ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วิกฤติการณ์ “ปลากระเบนราหู” ตายเกลื่อนบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัด สมุทรสงคราม จำนวนกว่า 45 ตัวเริ่มลอยคอเหนือผิวน้ำให้พบเห็นซากตั้งแต่เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นเพียง 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่ตายไป ยังมีซากอีกส่วนหนึ่งที่จมอยู่ใต้น้ำ เพราะ กระเบนราหูเป็นสัตว์ผิวดิน รวมทั้งสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ อาทิ ปลากระพง, หอยแครง, หอยหลอด ฯลฯ ที่ตกเป็นเครื่องสังเวยสารพิษที่เจือปนในคุ้งน้ำแม่กลองโดยจับมือใครดม ไม่ได้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปลากระเบนราหู สัตว์น้ำจืดใกล้ สูญ พันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นอันดับ 2 รองจาก ปลากระเบนแมนตา หรือ ปลากระเบนราหูน้ำเค็ม โดยมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 เมตร และอาจมีน้ำหนักมากถึง 600 ก.ก.
สำหรับ จุดที่พบซากปลากระเบนราหูน้ำจืด กระจุกตัวอยู่บริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง ก่อน ออกสู่อ่าวไทย โดยปลาที่พบส่วนมากมีขนาดใหญ่กว่า 1.5 เมตร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นปลามีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป พบซากทั้งในพื้น อ.บางคนที อ.อัมพวา และ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
ขณะที่ทางส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รุดตรวจสอบ กลับให้ข้อมูลสับสนระบุว่าเป็นการตายโดยธรรมชาติ พร้อมเปิดเผยการอัตราการตายของกระเบนราหูน้อยกว่าจำนวนจริง วิธีตรวจน้ำก็ไม่ตรงตามหลักพิษวิทยา รวมทั้งพุ่งเป้าไปที่สารตกค้างจากการทำ เกษตรกรรมของชาวบ้าน โดนมองข้ามการลักลอบปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
กระนั้นก็ดี การตายของปลากระเบนในคุ้งน้ำแม่กลอง เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจาก รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตว แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ร่วมกับ สำนักงานประมงจังหวัด และทหาร เพื่อตรวจสอบซากหาสาเหตุ โดยสมมติฐานตั้งต้นว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติเพราะลักษณะการตายที่ผิดไปจากธรรมชาติของพวกมัน และโพสต์ข้อเท็จจริงผ่านเฟซบุ๊ก Nantarika Chansue ใจความสำคัญบางส่วน ความว่า
“ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีทั้งน้ำขึ้น น้ำลง น้ำเจ ฝนตก และความคดเคี้ยวของแม่น้ำ ทำให้ไม่มั่นใจว่ามลพิษมาจากทิศไหน รู้แต่ว่า มีคนไม่รับผิดชอบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม จนเกิดเหตุแสนเศร้าขึ้น สัตว์น้ำเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพให้มนุษย์ได้รู้ว่า ภัยจะมาถึง เพราะในที่สุดเราก็ต้องกินสัตว์ที่ได้รับสารเหล่านี้เอง ต้องใช้น้ำที่มาจากแหล่งมลพิษเหล่านี้”
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้สาเหตุการตายเริ่มคลี่คลายตามลำดับ กลายเป็นว่าปลาทุกตัวที่ตายมีสารพิษสะสมอยู่ที่ตับ ซึ่งบ่งชี้ว่าน้ำในแม่น้ำแม่กลองมีสารพิษปนเปื้อน ส่วนจะเป็น สาร ประเภทใดต้องรอผลตรวจเนื้อเยื่อปลาในอีก 1 สัปดาห์
ขณะที่ผลการเจาะเลือดปลากระเบนตัวที่รอดชีวิต พบว่าปลากระเบนได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบไตและระบบเหงือกทำให้ความสามารถในการควบคุมความสมดุลในร่างกายเสียไป ซึ่งปลากระเบนที่ช่วยขึ้นมาจากแม่น้ำแม่กลองมีการสำรอกอาหาร นั่นแสดง ว่า ไม่ใช่อาการป่วยตามธรรมชาติ เพราะหากปลาป่วยจะไม่กินอาหาร
รวมทั้งยังมีความกังวลเรื่องสารพิษสะสมอยู่ปลาอย่างสัตว์เศรษฐกิจ ปลากระพงขาว ที่ถูกเลี้ยงในแม่น้ำแม่กลอง จึงมีโอกาสสูงที่สารพิษเหล่านั้นจะตกสู่มนุษย์หากบริโภคปลาเหล่านี้ ซึ่งยังไม่มีมาตรการเข้ามากำกับดูแลในส่วนนี้
สอดคล้องกับข้อมูลจากกลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้านในพื้นที่ ได้ออกมาให้ข้อมูลเรื่องการลักลอบปล่อยสารพิษของโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เผยแพร่คลิป โรงงานเอทานอลแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ มีการเผยแพร่คลิปเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
สำหรับ ข้อมูลคุณภาพแหล่งน้ำในแม่น้ำแม่กลอง เปิดเผยในที่ประชุมหารือแนว ทางการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาสัตว์น้ำตาย (ปลากระเบนราหู) ผลจากการตรวจวัดพบปริมาณค่าออกซิเจนละลาย (Dissolved Oxygen : OD) เมื่อช่วงวันที่ 9 -10 ต.ค ที่ผ่านมา พบว่าค่อนข้างต่ำ จึงค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าน้ำในแม่น้ำแม่กลองปนเปื้อนสารบางอย่าง ซึ่งทาง ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยในที่ประชุมว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการเก็บตัวอย่างดินและน้ำในแม่น้ำแม่กลอง รวมทั้งตรวจสอบตะกอนที่อยู่ใต้ท้องน้ำ และน้ำในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนบทสรุปจะเป็นสารพิษชนิดใดยังคงต้องรอผลตรวจอย่างละเอียด
วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กำลังเพ่งเล็งไปที่โรงงานที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีประมาณ 9 โรงงาน ยอมรับว่าแม้จะทราบสาเหตุ แต่ไม่อาจระบุได้ชัดเจนว่าสารปนเปื้อนถูกปล่อยออกมาจากโรงงานใด
ทั้งนี้ ภาคประชาชนแสดงความกังวลใจถึงปัญหาการจัดการน้ำเสียฝั่งทะเลอ่าวไทย เสนอให้มีกระบวนการสร้างการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ขณะที่ภาคธุรกิจเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เสนอรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายลงมาแก้ปัญหา ขอให้ออกกฎหมายพิเศษสั่งให้ปิดโรงงานทันทีหากปล่อยน้ำเสีย รวมถึงการเพิ่มโทษอย่างเด็ดขาด รวมทั้งขอให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
สำหรับทางออกของวิกฤติการณ์ปนเปื้อนสารพิษของลุ่มน้ำแม่กลอง เบื้องต้น รศ.สพญ.ดร.นันทริกา กล่าวว่า การแก้พิษในน้ำควรนำสาหร่ายหรือหอยบางชนิดที่ดูดซับพิษให้เข้ามาช่วยในการทำความสะอาดน้ำโดยเร็วที่สุด เสนอให้ตั้งศูนย์เพาะพันธุ์ปลากระเบนราหูแห่งแรกของโลก ซึ่งมีหลายประเทศพร้อมเข้ามาร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูล และตั้งคณะกรรมการร่วม 5 จังหวัด แก้ไขในภาพรวมอย่างเร่งด่วน มีอุปกรณ์ตรวจพร้อมเพื่อการดำเนินงานอย่างรวดเร็วไม่ต้องอ้างรอผลห้องปฏิบัติการ เพราะความล่าช้าจะให้ปลาตายหมดเสียก่อน ซึ่งจะผลักดันเป็นเป็นโมเดลดำเนินการในทุกลุ่มน้ำต่อไป
ทั้งนี้ ปลากระเบนราหู เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangers) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ขณะที่ สถานภาพที่สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดไว้ใน The IUCN Red list of threatened Species ปี พ.ศ. 2543 ปลากระเบนราหู จัดอยู่ในหมวดใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered).