กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ เผย “วาฬบรูด้า” เกยตื้นแหลมฟ้าฝ่า ตายผิดธรรมชาติ คาดติดอวน ดิ้นไม่หลุด แล้วโดนทำร้ายจนช็อก วอน ปชช. ร่วมมือดูแลสัตว์ทะเลหายาก เตรียมระดมทุนตั้งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลครบวงจร
วันนี้ (3 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนพพล ศรีสุข อธิบดี ทช. พร้อมด้วย สพญ.นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงผลการผ่าพิสูจน์ซากวาฬบรูด้า ที่เกยตื้นบริเวณป่าโกงกางชายฝั่งทะเล อ.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย สพญ.นันทริกา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นวาฬบรูด้าเพศผู้ อายุไม่เกิน 10 ปี มีขนาดลำตัว 11.27 เมตร โดยคาดว่ามีน้ำหนักตัวประมาณ 80 ตัน ผิวหนังภายนอกลอกหลุด พบรอยรัดจำนวน 4 รอย สันนิษฐานสาเหตุการตายเกิดจากสภาวะช็อก เนื่องจากไม่พบเลือดภายในหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจแข็งเกร็ง และรอยรัดที่พบบริเวณครีบอก เกิดขึ้นก่อนวาฬตาย เนื่องจากพบรอยช้ำบริเวณเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ส่วนรอยรัดบริเวณด้านหลังน่าจะเกิดหลังวาฬตายแล้ว นอกจากนี้ ลักษณะการตายน่าจะเป็นการตายแบบเฉียบพลัน ผิดธรรมชาติ เนื่องจากวาฬยังสามารถกินอาหารได้ ร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์
ด้าน นายนพพล กล่าวว่า วาฬบรูด้าไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นของประเทศไทย มันจะเข้ามาในพื้นที่ ก็ต่อเมื่อมันเจอแหล่งอาหาร จากการพูดคุยกับเครือข่ายเราสันนิษฐานว่าวาฬอาจจะไปหากินตอนที่มีการทำประมง อาจจะมีเรือประมงบางชนิดซึ่งไปหาปลาช่วงนั้น เราคาดการณ์ว่าวาฬบรูด้าตัวดังกล่าว คงไปติดกับเชือกหรืออวนในเรือ ซึ่งวาฬมีขนาดใหญ่ คงดิ้นลำบาก และคงมีความพยายามเอาวาฬออกจากเรือด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพราะมีรอยช้ำเกิดขึ้น จากการกระทำนี้ตนขอฝากไปยังประชาชนช่วยเป็นเครือข่าย และร่วมกันดูแลสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ด้วย เพราะการพบเห็นประชากรสัตว์ทะเลหายากนั้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทย
“เราสังเกตจากรอยเชือกและรอยฟกช้ำซึ่งไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จากข้อมูลน่าจะมีเรือประมงบริเวณนั้น ซึ่งการพิสูจน์มีรอยรัดของเชือก และรอยฟกช้ำ จึงสันนิษฐานว่าปลาตัวนี้อาจจะไปติดเชือก อวนหรืออุปกรณ์ใดก็แล้วแต่ในเรือ และมีความพยายามแกะปลาออก ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน เพราะวาฬตัวใหญ่มาก การที่จะไปแกะธรรมดานั้นยาก จึงอาจจะมีการใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งในการเอาวาฬออกให้ได้” นายนพพล กล่าว
นายนพพล กล่าวต่อว่า ส่วนการกำจัดซากวาฬโดยธรรมชาตินั้น สัตว์ที่ตายลงต้องย่อยสลายและเป็นอาหารของสัตว์อื่นในระบบนิเวศต่อไป ซึ่งเราได้หารือกันว่าจะทำให้ซากมีขนาดเล็กลงแล้วทิ้งลงทะเลเพื่อเป็นอาหารของสัตว์อื่น แต่เกรงจะถูกมองว่าเอาของเน่าเสียไปทิ้งลงทะเล ความเป็นไปได้จึงอาจจะมีการย่อยสลายซากให้เล็กลง และนำไปเผา โดยอยู่ระหว่างการหาเตาเผาของเอกชน หรือเตาเผาที่ไม่ก่อมลพิษ เพราะซากมีขนาดใหญ่มาก ส่วนกระดูกวาฬจะเก็บไว้เพื่อใช้ในการศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม จากนี้ ทช. จะของบประมาณจากกระทรวงเพื่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก โดยร่วมมือกับทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะปัจจุบันเรายังไม่มีศูนย์ช่วยเหลือที่ครบวงจร มีอุปกรณ์สำหรับสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ตนอยากไปพูดคุยกับ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ซึ่งที่ผ่านมาเคยระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือหลายหน่วยงาน จึงขอฝากในเรื่องนี้ด้วย เพราะขณะนี้ยังไม่มีศูนย์หรืออุปกรณ์ในการช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้ และงบประมาณของภาครัฐก็มีจำกัด
ทางด้าน สพญ.นันทริกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากไปยังเรือประมงว่าหากมีสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ไปติดที่อวน สัตว์เหล่านี้ไม่ใช่สัตว์ที่ก้าวร้าวหรือดุร้าย ขอให้ใช้วิธีค่อยๆ แกะหรือตัดอวนออก สัตว์ก็จะหลุดไปได้ และไม่ทำให้เรือและอุปกรณ์ประมงเสียหายมาก ทั้งยังจะเป็นการรักษาชีวิตสัตว์หายากเหล่านี้เอาไว้ด้วย