กล่าวกันว่า ในจำนวนพระพุทธรูปทั้งหลาย พระพุทธชินราชมีความงดงามกว่าพระพุทธรูปทุกองค์ ทั้งยังมีประวัติการสร้างปรากฏชัด ว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างมาพร้อมกับเมืองพิษณุโลก ระบุวันเดือนปีที่เททอง ต่างกว่าพระพุทธรูปสำคัญๆหลายองค์ ที่หาหลักฐานความเป็นมาไม่ได้นอกจากเรื่องตำนาน
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมืองพิษณุโลกต้องเผชิญศึกสงครามหลายต่อหลายครั้ง แม้ในสมัยที่เสียกรุงศรีอยุธยาจนย่อยยับ พระพุทธรูปหลายองค์ถูกเผาลอกทอง แต่พระพุทธชินราชก็ไม่เคยระคายเคือง ทั้งยังปรากฏเลื่องลือในด้านปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ และเป็นที่เคารพบูชาของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีมาจนถึงปัจจุบัน
หลักฐานจากพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์พระองค์ที่ ๗ ของกรุงสุโขทัย ทรงสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกในราว พ.ศ.๑๙๐๐ พระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก ทรงรอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” เมื่อทรงสร้างเมืองพิษณุโลกขึ้นแล้ว มีพระราชประสงค์จะสร้างพระพุทธรูปให้งดงามกว่าพระพุทธรูปทุกเมืองเป็นพระเกียรติยศ จึงเสาะหาช่างฝีมือดีจากทั้งสุโขทัย เชียงแสน หริภุญไชย มาช่วยกันปั้นหุ่นพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ มีรูปทรงสัณฐานคล้ายคลึงกัน แต่ต่างขนาด
องค์หนึ่งนั้นตั้งพระนามตั้งแต่เริ่มสร้างว่า “พระพุทธชินราช” หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว
อีกองค์หนึ่งพระนามว่า “พระพุทธชินสีห์” หน้าตัก ๕ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว
และอีกองค์หนึ่งพระนาม “พระศรีศาสดา” หน้าตัก ๔ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว
พระองค์เลือกลักษณะตามพระทัยให้ช่างทำ คือไม่ยึดรูปแบบสุโขทัย สวรรคโลก ศรีสัชนาไลย หรือเชียงแสน แต่เป็นแบบปนๆกัน เช่นนิ้วพระหัตถ์ของแบบสุโขทัยและสวรรคโลกจะเหมือนกับมือคนทั่วไปไม่เสมอกัน แต่พระองค์รับสั่งให้ทำเสมอกันตามที่ทรงทราบว่าเป็นพุทธลักษณะ เมื่อปั้นเสร็จทั้ง ๓ องค์แล้วจึงให้บรรดาช่างและคนทั้งปวงดู เห็นว่างามดีหาที่งามเสมอมิได้แล้ว จึงให้ทำหุ่นแล้วเททองสัมฤทธิ์ในวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ พ.ศ.๑๘๙๘
เมื่อแกะหุ่นปรากฏว่าสมบูรณ์ดีเพียง ๒ องค์ คือพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ส่วนพระพุทธชินราชทองเดินไม่เต็มองค์ ช่างต้องทำหุ่นใหม่และหล่อถึง ๓ ครั้งก็ไม่สำเร็จ พระมหาธรรมราชาลิไทจึงตั้งจิตรอธิษฐาน เอาบุญพระบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง และให้พระอัครมเหสีทรงอธิษฐานด้วย ในการทำหุ่นใหม่ครั้งนี้ปรากฏว่ามีชีปะขาวคนหนึ่งมาช่วยด้วยอย่างแข็งขัน ไม่พูดไม่จากับใครคล้ายคนใบ้ ครั้นหุ่นสำเร็จเข้าดินพิมพ์แห้งแล้ว เททองตามมงคลฤกษ์ในวันพฤหัส ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง พ.ศ.๑๙๐๐ ทองก็แล่นดีทั่วหุ่น องค์พระสมบูรณ์ดี ชีปะขาวผู้มาช่วยก็เดินออกไปทางประตูด้านเหนือ ถึงตำบลหนึ่งก็หายตัวไป ตำบลนั้นจึงได้ชื่อตำบลปะขาวหายต่อมา พระมหาธรรมราชาลิไทรับสั่งให้ตามหาจะพระราชทานรางวัลก็หาไม่พบ
