ชมมหากาพย์คดีตำรวจชุดจับกุมยาเสพติด 8 นาย ยัดยาเสพติดสองสามีภรรยาชาวแม่กลอง ชิงสร้อยทอง - เงินไปด้วย ต้องขอความช่วยเหลือทนายทำคดี พบซับซ้อนซ่อนเงื่อน มีการลบข้อมูลกล้องวงจรปิดปั๊มน้ำมัน แถมดึงตัวละครสมอ้างโทร.สั่งซื้อยา ฟ้องกลับปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ดิ้นพล่าน ทั้งปลอบทั้งขู่ ที่สุดศาลสมุทรสาครยกฟ้องสามี ภรรยาจำคุก 4 ปี สู้อุทธรณ์ต่ออีกยก
คดีฉาวโฉ่สะเทือนวงการสีกากีเรื่องนี้ ถูกเปิดเผยโดย นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน เพื่อเยาวชนและสังคม ซึ่งให้ความช่วยเหลือเรื่องกฎหมาย ระบุว่า ตนได้ให้ความช่วยเหลือสองสามีภรรยาชาว จ.สมุทรสงคราม ถูกตำรวจ 8 คน ยัดข้อหาจำหน่ายยาเสพติดในพื้นที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่ง กระทั่งศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษายกฟ้องสามีไปเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา
- เยี่ยงโจร! ชิงทั้งเงิน-สร้อยทอง เอายาวางบนโต๊ะบอก “นี่ยาพวกมึง ให้รับซะ”
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 นายตูน (นามสมมติ) และ น.ส.เปิ้ล (นามสมมติ) สองสามีภรรยา ได้ติดต่อมายังนายษิทรา ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 59 เวลา 13.00 น. ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ 7 - 8 คน บุกค้นตัวที่ปั๊มน้ำมัน ปตท.ธวัชภิญโญ ต.บางแก้ว อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม ขณะเข้าห้องน้ำระหว่างกลับจากนำรถจักรยานยนต์มาซ่อม ที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ก่อนควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง
จากคำบอกเล่าผู้เสียหาย ระบุว่า ตำรวจได้ค้นตัวทั้งคู่ ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่ได้ยึดกระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์มือถือของ น.ส.เปิ้ล ระหว่างทางหัวหน้าชุดจับกุมถาม น.ส.เปิ้ล ว่า เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ น.ส.เปิ้ล กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่าไม่เกี่ยวข้อง ให้ไปค้นที่บ้านก็ได้เพื่อความบริสุทธิ์ใจ แต่ก็ไม่ฟัง กระทั่งหัวหน้าชุดจับกุม หันมาเห็นสร้อยทองที่คอพร้อมพระเครื่อง และสร้อยทองที่ข้อมือ จึงบอกให้ถอดออก
