยื่นฟ้องเข้ามาทีหลัง จะทำให้อำนาจมนการเสนอพยานหลักฐานด้อยลงไปหรือไม่
ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้มองว่าฟ้องของอัยการจะเป็นฟ้องหลัก เพราะไม่ว่าอัยการหรือผู้เสียหาย ก็มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอยู่แล้วตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา28 แต่หากอัยการเป็นโจทก์ในคดีอาญาแผ่นดินเช่นคดีนี้ อัยการจะมีอำนาจในการหมายเรียกพยานบุคคล พยานวัตถุ พยานเอกสาร เรียกพยานมาสอบเพราะเป็นอำนาจรัฐ แต่ผู้เสียหายไม่มี และทราบมาก่อนนี้ว่าฝ่ายผู้เสียหายเอง ก็อยากให้อัยการเข้ามาเป็นโจทก์หลัก
ส่วนที่มองว่า ทำไมอัยการยื่นฟ้องเข้ามาล่าช้า นั้น เห็นว่าช้าดีกว่าเร็วแล้วพลาด เพราะอัยการต้องทำงานรอบคอบ หากรีบฟ้องไปแต่ไม่รัดกุม อาจถูกยกฟ้องได้ ซึ่งอัยการยุคนี้ทำงานเร็วแล้ว ขอให้ผู้เสียหายสบายใจได้