xs
xsm
sm
md
lg

สัตวแพทย์จุฬาฯ ลงตรวจรักษา “ปลากระเบนราหูยักษ์” ที่อ่างทอง พบเป็นเพศเมียกำลังตั้งครรภ์ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อ่างทอง - สัตวแพทย์จุฬาฯ พร้อม จนท.ประมงอ่างทอง ตรวจสอบ “ปลากระเบนราหูยักษ์” หลังเด็กวัย 13 ขวบ ชาวอ่างทองจับได้ พบเป็นเพศเมีย กำลังตั้งครรภ์ มีบาดแผล 8 แห่ง แท้งลูกแล้วส่วนหนึ่ง เตรียมรักษาก่อนปล่อยกลับเจ้าพระยา ประมงอ่างทองเผยปลาที่พบเรียกว่า “ฮิแมนทูร่า เจ้าพระยา” เป็นปลากระเบนราหูน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด ชาวบ้านเผยพบสิ่งประหลาดหลังจับปลากระเบนราหูยักษ์ได้ พบมีงูจงอางมาที่ปลา และเจ้าแม่ตะเคียนมาเข้าทรงร้องให้ปล่อย
รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาตร์ คณะสัตวแพทยศาตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอาจารย์ประจำคณะสัตว์แพทย์ศาตร์จุฬาลงกรณ์ กำลังทำการตรวจรักษาปลากระเบนราหูยักษ์ หรือ Himantura (ฮิแมนทูร่า) เจ้าพระยา
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (16 ก.พ.) รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำคณะสัตว์แพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์ พร้อมด้วย นายณัฐพงค์ วรรณพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและวิจัยประมงน้ำจืดจังหวัดอ่างทอง พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจสอบพร้อมทำการรักษาปลากระเบนราหูยักษ์ ที่เด็กชายวัย 13 ขวบ ตกได้เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาพื้นที่ ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง

รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ เปิดเผยว่า ปลากระเบนราหูยักษ์ที่พบตัวนี้วัดความยาวได้ 3.80 เมตร กว้าง 2.00 เมตร เป็นเพศเมียที่กำลังตั้งครรภ์ จากการตรวจสอบตามลำตัวพบมีบาดแผล จำนวน 8 แห่ง ซึ่งจะได้ทำการรักษาก่อนที่จะปล่อยกลับสู่แม่น้ำเจ้าพระยา



“แต่ที่น่าเสียดาย คือ พบที่บริเวณท้องข้างซ้ายของปลาได้เกิดแท้งลูกออกไปแล้ว ส่วนที่ท้องด้านขวายังมีลูกอยู่ แต่ไม่ทราบจำนวน”

รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ กล่าวต่อว่า ที่ตน และคณะเดินทางมาตรวจสอบปลากระเบนราหูยักษ์ครั้งนี้เพื่อจะนำปลาขึ้นมาดูบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บว่าเกิดบาดแผลขึ้นได้อย่างไร และอาการบาดเจ็บจากบาดแผลที่พบนี้มีมากน้อยเพียงใด หากรักษาแล้วจะสามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้หรือไม่

“ปลาชนิดนี้แม้แต่บริษัทสารคดีชื่อดังยังสนใจที่จะมาทำการถ่ายทำเพื่อไปเผยแพร่ เป็นปลาที่ควรอนุรักษ์เนื่องจากมีเหลืออยู่จำนวนน้อยมาก โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Himantura polylepis เป็นปลากระเบนน้ำจืดขนาดใหญ่ ซึ่งจะพบมากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง”

พร้อมกล่าวต่อว่า “ที่มาในวันนี้เพื่อเก็บตัวอย่างจากเลือด และฝังชิปเข้าไปในตัวปลาเพื่อเก็บข้อมูลการดำรงชีวิตของปลากระเบนราหูยักษ์ จากนั้นก็จะทำการรักษาอาการบาดเจ็บจากบาดแผลที่พบต่อไป”

ด้านนายณัฐพงค์ วรรณพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและวิจัยประมงน้ำจืดจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ปลากระเบนราหูที่พบนั้นเรียกว่า Himantura (ฮิแมนทูร่า) เจ้าพระยา เป็นปลากระเบนราหูน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด หลังจากชาวบ้านจับได้ และแจ้งไปยังประมงจังหวัด ตนก็ได้ประสานไปยังทีมสัตวแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์ฯ ให้มาทำการตรวจรักษาปลากระเบนราหู หรือฮิแมนทูรา เจ้าพระยา ตัวนี้ ก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติให้อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

ทางด้าน นายบุญสม เทศทอง อายุ 56 ปี ตาของ ด.ช.ณัฐวัฒน์ พูลมีวัย 13 ปี ที่จับปลากระเบนราหูยักษ์ได้ กล่าวว่า หลังจากจับปลากระเบนราหูยักษ์ตัวนี้ได้ ก็ได้ทำการกั้นบริเวณ และขังปลาไว้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากนั้นก็มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นหลายอย่าง โดยเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา ได้พบงูจงอางขนาดใหญ่ว่ายน้ำมาอยู่ที่บริเวณปลากระเบนราหูยักษ์อยู่ จากนั้นไม่นานงูจงอางตัวนั้นก็หายไป

“เมื่อตอนเช้านี้ก็ได้มีร่างทรงเจ้าแม่ตะเคียนที่มาดูปลากระแบนราหูยักษ์ตัวนี้แล้วร้องไห้ครวญครางขอให้ปล่อยปลาออกไป ผมกับทางญาติจึงได้ปรึกษากัน และลงความเห็นว่า เมื่อแพทย์รักษาเสร็จก็จะให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไปโดยไม่รับเงินใดๆ ทั้งสิ้น” นายบุญสม กล่าว
นายณัฐพงค์ วรรณพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและวิจัยประมงน้ำจืดจังหวัดอ่างทอง
นายบุญสม เทศทอง อายุ 56 ปี ตาของ ด.ช.ณัฐวัฒน์ พูลมีวัย 13 ปี ที่จับปลากระเบนราหูยักษ์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น