xs
xsm
sm
md
lg

ดูช้าง-ดูหาง ดูนาง-ดูแม่ แล้วดู"วาฬ"อ่าวไทย...ดูตรงไหน???

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วาฬบรูด้าอ้าปากกว้างกินเหยื่อ
วาฬถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล ลักษณะรูปร่างเหมือนปลา คนจึงมักเรียกติดปากว่า “ปลาวาฬ” ในประเทศไทยสำรวจพบวาฬทั้งหมด 25 ชนิด พบทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และสำหรับ “วาฬบรูด้า” (Bryde’s Whales) ก็เป็นสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่คู่ทะเลไทยมานานหลายร้อยปีแล้ว ถือเป็นวาฬชนิดที่ไม่มีฟัน แต่จะมีซี่กรอง (Baleen Plates) สำหรับกรองอาหาร อีกทั้งยังเป็นวาฬกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง และถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทยอีกด้วย

ในขณะนี้จำนวนวาฬบรูด้าที่สำรวจในอ่าวไทยโดยกรมทรัพยากรชายฝั่งและทะเลที่จำแนกและระบุชื่อไว้มีประมาณ 40 ตัว ที่ระบุเพื่อให้รู้ว่าแต่ละตัวมีการเคลื่อนที่อย่างไร มีความถี่ในการพบเจอมากน้อยเท่าใด และจะใช้ภาพถ่าย (Photo-ID) ในการระบุ โดยในขณะนี้ได้ตั้งชื่อปลาวาฬแล้วจำนวน 40 ตัว ตัวที่ทราบเพศว่าเป็นเพศเมียจะใช้ชื่อว่า “แม่+ชื่อ” เช่น แม่สาคร แม่วันสุข แม่ข้าวเหนียว ส่วนตัวที่ยังไม่สามารถระบุเพศมีชื่อเรียกว่า “เจ้า+ชื่อ” เช่น เจ้าท่าจีน เจ้าสุขใจ เจ้าส้มตำ เจ้าพาฝัน เป็นต้น

และล่าสุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้พระราชทานชื่อแก่ลูกวาฬบรูด้า 2 ตัว ที่เกิดจากแม่สายชล และแม่สมหวัง โดยได้ชื่อว่า “เจ้าสายสมุทร” เป็นลูกของแม่สายชล และ “เจ้าสมสมุทร” เป็นลูกของแม่สมหวัง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ภาพจากเพจเฟซบุค กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่า เราจะจำแนกปลาวาฬบรูด้าแต่ละตัวออกจากกันได้อย่างไร เพราะลักษณะของปลาวาฬแต่ละตัวก็ดูคล้ายกันไปหมด บางครั้งมองเห็นปากที่อ้ากว้างเวลาขึ้นกินเหยื่อ แต่บางครั้งก็เห็นเฉพาะหลังกับครีบที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเท่านั้น เราจะสามารถแยกออกได้อย่างไร

เรื่องนี้มีคำตอบจากจากหนังสือ “ท่องเที่ยวชมโลมาและปลาวาฬในเมืองไทย” จัดทำโดย สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่บอกว่า จากการศึกษาจำแนกประชากรปลาวาฬบรูด้าของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย Photo-ID ของแต่ละตัว ใช้ลักษณะเด่นอันดับแรกคือ ลักษณะตำหนิของครีบหลัง ส่วนลักษณะรองลงไปได้แก่ ลายขอบปาก จุดหรือแถบดำในปาก แผลตามลำตัวและหาง ที่แต่ละตัวจะมีไม่เหมือนกัน เช่น เจ้าบางแสนมีรอยแหว่งที่ฐานครีบ เจ้าชัดเจนมีครีบหลังโค้งเว้า ปลายมน เจ้าสมุทรมีครีบตั้งรูปสามเหลี่ยม เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องถ่ายภาพเพื่อนำมาพิจารณาอย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่ง

เราได้นำรูปบางส่วนจากหนังสือ “ท่องเที่ยวชมโลมาและปลาวาฬในเมืองไทย” มาให้ชมความแตกต่างของวาฬแต่ละตัวมาให้ได้ชมกันด้วย





* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น