xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์ เสียดาย! “ปลาโรนิน” สัตว์ทะเลหายากขายในตลาดปลาภูเก็ต จี้ช่วยผลักดัน กม.คุ้มครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต สปช. นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล สลดใจเห็นภาพ “ปลาโรนิน” ปลาดึกดำบรรพ์กึ่งฉลามกึ่งกระเบน สัตว์ทะเลหายากนำมาวางขายในตลาดปลาภูเก็ต วอนช่วยผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสัตว์ทะเล ก่อนที่จะสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นักสมุทรศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ถึงกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Unjunior Phuket โพสต์ภาพฉลามโรนิน หรือกระเบนท้องน้ำ สัตว์ทะเลหายากนอนอยู่ที่แผงขายปลาในตลาดแห่งหนึ่งที่ จ.ภูเก็ต โดยระบุว่า ยากทำใจที่เห็นภาพปลาโรนินถูกจับมาขายที่ภูเก็ต โรนินเป็นปลาหายาก ทั้งชีวิตเคยเห็นใต้น้ำเพียงหนเดียว ถามนักดำน้ำด้วยกันมีคนเคยเห็นเพียง 3 - 4 ราย และเป็นสมัยก่อนทั้งนั้น เพราะปัจจุบัน ปริมาณปลาโรนินน้อยลงจนแทบไม่มีข้อมูล



ในยุคที่ผลักดันวาฬบรูด้าและอื่นๆ เป็นสัตว์สงวน ตนใส่ชื่อปลาโรนินในฐานะสัตว์คุ้มครอง และผ่านทุกกระบวนการในเวลาไม่ถึงปี ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลฯ กรมประมง และกรมอุทยานฯ รวมถึงปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีช่วยผลักดันจนผ่านที่ประชุม ครม. สำเร็จ และยังมีคนรักทะเลกว่า 50,000 ราย ที่ลงนามเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง เป็นสัตว์สงวน และยังมีมติให้สัตว์ทะเลอีก 12 ชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง โดยมีปลาโรนินเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 หรือกว่า 1 ปีมาแล้ว โดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการต่อไป

“ผมในฐานะคนที่มีส่วนในการผลักดัน ก็ตามเรื่องมาตลอด เมื่อได้เป็นกรรมการทะเลแห่งชาติ ก็เคยเรียนถามในที่ประชุมซึ่งมีท่านรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ซึ่งทุกคนก็ให้ความสนใจ จนบรรจุเป็นวาระสืบเนื่องในที่ประชุมในทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อผมมาเป็นประธานในคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ผมก็พยายามติดตามเรื่องนี้ รวมถึงหลายครั้งที่พยายามถามความคืบหน้าอย่างไม่เป็นทางการกับหลายต่อหลายท่าน รวมทั้งท่านที่ทำงานในกฤษฎีกา เพราะผมก็เคยเป็นวิทยากรอบรมให้ ความคืบหน้ามีอยู่บ้าง แต่ผลลัพธ์สุดท้ายยังไม่เกิด สัตว์ทั้งหมดยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเสียที ทั้งที่เวลาผ่านไปหลังจาก ครม. อนุมัติได้กว่า 1 ปีแล้ว ผมมั่นใจว่าภายในปีนี้ ทุกอย่างคงเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นล่ะ เพราะปีที่แล้ว ผมก็มั่นใจเช่นนี้” ดร.ธรณ์ กล่าว

ดร.ธรณ์ ยังแสดงความรู้สึกว่า แม้ไม่อยากให้เรื่องของทะเลต้องเร่งด่วนกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะทุกเรื่องล้วนมีความสำคัญ และกฤษฎีกามีงานมากมายมหาศาล เนื่องจากกฎหมายที่ออกมาเต็มไปหมด แต่เห็นภาพกระเบนราหูโดนจับ ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ จนสุดท้าย เห็นภาพปลาโรนินถูกนำมาขาย มันเป็นอะไรที่ทำใจยาก จึงขอความกรุณาช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้เสร็จสิ้นกระบวนการเสียที เพราะระหว่างที่กฎหมายยังไม่ออก ชีวิตของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้กำลังตาย โดยไม่มีใครทำอะไรได้

“ผมไม่ได้อยู่ในวงการธุรกิจดำน้ำ แม้ผมจะเห็นด้วยว่าโรนินมีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อการท่องเที่ยวมหาศาล แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับความภาคภูมิใจของคนรุ่นเรา ความภูมิใจที่สามารถรักษาสัตว์หายากของโลก ปลาดึกดำบรรพ์กึ่งฉลามกึ่งกระเบน ให้คงอยู่ในทะเลไทยต่อไป ลูกเราหลานเรากำลังจะรู้จักปลาโรนินแต่เพียงชื่อ เหมือนที่คนรุ่นหนุ่มสาวสมัยนี้รู้จักปลาฉนากแต่เพียงชื่อ (ปลาฉนากอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ด้วย แต่ใช้คำว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากน่านน้ำไทยก็พอได้) เรายังอาจมีหวังน้อยๆ กับปลาโรนิน หากกฎหมายออกมาทันเวลา และการมีหวังน้อยๆ ย่อมดีกว่าไม่มีอะไรเลย จึงใคร่ขอคนรักทะเลทั้งหลาย ช่วยกันแชร์ช่วยกันบอกกล่าวเรื่องนี้ไป เพราะพวกเราไม่อยากเห็นกฎหมายออกมาเมื่อสายเกินไป ดังที่เกิดมาแล้วหลายครั้งคราว น้ำตาและความเสียใจเมื่อสายเกินไป มันตอบคำถามลูกหลานไม่ได้หรอก” ดร.ธรณ์ กล่าว



สำหรับปลาโรนิน เป็นปลากระดูกอ่อนชนิดหนึ่ง มีส่วนหัวขนาดใหญ่ รูปทรงแบนกลมและโค้งมน ปากกลม ครีบอกแผ่กว้าง ครีบหลังตั้งสูง เป็น 2 ตอน บริเวณเหนือตามีสันเป็นหนาม ตรงกลางหลังด้านหน้าของครีบหลังมีหนามเรียงตัวกันเป็นแถวชัดเจน พื้นผิวลำตัวด้านบนมีสีเทาอมน้ำตาล มีแต้มเป็นจุดสีขาวจางๆ กระจายอยู่ทั่วตัว ด้านท้องมีสีขาว พบอาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นทะเลที่เป็นดินทรายปนโคลน

จัดเป็นปลาที่พบเห็นได้ยากมากในปัจจุบัน พบได้ในทะเลแดง, แอฟริกาตะวันออก, ญี่ปุ่นตอนใต้, ปาปัวนิวกินี, ในน่านน้ำไทยพบที่ฝั่งอันดามัน โดยมีชื่อที่ชาวประมงเรียกว่า “ปลากระเบนพื้นน้ำ” และมีความเชื่อว่าหนามบนหลังนั้นใช้เป็นเครื่องรางของขลังในทางไสยศาสตร์ได้ โดยนิยมนำมาทำเป็นหัวแหวน หรือนำมาห้อยคอ ซ้ำยังมีราคาซื้อขายที่ไม่แพง

ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558 มีการพบปลาโรนินตัวหนึ่งเป็นเพศเมีย ที่บริเวณปากแม่น้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง น้ำหนักประมาณ 40 กิโลกรัม ความยาวตลอดตั้งแต่หัวจรดหางประมาณ 2 เมตร อายุประมาณ 10 ปี โดยปลามีบาดแผลถลอกตลอดทั้งตัว เนื่องจากติดอวนประมง ทางศูนย์ประมงศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออกได้นำมาพักฟื้น โดยปลายังมีสุขภาพแข็งแรงและว่ายน้ำเล่นอย่างร่าเริง การพบปลาโรนินในครั้งนี้นับว่าเป็นที่ฮือฮา เนื่องจากในทะเลด้านอ่าวไทยแถบจังหวัดระยอง ไม่ได้พบปลาโรนินเป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น