เมื่อมาถึงสถานีตำรวจ ทั้งคู่ก็ไม่ได้เจอกัน น.ส.เปิ้ล ได้ยินแต่เสียงสามีร้องด้วยความเจ็บปวด หลายคนพยายามเข้ามาพูดให้รับว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่ทั้งคู่ไม่รู้เรื่อง จึงถูกเอากล่องครอบหัวแล้วตีอยู่เป็นเวลานาน แม้จะขอร้องให้ปล่อยแต่ไม่เป็นผล ผ่านไปหลายชั่วโมง มีชายคนหนึ่งเอายาเสพติดมาวางที่โต๊ะด้านหน้าแล้วบอกว่า “นี่ยาพวกมึง ให้รับซะ คดีแค่โทษปรับ ถ้าไม่รับพวกมึงจะโดนมากกว่านี้”
ทั้งคู่ขอโทร.ไปหาครอบครัว แต่ไม่ได้รับการอนุญาต เมื่อทนแรงกดดันไม่ได้ที่สุดจึงรับสารภาพ ก่อนที่ตำรวจจะพาทั้งคู่ไปถ่ายรูป โดยให้ น.ส.เปิ้ล ลงไปถ่ายรูปที่ปั๊ม LPG ปตท. ถนนพระราม 2 ขาออก ต.นาโคก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร และต่อมาให้ นายตูน ลงไปถ่ายรูปที่ปั๊มน้ำมันบางจาก ซึ่งอยู่ห่างออกไป 3 กิโลเมตร ก่อนที่ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 2 วัน จากนั้น วันที่ 17 ก.ค. ทั้งคู่ถูกส่งตัวไปขอฝากขังต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากครอบครัวยากจน เป็นแม่ค้าขายลูกชิ้น และรับจ้างก่อสร้าง จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาประกันตัว ก่อนจะขอความช่วยเหลือกับนายษิทรา
ตามบันทึกการจับกุมที่ตำรวจเขียนระบุว่า วันที่ 15 ก.ค. 2559 เวลา 16.00 น. จับกุม น.ส.เปิ้ล พร้อมยาบ้า 20 เม็ด ที่ปั้มแก๊ส แอล พี จี ปตท. ขาออก ต่อมาในวันเดียวกันเวลา 18.00 น. ได้มีการจับกุม นายตูน พร้อมยาบ้า 40 เม็ด ได้ที่ปั๊มน้ำมันบางจากขาออก ก่อนจับกุมตำรวจได้มีการจับกุม นายกันต์ พร้อมยาไอซ์ 1 ถุง และได้มีการซัดทอดว่าซื้อยาเสพติดมาจากนายตูน และสามารถล่อซื้อมาได้
- เหมือนนกรู้! รีบเคลียร์เจ้าของปั๊ม “ลบกล้องวงจรปิด”
นายษิทรา เริ่มต้นด้วยการขอหลักฐานกล้องวงจรปิด ในปั๊มน้ำมัน ปตท.ธวัชภิญโญ แต่พบว่าหลังจับกุมผ่านไป 2 วัน มีตำรวจระดับรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สารวัตรสืบสวนสอบสวน และดาบตำรวจคนหนึ่งได้เข้าไปคุยกับผู้จัดการปั๊มน้ำมัน เรียบร้อยแล้ว และไม่พบหลักฐานจากกล้องวงจรปิดแต่อย่างใด กระทั่งวันที่ 7 ส.ค. เข้าไปแจ้งความกับตำรวจทั้ง 8 นาย ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ สภ.เมืองสมุทรสงคราม ท้องที่ปั๊มน้ำมันตั้งอยู่ พนักงานสอบสวนให้แค่ลงบันทึกประจำวัน จะยังไม่เรียกแม่บ้านมาสอบ แต่เมื่อได้อธิบายจึงเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น และพาไปปั๊มที่มีการจับกุม
