วิทยาลัยช่างศิลป ระดม 200 คน ลงสีจิตรกรรมพระที่นั่งทรงธรรม โครงการพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง - ใต้ การทำงานยึดแนวทางเหตุการณ์จริง ผสมผสานจิตรกรรมโบราณ - ศิลปกรรม สมัยรัชกาลที่ ๙ ด้านช่างสิบหมู่ เชิญ “ชวน หลีกภัย” เขียนเส้น ลงสี เมื่อครั้งรับเสด็จฯ
เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.) ที่สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม ในช่วงเช้าได้จัดพิธีบวงสรวง เพื่อเข้าสู่การดำเนินงานจิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งทรงธรรม อาคารประกอบพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนผนังที่ 3 ที่มีวิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รับผิดชอบ ซึ่งผนังที่ 3 เป็นการร้อยเรียงเรื่องราวโครงการพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง กับภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 14 โครงการ โดยมีคณะทำงานของสำนักช่างสิบหมู่ อาทิ นายประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มงานประติมากรรม นายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ รศ.ดร.จินตนา สายทองคำ คณบดีคณะศิลปะนาฏดุริยางค์ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันบัณฑิต นายบุญพาด ฆังคะมะโน ผอ.วิทยาลัยช่างศิลป นอกจากนี้ ยังมีนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ ตลอดจนศิษย์เก่า จาก วิทยาลัยช่างศิลป เข้าร่วมพิธีดังกล่าวด้วย หลังจากร่วมพิธีบวงสรวงแล้ว คณะทำงานได้ทยอยขึ้นนั่งร้าน เพื่อนำกระดาษไข มาทาบลายสเกตช์ และเริ่มลงสีท้องฟ้าไล่ลงมาเป็นชั้นบนผืนผ้าใบ เป็นการเบิกฤกษ์ลงมือทำงาน
นายสนั่น รัตนะ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง กล่าวว่า ในขั้นตอนแรก จะให้ทีมงานคัดลอกลายเส้นจากภาพสเกตช์ ซึ่ง นายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ ได้ออกแบบไว้ ใส่ลงกระดาษไข เพื่อนำไปปรับแก้บางส่วน เพราะภาพสเกตช์ที่มีอยู่ มีเพียงการบอกตำแหน่งบุคคลในภาพว่าคือใคร แต่การดำเนินงานต้องหาข้อมูลที่ชัดเจนของบุคคลในภาพประกอบกับ เครื่องแต่งกาย เพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์ ถูกต้องเหมือนเหตุการณ์จริงมากที่สุด จากนั้น จะส่ง เจ้าหน้าที่อีกทีมหนึ่ง เข้ามาดำเนินงานคัดลอกบรรยากาศ ทั้งหมดก่อนนำตัวภาพมาคัดลอก และเขียนตัวภาพทับอีกชั้นหนึ่ง
ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะทำงานฝ่ายวิชาการ เพื่อหาข้อมูล และรายละเอียด โครงการพระราชดำริ ที่นำมาเป็นต้นแบบการเขียน ซึ่งจะศึกษาจากเอกสาร และ จดหมายเหตุ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องตามแบบที่กำหนดก่อนที่จะมีการลงสี เพื่อให้ได้องค์ประกอบทุกส่วนตรงความเป็นจริง ในส่วน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนโครงการต่างๆ โดยจะหาข้อมูลว่า ทรงสวมฉลองพระองค์อะไร สีอะไร เครื่องยศ เครื่องทรงเป็นแบบไหน เช่นเดียวกับ ผู้ที่เป็นบุคคลปรากฏในสเกตช์ฉากบังเพลิงก็จะต้องอยู่บนพื้นฐานชองข้อมูลจริงทั้งหมด อย่างโครงการป้องกันน้ำท่วม จ.ชุมพร โดยมี นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในภาพด้วย จึงต้องไปตรวจสอบเครื่องแต่งกายของนายชวน และอดีตอธิบดีกรมชลประทาน ด้วย