เมื่อให้ช่างขัดแต่งองค์พระจนเกลี้ยงเกลาชักเงาดีแล้ว จึงนำเข้าประดิษฐานในวิหาร โดยพระพุทธชินราชประดิษฐานในวิหารใหญ่ทางทิศตะวันตกของวัดพระศรีมหาธาตุ หันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำน่าน พระพุทธชินสีห์ประดิษฐานในวิหารด้านทิศเหนือ พระศรีศาสดาประดิษฐานในวิหารด้านทิศใต้ ส่วนเศษทองต่างๆยังนำไปหล่อได้พระอีก ๑ องค์ สูง ๒๒ นิ้ว ปางมารวิชัย และพระสาวกอีก ๑ คู่ เรียกกันว่า “พระเหลือ” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้พระราชทานนามพระเหลือใหม่ว่า “พระเสสันตปฏิมา” ส่วนอิฐที่ก่อเตาสุมทองพร้อมทั้งหุ่นในการหล่อพระนั้น ได้นำมาก่อเป็นฐานชุกชีสูงประมาณ ๓ ศอก ปลูกต้นโพธิ์บนฐานชุกชีนี้ไว้ ๓ ต้น เรียกว่า “โพธิ์สามเส้า” จากนั้นโปรดให้สร้างวิหารน้อยระหว่างโพธิ์สามเส้านี้ ประดิษฐานพระเหลือและสาวกทั้งคู่ ให้เป็นหลักแสดงสถานที่หล่อพระพุทธรูป ๓ องค์นั้น และระหว่างที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระมหาธรรมราชาลิไทได้ทรงสร้างพระราชวังขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับวัดพระศรีมหาธาตุ ประทับอยู่เมืองพิษณุโลก ๗ ปี จนมีประชาชนมาอยู่อาศัยเป็นเมือง มั่งคั่งสมบูรณ์มาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อพิจารณาถี่ถ้วนตามกระบวนช่างแล้ว มีความเห็นกันว่า พระพุทธชินราชกับพระพุทธชินสีห์นั้นเป็นฝีมือช่างคนเดียวกัน แต่พระศรีศาสดาเป็นฝีมือช่างคนอื่น
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดเกล้าฯให้นำทองนพคุณเครื่องราชูปโภคแผ่เป็นทองประสาที (ทองเนื้อดีแผ่อย่างหนา) ทรงปิดทองที่องค์พระด้วยพระหัตถ์จนเสร็จสมบูรณ์ พระพุทธชินราชที่ยังไม่เคยปิดทองตั้งแต่สร้างมา จึงถูกปิดทองด้วยพระหัตถ์ของสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นครั้งแรก
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างสายสังวาลทองคำเนื้อ ๗ ที่เรียกว่าทองสีดอกบวบ เป็นดวงตรานพรัตน์ประดับด้วยบุษย์น้ำเพชร ถวายเป็นพุทธบูชาพระพุทธชินราช
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสรรเสริญพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ไว้ตอนหนึ่งว่า
