xs
xsm
sm
md
lg

รู้ยังอยู่ไหนบ้าง! ๑๗ สะพานสวยงามสร้างสมัย ร.๔ ร.๕ ร.๖ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

สะพานดำรงสถิต
การเปิดประเทศต้อนรับผู้คนจากทั่วทุกทวีปในสมัยรัชกาลที่ ๔ หลังการเซ็นสัญญาการค้ากับอังกฤษเป็นชาติแรก และมีอีกมากมายหลายชาติขอเซ็นตาม ทำให้กรุงเทพมหานครของเราในรอบ ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าทุกยุคสมัย ตอนนั้นกรุงเทพฯยังไม่มีถนน มีแต่คลองเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ แต่เมื่อมีชาวตะวันตกเข้ามาอยู่อาศัยกันมาก จึงเรียกร้องขอถนนสำหรับใช้รถม้าและขี่ม้าออกกำลังกาย ถนนจึงเกิดขึ้นในกรุงเทพฯเป็นครั้งแรก พร้อมกับสะพานข้ามคลองที่ขวางถนนอยู่ทั่วไป และสร้างขึ้นอีกมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ และที่ ๖ แต่ไม่ได้สร้างไว้แค่ใช้ข้ามคลองเท่านั้น ยังตกแต่งด้วยศิลปะที่งดงาม หลายสะพานสั่งหล่อลวดลายราวสะพานมาจากยุโรป จนถึงปัจจุบันสะพานเหล่านั้นหลายสะพานก็ยังใช้อยู่ และยังอยู่ในสภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิม กรมศิลปากรเห็นว่าสะพานเหล่านี้มีคุณค่าทางศิลปะ จึงประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๘ มีจำนวน ๑๗ สะพาน คือ

๑. สะพานพิทยเสถียร บนถนนเจริญกรุง ที่แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อโปรดเกล้าฯให้ประกาศบอกบุญผู้มีศรัทธาช่วยกันสร้างสะพานข้ามคลองในพระนคร เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหม ได้สร้างเป็นสะพานโครงเหล็กขึ้น ๒ สะพานในปี ๒๔๐๔ มีล้อและรางเหล็กสำหรับเปิดสะพานให้แยกออกจากกันได้เพื่อให้เรือผ่าน สิ้นเงินไป ๒๓,๒๐๐ บาท สะพานที่แขวงตลาดน้อยนี้เรียกกันว่า “สะพานเหล็กล่าง” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯให้กรมโยธาธิการสร้างใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นสะพานโครงเหล็กเปิดปิดได้เช่นกัน พระราชทานนามว่า “สะพานพิทยเสถียร” เพื่อเป็นเกียรติให้แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยาลาภพฤฒิธาดา ซึ่งมีวังที่ประทับอยู่บริเวณใกล้เคียง ในสมัยรัชการที่ ๖ โปรดให้ปรับปรุงใหม่อีก เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ศิลปกรรมแบบอังกฤษ เพราะเป็นย่านของคนอังกฤษ สถานทูตอังกฤษก็ยังอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ท่าเรือสี่พระยาในปัจจุบัน และมีห้างร้านของชาวอังกฤษอยู่มากในย่านนั้น

๒. สะพานดำรงสถิต แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร เป็นสะพานที่สร้างพร้อม “สะพานเหล็กล่าง” ข้ามคลองรอบกรุงมาชนประตูสามยอดที่ขวางถนนอยู่พอดี เรียกกันว่า “สะพานเหล็กบน” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ การจราจรย่านนี้ขวักไขว่ เพราะเป็นย่านการค้าของกรุงเทพฯ ทำให้สะพานเดิมคับแคบและทรุดโทรม ในปี ๒๔๔๐ จึงเปลี่ยนเป็นสะพานเหล็กสั่งนอกตามความนิยมในยุคนั้น ซึ่งกว้างกว่าสะพานเก่าถึง ๓ เมตร พระราชทานนามว่า “สะพานดำรงสถิต” เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีวังอยู่ติดกับประตูสามยอด ปัจจุบันสะพานดำรงสถิต สร้างใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อนที่กรมพระยาดำรงฯจะทรงย้ายวังมาอยู่ที่ถนนหลานหลวง คือ วังวรดิศ