แม่บ้านเล่าว่า วันเกิดเหตุขณะที่ตนกำลังล้างห้องน้ำอยู่ ก็เห็นสามีภรรยาคู่หนึ่งเอารถจักรยานยนต์มาจอด สามีเดินไปห้องน้ำ ภรรยาไปร้านค้า สักพักมีชายฉกรรจ์พาสามีขึ้นรถไป แล้วตรวจค้นภรรยา ไม่เจออะไร จึงให้ตนไปช่วยดูภรรยาในห้องน้ำ ไม่เจอสิ่งผิดกฎหมาย แล้วก็พาภรรยาขึ้นรถอีกคันไป 2 - 3 วันต่อมา ชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจ 2 - 3 คน ได้มาที่ปั๊มอีกครั้ง มาคุยกับผู้จัดการปั๊ม ทราบว่า มาขอดูกล้องวงจรปิด จึงได้เชิญตัวแม่บ้านมาที่ สภ.เมืองสมุทรสงคราม ก่อนจะให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกไปที่ปั๊มน้ำมันเพื่อขอเทปบันทึกกล้องวงจรปิดวันเกิดเหตุ แต่ได้รับคำตอบว่าไม่มีแล้ว
- ดิ้นพล่าน! 8 ตำรวจเจอเอาผิด “ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ” - เลขาฯ ป.ป.ท. ชี้ “ถ้าเป็นจริงคงไม่ใช่ครั้งแรก”
หลังจากให้แม่บ้านไปให้การกับพนักงานสอบสวน วันต่อมาขณะที่ตนไปบรรยายกฎหมาย มีโทรศัพท์จากคนรู้จักเหมือนมาเช็กข่าวว่าทำคดีนี้หรือไม่ กระทั่งมีตำรวจคนสนิทของตนเรียกไปคุยที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ตนได้เล่าเรื่องราวออกไป ตำรวจนายนั้นกล่าวว่าตรงกับที่เขารู้เรื่องมา ก่อนถามว่า ถ้าจะจบต้องการอะไร จึงกล่าวว่า ต้องการให้ทั้งคู่ไม่ติดคุก เลยบอกว่าเรื่องนี้มันเรื่องใหญ่ ถ้าเป็นเรื่องไปหลายคนต้องเดือดร้อน อาจจะสะเทือนไปยังเก้าอี้นายตำรวจใหญ่ๆ ที่ปล่อยปละละเลยให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น
เมื่อคุยกับตำรวจชุดจับกุมในวันเกิดเหตุ ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ ให้ถอนแจ้งความตำรวจทั้ง 8 นาย ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเรื่องจะต้องถูกส่งไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภายใน 1 เดือน แล้วจะคืนเงิน สร้อยคอ พระ สร้อยข้อมือให้ จ่ายค่าประกันตัวแทนให้ และจะไปช่วยเบิกความในคดีที่ทั้งคู่เป็นจำเลย กระทั่ง นายษิทรา ไปปรึกษากับ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ระหว่างปรึกษาและรายงานกิจกรรมของมูลนิธิฯ ได้เล่าเหตุการณ์ตำรวจ 8 คน และข้อเสนอดังกล่าว นายประยงค์ เตือนสติว่า ถ้าเป็นจริงคงไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกนี้ทำ และหากปล่อยไปพวกนี้ก็ต้องไปทำกับคนอื่น
- ตีบทดรามา! ดาบ 1 ใน 8 อ้าง “รองผู้กำกับฯ” เอาเงินไปหมดเลย
