อดีต สปช.เรียกร้องให้กรมศุลกากรปรับแก้ประกาศ กรณีให้ผู้โดยสารแจ้งของมีค่า นาฬิกา กล้อง โน้ตบุ๊ก แก่กรมศุลกากรก่อนออกนอกประเทศ ชี้สร้างภาระให้ประชาชนโดยไม่จำเป็น เตือนอย่าทำเพียงแค่บอกว่าเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว หวั่นเจ้าหน้าที่รัฐหยิบมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ เตรียมเรียกอธิบดีแจง 19 มี.ค.นี้
วันนี้ (8 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีต ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะกกรมการปฏิรูปกฎหาย กล่าวถึงประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน ที่หนึ่งในนั้นคือ กรณีที่นำของมีค่า เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวีดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ซึ่งมีเครื่องหมาย เลขหมายที่สามารถตรวจสอบได้ ให้แจ้งต่อพนักงานศุลกากรก่อนออกประเทศ พร้อมภาพถ่าย 2 ชุด ว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ไม่ใช่แค่ว่าก่อนตรากฎหมายต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนเท่านั้น แต่กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีกฏหมายเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
กรณีที่กรมศุลกากรออกประกาศที่ 60/2561 โดยเฉพาะข้อ 4 น่าจะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เพราะสร้างภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น คนไทยจะเดินทางไปต่างประเทศทุกวันนี้ก็ไม่ต้องกรอกใบ ตม.6 (บัตรขาเข้า-ขาออก) เป็นผลงานที่โดดเด่นของรัฐบาลนี้ แต่หากจะต้องมาแจ้งสิ่งของติดตัวประเภทนาฬิกา โน้ตบุ๊ค กล้องถ่ายรูป ฯลฯ พร้อมภาพถ่าย 2 ชุด ออกจะย้อนแย้งกันอย่างเหลือเชื่อ ไม่เป็นตรรกะซึ่งกันและกันเลย
“เร่งปรับแก้เสียเถอะ อย่าทำเพียงแค่บอกว่าเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เพียงเอามาประกาศใหม่ และจะแจ้งหรือไม่แจ้งก็ได้ ไม่ผิด ประเด็นหลักมันอยู่ที่ตราบใดที่ประกาศยังอยู่ก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะหยิบขึ้นมาใช้เมื่อไรก็ได้กับประชาชนคนใดก็ได้ นี่คือสารัตถะของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายที่แท้จริง ทำรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ให้เป็นมากกว่าตัวอักษร” นายคำนูณ ระบุ
นายคำนูณกล่าวอีกว่า ประเด็นการยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายฯ ซึ่งหมายรวมถึงกฎหมายทุกลำดับ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 นี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายเขียนอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายแล้ว รอการพิจารณาอนุมัติขั้นสุดท้ายโดยคณะรัฐมนตรีในอีกไม่กี่วันนี้ และขณะนี้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนก็กำลังดำเนินการเรื่องนี้อย่างขะมักเขม้น ในอนาคตจะมีหน่วยงานของรัฐทำงานด้านนี้โดยเฉพาะอย่างถาวร โดยจะมีตัวแทนภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนจะนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระเพื่อพิจารณา วันที่ 19 มี.ค.นี้ เวลา 13.30 น. โดยเรียนเชิญอธิบดีกรมศุลกากรมาชี้แจง