xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจอธิบดีกรมศิลปากร “อนันต์ ชูโชติ” ภารกิจเกียรติยศในงานถวายพระเพลิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ในฐานะตัวแทนของกรมศิลปากร ทั้งหมดนี้ถือว่ามันเป็นหน้าที่ เป็นสิ่งที่เราต้องทำ และก็จะมุ่งมั่นทำงานนี้ให้สุดความสามารถ เพื่อถวายเป็นพระเกียรติอย่างหาที่สุดมิได้ครับ”...

นับเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำหรับกรมศิลปากรที่ได้รับมอบหมายในภารกิจสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพระเมรุมาศ

เราพาไปสนทนากับ “อนันต์ ชูโชติ” อธิบดีกรมศิลปากร ผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วง

• อยากให้ท่านอธิบดีช่วยเล่ารายละเอียดภารกิจของกรมศิลปากรในงานครั้งนี้

คือในงานพระราชพิธีนี้ จริงๆ แล้วก็มีตั้งแต่เรื่องของการการอัญเชิญพระบรมศพเข้าประดิษฐานในพระโกศทองใหญ่ภายในพระที่นั่งพระมหาดุสิตมหาปราสาทเป็นต้นมา จุดแรกสุดคือกรมศิลปากรรับผิดชอบเรื่องของการประโคมมโหรีปี่พาทย์ นับตั้งแต่วันแรกสุดคือวันที่ 14 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา และจะรับผิดชอบไปจนกว่าจะเสร็จพระราชพิธี ซึ่งเราก็ได้กำชับกับข้าราชการที่รับผิดชอบ คือสำนักการสังคีต ให้ทุกคนมุ่งมั่น เราจะกำหนดเวรในการบรรเลงเพลง วันละ 6 กลุ่ม มี 6 รอบ ก็จัดกันแบบให้ทุกคนเข้าไปตั้งแต่ตี 4 ตี 5 จนกระทั่งช่วงนั้นก่อนจะครบ 100 วัน ก็จะจัดเวรกันถึงเพียงแค่ 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม นี่คืองานแรกที่กรมศิลปากรรับผิดชอบ คือการประโคมปี่พาทย์ในพระราชพิธีในการถวายสวดพระอภิธรรมในพระราชดุสิตมหาปราสาท ทั้งนี้ก็จะรวมไปจนถึงการบรรเลงปี่พาทย์ในพระราชพิธีในวันที่จะถวายพระเพลิง รวมถึงการแสดงมหรสพสมโภชที่บริเวณท้องสนามหลวง

ภารกิจที่ 2 ที่กรมศิลปากรรับผิดชอบก็คือการก่อสร้างพระเมรุมาศ อาคารประกอบพระเมรุมาศและการปฏิสังขรณ์พระยานมาศ ตรงนี้ก็จะแยกออกได้เป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกคือการก่อสร้างพระเมรุมาศและการประกอบ เรารับผิดชอบตั้งแต่เริ่มวางผังมณฑลพิธีที่สนามหลวง โดยการวางผังนั้นสัมพันธ์กันหมด เริ่มตั้งแต่การวางกรอบแนวคิด การจะออกแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ รวมไปถึงว่าพระเมรุมาศในครั้งนี้คือพระเมรุมาศที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้น เราก็ไปศึกษาเรื่องของการจัดสร้างพระเมรุมาศในการถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา

แต่หลักๆ เราก็จะศึกษาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือการถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ครั้งหลังสุดก็คือการถวายพระเพลิงรัชกาลที่ 8 ในปี พ.ศ.2493 หรือ 66 - 67 ปีที่ผ่านมา ถือว่ายาวนานมาก ส่วนสี่ครั้งหลังสุดเป็นการถวายพระเพลิงที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่ถือว่าเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูงก็จะถือว่างานยังเป็นระดับหนึ่ง แต่นี่เป็นพระมหากษัตริย์ ดังนั้น เราต้องวางผังบริเวณ ก็ต้องมีการวิเคราะห์กันเป็นอย่างดี พอวางผังบริเวณเสร็จ ก็นำไปสู่การออกแบบแต่ละหลัง ตรงนี้ก็คือภารกิจเริ่มแรกของการออกแบบ