วันต่อมา นายษิทรา ได้ประสานพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจที่จับกุม นายตูน และ น.ส.เปิ้ล ขอให้การเพิ่มเติม โดยจะเปลี่ยนคำให้การจากรับสารภาพ เป็นปฏิเสธแบบให้ข้อเท็จจริง พอไปถึงจึงให้นายตูน และ น.ส.เปิ้ล ไปให้การ โดยที่นายษิทรายืนอยู่ด้านนอก สักพักมีนายตำรวจแปลกหน้านายหนึ่งเข้ามาทัก กล่าวว่า ชุดจับกุมดังกล่าวทำในลักษณะแบบนี้มาหลายครั้ง ผู้ต้องหารายหนึ่งมาร้องไห้ บอกว่าพวกมันเอาเงินไปหมด เขาขอแค่ 500 บาท เพื่อกลับบ้าน มันยังไม่ให้เขาเลย พร้อมสนับสนุนให้ดำเนินคดี
ต่อมามีนายดาบตำรวจ 1 ใน 8 คนที่เป็นชุดจับกุมได้เข้ามาตีสนิท ก่อนทำทีเป็นเล่าว่า ในทีมงาน 7 คนไม่มีใครรู้เรื่อง รองผู้กำกับฯ เอาสร้อยคอ พระ สร้อยข้อมือ และเงินสดทั้งคู่ไปเลย ทุกคนหมดศรัทธามาก เพราะเหมือนมุบมิบเอาไปเก็บไว้ ไม่บอกลูกน้อง ตอนนี้ในทีมก็เหมือนแตกกัน พอรองเข้าห้องสืบ ลูกน้องก็จะวงแตก งานการตอนนี้ไม่ทำ พร้อมกับขอร้องให้ช่วยหาทางออก พวกตนไม่ได้เลวร้ายอะไร มันเป็นการทำงาน แล้วก็พูดถึงเรื่องสถิติคดีว่าทุกโรงพักต้องจับให้ได้ตามเป้า ไม่งั้นต้องโดนผู้บังคับบัญชาเล่นงาน นี่คือ เหตุผลที่ต้องมาส่งโรงพักที่ผิดอำนาจศาล และต้องแยกนายตูน กับ น.ส.เปิ้ล เป็นคนละคดี
- เหยื่อเผย! พ่อเคยมีปัญหากับ “จ่าดำ” เห็นเฟซบุ๊กหลังถูกจับ-โพสต์ “ฝีมือกูเอง”
หนึ่งในชนวนเหตุที่คาดว่าทำให้เกิดคดีนี้ น.ส.เปิ้ล ได้เล่าให้ฟังว่า บิดาทำงานก่อสร้างให้กับตำรวจที่ จ.สมุทรสงคราม จึงสนิทสนมกับตำรวจหลายคน กระทั่งมีเรื่องกับตำรวจนายหนึ่งชื่อว่า “จ่าดำ” มีปากเสียงถึงขั้นชกต่อยกัน ทำให้บิดาของ น.ส.เปิ้ล ตาบอด แต่ด้วยความที่ไม่อยากมีเรื่องจึงยอมความกันไปเมื่อหลายปีก่อน แต่เมื่อเจอกันบ่อยครั้งก็กระทบกระทั่ง จ่าดำเคยพูดอาฆาตไว้ว่า “ให้ระวังตัวกันให้ดี” ในวันที่ น.ส.เปิ้ล ถูกจับกุม เห็นรถจ่าดำในปั๊มที่ตนถูกอุ้ม และหลังจากที่ น.ส.เปิ้ล ประกันตัวมาได้เห็นเฟซบุ๊กจ่าดำโพสต์ว่า “ฝีมือกูเอง” แล้วก็ลบข้อความไป และที่สำคัญ จ่าดำสนิทกับดาบตำรวจคนหนึ่งที่อยู่ใน 8 คนนี้
หลังได้หลักฐานคำให้การของแม่บ้านแล้ว ทีมงานจึงเก็บหลักฐานในปั๊มที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 จุด โดยเฉพาะ 2 จุดที่ตำรวจอ้างว่าจับกุมนายตูน กับ น.ส.เปิ้ล สอบถามทั้งเด็กปั๊มและผู้จัดการปั๊ม ให้การปฏิเสธว่า ไม่มีการจับกุมคดียาเสพติด อีกทั้งเด็กปั๊มก็ไม่เห็นแม้แต่ตอนทำแผน ที่ให้ทั้งคู่ไปยืนถือยาเสพติด แสดงว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมาก จนคนในปั๊มไม่ทันสังเกต อีกทั้งจับพิรุธได้ว่า ปั๊มที่อ้างว่าจับกุม ตำรวจเอาตัวจำเลยมายืนใกล้ถนนใหญ่ โดยไม่มีการวางกำลังกันจำเลยวิ่งหลบหนี
