สมัยก่อนชายขอบรอบกรุงเทพฯล้วนแต่เป็นทุ่งทั้งนั้น ทางด้านเหนือนั้นก็คือ “ทุ่งสามเสน” ที่ได้ชื่อนี้เล่ากันว่ามาจากตำนานพระลอยน้ำ และระบุว่าเป็น “หลวงพ่อโต” วัดบางพลีใหญ่ใน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน ซึ่งลอยน้ำลงมาจากทางเหนือ มาผลุบๆโผล่ๆในย่านนี้ซึ่งเรียกกันว่า “บางกอก” ผู้คนได้มาช่วยกันฉุดท่านขึ้นจากน้ำ แต่ก็ฉุดไม่ขึ้น เพราะท่านเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๓ คืบ จนมีคนมาช่วยกันถึงสามแสนคนก็ยังไม่สำเร็จ ผลุบจมน้ำหายไป เลยเรียกตำบลนั้นกันว่า “สามแสน” ต่อมาก็เพี้ยนเป็น “สามเสน”
เมื่อครั้งที่ “สุนทรภู่” เดินทางไปพระพุทธบาทเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๓๕๐ ได้กล่าวถึงชื่อของ
“สามเสน” ไว้ใน “นิราศพระบาท” ว่า
ถึงสามเสนแจ้งความตามสำเหนียก
เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี
ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี
ไม่เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน
จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง
เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น
นี่หรือรักจะมิน่าเป็นราคิน
แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ
สามเสนเป็นชุมชนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมานานแล้ว แต่ก็อยู่เฉพาะริมแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างวัดราชาธิวาส สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียอีก เดิมชื่อว่าวัด “สมอราย” เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑ ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ต่อมาเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชก่อนขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จมาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชาธิวาสวรวิหาร” ซึ่งแปลว่าวัดที่ประทับของพระราชา
อีกวัดหนึ่งที่อยู่ใกล้กัน คือ “วัดเทวราชกุญชร” สร้างในสมัยกรุงศรีอยุยา เดิมชื่อว่า “วัดสมอแครง” สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากภาษาเขมรที่ว่า “ถมอแครง” ที่แปลว่า “หินแกร่ง” ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงรับวัดนี้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเทวราชกุญชร” ตามพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร ซึ่งเป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากุญชร”
เหนือวัดราชาขึ้นไป ยังมีวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง คือ “วัดโบสถ์” อยู่ริมคลองสามเสน ตามประวัติของกรมการศาสนาบันทึกไว้ว่า สร้างเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๒๕๑ และได้รับวิสุงคามเสมาเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๒๗๑ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แสดงว่าย่านนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่กรุงศรีอยุธยา ได้เดินทางลงมาบางกอกเพื่อจะขยายเขตแดนพระศาสนาใน พ.ศ.๒๒๑๕ ได้ขอพระราชทานที่ดินเหนือวัดสมอราย เพื่อสร้างวัดคริสต์และโรงพยาบาล ทรงพระกรุณาพระราชทานให้ตามขอ
พระสังฆราชลาโนได้สร้างโบสถ์เป็นอิฐลาดปูนขึ้น ให้ชื่อว่า Immaculate Conception มีความหมายว่า “แม่พระปฏิสนธินิรมล” แต่เรียกกันทั่วไปว่า “วัดคอนเซ็ปชัญ” นอกจากจะมีที่พักสงฆ์แล้วยังมีโรงพยาบาล ๒ หลังสำหรับชาย ๑ หลัง หญิง ๑ หลัง และที่พักสำหรับคริสตังที่มาเรียนคำสอนอีกหลังหนึ่ง ซึ่งนับเป็นโบสถ์คริสต์แห่งแรกของบางกอก
