ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเงินเท่ากับวันในพระชนมายุ วันละ ๑ สลึง เป็นทานในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ต่อมามีพระราชดำริว่า เงินที่พระราชทานนี้จะเป็นคุณก็แต่เฉพาะผู้ได้รับพระราชทานเท่านั้น ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เมื่อเริ่มมีการใช้รถยนต์กัน และมีการตัดถนนเป็นจำนวนมาก สะพานจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกรุงเทพฯมีคลองอยู่ทั่วไปหมด ในปี ๒๔๔๘ เป็นต้นมา จึงมีพระราชดำริพระราชทานเงินจำนวนนี้ให้แก่กระทรวงนครบาล เป็นทุนสร้างสะพานข้ามคลองในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ถ้าเงินที่พระราชทานไม่พอกับการสร้าง ก็ให้กระทรวงนครบาลจัดงบประมาณสมทบ
สะพานพระราชทานเนื่องในวันเฉลิมนี้ จะมีคำว่า “เฉลิม” นำหน้า ลงท้ายด้วยตัวเลขพระชนมายุในปีนั้น เรียกกันว่า “สะพานชุดเฉลิม” มีทั้งหมด ๑๗ สะพาน
สะพานเหล่านี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวยุโรปที่เข้ามารับราชการในสมัยนั้น ส่วนใหญ่ราวสะพานจะเป็นเหล็กหล่อลวดลายวิจิตรสวยงาม สั่งเป็นพิเศษมาจากยุโรป กลางสะพานมีแผ่นจารึกชื่อสะพานและพระปรมาภิไธยย่อ จปร.ประดับอยู่ด้วย ซึ่งราวสะพานเหล่านั้น มาถึงยุคนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ล้ำค่าอย่างมาก นับเป็นสมบัติสำคัญของชาติ
ต่อมาเมื่อคลองหมดความสำคัญลง และถนนมีความสำคัญมากขึ้น หลายคลองถูกถมขยายเป็นถนน อย่างถนนพระรามที่ ๔ กลืนคลองหัวลำโพงไปตลอดสาย ทำให้สะพานที่ข้ามคลองหัวลำโพง ซึ่งล้วนแต่เป็นสะพานชุดเฉลิม ตั้งแต่ปลายถนนสี่พระยา ถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ถนนสาทร ถูกรื้อออกไปหมด
หลายแห่งเมื่อมีการขยายพื้นผิวถนน ก็ต้องขยายสะพานออกไปด้วย บางแห่งได้ขยายอย่างรู้คุณค่าของสะพานเดิม รักษารูปลักษณ์ศิลปะเดิมไว้ อย่าง “สะพานเฉลิมหล้า ๕๖” หรือที่เรียกกันว่า “สะพานหัวช้าง” เมื่อมีการขยายถนนพญาไทเป็น ๔ เลน
สะพานหนึ่งรื้อไปสร้างในที่ใหม่ คือ “สะพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓” เดิมข้ามคลองวัดสามจีน หรือวัดไตรมิตร ที่ปลายถนนเยาวราชจรดถนนเจริญกรุง ถูกรื้อออกไปตอนถมคลองวัดสามจีน แต่นำไปใช้เป็นสะพานข้ามปากคลองคลองสาทรที่ถนนเจริญกรุง ใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินในปัจจุบัน ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติไว้แล้ว
สะพานชุดเฉลิมทั้ง ๑๗ สะพาน ปัจจุบันคงเหลือให้เห็นสภาพเดิมอยู่เพียง ๓ สะพาน คือ สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ สะพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓ และสะพานเฉลิมโลก ๕๕ ที่ประตูน้ำ ซึ่งเป็นสะพานคอนกรีต ไม่ใช้ราวเหล็ก ส่วนสะพานที่ใช้ราวเหล็กจากยุโรป ป้ายชื่อสะพานมีพระปรมาภิไธยย่อ ไม่รู้ว่าราวสะพานไปเป็นเศษเหล็กอยู่ที่ไหน
ที่น่าเสียดายอีกสะพาน ก็คือ “สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘” ซึ่งเป็นสะพานสุดท้ายของสะพานชุดเฉลิม เชื่อมถนนพระอาทิตย์กับถนนราชินีที่ปากคลองคูเมืองเดิมด้านเหนือ แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อนสร้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงสร้างตามพระราชดำริของพระบรมราชชนก และเสด็จพระราชดำเนินเปิดในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๖ ดังคำกราบบังคมทูลของเจ้าพระยายมราชในวันเปิดสะพานตอนหนึ่งว่า
“...สะพานซึ่งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้เสด็จมาประทับทอดพระเนตรอยู่ ณ บัดนี้ ได้สร้างขึ้นด้วยเงินประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งพระองค์ทรงพระราชอุทิศสำหรับพระราชกุศลสาธารณทานประจำศก ๑๒๙ อันเป็นปีที่สุดในรัชกาลของพระองค์ จึงยังมิได้ทรงกำหนดที่สร้างแห่งใดแลพระราชทานนามไว้ กรมสุขาภิบาลจึงได้กะจะทำในที่ตำบลนี้ แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำ ส่วนจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่เท่าใด ก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเติมจนสำเร็จ แลพระราชทานนามว่า “สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘” สะพานนี้ได้สร้างเป็นสะพานรูปโค้ง พื้นที่สะพานกว้าง ๖ วา ๒ ศอก ยาว ๖ วา ๒ ศอก สูงจากระดับน้ำธรรมดา ๑ วา ๒ ศอก เชิงสะพานด้านตะวันตกลาดเป็นท่าลงแม่น้ำทั้ง ๒ ฝั่งคลอง มีลวดลายแลอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตามสมควรแก่การซึ่งเป็นสะพานพระราชกุศล แลเป็นสะพานที่สุดแห่งสะพานเฉลิมทั้งปวง”
สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ นับเป็นสะพานที่สง่างาม พนักสะพานเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม กลางสะพานคอด เชิงสะพานขยายออก ที่สุดเชิงสะพานเป็นเสาสูงคู่ รองรับเครื่องบนแบบคลาสสิกประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ จปร.ในกรอบรูปวงรี มีช่อชัยพฤกษ์ล้อมอยู่บนสุดเทิดสู่สวรรค์ ที่ฐานเสามีป้ายชื่อสะพาน ราวสะพานเป็นคอนกรีตมีลูกกรงหล่อแบบศิลปะตะวันตก
การออกแบบสะพานเฉลิมสวรรค์ ๔๘ นี้ เน้นให้กลมกลืนกับ “ท่าช้างวังหน้า” ซึ่งเป็นขั้นบันไดลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นที่สำหรับช้างของวังหน้าลงอาบน้ำ ต่อมาเป็นท่าเรือที่ข้ามไปสถานีรถไฟบางกอกน้อย แต่บัดนี้ทุกอย่างเป็นอดีตไปหมดแล้ว เมื่อมีการสร้างสะพาน “สมเด็จพระปิ่นเกล้า”ในปี ๒๕๑๔ คร่อมปากคลองคูเมืองด้านนี้ และสร้างถนนเป็นทางขึ้นทางลงสะพานทับบนคลอง เปิดให้น้ำผ่านรอดใต้ถนน คลองคูเมืองเดิมจากสะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ จนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา จึงรอดอยู่ใต้ทางขึ้นทางลงของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ส่วนท่าช้างวังหน้าก็กลายเป็นอาคารศูนย์ท่องเที่ยวของ กทม.ไป
หนังสือพิมพ์ “บางกอกเวิร์ลด์” ประจำวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๓ เสนอข่าวว่า สมาคมสถาปนิกสยามได้แสดงความเห็นไปยังเทศบาลนครกรุงเทพและกระทรวงมหาดไทย ว่าอย่างน้อยก็ควรเก็บบางส่วนของสะพานนี้ไว้สำหรับคนรุ่นต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นนี้ไม่ได้รับความสนใจ ในที่สุดก็เหมือนสะพานเก่าอื่นๆของกรุงเทพฯ ที่สลายไปในสายลมของความเจริญก้าวหน้า
ผู้เขียนมีความประทับใจความสง่างามของสะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ไทยเรื่อง “สามสมอ” ซึ่งเข้าประกวดตุ๊กตาทองในปี ๒๕๐๒ มี พล.ร.ท.ดำรงค์ เสขะนันท์ รับบทผู้แสดงนำในขณะมียศเรือโท และได้รับตุ๊กตาเงินจากเรื่องนี้ มีฉากหนึ่งที่ใช้สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ ถ่ายทำในเวลากลางคืน ขณะพระเอกกลับมาจากงานรับพระราชทานกระบี่ โดยมีพ่อซึ่งแสดงโดยดาราตุ๊กตาทอง เจิม ปั้นอำไพ ผู้แจวเรือจ้างข้ามฟากส่งลูกชายจนสำเร็จเป็นนายทหาร จอดเรือรอรับอยู่ ภาพนายทหารเรือหนุ่มในชุดขาวห้อยกระบี่เดินผ่านเสาเทิดพระปรมาภิไธยย่อ จปร.แทนสายตาของพ่อที่จอดเรือจ้างรออยู่นั้น เป็นภาพที่งดงามประทับใจยิ่งนัก
ในหนังสือ “การอนุรักษ์ศิลปกรรมของเทศบาลนครกรุงเทพ” เนื่องในงานกฐินพระราชทานของเทศบาลนครกรุงเทพ ณ วัดปทุมคงคา วันศุกร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๔ ได้กล่าวไว้ว่า การสร้างสะพานคร่อมพระปรมาภิไธยในลักษณะที่ไม่บังควร จึงจำต้องแยกสะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ ออกไปจากที่เดิม โดยจะนำไปสร้างไว้บนถนนสายเอกข้ามคลองในสวนลุมพินี แต่ใน พ.ศ.นี้ เกือบครึ่งศตวรรษแล้วก็ยังไม่เห็น
เลยขอบอกไปถึงท่านผู้ว่าฯคนขยัน อัศวิน ขวัญเมือง ช่วยปลีกเวลาพิจารณาเรื่องที่มีคนไม่รักษาสัญญานี้อีกที และช่วยไปค้นกองเศษเหล็ก เอาราวสะพานสั่งนอกที่ล้ำค่าซึ่งถูกรื้อออกไป มาสร้างใหม่ให้คนรุ่นปัจจุบันได้เห็น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ จะสร้างไว้ตามสวนสาธารณะ หรือบริเวนหอชมวิวกรุงเทพฯที่กำลังจะสร้าง ก็ยังดีกว่าที่จะทิ้งไว้อย่างไร้ค่า หรือมีใครแอบเอาไปขายเป็นเศษเหล็กไปหมดแล้วก็ไม่รู้