ทั้งหมดนี้ยังคงรักษาราชประเพณีโบราณเอาไว้ตั้งแต่การออกแบบ ไม่ใช่แค่ก่อสร้างอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการออกแบบที่จะต้องรักษาราชประเพณีโบราณเอาไว้ด้วย แล้วจากนั้นก็ไปออกแบบรูปแบบแต่ละหลัง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามณฑลพิธีท้องสนามหลวงครั้งนี้ที่พวกเราได้เคยผ่านพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าใช้พื้นที่แค่ครึ่งหนึ่งของสนามหลวง แต่ครั้งนี้เนื่องจากว่าเป็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ก็ออกแบบให้มีขนาดใหญ่ กินพื้นที่ 2 ใน 3 ของพื้นที่สนามหลวง หมายความว่าถนนเส้นกลางก็ต้องมีการเปลี่ยนปรับแล้วก็สร้างถนนเส้นใหม่ในการนำขบวนพระราชพิธีที่จะเข้าสนามหลวง

• เนื่องจากเป็นงานใหญ่ ทางกรมศิลปากรมีการบริหารจัดการอย่างไรบ้างครับ

ในส่วนของภาพใหญ่ พระราชพิธีในการการถวายพระเพลิงพระบรมศพครั้งนี้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบโดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการในการจัดพระราชพิธี ท่านนายกฯ ในฐานะกรรมการอำนวยการก็ตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ แล้วก็ได้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายก่อสร้างพระเมรุมาศ อาคารประกอบพระเมรุมาศ และราชรถ มีรองนายกฯ ท่านพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และมีอธิบดีกรมศิลปากร เป็นเลขาธิการ

เพราะฉะนั้น ในระดับนโยบาย บนสุดก็จะมี 2 ท่านเป็นผู้ดูแล คือนายกฯ กับรองนายกฯ แต่ในเรื่องรายละเอียด กรมศิลปากรก็ต้องบริหาร ถ้าพูดแล้วก็เหมือนกับอธิบดีกรมเป็นหัวหน้าโครงการแล้วก็รายงานตลอด แต่เนื่องจากว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบัน เป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น นอกเหนือจากการรายงานตามสายงานในเชิงบังคับบัญชาในการบริหารราชการแผ่นดิน เราต้องรายงานกราบบังคมทูล อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องภายในท้ายที่สุดแล้ว ก็คือพระราชบัญชาวินิจฉัยเป็นที่สุด

และอย่างที่พวกเราทราบกันคือ สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จทรงดำเนินตรวจงานเดือนละครั้ง และอธิบดีต้องถวายรายงาน แต่การบริหารภายในและดำเนินงานทุกอย่าง ก็จะเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรและคณะศิลปากร ภายใต้การควบคุมงาน ตามการสั่งการบังคับบัญชาในเชิงบริหารของอธิบดีกรมศิลปากร จากนั้นก็จะแยกส่วนออกไป อย่างการออกแบบก็แยกคนนี้กลุ่มนี้ออกแบบพระเมรุมาศ กลุ่มนี้ออกแบบพระที่นั่งทรงธรรม กลุ่มนี้ออกแบบศาลาลูกขุน เราก็จะจัดทีมทำงาน กรมศิลปากรมอบสำนักช่างสิบหมู่ให้ส่งรายชื่อ คนนี้ปั้นมหาเทพ คนนี้ปั้นพระพรหม คนนี้ปั้นพระนารายณ์ ก็จะกระจายกันไปนี่คือการบริหารในขั้นต้น จากนั้นก็เข้าสู่การบริหารโดยละเอียด และต่อจากนั้นก็เข้าสู้การจัดสรรงบประมาณที่จะต้องไปอธิบายกับรัฐบาลว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ค่าอะไร เท่าไหร่บ้าง ต้องไปชี้แจง