ใน พ.ศ.๒๒๓๐ เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระพระนารายณ์ พระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อชาวตะวันตกขึ้นครองอำนาจ มิชชันนารีที่อยุธยาถูกจับขังคุกกันหลายคน รวมทั้งบาทหลวงมานีแอล เจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ ซึ่งไปขึ้นอยู่ที่บ้านเณรอยุธยา ส่วนคริสตังที่บางกอกไม่ถูกเบียดเบียนมากนัก แต่ก็ไม่มีการทำพิธีทางศาสนาที่วัดนี้เป็นเวลาหลายปี
ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ชาวคริสต์ที่อยุธยาและบางกอกต่างลี้ภัยไปอยู่เขมรกันหมด จนในปี พ.ศ.๒๓๑๒ เมื่อพระเจ้าตากสินกู้บ้านกู้เมืองได้แล้ว บาทหลวงกอรร์ เป็นผู้ดูแลวัดคอนเซ็ปชัญและสามเณรลัยที่อยุธยาก่อนกรุงแตก ได้กลับมาจากเขมร โดยพาคริสตังเขมรกลับมาด้วย พร้อมกับรวบรวมคริสตังที่อยุธยาให้มาอยู่ที่บางกอก และขอพระราชทานที่ดินจากพระเจ้าตากสิน สร้างวัดขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่ฝั่งพระราชวังกรุงธนบุรี ให้ชื่อว่า “วัดซางตาครูส” โดยบาทหลวงกอรร์เป็นผู้ดูแลทั้งวัดซางตาครูสและวัดคอนเซ็ปชัญ
จนใน พ.ศ.๒๓๒๘ บาทหลวงลังเยอนัวส์ มิสชันนารีในเขมร ได้พาคริสตังโปรตุเกสและชาวเขมรที่เป็นคนรับใช้ของชาวโปรตุเกส อพยพมาอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญเป็นจำนวนมาก นับจากนั้นมาวัดคอนเซ็ปชัญก็ถูกเรียกกันว่า “วัดเขมร” และหมู่บ้านที่อยู่รอบวัดก็ถูกเรียกว่า “บ้านเขมร”
ใน พ.ศ.๒๓๗๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงส่งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพใหญ่ไปตีญวน เนื่องจากญวนขยายอิทธิพลเข้ามาในเขมร และพาชาวญวนที่นับถือพุทธเข้ามาด้วย ส่งไปอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนพระยาวิเศษสงครามและพระยาณรงค์ฤทธิ์โกษา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นคาธอลิค ได้กราบทูลขอชาวญวนที่เป็นคริสตังซึ่งถูกพระเจ้ามินมางของญวนกวาดล้าง เข้ามากับกองทัพด้วย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินต่อจากวัดคอนเซ็ปชัญเข้ามาให้สร้างศาลาใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก ทั้งยังพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างโบสถ์ขึ้นหลังหนึ่งด้วยไม้ไผ่ ได้ชื่อว่าวัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ โดยสังฆราชดาแบรด์ ประมุขมิสซังโคชินไชน่า ซึ่งหนีภัยศาสนาจากญวนมาอยู่กรุงเทพฯก่อนหน้าคริสตังกลุ่มนี้ และได้หาบาทหลวงเชื้อสายญวน ๓ องค์มาดูแล
ใน พ.ศ.๒๓๗๐ ได้เกิดพายุพัดโบสถ์ที่สร้างไว้พัง สังฆราชกูรเวอซีได้สร้างโบสถ์ใหม่เป็นไม้ และนำพระรูปแม่พระและนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ จากกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ มาประดิษฐานไว้ในโบสถ์ พร้อมทั้งสร้างโรงเรียนขึ้น ๒ หลัง สำหรับชายและหญิง เพื่อสอนภาษาญวนให้แก่เด็กๆ จนใน พ.ศ.๒๓๙๔ โรงเรียนแห่งนี้จึงเปลี่ยนมาสอนภาษาไทย เพื่อปรับตัวเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นคนไทย
ในบรรดาคริสตังที่อพยพมาจากญวนนี้ มีซิสเตอร์ “คณะรักไม้กางเขน” อพยพมาด้วย พระคุณเจ้ากูรเวอซี จึงสร้างอารามเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์สำหรับซิสเตอร์กลุ่มนี้ขึ้น
ความจริงทั้งวัดคอนเซ็ปชัญและวัดเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ เป็นวัดของชาวโปรตุเกส แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าวัดคอนเซ็ปชัญเป็นวัดโปรตุเกสเขมร ส่วนวัดเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์เป็นวัดโปรตุเกสญวน และชุมชนรอบวัดเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ก็เรียกกันว่า “บ้านญวน” เช่นเดียวกับ “บ้านเขมร”รอบวัดคอนเซ็ปชัญ