๓. สะพานชมัยมรุเชฐ เป็นสะพานข้ามคลองเปรมประชากรบนตรงมุมทำเนียบรัฐบาล สร้างขึ้นในปี ๒๔๔๔ โดยพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ ขณะมีพระชนมายุ ๑๗ พรรษา เท่าพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฏราชกุมาร ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๔๔ และจะเท่าพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๔๕ จึงได้ทรงพระศรัทธาบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเงินจำนวน ๖,๗๘๐ บาท บำเพ็ญพระกุศลสร้างสะพานเพื่อให้เป็นสาธารณะประโยชน์ ทรงอุทิศส่วนกุศลถวายพระเชษฐาทั้งสองพระองค์ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ได้ทรงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยยินดี ทรงอนุโมทนาในส่วนกุศลนี้ โปรดกล้าฯให้สร้างสะพานขึ้นที่ถนนคอเสื้อ (ชื่อเดิมของถนนพิษณุโลก) พระราชทานนามว่า “ตะพานชมัยมรุเชษฐ” มีความหมาย “พี่ชายผู้เป็นเทพ ๒ องค์” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ มาทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๔๕

สะพานชมัยมรุเชฐ ได้รับการปรับปรุงจากการขยายพื้นที่จราจรในปี ๒๕๐๕ ซึ่งยังคงรักษาป้ายเหล็กหล่อชื่อสะพาน และกรอบลูกกรงสะพานซึ่งเป็นเหล็กหล่อลวดลายจากยุโรปไว้ตามเดิม

๔. สะพานพระรูป เป็นสะพานเดินข้ามคูในวัดเบญจมบพิตร แขวงดุสิต เขตดุสิต เป็นสะพานชุดเดียวกับ สะพานถ้วย และ สะพานงา ข้ามคูเดียวกันเรียงกันไป เชื่อมเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส สมเด็จกรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ทรงออกแบบ แล้วส่งไปหล่อเป็นสะพานเหล็กมาจากอิตาลีเป็นชุดทั้ง ๓ สะพาน คานและลูกกรงเป็นเหล็กหล่อลวดลาย ที่กลางสะพานติดป้ายแผ่นเหล็กมีสัญลักษณ์และประวัติความเป็นมาของสะพาน พื้นสะพานเดิมเป็นไม้ เปลี่ยนเป็นพื้นคอนกรีตในปี ๒๔๗๑ มีบันไดไปตามโค้งของสะพาน ตอนนี้ทาสีแดงโดดเด่นทั้ง ๓ สะพาน การสร้างเป็นผลจากการจัดงานประจำปีวัดเบญจมบพิตรในปี ๒๔๔๔ นำรายได้จากการขายสิ่งของในงานเป็นทุนสร้างสะพานให้วัด เสร็จพร้อมกันในปี ๒๔๔๖
สำหรับ “สะพานพระรูป” มีแผ่นป้ายจารึกประวัติติดไว้ที่สะพานว่า

“สพานนี้ได้สร้างขึ้นด้วยเงินค่าขายพระรูป อันจำหลักในแผ่นทองแดงกาหลั่ยทอง ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสาตรศุภกิจ ถวายช่วยในการปฏิสังขรณ์พระอารามเมื่อ ร.ศ. ๑๑๙ จึงพระราชทานนามว่า สพานพระรูป สร้างสำเร็จเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑”

๕. สะพานถ้วย มีแผ่นป้ายจารึกประวัติของสะพานติดไว้ว่า
“สพานนี้ได้สร้างขึ้นด้วยเงินค่าถ้วยชาพื้นสีลายทองงานพระเมรุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหน่ายในการออกร้านที่วัด เมื่อ ร.ศ. ๑๑๙ ทรงพระราชอุทิศเงินค่าถ้วยชานั้นให้สพานนี้ จึงพระราชทานนามว่า สพานถ้วย ได้สร้างแล้วเสร็จเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑”