- พิรุธ! บันทึกจับกุมบอก “มีสายลับ” แต่คำร้องฝากขังระบุ “ตำรวจขับผ่านมาเห็น”
เมื่อตำรวจรู้ว่าทั้งคู่ต่อสู้คดีแน่ ตำรวจก็ต้องเตรียมคดี แต่เกิดพิรุธคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 กับบันทึกจับกุม เนื้อหาต่างกัน เพราะบันทึกจับกุมระบุว่า มีสายลับแจ้งว่า นายตูน และ น.ส.เปิ้ล ชอบมาขายยาที่ปั๊ม ตำรวจจึงไปตรวจที่เกิดเหตุพบเปิ้ล จึงจับกุม แต่คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 กลับมีข้อความว่า ตำรวจออกตรวจพื้นที่เจอนายตูน และ น.ส.เปิ้ล ทำท่ามีพิรุธจึงขอตรวจค้น พบยาเสพติด จึงสงสัยว่ามีสายลับแจ้งมา หรือตำรวจขับผ่านมาเห็น ซึ่งประเด็นนี้ตนถามค้านในศาล พนักงานสอบสวนตอบมาว่า พิมพ์ผิด
ตอนสู้คดีในศาล ตำรวจกลับไม่สืบตามเอกสาร 2 ใบนั้น มีการแต่งเติมเพิ่มให้เรื่องได้สมจริง โดยนัดหมายที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งใน ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร คนที่นั่งในโต๊ะมีทั้งอัยการ ทนายที่เป็นเซียนกฎหมาย และนายตำรวจใหญ่อีกหลายคน ซึ่งก่อนหน้านี้มีตำรวจใหญ่กล่าวกับตนว่า “สู้ไม่ได้หรอกคดีนี้ ตำรวจ 8 คน เตรียมคดีมาดี อุดทุกช่องทาง รวมทั้งคิดไว้หมดว่าจะสู้มุมไหนไว้หมดแล้ว” กระทั่งพบว่าฝั่งอัยการเพิ่มพยานมาอีก 1 คน ชื่อ นายกันต์ (นามสมมติ) เป็นผู้ที่ถูกจับวันเดียวกับนายตูน และ น.ส.เปิ้ล สืบในแนวมีคนล่อซื้อยาจากตูน - เปิ้ล ซึ่งต่างกับบันทึกจับกุม
- ตีหน้าเศร้า! “ไอ้หมึก” บอก “ผมผิดไปแล้ว” ขอความเห็นใจถอนฟ้อง
อีกทางหนึ่ง มีคนมาเคลียร์ขอให้นายษิทราเลิกทำคดีนี้ วันหนึ่งมี ส.ส. รายหนึ่งนัดทานกาแฟ โดยจะมี รองผู้กำกับที่เป็น 1 ใน 8 คน มาคุยด้วย ตนได้สอบถาม นายตูน และ น.ส.เปิ้ล ว่า จะให้ไปคุยไหม เค้าก็บอกอยากรู้ท่าทีทางฝ่ายนั้น และเชื่อมั่นในตน ก็ออกไปเจอ ส.ส. และรองผู้กำกับคนนั้น ส.ส. คนดังกล่าวระบุว่า “หมึก (ชื่อเล่นรองผู้กำกับ) เป็นญาติเขา ฝากผมหน่อย” ก็ตอบกลับไปว่า “เรื่องมันเดินมาไกลแล้วพี่จะให้ผมทำยังไง” รองผู้กำกับทำหน้าเศร้า พร้อมกับขอความเห็นใจ บอกว่าผิดพลาดไปแล้ว ให้พานายตูน และ น.ส.เปิ้ล ไปถอนแจ้งความ ตนกล่าวว่า จะถอนได้ยังไง แจ้งไปแล้ว ลงบันทึกประจำวันไปแล้ว ก็บอกว่า เขามีทางทำได้ ตนก็กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เมื่อดูแล้วการคุยครั้งนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไร ส.ส. กับรองผู้กำกับก็ขอตัวกลับ หยอดว่า “ถ้าจบไม่ได้ก็ช่วยเบาๆ หน่อยล่ะกัน” ตนไม่ตอบอะไร ได้เพียงแค่ยิ้ม และไหว้ลาตามประเพณี