“...เมืองพระพิษณุโลกก็เปลี่ยนเจ้าผลัดนายร้ายๆ ดีๆ ลางทีเป็นเมืองหลวง ลางทีเป็นเมืองขึ้น หลายครั้งหลายหนข้าศึกมาแต่อื่น เข้าผจญเอาไต้เอาไฟเผาถิ่นที่ต่างๆในเมืองนั้นเสียเกือบหมด แต่พระพุทธรูป ๓ องค์นี้มิได้เป็นอันตราย ควรเห็นเป็นมหัศจรรย์ คนเป็นอันมากสำคัญว่ามีเทวดารักษา แลบางจำพวกสำคัญเห็นเป็นแน่ว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ สององค์เท่านั้นงามแหลมแก่ตามากกว่าพระพุทธรูปใหญ่น้อยบรรดามีในแผ่นดินสยาม ทั้งปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ...จึงคาดเห็นว่า เมื่อทำชะรอยช่างที่เป็นผีสางเทวดาที่นับถือพระพุทธศาสนา แลมีอายุยืนมาได้เห็นพระพุทธเจ้า จะข้าสิงในตัวหรือดลใจช่างผู้ทำ ให้ทำไปตามน้ำใจของมนุษย์ ดังหนึ่งปะขาวที่ว่าก่อนนั้น...เพราะฉะนั้นจึงมีผู้ที่มีสติปัญญาซึ่งได้เห็นได้พิจารณาสิริวิลาส พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ยินดีนับถือด้วยกันเป็นอันมากไม่วางวาย แลคนที่เป็นปะขาวมานั้นก็เห็นปรากฏชัดว่ามิใช่มนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า พระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์นี้เทวดาทำ ชนทั้งปวงจึงได้นับถือบูชาเป็นอันมากมาจนทุกวันนี้”
ข้างองค์พระพุทธชินราชทั้งขวาและซ้าย มีเรือนแก้วทำด้วยไม้สักแกะสลักลวดลายเป็นรูปพระยานาคเอาหัวลง ขนานไปตามองค์พระ ขึ้นไปบรรจบกันเหนือพระเศียรที่เชิงเรือนแก้วทั้ง ๒ ข้าง ซึ่งแตกต่างจากพระพุทธรูปทั่วๆไป และเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธชินราช
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รับสั่งเมื่อเสด็จไปทอดพระเนตรพระพุทธชินราชว่า
“ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธรูปมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย ที่ตั้งอยู่นี่เหมาะนักหนา วิหารพอเหมาะก็เพราะมีที่ดูได้ถนัด”
พระวิหารพระพุทธชินราชก็แตกต่างจากวิหารอื่นๆ คือไม่มีหน้าต่าง แต่เจาะช่องเล็กๆที่ผนังให้แสงสว่างเข้าแทน เพื่อไม่ให้สว่างมากนัก มีแสงเข้ามาทางประตูหน้าเท่านั้น เห็นพระพุทธชินราชงามเด่น แต่ในปัจจุบันมีการเจาะหลังคาพระวิหารให้แสงสว่างสาดเข้ามา ซึ่งทำให้องค์พระพุทธชินราชลดความเด่นลง
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในสาส์นสมเด็จตอนหนึ่งว่า
“...เมื่อว่าถึงความคิดส่องแสงสว่าง จะต้องสรรเสริญถึงช่างไทยเมื่อครั้งสมัยกรุงสุโขทัยด้วย เพราะเขารู้จักทำเหมือนกัน มีตัวอย่างปรากฏที่วิหารพระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก ฉันไปเห็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ เวลานั้นยังไม่ได้ปฏิสังขรณ์แก้ไขวิหารให้สว่างอย่างทุกวันนี้ พอไปถึงประตูวิหาร และเข้าไปข้างในดูที่อื่นมืดหมด เห็นแต่องค์พระชินราชตระหง่านงามเหมือนลอยอยู่ในอากาศ เห็นเข้าก็จับใจเกิดความเลื่อมใสในทันที เพราะเขาทำส่องสว่างเข้ามาทางประตูใหญ่ด้านหน้าแต่ทางเดียว พระชินราชตั้งอยู่ข้างในตรงประตู และเป็นของปิดทอง จึงแลเห็นก่อนสิ่งอื่นในวิหาร เมื่อปฏิสังขรณ์แล้วในวิหารไม่มืดอย่างแต่ก่อน ไปกลางวันไม่จับใจอย่างเมื่อไปครั้งแรก...”