เมื่อตอนเริ่มสร้างนั้น วัดคอนเซ็ปชัญซึ่งสร้างมาตั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนวัดเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงต้องอยู่ด้านหลังห่างแม่น้ำออกมา แต่เมื่อมีการตัดถนนสามเสนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ การคมนาคมเปลี่ยนจากทางน้ำมาเป็นทางบก และมีการสร้างพระราชวังดุสิตขึ้น วัดเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์และ“บ้านญวน” จึงมาอยู่ใกล้ถนน ส่วนวัดคอนเซ็ปชัญและ“บ้านเขมร” กลายไปอยู่สุดซอยริมแม่น้ำไป
ซอยที่แยกจากถนนสามเสนเข้าบ้านญวนและบ้านเขมรในปัจจุบัน มีชื่อว่า “ซอยมิตรคาม” ใกล้ปากซอยนี้มีโรงเรียนดังแห่งหนึ่ง คือ “โรงเรียนเซนต์คาเบรียล”ทั้งนี้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เจษฎาจารย์ มาร์ติน เดอ ตูรส์ และคณะที่ปรึกษา มีแนวความคิดที่จะเปิดโรงเรียนแห่งใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงเรียนอัสสัมชัญ และได้รับข้อเสนอจากบาทหลวงบรัวซาต์ เจ้าอาวาสวัดเซนต์ฟรังซิสซาเวีย ให้ที่ดินริมถนนสามเสน เป็นสถานที่ก่อสร้าง จึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนเซนต์คาเบรียลตั้งแต่ปี ๒๔๖๓ แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๕ เรียกตึกที่สร้างเสร็จนี้ว่า "ตึกแดง" เปิดรับเฉพาะเด็กนักเรียนชาย และในขณะที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้น เจษฎาจารย์มาร์ตินและคณะ ได้ใช้บ้านหลังหนึ่งเปิดสอนชั่วคราวก่อน มีนักเรียนรุ่นแรกนี้ ๑๔๑ คน
ในปี ๒๔๖๘ บาทหลวงบรัวซาต์ เจ้าอธิการวัดเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ มีความประสงค์จะให้กุลธิดา เด็กกำพร้า เด็กยากจน ที่อยู่ในชุมชนบ้านญวน บ้านเขมร และชุมชนใกล้เคียง ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาเหมือนเด็กผู้ชาย เพื่อจะได้มีวิชาชีพติดตัว เป็นพลเมืองดีของสังคม สังฆราชเรอเนแปโรสจึงได้ยกอาคารสองชั้นที่ด้านถนนราชวิถีให้ใช้เป็นโรงเรียนชั่วคราว เริ่มเปิดสอนในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘ โดยรับเฉพาะนักเรียนสตรีไปกลับ สอนวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ให้นักเรียนเลือกเรียนได้ตามใจชอบ และมีวิชาภาษาไทยเป็นวิชาบังคับ นอกจากนี้ยังมีการสอนวาดเขียน ระบายสีน้ำ สีน้ำมัน ดนตรี เย็บปักถักร้อย และการทำความสะอาด โดยนักเรียนจะต้องได้รับการอบรมทั้งทางด้านวิชาการและการปฏิบัติ
ต่อมาโรงเรียนได้รับความนิยมมากขึ้นจนสถานที่เดิมคับแคบ จึงย้ายมาอยู่ใกล้โบสถ์เซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ในปี ๒๔๗๕
โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์เป็นสถานศึกษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก่อนจะเสด็จตามพระบิดาซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสเมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา
แม้ย่านนี้จะมีผู้คนอาศัยมานานแล้ว แต่ก็อยู่กันตามริมฝั่งแม่น้ำ ส่วนที่ลึกห่างแม่น้ำเข้ามามีการบุกเบิกเป็นนาเป็นสวนบ้าง แต่มีผู้คนอยู่กันอย่างเบาบาง จนในปี ๒๔๔๑ ทุ่งสามเสนก็เป็นที่สนใจของพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการทั่วไป เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ซื้อที่ชายทุ่งระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมไปจดคลองสามเสน แล้วสร้างพลับพลาที่ประทับชั่วคราวขึ้น รับสั่งว่าที่นี่เย็นสบายดี พระราชทานนามว่า “สวนดุสิต” ตามนามของสวรรค์ชั้น ๔ เป็นเหตุให้มีขุนนางข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ตามกันมาสร้างคฤหาสน์และสร้างวังกระจายไปทั้งทุ่ง จนกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยก่อนทุ่งอื่นทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้จะขอเล่าต่อในตอนหน้านะครับ เพราะหลายวังเหลือเกิน