เมื่อเคลียร์ไม่จบ นายตูน และ น.ส.เปิ้ล เริ่มอยู่ลำบาก มีชายแปลกหน้าไปเฝ้าทางเข้าบ้านตอนกลางคืน จนทั้งคู่ต้องหยุดขายลูกชิ้นย่าง ส่วนนายษิทราก็มีโทรศัพท์มาข่มขู่ ให้เลิกทำคดีไม่งั้นจะเกิดอันตราย บางครั้งโทรศัพท์มาตอน 01.00 - 02.00 น. แล้วไม่พูดบ้าง ทำเสียงแปลกๆ บ้าง จึงบล็อกหมดไม่สนใจ ต่อมาก็มีคนมาขอเคลียร์คดีเรื่อยๆ ทั้งผู้กำกับที่เป็นญาตินายษิทรา ผู้กำกับที่เป็นหัวหน้าโรงพักเก่า 8 ตำรวจ บางทีก็มีคนที่อ้างว่าเป็น เสธ. เป็นพันเอกทหาร นายก อบต. นักข่าว ใครก็แล้วแต่ที่โยงมาหาตนได้ โทร.มาขอกัน แต่เห็นว่า ถ้าจบแบบคนที่ไม่ได้กระทำผิดต้องติดคุก ผมยอมไม่ได้ บรรดาคนที่มาเคลียร์ส่วนมากมาขอให้ตนเบาเพราะสงสารเพื่อน
- ใช้ไม้แข็ง! “บิ๊กตำรวจ” เรียกพ่อไปคุย บอก “สู้ไปก็ไม่มีทางชนะ”
ยิ่งใกล้จะส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ท. ฝ่ายตำรวจทั้ง 8 นาย ก็ยิ่งเต้น เคยมีการนัดตนไปที่ สภ.เมืองสมุทรสงคราม เพื่อพูดคุยและขอเจรจา จำได้ว่า วันนั้นมีผู้กว้างขวางในวงการสีกากีนั่งหัวโต๊ะ ผู้กำกับโรงพัก 8 ตำรวจ รองผู้กำกับ สารวัตร ดาบตำรวจ และ 1 ใน 8 ชุดจับกุม ที่ต้องไปในวันนั้น เพราะต้องไปประสานงานกับโรงพักอยู่แล้ว และด้วยความเกรงใจผู้กว้างขวางคนนั้น การพูดคุยก็คล้ายแบบเดิม คือ ให้ถอนฟ้องแล้วตำรวจทั้ง 8 นาย จะคืนทรัพย์สินที่ปล้นไป ออกเงินประกันตัวให้ และจะไปเบิกความให้ นายตูน และ น.ส.เปิ้ล หลุดจากคดี ตนรับข้อเสนอนี้ไม่ได้ เพราะเคยคุยกับเลขา ป.ป.ท. ไว้
หลังจากนั้น จึงมีความพยายามตัดตนออกจากการพูดคุย มีการประสานพ่อแม่ของนายตูน และ น.ส.เปิ้ล ขอคุยโดยไม่มีนายษิทรา ซึ่งคนที่ประสานเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ระดับผู้กำกับสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดแห่งหนึ่ง นิสัยพูดจาโผงผาง ด้วยความมั่นใจ ซึ่งบิดาของ น.ส.เปิ้ล เคยทำงานรับเหมาซ่อมห้องน้ำให้กับกองกำกับการตำรวจแห่งหนึ่ง ทำให้สนิทกับผู้กำกับคนนี้ ผู้กำกับได้เรียกบิดา น.ส.เปิ้ล ไปคุยหลายครั้ง กล่อมให้อย่าไปเอาเรื่องตำรวจทั้ง 8 คน เพราะยังไงสู้ไปก็ไม่มีทางชนะ ให้รับเงินค่าเสียหายและรับสารภาพ บิดาเล่าให้ น.ส.เปิ้ล ฟัง กลัวว่าถ้าสู้แพ้ นายตูน และ น.ส.เปิ้ล จะติดคุกหลายปี ยังไงก็ไม่มีทางชนะ แต่คนในครอบครัวเชื่อว่า นายษิทรา สามารถช่วยให้ได้รับความยุติธรรมได้
- เรียกไปเคลียร์! สร้างละครตบจูบ ด่า 8 ตำรวจ ก่อนกล่อม “ถ้าเราล้มก็ล้มทั้งสองฝ่าย”