๖. สะพานงา มีแผ่นป้ายจารึกประวัติของสะพานติดไว้ว่า
“สพานนี้ได้สร้างขึ้นด้วยเงินค่างาช้างซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพถวายเพื่อจำหน่ายเป็นเงินช่วยในการปฏิสังขรณ์พระอาราม เมื่อออกร้านในวัด ร.ศ. ๑๑๙ จึงพระราชทานนามว่า สพานงา สร้างสำเร็จเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑”

๗. สะพานวรเสรษฐ เป็นสะพานข้ามคูวัดเบญจมบพิตร คูเดียวกับสะพานพระรูป สะพานถ้วย และสะพานงา แต่ไม่ได้อยู่ในสะพานชุดเดียวกัน ทั้งยังอยู่นอกรั้ววัดบนถนนนครปฐมที่มาจากหน้าทำเนียบรัฐบาล สิ้นสุดที่หน้าวัดเบญจมบพิตร ข้ามคูวัดตอนที่จะบรรจบกับคลองเปรมประชากร เป็นสะพานราวเหล็กสั่งนอกเช่นกัน

๘. สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมของถนนราชดำเนินนอก ซึ่งเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์จะให้เป็นสะพานขนาดใหญ่รับกับถนนราชดำเนิน และให้เป็นสะพานที่ออกแบบงดงามเป็นพิเศษกว่าทุกสะพานในพระนคร มี นายมาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาเลียนที่ข้ามารับราชการ เป็นผู้ออกแบบสนองพระราชประสงค์ นายคาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allregri) กับ นายเอมิลิโอ กอลโล (Emilio Gollo) นายช่างชาวอิตาเลียนของกรมโยธาธิการ เป็นวิศวกร ลงมือก่อสร้างในปี ๒๔๔๓ แล้วเสร็จในปี ๒๔๔๖ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดสะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนินนอก ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๔๖ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕๐ ปี

ตัวสะพานยาว ๓๐ เมตร โครงสร้างเป็นเหล็กหล่อ พื้นคอนกรีต คานสะพานเป็นเหล็กหล่อ มีลูกกรงเป็นลายพรรณพฤกษา กลางสะพานด้านนอกประดับรูปช้างสามเศียรนูนต่ำในกรอบ ซึ่งก็คือช้างเอราวัณ เทพพาหนะของท้าวมัฆวาน เหนือกรอบนี้เป็นเสาโคมไฟขนาดเล็ก ที่หัวสะพานเป็นเสาหินอ่อน สอบเข้าตอนบน ที่ยอดทำเป็นจั่วแบนจัตุรมุขขนาดเล็ก รองรับโคมไฟที่ยอดเสา ใต้จั่วแบนทุกด้านมีสายสำริดเฟืองอุบะโลหะห้อยลงมาจากดอกลายประจำยาม มีจารึกนามสะพานอยู่ที่กลางเสาหินอ่อนปลายสะพานทั้งสี่ต้น ถัดจากเสานี้ไปเป็นพนักเชิงลาดของสะพานทำด้วยหินอ่อน ที่คานด้านข้างสะพานทั้งสองข้าง มีลวดลายประดับเช่นกัน
มีการปรับปรุงและขยายสะพานมัฆวานรังสรรค์ครั้งใหญ่ในปี ๒๕๓๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศและสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานครได้สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานเดิมขึ้นอีก ๒ สะพาน โดยรักษาศิลปกรรมอันทรงคุณค่าของสะพาน พร้อมบรรยากาศแวดล้อม เช่นน้ำพุที่เชิงสะพานไว้ให้มากที่สุด และเปิดการจราจรบนสะพานปรับปรุงใหม่ในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๓๗