อธิบดีกรมศิลปากรจะควบคุมความถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ถูกต้องตามคติความเชื่อ ถูกต้องตามหลัก เพราะความงดงาม มันไม่ได้งดงามหรือสวยอย่างเดียว แต่มันต้องมีเรื่องราว ผมบอกว่าแบบแผนที่ผ่านมา รวมทั้งสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นทั้งคติความเชื่อ สัมพันธ์กับเรื่องสมมุติเทพตามคติโบราณของเราที่ถวายแด่พระมหากษัตริย์ จะต้องถูกต้อง อันนี้ก็อยู่ในการบริหารของอธิบดี แต่เส้นนี้โค้งนี้หรือลายกระหนกนี้ อธิบดีไม่ได้เป็นผู้เขียน เพราะเป็นเรื่องของช่างของเรา แต่ว่าเราจะคุมในกรอบให้มีความถูกต้อง

• ในงานครั้งนี้ มีอะไรที่ถือว่าเป็นความพิเศษขึ้นมาบ้างครับ

จริงๆ แล้วต้องพิจารณา 2 ส่วน ส่วนแรกคือแบบแผน ต้องไม่ต่างจากโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติมา ต้องแสดงภาพมณฑลพิธีที่หมายถึงจักรวาลออกมาให้ได้ พระเมรุมาศคือเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลาง มีที่ว่างล้อมรอบซึ่งหมายถึงทวีปหรือทะเลมหาสมุทรภูเขาขอบจักรวาล ต้องมีสิ่งก่อสร้างอย่างนี้ครบ

ส่วนที่ 2 ที่เห็นได้ชัดก็คือเรามีการประดับประติมากรรมเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือที่เราเคยเห็นชินตา คือเทวดานั่งและก็ยืน ให้เห็นเทพเทวดาหลายๆ ชั้นสถิตอยู่ รวมทั้งเรื่องของเชิงเขาพระสุเมรุที่มีป่าหิมพานต์ ดังนั้น ประติมากรรมที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่สัตว์ประจำทิศ ท้าวจตุโลกบาลประจำทิศ มีเทพพนม เทพชุมนุม มีคชสีห์ ราชสีห์ มีครุฑ ครุฑหมายถึงพาหนะพระนารายณ์ เนื่องจากคติความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ไทยเราถือว่าเป็นพระนารายณ์อวตาร เป็นเทพอวตาร ครุฑก็คือพาหนะของพระนารายณ์ที่จะอัญเชิญดวงพระวิญญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กลับสู่สวรรค์เพื่อไปประทับร่วมกับเทพยดาทั้งหมด

อีกอย่างคือพระที่นั่งทรงธรรม ครั้งนี้เราทำใหญ่มาก สามารถรองรับผู้เข้าร่วมในพระราชพิธีได้ 2,200 ถึง 2,400 คน สำหรับรองรับพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชอาคันตุกะ และคณะองคมนตรี และที่พิเศษคือในพระที่นั่งทรงธรรม เราจะวาดจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริซึ่งเราคิดว่าคนที่เข้าไปจะได้ตื่นตาตื่นใจในพระราชกรณียกิจของพระองค์ นี่คือสิ่งที่กรมศิลปากรได้กำชับให้คัดเลือกโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับดิน น้ำ พลังงานลม พลังงานความร้อน 4 หัวข้อต้องกระจายเท่าๆ กัน ดึงโครงการจากทุกๆภาคนำมาเขียนไว้ ภายในมณฑลพิธีจะเห็นได้ว่ามีต้นไม้หรือสิ่งต่างๆ และนอกมณฑลพิธีเราก็พยายามที่จะใส่ความเป็นโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริแปลงนาข้าวจะมีคันนาเป็นรูปเลข 9 รวมถึงมีสระน้ำ โดยภายในสระน้ำจะมีกังหันน้ำชัยพัฒนา มีเครื่องดำน้ำที่เป็นพระอัจฉริยะของพระองค์ เราพยายามใส่ พยายามสอดแทรกสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ผู้คนได้เห็นสิ่งที่พระองค์ได้สร้างไว้ตลอดระยะเวลา 70 ปี นี่คือกรอบแนวคิดต่างๆ ที่กรมศิลปากรได้ออกแบบ