เมื่อใกล้จะครบกำหนดส่งเรื่องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้ ป.ป.ท. ตำรวจทั้ง 8 คนเริ่มอยู่ไม่สุข ผู้กำกับนายนี้ จึงให้บิดาพา น.ส.เปิ้ล มาพบที่กองกำกับการฯ เพื่อกล่อมให้ทั้ง 2 ถอนแจ้งความตำรวจทั้ง 8 คน นายตูน และ น.ส.เปิ้ล โทรศัพท์ให้ฟังด้วยความหวาดวิตก เกรงว่า จะถูกลงนามให้ถอนแจ้งความ จึงให้บิดา มารดา และพี่สาวของ น.ส.เปิ้ล ไปแค่ 3 คน เมื่อไปถึง ผู้กำกับฯ เปิดยุทธศาสตร์จิตวิทยาก่อน โดยทำเสมือนว่าเข้าข้างนายตูน และ น.ส.เปิ้ล ด่าตำรวจ 8 คน และบอกว่า “พี่รวยอยู่กับผมมานาน เป็นคนซื่อ ผมอยากให้แกอยู่กับผมนานๆ เข้าใจไหม ถ้ามันจะระงับศึกได้ก็อยากระงับศึก แล้วอันนี้ต้องได้ตังค์ชดเชย ต้องมีทางเดิน ตำรวจต้องยอมเสีย” โดยให้ช่วยตำรวจก่อน แล้วเขาจะไปช่วยคดีตอนหลัง
แต่ท้ายที่สุดก็ใช้บารมีข่มขู่และบังคับให้บิดา มารดา ไปตามหา น.ส.เปิ้ล และ นายตูน พามาถอนแจ้งความ โดยพูดว่า “ทางนี้ต้องเป็นห่วงพ่อ พ่อตะลอนไปทุกๆ ที่ อันตราย! เข้าใจมั้ย เขาอ่ะอันตราย ไปกลับค่ำๆ มืดๆ อันตราย ไม่มีใครเลย เราต้องมานั่งคิด ถ้าเราล้มก็ล้มทั้งสองฝ่าย พัง เชื่อพี่เหอะ” คุยไปได้ซัก 30 นาที ตำรวจ 3 ใน 8 คน ทั้งรองผู้กำกับ สารวัตร ดาบตำรวจ ได้เดินเข้ามาในห้อง แล้วก็อธิบายเหตุผลต่างๆ ที่ตนได้กระทำไป
- โถ! พี่สาวถามถึงสร้อยแหวนเงินที่ยึดไป ชุดจับกุมบอก “วันนี้มาเสนอให้มากกว่าอีก”
พี่สาวได้ถามถึง สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เงินสดของน้องสาว รองผู้กำกับในชุดจับกุมได้ตอบว่า “ไอเรื่องนี้มันเล็กน้อย วันนี้มาเสนอให้มากกว่าอีก” อธิบายเหตุผลที่ต้องเอาตัวไปดำเนินคดีที่สมุทรสาคร ซึ่งอยู่คนละเขตอำนาจสอบสวน เพราะไม่อยากให้ผู้กำกับสืบฯ เหนื่อยต้องมาทำคดีอีก มีการคุยหาทางออกคดีกันไปหลายทาง แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล จนดาบได้พูดเปรยว่า “ไม่จบหรอก ทนายเตี๊ยมมาแล้ว” ผู้กำกับ รองผู้กำกับ สารวัตร จึงตัดบทและจะขอลากลับ แต่มีคนเก็บหลักฐานสำคัญ คือ คำรับสารภาพ จากตำรวจทั้ง 3 คน
เมื่อได้หลักฐานสำคัญ จึงรวบรวมเอกสาร พยานหลักฐานทั้งหมด ศึกษาข้อมูลในคำพิพากษาศาลฎีกา เก็บหลักฐานสำคัญไว้ใช้ในศาลอย่างเงียบๆ ระหว่างที่รอขึ้นศาลได้ไปคัดสำนวนที่ทางโจทก์ยื่นส่ง ก็แปลกใจในชื่อพยานโจทก์ปากหนึ่ง ชื่อว่า นายกันต์ เป็นพยานในคดีนี้ เมื่อสืบอย่างลับๆ จึงรู้ว่านายกันต์ เป็นพยานสำคัญ ที่จะมายืนยันว่า นายตูน และ น.ส.เปิ้ล กระทำความผิด ซึ่งตนรู้ภายหลังว่า เป็นไอเดียของอัยการรายหนึ่ง ที่ไม่ใช่อัยการเจ้าของสำนวน วางพล็อตเรื่องใหม่ ให้นายกันต์เป็นคนโทรศัพท์สั่งซื้อยาจากนายตูน