๙. สะพานผ่านฟ้าลีลาศ แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุงที่ข้างป้อมมหากาฬ เชื่อมต่อถนนราชดำเนินกลางกับถนนราชดำเนินนอก สะพานเดิมเป็นสะพานเหล็กโค้ง ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เมื่อมีการสร้างถนนราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่ ใช้วัสดุคล้ายสะพานมัฆวานรังสรรค์ คือเป็นสะพานเหล็กหล่อ มีลูกกรงเป็นลายดอกไม้ศิลปะอาร์ตนูโว ที่เชิงสะพานมีเสาหินอ่อนสูงประดับรูปหัวแกะ รองรับเครื่องยอดประดับสำริด มีเฟื่องอุบะห้อยลงมาจากหัวเสา ที่ตัวเสามีรูปเรือรบโรมันทำด้วยสำริด เชิงสะพานเป็นหินอ่อนลาดโค้ง พร้อมบันไดลาดลงสู่ทางเท้าข้างถนน พระราชทานนามว่า “สะพานผ่านฟ้าลีลาศ” คล้องจองกับ “สะพานผ่านพิภพลีลา” ที่เชื่อมถนนราชดำเนินกลางกับราชดำเนินใน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครดำเนินการขยายผิวการจราจรบนสะพานผ่านฟ้าลีลาศให้กว้างขึ้นเช่นกัน พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงิน ๒ ล้านบาท จัดตั้งเป็นกองทุนเริ่มต้น

ในปี ๒๕๓๗ กรุงเทพมหานครได้ขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศออกไปทั้ง ๒ ข้างทาง กว้างข้างละ ๗ เมตร ยาวประมาณ ๒๕ เมตร ปรับปรุงผิวการจราจรเพิ่มขึ้นเป็น ๑๓ ช่องทาง โดยรักษารูปแบบและเครื่องประดับไว้ตามเดิม ใช้งบประมาณ ๓๐ ล้านบาท เปิดใช้สะพานปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๗


๑๐. สะพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓ แขวงบางรัก เขตบางรัก ข้ามคลองสาทรที่ถนนเจริญกรุง อยู่ใต้สะพานสาทรที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสะพานที่ย้ายมาจากปลายถนนเยาวราชตอนข้ามคลองวัดสามจีน หรือวัดไตรมิตรในปัจจุบัน ไปบรรจบกับถนนเจริญกรุง เป็นสะพานชุดเฉลิมลำดับที่ ๑๒ เมื่อมีการถมคลองวัดสามจีน จึงนำสะพานนี้มาใช้อีกที่บางรัก

๑๑. สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ แขวงพญาไท เขตพญาไท ข้ามคลองบางกะปิ หรือคลองแสนแสบที่ถนนพญาไท ที่เรียกกันว่า “สะพานหัวช้าง” เป็นสะพานชุดเฉลิมลำดับที่ ๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๕๒ เนื่องในทรงเจริญพระชนมพรรษาเท่ากับรัชกาลที่ ๒ พระบรมอัยยิกาธิราช

เมื่อมีการขยายถนนพญาไทเป็นถนน ๔ เลน สะพานหัวช้างก็ถูกขายความกว้างออกไปด้วย โดยรักษารูปลักษณ์ศิลปะเดิมไว้

๑๒. สะพานเสาวนี อยู่บนถนนศรีอยุธยา แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต ติดทางรถไฟ สร้างขึ้นในปี๒๔๕๓ โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ ได้บริจาคพระราชทรัพย์สร้างเป็น สาธารณประโยชน์เนื่องวันพระราชสมภพที่จะมาบรรจบในวันที่ ๑ มกราคมนั้น เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๔ วา ๑ คืบ ๘ นิ้ว ยาว ๕ วา มีลวดลายและรูปจำลองพระราชลัญจกรพระราชเสาวนีประดับ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานนามว่า “สะพานเสาวนี” แต่เกิดโทรมนัสทั้งแผ่นดินเมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ จึงเลื่อนการเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๕๔