อีกอย่างหนึ่งคือฉากบังเพลิง เราก็ทำแต่ละด้าน สี่ด้าน เป็นนารายณ์อวตาร แปดปาง เพราะมันจะเป็นคู่กัน และจากนั้นขนาบด้วยเทพชุมนุมข้างล่างที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยมจะเขียนเป็นภาพจิตกรรม แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ และบนพระจิตกาธานก็จะมีรูปสุนัขคุณทองแดงหมอบอยู่ข้างกับพระโกศ ถ้าถามถึงความปลีกย่อยมันก็ไม่เหมือนกันในทุกๆ ครั้ง เพียงแต่ว่ารูปแบบนี่ไม่ต่าง บางคนบอกว่าพระเมรุมาศครั้งนี้ใหญ่ที่สุด แต่ว่าไม่ใช่ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พงศาวดารบอกไว้ว่าตั้ง 120 เมตร 120 เมตรเท่ากับตึกดุสิตธานี หรือพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 4 ที่ใหญ่ที่สุด ความสูง 80 เมตร เพราะฉะนั้น พระเมรุมาศครั้งนี้ไม่ได้ใหญ่ที่สุด

อย่างไรก็ดี ณ สถานการณ์ปัจจุบันที่เทคโนโลยีล้ำหน้า กรมศิลปากรก็ได้ดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องของการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการคำนวณโครงสร้าง อีกอย่างหนึ่ง เราจะเห็น เป็นต้นว่าพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 8 หรือ 6 มีการใช้ไม้ซุง ถ้าเป็นปัจจุบันก็จะมีความยุ่งยาก หาไม้ก็ลำบาก เราก็มีการนำเหล็กเข้ามาใช้ และเหล็กที่เราเอามาใช้ในการทำโครงสร้างพระเมรุมาศ โดยให้วิศวกรออกแบบแล้วก็เข้าไปทำที่โรงงาน ไปควบคุมระบบในการตัดเหล็ก ในการเชื่อมกัน ถ้าถามถึงความผิดพลาด มีอย่างมากที่สุดคือ 1 มิลลิเมตร โครงสร้างขนาดนี้ ถ้าจะมีความผิดพลาดก็แค่ 1 มิลลิเมตร เหล็กจะไม่กระโดกกระดาก และถ้าเอาเรื่องของสถาปัตยกรรมเข้าไปประกอบ ก็จะเห็นได้ว่าทุกอย่างมันลงตัวหมด แต่ภาพที่ออกมาก็ยังคงถูกต้องตามแบบแผนโบราณราชประเพณีทุกประการ

• มีอุปสรรคปัญหาอย่างไรหรือไม่ครับในการดำเนินงาน

ผมจะขอยกตัวอย่าง ที่โรงงานวิศวกร เราก็ต้องไปตรวจดูก่อน ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เขาทำเสร็จ พอเอามาสนามหลวงแล้วผิด ไม่ตรงตามแบบ มันจะทำให้เสียเวลา เพราะฉะนั้น การควบคุมให้ไม่เสียเวลา หรือให้มีความผิดพลาดน้อยที่สุด ก็คือสิ่งที่ผู้คุมงานแต่ละส่วนที่อธิบดีได้มอบหมายนั้นจะต้องทำและรายงานในเชิงบริหาร ถ้ามีปัญหา อธิบดีก็จะลงไปแก้ในเชิงเทคนิค ก็จะไปรับฟังในทุกๆ ด้าน ส่วนจะตัดสินใจประเด็นไหนก็ต้องไปดู ก็หาทางแก้ไขไว้ เพราะถ้าเป็นกังวล มันจะทำให้เราทำงานอย่างไม่มั่นใจ ถ้ามีปัญหา ก็จะแก้ไขโดยจะให้อธิบดีมาตรวจเป็นระยะ ถ้าเราคุมงานไม่ละเอียด เมื่ออุปกรณ์ที่เราไปทำที่โรงงานมันผิดพลาด เราก็ต้องไปทำใหม่ มันจะทำให้เสียเวลา แต่ตอนนี้ การบริหารจัดการของเรามีความละเอียดรอบคอบมาก

ในฐานะตัวแทนของกรมศิลปากร ทั้งหมดนี้ถือว่ามันเป็นหน้าที่ เป็นสิ่งที่เราต้องทำ และก็จะมุ่งมั่นทำงานนี้ให้สุดความสามารถ เพื่อถวายเป็นพระเกียรติอย่างหาที่สุดมิได้ครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น