ภายในพระวิหารมีจิตรกรรมฝาผนัง คือฝาผนังด้านหน้าพระพุทธชินราชเป็นเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์และพุทธประวัติ ส่วนฝาผนังด้านซ้ายและขวาเป็นภาพเทพชุมนุม จิตกรรมฝาผนังนี้ได้เขียนขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ เข้าใจว่าซ่อมของเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว
บานประตูวิหารทำด้วยไม้สัก สลักลวดลาย ประดับมุขทั้งสองบาน ลายส่วนใหญ่เรียกว่า แม่ลายก้นขด ปลายกระหนกเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่นราชสีห์เป็นต้น มีคำจารึกที่ประตูด้านขวามือว่า ประดับมุกเมื่อ พ.ศ.๒๒๙๙ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และที่ประตูด้านซ้ายมือมีไม้เป็นสันทาบติดอยู่กับบานประตู เรียกว่า “อกเลา” ตรงกี่งกลางทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนประดับมุกเป็นรูปอุนาโลมอยู่ในบุบก มีรูปหนุมานแบกบุษบกไว้ สองข้างบุษบกเป็นรูปฉัตร ไม้อกเลานี้ชาวเมืองพิษณุโลกนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันภัยต่างๆได้
สมัยกรุงธนบุรี ในศึกครั้งอะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพ เมืองพิษณุโลกถูกเผาทำลาย แม้วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจะไม่ถูกไฟไหม้ แต่ก็ทรุดโทรมไปตามอายุ ใน พ.ศ.๒๓๗๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ขึ้นไปอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมาประดิษฐานที่มุขตะวันตกของพระอุโบสถวัดบวรนิเวศที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น และนิมนต์เจ้าฟ้ามงกุฎฯซึ่งผนวชและจำพรรษาอยู่วัดราชาธิวาสมาเป็นเจ้าอาวาส จนใน พ.ศ.๒๓๗๙ เจ้าฟ้ามงกุฎฯจึงทูลขอย้ายมาไว้ด้านมุขตะวันออก แล้วทรงกาไหล่พระรัศมีฝังพระเนตรและฝังเพชรพระอุมาโลมแล้วปิดทองใหม่ทั้งองค์ ครั้นเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎฯขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงทำกาบทองคำลงยาหุ้มพระรัศมีและหล่อฐานใหม่ ทรงปิดทองพระชินสีห์หมดทั้งองค์
ส่วนพระศรีศาสดา เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้างเชิญลงมาไว้ที่วัด ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ได้อัญเชิญไปไว้ที่วัดประดู่ซึ่งเป็นวัดที่ท่านสร้าง จนเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าฯขึ้นครองราชย์ ทรงพระราชดำริว่า พระศรีศาสดาเป็นพระพุทธรูปสำคัญไม่ควรอยู่ในวัดราษฎร จึงอัญเชิญมาไว้ที่วัดสุทัศน์เทพวรารามชั่วคราว ก่อนที่จะย้ายไปอยู่วัดบวรนิเวศเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๖ แต่ขณะชักลากมานั้น พระศรีศาสดาซึ่งพระศอชำรุดจากการถูกย้ายหลายครั้งก็หักลง จึงต้องเทผูกและปิดทองใหม่ทั้งองค์
ใน พ.ศ.๒๓๗๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช ทรงเปลื้องกำไลหยกจากข้อพระกรสวมนิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราช และบูชาด้วยบายศรีปั้นด้วยรักปิดทอง ๑ สำรับ ปิดเงิน ๑ สำรับ พร้อมต้นไม้เงินต้นไม้ทองสักการบูชา ประทับจัดสมโภช ๒ ราตรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขณะดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปในครั้งนี้ด้วย