“คณะทำงานได้น้อมนำสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เคยรับสั่งว่า ต้นไม้ ในจิตรกรรมฝาผนังนั้น การเขียนภาพ จะต้องบอกชื่อได้ว่า เขียนต้นอะไร บนต้นไม้ มีสิ่งมีชีวิตอีกนะ นั่นหมายถึง เราต้องใส่สัตว์อื่นๆ ประกอบลงไปด้วย ส่วนเรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ทุกชิ้น พระองค์ท่านทรงขยับสูท แล้วรับสั่งว่า เขียนเราใหม่ให้เหมือนแบบนี้ นั่นคือ มูลเหตุที่เราน้อมรับให้ทำงานออกมาเหมือนจริง ส่วนวิธีการวางรูปแบบ จะใช้แนวทางวางแบบภาพจิตรกรรมไทยโบราณผนวกกับ ศิลปกรรมในรัชกาลที่ ๙ มี 3 มิติ เน้นลายเส้นแบบไทย มีแสงเงาธรรมชาติ โดยเป็นการต่อเล่าเรื่องเป็นตอนๆ เป็นห้องๆ บนผนังผืนใหญ่ ซึ่งคณะทำงานครั้งนี้ประมาณ 200 คน ทั้งครู อาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า และทีมจากวิทยาลัยช่างศิลป สุพรรณบุรี มาร่วมทำงานด้วย ในการแบ่งงานจะแบ่งงานตามความถนัดของแต่ละบุคคล ทั้งทิวทัศน์ อาคาร ภาพบุคคลซึ่งมีภาพบุคคลเหมือน และไม่เหมือน คาดว่า จะใช้เวลาในการทำงาน 4 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ” นายสนั่น กล่าว
นายมานพ อมรวุฒิโรจน์ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงานสำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า หนึ่งในภาพของจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม ผนังที่ 3 ได้มี นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ปรากฏอยู่ด้วย ดังนั้น คณะทำงานได้เชิญ นายชวน เข้ามาร่วมเขียนเส้น และลงสีในส่วนที่เป็นรูปเหมือนของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเฝ้าฯ รับเสด็จฯ และบรรยากาศโดยรวม เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ 14 มิ.ย. นี้
ด้าน นายบุญพาด ฆังคะมะโน ผอ.วิทยาลัยช่างศิลป กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ถึงแนวทางการลงสีจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรมนั้น ได้ข้อสรุปแนวทางร่วมกันว่า การเขียนภาพจะยึดตามภาพถ่ายต้นแบบเป็นแนวทางในการเขียน เนื่องจากภาพจิตรกรรมฝาผนังจะต้องออกมาให้เหมือนจริงมากที่สุด ทั้งนี้ ทางสำนักช่างสิบหมู่ได้เน้นย้ำเรื่องภาพเขียนที่ใช้ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙ ภาพจะมีมิติเหมือนจริง เน้นการตัดเส้นเพิ่มเติมในการสร้างมิติให้ภาพออกมาสมจริงมากที่สุด
นายประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มงานประติมากรรม กล่าวถึงความคืบหน้างานประติมากรรม ประดับพระเมรุมาศ ว่า ล่าสุด ประติมากร ได้ทำการขึ้นรูปโครงสร้างโดยรวมองค์พระพิฆเนศด้วยดินเหนียว ตามภาพสเกตช์เบื้องต้นแล้ว ส่วนการทำแท่นฐานพระนารายณ์ ปั้นต้นแบบลวดลายประดับ มีความคืบหน้าไป 80% ส่วนการจัดสร้างพระอินทร์ กำลังลงรายละเอียด เครื่องประดับ และลวดลายประดับ ส่วนฐานพระอินทร์ กำลังปั้นเป็นรูปช้างสามเศียรคืบหน้า 40% พระศิวะ อยู่ขั้นดำเนินการใส่ฉลองพระองค์ ส่วนแท่นฐาน ได้ปั้นเป็นรูปหัววัว คืบหน้าประมาณ 40% ขณะที่ พระพรหม ได้ให้นักศึกษาฝึกงานขึ้นรูปโครงสร้างแล้ว โดยแท่นฐานเป็นรูปหงส์ ส่วน ครุฑ อยู่ระหว่างใส่รายละเอียดต่างๆ ของลวดลายประดับ ส่วนครุฑหัวเสา 2 ขนาด มีความคืบหน้า 40% ส่วน สิงห์ อยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดลวดลายประดับ คืบหน้ากว่า 80%