ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นช่วงเวลาที่ไทยเราถูกคุกคามจากนักล่าอาณานิคมอย่างหนัก ไม่เพียงแต่ฝรั่งเศสเท่านั้น อังกฤษก็ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน อาวุธสำคัญที่ใช้ข่มขู่อย่างได้ผลก็คือ เรือรบ
ครั้งหนึ่งกงสุลอังกฤษผู้ลืมข้าวแดงแกงร้อน เรียกเรือรบจากฮ่องกงให้เข้ามาถล่มกรุงเทพฯ เพราะลูกเขยตัวแสบถูกจับขังคุก ไทยเราก็ดิ้นสู้สุดฤทธิ์ ไปฟ้องถึงควีนวิคตอเรียเรื่องก็เงียบหาย เลยต้องเล่นกำลังภายใน ล็อบบี้ ส.ส.ให้ตั้งกระทู้ในสภา
ความจริงกงสุลเยนเนอรัลอังกฤษผู้นี้ ซึ่งมีชื่อว่า โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ นับว่าคุ้นเคยใกล้ชิดกับราชสำนักและขุนนางไทยที่สุด กล่าวกันว่าเขามีเชื้อสายผู้ดีเก่า มารับราชการอยู่ในอินเดียมียศเป็นร้อยเอก แต่ติดการพนันเล่นม้ามีหนีสินรุนรังจนต้องออกจากราชการ จึงเดินเท้าเข้ามาประเทศไทยทางด่านเจดีย์สามองค์ในปี ๒๓๙๔ ต้นรัชกาลที่ ๔ เพื่อมาหาร้อยเอกอิมเปย์ เพื่อนทหารอังกฤษจากอินเดีย ที่เข้ามาเป็นครูฝึกทหารไทยตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ หวังจะได้งานทำบ้าง
เมื่อวังหลวงมีร้อยเอกอิมเปย์อยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับร้อยเอกน็อกซ์ไว้เป็นครูฝึกทหารของวังหน้า และทรงโปรดปรานครูฝึกผู้นี้มาก ถึงกับพระราชทานสาวมอญพระประแดงคนหนึ่งชื่อ “ปราง” ให้เป็นภรรยา ตามสเปคของฝรั่งยุคนั้นที่ชอบสาวมอญ
ต่อมาเมื่ออังกฤษเข้ามาตั้งสถานกงสุลในเมืองไทย ร้อยเอกน็อกซ์ซึ่งรู้ภาษาไทยดีแล้ว ได้ลาออกไปรับตำแหน่งล่ามให้สถานกงสุลอังกฤษ แต่ก็ยังมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวังหน้าตลอดมา
พอเข้ารับราชการสถานกงสุลอังกฤษ ร้อยเอกน็อกซ์ซึ่งมีเมียไทยและคุ้นเคยกับคนไทยอย่างดี ก็รับบทนักการทูตอังกฤษเต็มร้อย ใช้นโยบายหลักของอังกฤษ คือ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เริ่มยุแยงตะแคงรั่วให้วังหลวงแตกกับวังหน้า เขียนเรื่องบิดเบนใส่ร้ายวังหลวงไปลงหนังสือพิมพ์ที่ยุโรป ขณะเดียวกันก็เชียร์วังหน้าอย่างสุดลิ่มสุดหล่อไปเลย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงระบายความน้อยพระทัยในการกระทำของมิสเตอร์น็อกซ์ ในพระราชหัตถเลขาถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ขณะเป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ ทรงเล่าข้อความที่มิสเตอร์น็อกซ์เขียนไปลงในหนังสือพิมพ์ในยุโรป อย่างเช่น
“...ขุนหลวงวังหลวงแก่ชรา คร่ำคร่า ผอมโซเซ เอาราชการไม่ได้ ไม่แข็งแรง โง่เขลา ได้เป็นขุนหลวงเพราะเป็นพี่วังหน้า ราชการแผ่นดินสิทธิ์ขาดแก่วังหน้าหมดทั้งนั้น ถึงการทำสัญญาด้วยอังกฤษ ทะนุบำรุงบ้านเมืองก็ดี แต่งทูตไปก็ดี เป็นความคิดวังหน้าหมด วังหลวงเป็นแต่อือๆแอๆ พยักเพยิดอยู่เปล่าๆ เมื่อแขกเมืองเข้ามาหาวังหน้าต้องแอบข้างหลังสอนให้พูดจึงพูดกับแขกเมืองได้...”
“...ท่านเสด็จไปหัวบ้านค้างเมืองที่ใด ก็ได้ลูกสาวเจ้าบ้านผ่านเมืองแลกรมการมาทุกที ไปสระบุรีก็ได้ลูกสาวพระปลัดมา ไปนครศรีธรรมราชก็ได้ลาวมา ๙ คน ๑๐ คน ไปพนัสนิคมก็ได้ลูกสาวปลัดมา ไปราชบุรีเมื่อเดือนหกนี้ก็ได้ลูกสาวใครไม่ทราบเลยเข้ามา แต่ข้าพเจ้าไปไหนมันก็ว่าชราไม่มีใครให้ลูกสาวเลย ต้องกลับมาแผลงรัง...”
ด้วยเหตุนี้มิสเตอร์น็อกซ์จึงเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว ขึ้นเป็นกงสุลเยนเนอรัลอังกฤษประจำราชสำนักสยามในรัชกาลที่ ๕
แต่แล้วมิสเตอร์น็อกซ์ผู้ผยองอำนาจก็พลาดท่า เรียกเรือรบมาข่มขู่ เพื่อจะช่วยลูกเขยซึ่งเป็นคนไทยให้พ้นคุก
ทั้งนี้ ลูกสาวคนโตของมิสเตอร์น็อกซ์ชื่อ แฟนนี่ เกิดจากเมียไทย ได้แต่งงานกับพระปรีชากลการ หรือ สำอางค์ ผู้สำเร็จวิชาวิศวกรจากสก็อตแลนด์ และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ไปทำเหมืองทองที่เมืองกบินทร์บุรี ซึ่งพบว่ามีแร่ทองคำอยู่มาก เพื่อถลุงแร่ทองคำส่งพระคลังหลวง
ความสำเร็จจากการทำเหมืองทอง ทำให้ชื่อเสียงของพระปรีชากลการหอมหวนอยู่ในวงสังคมชั้นสูง ใช้ชีวิตเจ้าสำราญหรูหรา มีเงินมีทองใช้จ่ายไม่อั้น และจากการคบกับชาวตะวันตกที่เข้ามาอยู่ในสยาม ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่นักล่าเมืองขึ้น จึงได้พบรักกับแฟนนี่และแต่งงานกัน
ตามระเบียบปฏิบัติของราชสำนักสยาม เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางตั้งแต่ระดับคุณพระขึ้นไป จะแต่งงานกับชาวต่างประเทศ จะต้องกราบทูลให้ทรงพระกรุณาเสียก่อน แต่พระปรีชาฯก็ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อนี้ แม้จะถือว่าเมียเป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ แต่แฟนนี่ก็อยู่ในบังคับของอังกฤษ ที่สำคัญตอนฮันนีมูน คุณพระปรีชาฯยังพาเมียลงเรือสำราญยาว ๑๕๐ ฟุต ชื่อ “อัษฎางค์” ซึ่งต่อมาจากปราจีนบุรี ล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยา และไปลอยลำอยู่หน้าพระราชวังบางปะอิน ขณะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯประทับอยู่ที่นั่น แต่คุณพระก็ไม่ได้ขึ้นไปเฝ้า
การกระด้างกระเดื่องของพระปรีชากลการเช่นนี้ จะโดยถือว่าเป็นลูกเขยกงสุลมหาอำนาจตะวันตกหรือไม่ก็ตาม ขุนนางทั้งหลายต่างมองไปว่า เป็นการย่ำยีเกียรติยศและอำนาจของแผ่นดิน
เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากพระราชวังบางปะอิน ก็มีฎีกากล่าวโทษพระปรีชากลการจากเมืองกบินทร์บุรีและปราจีนบุรีมามาก ว่าทำทารุณกรรมแก่ราษฎรตายไปหลายคน โดยเกณฑ์ราษฎรดำน้ำลงไปขุดตอเพื่อสร้างท่าเรือขนหิน ถ้าคนไหนดำน้ำไม่ทน ก็ให้คนเอาถ่อกดคอไว้ไม่ให้โผล่ จนคนขุดตอตายไปหลายคน และยังทำทารุณกับคนงานที่ทำไม่ถูกใจต่างๆนานา
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงให้นำเรื่องเหล่านี้สู่การพิจารณาของคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ที่ประชุมเห็นว่าเป็นคดีร้ายแรง จึงเรียกพระปรีชาฯเข้ามา แล้วจำตรวนคุมขังไว้
การจับพระปรีชาฯนี้เหมือนตีขนดหาง มร.น็อกซ์ จึงรุดเข้าพบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้ว่าราชการแผ่นดิน ซึ่ง มร.น็อกซ์คิดว่าเป็นตัวการเรื่องนี้ และยื่นคำขาดว่า
“...ท่านต้องขอขมาโทษต่อฉัน และปล่อยพระปรีชาฯบุตรเขยของฉันให้พ้นโทษ ถ้าท่านมิยอมตามคำของฉัน ฉันก็จำจะต้องเรียกเรือรบเข้ามาบอมบาร์ต และจับเอาตัวท่านไปเป็นจำนำอยู่ในเรือรบ จนกว่าจะได้ตัวบุตรเขยของฉันคืนมา...”
มร.น็อกซ์ไม่ใช่แค่ขู่ แต่เรียกเรือรบอังกฤษมาช่วยลูกเขยจริงๆ เดชะบุญที่ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีสายโทรเลข จึงต้องออกคำสั่งเป็นหนังสือฝากเรือเมล์
“บางกอก” ซึ่งเป็นเรือโดยสารลำเดียวที่วิ่งไปสิงคโปร์ ให้ส่งโทรเลขที่นั่นถึงเรือรบอังกฤษที่ฮ่องกง เรื่องจึงเดินได้ช้า
ข่าวที่กงสุลอังกฤษเรียกเรือรบเข้ามาถล่มกรุงเทพฯ แพร่ไปทั่วเมืองอย่างรวดเร็ว ราษฎรเกิดความกลัวอพยพหนีออกไปอยู่นอกเมืองกันโกลาหล คณะปรึกษาราชการแผ่นดินเห็นว่า ไม่ควรปล่อยให้มิสเตอร์น็อกซ์อาละวาดข่มขู่เช่นนี้ ควรจัดราชทูตออกไปเจรจากับรัฐบาลอังกฤษโดยตรง และได้ส่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) นักเรียนไทยที่จบจากอังกฤษคนแรก เป็นราชทูตไป โดยมีจมื่นสราภัยสฤษดิ์ (เจิม แสงชูโต) ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นอุปทูต
เพื่อความไม่ประมาท เมื่อเดินทางไปถึงสิงคโปร์ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้โทรเลขไปถึง พระสยามธุรพาหะ (ดี. เค. เมซัน) กงสุลกิตติมศักดิ์สยามประจำกรุงลอนดอน ให้แจ้งเรื่องกับ ลอร์ด ซอลส์เบอรี เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ทราบเรื่องไว้ก่อนว่าคณะราชทูตสยามกำลังเดินทางมาพบ และขอให้ระงับการกระทำของมิสเตอร์น็อกซ์ไว้ก่อน ซึ่งก่อนที่คณะราชทูตสยามจะออกจากสิงคโปร์ก็ได้รับโทรเลขตอบจากพระสยามธุรพาหะว่า กระทรวงต่างประเทศอังกฤษยินดีต้อนรับคณะทูตสยาม และมีคำสั่งให้เรือรบอังกฤษระงับการเดินทางเข้าน่านน้ำสยามแล้ว
เมื่อไปถึงลอนดอน ลอร์ดซอลล์เบอรี่ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ได้นำคณะราชทูตสยามเข้าเฝ้าควีนวิคตอเรีย มีพระราชเสาวณีย์ว่า รัฐบาลอังกฤษจะเอาใจใส่ให้ความยุติธรรมแก่สยาม ขอให้รอฟังจากรัฐบาล เพราะอังกฤษบริหารราชการแผ่นดินโดยผ่านทางรัฐสภาแล้ว