ทรงทอดพระเนตรพระพุทธลักษณะพระพุทธชินราชว่างามหาพระพุทธรูปองค์ใดจะเปรียบได้ ครั้นทรงสร้างวัดเบญจมบพิตรเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเป็นพระประธานในพระอุโบสถทั้งในกรุงและหัวเมือง ตั้งแต่เชียงใหม่ เชียงแสน เชียงราย ลำปาง ลำพูน และน่าน พระพุทธรูปที่เชิญลงมาได้ก็เชิญลงมาหลายองค์ ที่เชิญลงมาไม่ได้ก็ถ่ายรูปลงมาถวายให้ทอดพระเนตร มี พระเจ้า ๕ ตื้อ พระเจ้า ๙ ตื้อ พระเจ้าล้านทองเป็นต้น แต่ก็ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเป็นหลักเป็นมิ่งขวัญของเมืองพิษณุโลก ประดิษฐานอยู่เมืองนี้ตั้งแต่สร้างไม่เคยย้ายไปไหนกว่า ๙๐๐ ปีแล้ว และยังพูดกันถึงเมื่อครั้งอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมาในรัชกาลที่ ๓ พออัญเชิญออกจากวิหาร ราษฎรก็พากันร้องไห้เหมือนศพลงจากเรือน และเงียบเหงาเศร้าโศกกันไปทั้งเมือง เกิดฝนแล้งไปถึง ๓ ปี ส่วนกรมพระราชวังบวรมหาดิพลเสพ ก็ทรงประชวรด้วยพระโรคมานน้ำได้ปีเศษก็สวรรคต ราษฎรพากันพูดว่าที่ท่านเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมานั้นเป็นสาเหตุ
ทรงพระราชดำริว่า เรื่องเหล่านี้แม้ไม่ควรถือ แต่ก็ไม่ควรทำเรื่องที่คนจำนวนมากไม่พอใจ พระพุทธชินราชก็มีพุทธลักษณะงดงาม มีผู้ใคร่จะนมัสการเป็นจำนวนมาก แต่การเดินทางไปก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หากสร้างขึ้นใหม่ประดิษฐานไว้ในกรุงเทพฯ ก็จะทำให้ผู้เลื่อมใสนมัสการได้ง่าย เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามาก แต่การจะจำลองให้เหมือนองค์จริงซึ่งเชื่อกันว่าเทวดาสร้าง ก็จะต้องหาช่างที่มีฝีมือจริงๆ ในที่สุด หลวงประสิทธิปฏิมา ซึ่งเป็นเทือกเถาเหล่ากอช่างปั้นและช่างหล่อพระพุทธรูปมาชั่ว ๓ อายุคนแล้ว รับอาสาว่าจะทำให้เหมือนจงได้ ส่วนทองที่จะเทนั้น พระยาชลยุทธโยธิน เจ้ากรมทหารเรือชาวเดนมาร์ค ได้นำปืนทองเหลืองที่ไม่ใช้ไปหลอมเตรียมไว้แล้ว รวมทั้งต่อเรือที่จะใช้แทนแพรับพระพุทธรูปลงมาด้วย
เมื่อทีมงานช่างขึ้นไปเตรียมงานทางพิษณุโลกเสร็จ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัตติวงษ์ซึ่งขึ้นไปตรวจราชการ กราบทูลมาว่า รูปพระที่ปั้นขึ้นใหม่ละม้ายเหมือนพระพุทธชิราชที่สุดแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงได้เสด็จพระราชดำเนินทางเรือ ประทับแรมกลางทาง ถึงพิษณุโลกในวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๕ อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธชินราชซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถปิดทองไว้นั้น ยังมิได้ปิดใหม่เลย ทองที่ปิดอยู่หมองลง และรักที่ลงไว้ก็กะเทาะเป็นรอย มีผู้ปิดเพิ่มเติมทีละน้อย ทำให้ด่างพร้อยเสียงาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กะเทาะขูดรักและทองเดิมออกทั้งหมด ลงรักใหม่ให้เกลี้ยงเกลาและปิดทองใหม่ทั้งองค์ในวันที่ ๑๗ ตุลาคมนั้น
ครั้นศุภฤกษ์มงคลในวันที่ ๒๐ ตุลาคม จึงเททองพระพุทธชินราชจำลอง สำเร็จลุล่วงไม่มีอุปสรรคเหมือนองค์จริง ล่องลงมาตกแต่งและปิดทองที่โรงหล่อกรมทหารเรือ จนในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๔๕ จึงแห่มาเข้าคลองสามเสน เลี้ยวเข้าคลองเปรมประชากรจนถึงหน้าวัดเบญจมบพิตร นำเข้าประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา