xs
xsm
sm
md
lg

เผยชีวิต “เจ้าจอมปริศนา” เจ้าของผ้าล้ำค่าผืนที่หายไปจากวัดวังตะวันตก! ร.๕ ทรงนิพนธ์ไว้ ทำให้ทหารเอกหัวขาด!!

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

อนุสาวรีย์เจ้าจอมปรางที่เมืองนคร
วัดวังตะวันตก จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องฆ่าเณรฝังในคอนกรีตใต้ฐานพระ ของขบวนการยึดผลประโยชน์วัด และมีการสืบสาวเรื่องราวลึกลงไป จนขุดตัวละครในประวัติศาสตร์ขึ้นมา ซึ่งเป็นเจ้าของผ้านุ่งยกทอง คือ ผ้าที่มีเส้นด้ายทองสอดอยู่ในผืนผ้า เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง จึงเป็นโบราณวัตถุล้ำค่าในประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่งที่หายไปจากวัด ซึ่งเจ้าของก็คือเจ้าจอมปริศนาในประวัติศาสตร์ ที่ ร.๕ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “เป็นเรื่องที่เขาเล่ากระซิบกันเป็นการเปิดเผย” และทำให้ทหารเอกหัวขาดมาแล้ว

เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไปในสมัยที่พระเจ้าตากสินกู้อิสรภาพจากพม่าแล้ว จึงปราบปรามชุมนุมต่างๆที่ตั้งตัวเป็นอิสระหลังกรุงแตก ซึ่งในจำนวนนี้มีชุมนุมของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) รวมอยู่ด้วย ทรงยกกองทัพไปปราบปราม เจ้าพระยานครหนู ได้ให้ เจ้าพัด บุตรเขยผู้เป็นอุปราช ยกกำลังออกมาตั้งรับ แต่ก็ถูกตีแตกพ่าย เจ้าพระยานครจึงพาลูกเมียหนีไปเมืองสงขลา และหนีต่อไปเมืองเทพาจนถึงเมืองตานี มีพระราชดำรัสให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) และ พระยาพิชัยราชา นำกองทัพไปติดตาม แม่ทัพทั้ง ๒ ส่งสารให้สุลต่านตานีจับเจ้าพระยานครและผู้ติดตามส่งมาให้ มิฉะนั้นจะตีเมืองตานี พระยาตานีเกรงจะเดือดร้อนจึงจับพระยานคร พระยาพัทลุง หลวงสงขลา เจ้าพัด เจ้ากลาง กับบุตรธิดาส่งให้กองทัพไทยนำตัวมาสอบสวนที่เมืองสงขลา

พระเจ้าตากสินไม่ทรงถือว่าเจ้าพระยานครเป็นกบฏ เพราะต่างคนต่างก็ตั้งตัวเป็นอิสระเมื่อกรุงแตก แผ่นดินว่างกษัตริย์ เมื่อเจ้าพระยานครยอมสวามิภักดิ์ จึงให้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี เจ้าพระยานครได้ถวายธิดาคนโต ชื่อ “ฉิม” เข้าทำราชการกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เป็นพระสนมเอกเทียบที่ กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ มีพระเจ้าลูกยาเธอ ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าทัศพงษ์ ซึ่งภายหลังได้เป็น พระพงศ์นรินทร และพระองค์เจ้าทัศภัย ภายลังได้เป็นพระอินทรอภัย และยังได้พาน้องสาวที่ชื่อ “ปราง” มาอยู่ในวังด้วย

ในปี พ.ศ.๒๓๑๓ พระเจ้าตากสินโปรดให้พระยาพิชัยราชา แม่ทัพที่เคยไปจับเจ้าพระยานครที่เมืองตานี เป็นแม่ทัพล่วงหน้าทัพหลวงไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง เมื่อมีชัยชนะพระยาพิชัยราชาจึงมีความดีความชอบได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นเป็นเจ้าพระยา ครองเมืองสวรรคโลก

ส่วนเจ้าพระยานครเมื่อเข้ามารับราชการที่กรุงธนบุรี มีความดีความชอบจนเป็นที่วางพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้กลับไปครองเมืองนคร โดยมี เจ้าพัด บุตรเขย เป็นอุปราชเหมือนเดิม

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ เจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าเมืองสวรรคโลก ลงมาราชการที่กรุงธนบุรี พบคุณปราง ซึ่งก็เคยพบกันมาก่อนเมื่อครั้งไปคุมตัวมาจากเมืองตานี และรู้เหมือนคนทั่วไปว่า ธิดาของเจ้าพระยานครคนนี้ติดตามพี่สาวมาอยู่ในวัง ไม่ได้เป็นพระสนมด้วย เกิดต้องตาต้องใจจึงแต่งเถ้าแก่ไปสู่ขอต่อเจ้าจอมมารดาฉิมพี่สาว แต่พอพระเจ้าตากสินทรงทราบก็กริ้ว ดำรัสว่า

“มันบังอาจจะมาเป็นคู่เขยน้อยเขยใหญ่กับกูผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน”

แล้วสั่งให้เอาตัวเจ้าพระยาพิชัยราชาไปประหารชีวิต ตัดหัวเสียบประจานไว้ที่ริมประตูข้างฉนวนลงตำหนักแพ

ในเวลาใกล้ๆกันนั้น เจ้าพัด อุปราชเมืองนคร ได้เข้ามาเฝ้าด้วยข้อราชการ พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบว่าภรรยาของเจ้าพัด ซึ่งเป็นพี่สาวคนหนึ่งของคุณปรางถึงแก่กรรม จึงดำรัสว่า

“สงสารด้วยภรรยาตาย จะพระราชทานน้องสาวให้เป็นภรรยาแทน”

ครั้นแล้วจึงให้นำตัวคุณปรางที่เพิ่งทำให้ทหารเอกหัวขาดไปหยกๆ พระราชทานเป็นภรรยาของอุปราชเมืองนคร เจ้าพัดพาคุณปรางลงเรือมาถึงเมืองนคร คุณปรางก็บอกกับอุปราชว่า

“ระดูไม่มา ๒ เดือนแล้ว”

พอเจ้าพัดรู้ว่าคุณปรางมีครรภ์กับพระเจ้าตากสินมาก่อน จึงมิกล้าแตะต้อง ยกขึ้นไว้เป็นแม่เมือง แต่ไม่มีใครรู้ว่าเหตุใดพระเจ้าตากสินจึงพระราชทานเจ้าจอมลับ ที่มีครรภ์แล้ว ๒ เดือน ให้อุปราชเมืองนคร ทั้งๆที่เพิ่งตัดหัวทหารเอกที่มาสู่ขอโดยไม่รู้ความนัยไปหยกๆ นับเป็นปริศนาในประวัติศาสตร์

ต่อมาเจ้าจอมปรางก็คลอดบุตรที่ตั้งครรภ์มาจากธนบุรี ตั้งชื่อให้ว่า “น้อย” ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้เป็นเจ้าพระยานครเช่นเดียวกับเจ้าพระยานครพัด และมีอำนาจมากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน ครองนครศรีธรรมราช ตลอดจนไทรบุรี กลันตัน เประ และเป็นผู้สำเร็จราชการทัพศึกทางภาคใต้ฝ่ายตะวันตก จนถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๓ มีทายาทสืบตำแหน่งเจ้าพระยานครต่อมาอีกหลายคน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ว่า

“...เจ้าพระยานครพัด ที่เรียกกันว่า เจ้าพัด เป็นต้นวงศ์ของพวกนครศรีธรรมราช เดิมได้บุตรสาวคนใหญ่ของเจ้าพระยานครเป็นภรรยา จึงไปเป็นมหาอุปราช เรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อเจ้านคร (หนู) เสียเมืองก็ต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพฯด้วย ครั้นเอาเจ้านคร (หนู) กลับออกไปเป็นเจ้าครั้งนี้ ก็โปรดให้กลับไปเป็นวังหน้าตามเดิม อยู่ต่อมาเมื่อปลายแผ่นดินตาก ชายาเจ้าอุปราชเมืองนครตาย ด้วยความโปรดปรานอย่างตึงตังอย่างไร หรือความคิดของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่จะปลูกฝังให้ได้ครอบครองเมืองอื่นๆ กว้างขวางออกไป แนวเดียวกันกับที่ให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ ออกไปครองเมืองเขมรนั้น จึงได้พระราชทานบุตรหญิงเจ้านครซึ่งเป็นน้องเจ้าจอมมารดาฉิม มารดาพระพงศ์นรินทร์ ให้ออกไปเป็นชายา บุตรเจ้าพระยานครคนเล็กนี้ ที่เจ้าพระยาพิชัยราชามาขอ กริ้วว่าบังอาจจะมาเป็นเขยน้อยเขยใหญ่ให้ประหารชีวิตเจ้าพระยาพิชัยราชาเสียนั้น กล่าวกันว่า เมื่อเวลาพระราชทาน มีครรภ์ ๒ เดือน เจ้าพัดจะไม่รับก็ไม่ได้ เมื่อรับไปแล้วก็ไปตั้งไว้เป็นนางเมือง ไม่ได้เป็นภรรยา บุตรที่มีครรภ์ไปนั้นเป็นชายชื่อน้อย ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครผู้นี้มีอำนาจวาสนามากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน เป็นเรื่องที่เขาเล่ากระซิบกันเป็นการเปิดเผย และพวกบุตรหลานพระเจ้ากรุงธนบุรีก็นับถือว่าเป็นพี่น้อง เหตุฉะนั้นจึงนับเกี่ยวข้องกันในเชื้อวงศ์เจ้ากรุงธนกับพวกนครศรีธรรมราช...”

เจ้าพระยานคร (น้อย) นี้ ก็คือต้นตระกูล ณ นคร สายหนึ่ง ส่วนเจ้าพระยานคร (พัด) ก็เป็นต้นตระกูล ณ นคร อีกสายหนึ่ง

เมื่อตอนที่บุตรชายได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว เจ้าจอมปรางได้นำที่รกร้างนอกกำแพงเมือง ทรงข้ามกับวังที่ประทับ ซึ่งเคยเป็นที่พักศพของราษฎรและเลิกใช้ไปแล้ว มาสร้างเป็นอุทยานเป็นที่พักผ่อนของลูกชาย เมื่อเจ้าจอมปรางเสียชีวิต เจ้าพระยานคร (น้อย) จึงได้ใช้อุทยานนี้เป็นที่ฌาปนกิจศพเจ้าจอมมารดา และถวายวังของเจ้าจอมปรางซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกให้เป็นวัด มีชื่อว่า “วัดวังตะวันออก” หลังจากนั้นไม่นาน ราว พ.ศ. ๒๓๘๐ ก็ได้ถวายอุทยานเป็นวัดอีกแห่งหนึ่ง มีชื่อ “วัดวังตะวันตก” พร้อมกับถวายสมบัติเครื่องใช้ของเจ้าจอมมารดาอีกหลายอย่าง ซึ่งนับเป็นของมีค่าอย่างมาก ให้เป็นสมบัติของวัด

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องปริศนาในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับข่าวดังในวันนี้ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเรื่องที่ “เขาเล่ากระซิบกันเป็นการเปิดเผย”
กำลังโหลดความคิดเห็น