๑๓. สะพานเจริญรัช ๓๑ เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมด้านใต้ ที่เรียกว่าปากคลองตลาด ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เป็นสะพานคู่กับสะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ ที่ปากคลองด้านเหนือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์เท่าพระชนมวารให้กรมสุขาภิบาลสร้างเป็นสาธารณประโยชน์ในวันเฉลิมพระชนมายุ ๓๑ พรรษา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๓ อันเป็นปีแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ และเป็นสะพานแรกในสะพานชุดเจริญ ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อรัชกาลที่ ๕ เฉลิมสวรรค์แล้ว รัชกาลที่ ๖ ก็เจริญรัชกาลสืบต่อ นับเป็นสะพานที่สวยงามสะพานหนึ่ง เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลมทั้งสองด้าน หันส่วนโค้งเข้าหากัน ลูกกรงราวเป็นปูนปั้นรูปเสือยืนสองขาจับพระขรรค์ หันหน้าเข้าหากึ่งกลางสะพาน ซึ่งประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ “ว.ป.ร.” ปลายราวสะพานมีแป้นกลมจารึกตัวเลข “๓๑” ซึ่งเป็นพระชนมายุในปีที่ทรงสร้างสะพาน เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๕๔

๑๔. สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ เป็นสะพานบนถนนกรุงเกษมข้ามคลองมหานาค ตอนบรรจบกับคลองผดุงกรุงเกษม ที่เรียกกันว่า “สี่แยกมหานาค” โปรดเกล้าฯให้สร้างสะพานจากเงินพระราชทานตามพระชนมวารในปี ๒๔๕๔ พระราชทานนามว่า “สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒” เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๕

ลักษณะของสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๕ วา ๑ ศอก กับ ๕ นิ้ว ยาว ๑๕ วา สูงจากระดับน้ำ ๑ วา ประดับด้วยศิลปะไทยประยุกต์ ลูกกรงสะพานและแท่นป้ายชื่อสะพาน ประดับด้วยดอกบัวและพืชพรรณไม้ไทย เช่นต้นบอนและเครือเถาตำลึง เป็นต้น แท่นที่ราวสะพานทั้ง ๔ มุมเป็นปูนปั้นรูปพญานาคแผ่เศียรรับแผ่นสำริดจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “ว.ป.ร.

ในอดีต บริเวณสี่แยกมหานาคนี้เป็นที่ชุมนุมการค้าขายทางน้ำที่คับคั่งมาก แน่นขนัดไปด้วยเรือที่นำสินค้ามาขาย ปัจจุบันคลองบริเวณนี้ว่างเปล่าไม่มีเรือเลย การค้าขายซึ่งเคยแออัดอยู่ในคลอง ได้ย้ายมาคับคั่งอยู่ริมถนน

๑๕. สะพานปีกุน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เป็นสะพานเล็กๆสำหรับคนเดินข้ามคลองคูเมืองเดิมที่หน้าวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กับหลังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ ๔ รอบในปี ๒๔๕๔

ลักษณะสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เชิงสะพานมีเสาคอนกรีตข้างละ ๒ เสา เซาะร่องตามความยาว เป็นสัญลักษณ์ของเทียนประทีปพระชันษา หัวเสาประดับด้วยช่อมาลา มีวงรูปไข่ ๔ วงในแต่ละเสา หมายถึงพระชนม์ ๔ รอบ

สะพานนี้ไม่มีชื่อ แต่เชิงสะพานมีอนุสาวรีย์รูปหมูอยู่บนเขาหินจำลอง จึงเรียกกันว่า “สะพานหมู” หรือ “สะพานปีกุน”

อนุสาวรีย์หมูนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระยาพิพัฒนโกษา และพระยาราชสงคราม ร่วมกันสร้างเป็นอนุสรณ์ถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อมีพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ เป็นอนุสาวรีย์สหชาติของผู้เกิดปีกุน

๑๖. สะพานมหาดไทยอุทิศ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นสะพานแรกของคลองมหานาคทางปากตลองด้านคลองรอบกรุง แต่เรียกกันว่า “สะพานร้องไห้” เชื่อมถนนบริพัตรข้างภูเขาทอง มาบรรจบกับถนนดำรงรักษ์ ถนนหลานหลวง และถนนราชดำเนิน ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เพื่อให้การสัญจรในจุดนี้ซึ่งเป็นที่รวมของถนนหลายสายไปมาได้สะดวกขึ้น แต่ยังไม่ทันสร้างก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ บริจาคเงินรวมกันได้ ๔๑,๒๔๑ บาท ๖๑ สตางค์ มอบให้กระทรวงสุขาภิบาลสร้างสะพานตามพระราชดำริ และขอพระราชทานนามว่า “สะพานมหาดไทยอุทิศ” สิ้นค่าก่อสร้างไป ๕๗,๐๕๓ บาท ๒๙ สตางค์ ส่วนที่เกิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้กระทรวงสุขาภิบาลนำเงินงบประมาณสมทบ และทรงพระกรุณาให้กรมสุขาภิบาลทำรูปจำลองสะพานไปตั้งถวายตัวในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย

ตัวสะพานทำด้วยปูนผสมศิลาอย่างมีแกน ตามวิชาช่างอย่างใหม่ ขนาดกว้างในร่วมพนัก ๒ วา ๒ ศอก ยาว ๑ เส้น ๓ วา ๒ ศอก สูงจากระดับน้ำธรรมดา ๕ ศอกคืบ เสด็จพระราชดำเนินเปิดในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๗ หลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต ๔ ปี

เหตุที่เรียกกันว่า “สะพานร้องไห้” ก็เพราะรูปแบบของสะพานเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ประดับด้วยรูปปั้นนูนต่ำ เป็นรูปสตรีอุ้มเด็ก ในมือถือดอกซ่อนกลิ่น อยู่ในราวสะพานด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปผู้ชายยืนจับบ่าเด็ก ทั้ง ๒ ภาพต่างแสดงอาการโศกเศร้าอาลัยในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

๑๗. สะพานเจริญศรี ๓๔ ข้ามคลองคูเมืองเดิมที่ถนนศิริอำมาตย์ ข้างวัดศิริมาตยาราม ด้านข้างของศาลฎีกา จุดเด่นของสะพานนี้คือที่เชิงสะพานมีเสาด้านละต้นเป็น ๔ ด้าน ด้านบนของเสาประดิษฐ์เป็นรูปพาน มีเฟืองอุบะแบบตะวันตกอย่างสวยงาม ที่แท่นฐานมีเลข ๔ หมายถึงเป็นสะพานเจริญอันดับที่ ๔ และเป็นปีที่ ๔ แห่งการครองราชย์ ลูกกรงราวสะพานเป็นปูนหล่อ กลางราวสะพานมีแผ่นป้ายนามสะพานและปีพุทธศักราชที่สร้าง เหนือขึ้นไปเป็นแผ่นป้ายจารึกพระปรมาภิไธยย่อ วปร. แต่พระปรมาภิไธยย่อ หายไปแล้ว เหลือแต่กรอบ

นี่คือโบราณสถานที่มีคุณค่าของชาติ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ที่เราผ่านไปมากันทุกวัน ถ้าไม่รู้ความเป็นมา ก็ไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่เรามี
สะพานพิทยเสถียร
อีกมุมหนึ่งของสะพานดำรงสถิต
สะพานที่ปรากฏอยู่ในข่าวยุคบ้านเมืองวุ่นวายเป็นประจำ
สะพานพระรูปกับสะพานชุดเดียวกันข้ามคูวัดเบญจมบพิตร
แผ่นป้ายสัญลักษณ์ของสะพานถ้วย
สัญลักษณ์ของสะพานงา
สะพานวรเสรษฐนอกรั้ววัดเบญจมบพิตร
สะพานมัฆวานรังสรรค์
 เรือรบโรมัน เป็นจุดเด่นของสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
ลวดลายสวยงามของสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
สะพานเฉลิมพันธุ์  ๕๓ ที่ใต้สะพานสาทร
สะพานพระรูปกับสะพานชุดเดียวกันข้ามคูวัดเบญจมบพิตร
แผ่นป้ายสัญลักษณ์ของสะพานถ้วย
สัญลักษณ์ของสะพานงา
สะพานวรเสรษฐนอกรั้ววัดเบญจมบพิตร
อนุสาวรีย์หมูบนเขาหินจำลอง
สะพานปีกุน หรือสะพานหมู
สะพานมหาดไทยอุทิศ หรือสะพานร้องไห้
แผ่นจารึกพระปรมาภิไธยย่อเหลือแต่กรอบเหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น