คณะราชทูตสยามรอฟังข่าวอยู่หลายวัน ก็เงียบหาย เพราะขณะนั้นอังกฤษกำลังมีปัญหาในอาณานิคมหลายแห่ง พระยาสยามธุรพาหะจึงใช้กำลังภายใน พาคณะราชทูตสยามไปพบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษที่มีความมักคุ้นกันเป็นการส่วนตัว ส.ส.อังกฤษจึงนำเรื่องนี้ตั้งเป็นกระทู้เข้าสภา ลอร์ดซอลล์เบอรี่ตอบว่าได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว แต่ยังติดภารกิจอื่นอยู่ เมื่อสั่งการอย่างไรจะนำมาแจ้งให้สภาทราบ
ในการประชุมสภานัดต่อไป รัฐมนตรีต่างประเทศก็แจ้งให้สภาทราบว่า จะเรียกมิสเตอร์น็อกซ์กลับอังกฤษโดยด่วน ไม่ให้ยุ่งกับสยามอีกต่อไป
ระหว่างที่คณะทูตออกเดินทางจากสิงคโปร์ไปอังกฤษนั้น เรือรบอังกฤษได้มาถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๓๒๒ ซึ่งกงสุลอังกฤษไม่ได้แจ้งให้กรมท่าทราบตามธรรมเนียม แต่ก็ยังไม่กล้าปฏิบัติการใดๆ
ในที่สุดมิสเตอร์น็อกซ์ก็ต้องออกจากเมืองไทยไปพร้อมกับแฟนนี่ลูกสาวคนโตที่เป็นภรรยาของพระปรีชากลการ พร้อมด้วยสมบัติมีค่ามากมายที่ทางการไทยไม่ได้ยึด ขณะตั้งครรภ์ลูกชาย ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า สเปนเซอร์ หรือ จำรัส ส่วนแคโรลีน หรือ ดวงแข ลูกสาวคนเล็ก ยังอยู่กับแม่ในเมืองไทยต่อไป
ต่อมาในปี ๒๔๒๗ แคโรลีนได้แต่งงานกับ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ลูกชายของแหม่มแอนนา ครูสอนภาษาอังกฤษพระเจ้าลูกเธอรัชกาลที่ ๔ และเป็นพระสหายในเยาวัยของพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทานสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือให้ เมื่อเขากลับเข้ามาเผชิญโชคในเมืองไทย
ส่วนพระปรีชากลการ นอกจากจะต้องคดีฆาตกรรมชาวบ้านอย่างโหดร้ายทารุณแล้ว คณะกรรมการสอบสวนยังพบว่ามีการเบิกเงินเกินจริง ทั้งยังมีรายการจ่ายค่าจ้างคนที่ไม่มีตัวตน คำนวณแล้วเงินหลวงถูกโกงไปถึงหมื่นชั่ง พระปรีชากลการจึงถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่เมืองปราจีนบุรี หลังจากที่มิสเตอร์น็อกซ์กลับไปแล้วประมาณ ๓ เดือน
สำหรับมิสเตอร์น็อกซ์ แม้จะเสียฟอร์มอย่างหนัก เพราะคนอังกฤษกระดากใจที่จะเข้าข้าง แต่เขาก็เป็นข้าราชการที่ดีของอังกฤษ ดำเนินการทูตตามนโยบายของนักล่าอาณานิคมได้อย่างเข้มแข็ง พระราชินีวิคตอเรียจึงได้ตอบแทนความดีความชอบ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “เซอร์”
จากร้อยเอกตกงานเดินเท้าเข้ามาหางานในเมืองไทย เขาจึงกลับไปรับบรรดาศักดิ์ เซอร์โทมัส ยอร์ช น็อกซ์