โดย...ณขจร จันทวงศ์
ช่วงวันที่ 11-12 มี.ค.ที่ผ่านมา นักดนตรีกลุ่มหนึ่งนัดพบปะสังสรรค์กันในตัวเมืองนครศรีธรรมราช แต่แทนที่บทสนทนาจะเป็นเรื่องดนตรี มือกีตาร์คนหนึ่งกลับถามเพื่อนๆ ในวง
“พี่เอาสักโลด้วยมั้ย เคยแม่ผม”
บ้านของมือกีตาร์คนที่ว่าตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ที่ตอนนี้ชุกชุมไปด้วยกุ้งเคย วัตถุดิบสำคัญในการผลิตกะปิของชาวใต้ และคนใต้เกือบทุกคนล้วนมีความผูกพันกับเคยในระดับที่แนบแน่นลึกซึ้งไปถึงจิตวิญญาณ จึงไม่แปลกที่ในฤดูกาลเช่นนี้บทสนทนาหลายที่ หลายวงการ หนึ่งในหัวข้อของการพูดคุยจึงมีเรื่องเคยรวมอยู่ด้วย
เว็บไซต์วิกิพีเดีย บันทึกไว้ว่า เคย หรือ เคอย (อังกฤษ : Krill) เป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกุ้ง ในกลุ่มกุ้ง-กั้ง-ปู ซึ่งเป็นสัตว์สำคัญโดยเฉพาะของแพลงก์ตอน ที่เป็นอาหารของ baleen whale, ปลากระเบนราหูน้ำเค็ม, ปลาฉลามวาฬ, crabeater seal และ pinniped seals รวมทั้งนกทะเลบางสปีชีส์ที่กินเคยแต่เพียงอย่างเดียว
กุ้งเคยจัดเป็นครัสเตเชียนขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกุ้ง แต่ตัวเล็กกว่า และไม่มีกรีแหลมๆ ที่บริเวณหัว เหมือนกุ้ง ตัวสีขาวใส มีตาสีดำ มีขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเปลือกบาง และนิ่ม อาศัยอยู่ตามบริเวณรากไม้ตามป่าชายเลน เช่น ต้นโกงกาง แสม ลำพู ชาวบ้านมักจะออกช้อน ตัวเคยกันในเวลาเช้า ช้อนกันได้ทุกวัน เพราะมีอยู่มากทุกฤดูกาล จะดำรงชีวิตอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยไม่จมลงไป ซึ่งอาจจะอยู่ในน้ำลึกประมาณหน้าแข้งถึงระดับหน้าอก ในแถบขั้วโลกใต้จะเป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดใหญ่ มันจะเป็นอาหารที่สำคัญของปลาวาฬ
ส่วนในอ่าวไทย เป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดเล็กอยู่ตามชายฝั่ง ในนากุ้ง และบ่อปลา ลักษณะที่สำคัญคือ ในตัวเมียจะมีถุงไข่ติดอยู่กับท้องตั้งแต่เกิด จึงมีชื่อเรียกว่า กุ้งโอปอสซั่ม (opossum shrimp)
สิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้คือ กุ้งเคยกำลังชุกชุมเป็นอย่างมากในชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ชาวบ้านจำนวนมากต่างหอบเครื่องมือออกไปรุนเคยกันตั้งแต่เช้า กุ้งเคยที่นำไปแปรรูปเป็นกะปิ หรือที่ชาวปักษ์ใต้เรียกว่าเคยนั้นมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 120-200 บาท จึงไม่แปลกที่บางครอบครัวมีรายได้จากการนำกุ้งเคยไปแปรรูปถึงกว่า 10,000 บาทต่อวัน และไม่แปลกอีกหากชาวบ้านจะเรียกเคยในอีกชื่อหนึ่งว่า กุ้งทองคำ
วันชัย พุทธทอง สื่อมวลชนอาวุโสภาคใต้ ได้ลงพื้นที่บันทึกเรื่องราวกิจกรรมค่าของแผ่นดิน ตอน กุ้งเคย ที่ อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เขาบันทึกไว้ว่า ขบวนการเปลี่ยนผ่านของดินฟ้าอากาศในแต่ละช่วงเวลา คือ องค์ความรู้ที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และเป็นขบวนการเติมเต็มความสมดุลของระบบนิเวศ
องค์ความรู้การเดินทางของเคยเป็นองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญไม่น้อยไปกว่าองค์ความรู้อื่นๆ ประเด็นสำคัญองค์ความรู้เรื่องเคยเป็นองค์ความรู้ที่ยึดโยงอยู่กับผู้คนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะผู้คนชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามันมีองค์ความรู้เรื่องเคยที่ลึกซึ้งอย่างมาก
ช่วงเวลาการมาถึงของเคย ขบวนการรุนดักเก็บ และขบวนการแปรสภาพเคยเพื่อนำมาใช้สำหรับปรุงอาหาร นับเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์แบบที่สุดอย่างหนึ่ง
“เมื่อวันที่ 11 มี ค.ที่อ่าวเทพา อ.เทพา จ.สงขลา เคยเดินทางเข้าชายฝั่งเป็นวันที่ 3 แล้ว การมาถึงของเคย คือ รางวัลจากธรรมชาติที่ผู้คนจำนวนมากรอคอย ชายหาดอ่าวเทพา ยามนี้มีผู้คนคึกคักทั้งกลางคืนกลางวันทุกคนต่างมุ่งหน้ามารับรางวัล”
เคย คือสุดยอดของเครื่องปรุงอาหาร เคย คือรายได้ที่งดงาม นานมาแล้วที่คนธรรมดารับรู้ว่าหากมีทักษะการรุน/ดักเคยที่เรียนรู้จากรุ่นต่อรุ่น นำมาใช้ในการรับรางวัลโดยใช้ทักษะ และลงแรงเพียงครึ่งวันก็จะมีรางวัลตอบแทนนับแสนบาท
“แต่มีหลายคนทรยศ เณรคุณต่อเคยโดยการผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้เกิดขึ้นริมอ่าวเทพาแห่งนี้เพียงเพื่อลดทอนคุณค่าของเคยให้เหลือเพียงตำนาน”
ชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทย และอันดามันจัดเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่สำคัญของคนจำนวนนับล้านในภาคใต้ เมื่อกุ้งเคยเข้ามาในชายฝั่ง นอกจากจะทำให้เรานึกถึงความอยู่ดีกินดีของผู้คนแล้ว ในห่วงโซ่อาหารนี้ยังมีสัตว์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
“กุ้งเคยเยอะแบบนี้คอยดู ไม่นานเราจะเห็นข่าวว่าพบฉลามวาฬ หรือปลาโลมา ที่โน่น ที่นี่” ศิลปินคนหนึ่งเอ่ยขึ้น และทุกคนเห็นด้วย
แล้วก็เป็นจริงดังว่า เช้าวันนี้ (12 มี.ค.) เราต่างรู้สึกยินดีปรีดาเมื่อเห็นข่าวชาวบ้านใน อ.ระโนด จ.สงขลา ช่วยชีวิตฉลามวาฬตัวหนึ่งที่ว่ายเข้ามาหากินกุ้งเคยตามชายฝั่งจนกระทั่งไปติดอวนกุ้งของชาวบ้าน แต่ด้วยการดูแลเฝ้ารักษาท้องทะเลอันเป็นที่รักไม่ให้คลาดสายตา ชาวบ้านใช้เวลาไม่นานฉลามวาฬตัวนั้นก็กลับไปใช้ชีวิตหากินได้อย่างอิสระอีกครั้ง การทำงานของห่วงโซ่อาหารช่างทรงพลัง
ฤดูกาลแห่งกุ้งเคยนำพามาแต่ความสุข ท่ามกลางการต่อสู้ของชุมชนชายฝั่งทะเลที่ยังคงเคลื่อนไหวปกป้องไม่ให้พื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งทะเลภาคใต้ต้องเปลี่ยนไปเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักจากนโยบายของนายทุนที่มีอำนาจอยู่เหนือรัฐ กุ้งเคยในวันนี้คืออีกดัชนีชี้วัดหนึ่งที่ยืนยันว่า ชายฝั่งทะเลภาคใต้มีคุณค่าเกินกว่าจะปล่อยให้ใครมาทำลายไปได้ง่ายๆ