ตัวละครใหม่ “กันต์” พบสารวัตรตามไปถึงเรือนจำ เบิกความเท็จแลกลดโทษ
กระทั่งทราบเหตุผลว่า ก่อนหน้านี้ ศาลตัดสินนายกันต์มาแล้ว และได้รับการลดโทษต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ การทำขยายผลช่วยราชการจับผู้ค้ารายอื่น และเมื่อสืบลึกลงไปอีก คนที่เบิกความ ให้นายกันต์ได้ประโยชน์ คือ สารวัตรซึ่งเป็น 1 ใน 8 ชุดจับกุม ตนได้เบอร์แม่นายกันต์มา จึงโทร.ไปหลอกถามเรื่องลูก แม่นายกันต์ทำท่าไม่อยากคุย โบ้ยให้ไปคุยกับ พนักงานสอบสวนคนหนึ่ง บอกคนนี้เขาทำให้ทุกอย่าง เมื่อเช็กชื่อปรากฏว่าเป็นพนักงานสอบสวนคนเดียวกับ น.ส.เปิ้ล และ นายตูน จึงเริ่มเดาหลายๆ อย่างออก แต่พบว่า ในสำนวนของนายกันต์ ไม่มีชื่อ น.ส.เปิ้ล และ นายตูน อยู่เลย กลับไปมีชื่อ นายสัญญา ซึ่ง นายสัญญา เป็นใครก็ไม่รู้ นายกันต์ ชี้ให้จับนายสัญญา นายกันต์ เลยได้ลดโทษ
นายษิทรา กล่าวในรายการ “คนชนข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ทรูโฟร์ยู เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ระบุว่า ช่วงแรกนายกันต์ กล่าวในศาลว่า นายกันต์โทรศัพท์ไปหานายตูน นายตูน กล่าวว่า อยู่ปั๊มน้ำมันนี้ ตำรวจจึงไปจับกุม แต่พอซักค้านในศาล นายกันต์ กล่าวยอมรับว่า ในวันนั้น นายตูน และ น.ส.เปิ้ล ไม่มียาเสพติดอยู่ เห็น น.ส.เปิ้ล ถูกจับแล้วตำรวจเอายาเสพติดมาวางไว้ตรงหน้า แล้วกล่าวว่า “เนี่ย ยาของเอ็ง” น.ส.เปิ้ล กล่าวว่า ไม่ใช่ ท้ายที่สุด นายกันต์ เห็นว่า น.ส.เปิ้ล ต้องยอมรับในภายหลัง และนายกันต์ไม่เคยโทรศัพท์ไปคุยกับนายตูน ตามที่เบิกความตอนแรก
แต่ที่เบิกความไปเพราะมีสารวัตรนายหนึ่งเข้าไปเยี่ยมในเรือนจำ ยื่นข้อเสนอเพื่อให้นายกันต์ได้รับโทษลดลง แต่ต้องแลกกับการที่เขาเบิกความให้ในคดีที่นายตูน และ น.ส.เปิ้ล ขึ้นศาล ซึ่งนายกันต์ยังกล่าวอีกว่า เอกสารที่ตำรวจนำมาให้เซ็นตอนอยู่เรือนจำ เขาไม่ได้อ่านข้อความอะไรมาก่อนเลย และให้ยืนยันบุคคลในภาพถ่ายคือใคร ก็ยันยันตามที่ตำรวจบอก ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีพิรุธตรงที่ หากนายกันต์ถูกจับพร้อมกัน ควบคุมตัวอยู่บนโรงพักเดียวกัน 48 ชั่วโมง เอกสารใบนี้นายกันต์ต้องเซ็นชื่อตั้งแต่วันนั้นแล้ว แต่กลับไปทำเอกสารนี้หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 1 เดือน
สำหรับความคืบหน้าทางคดี ศาลจังหวัดสมุทรสาครยกฟ้องนายตูน แต่จำคุก น.ส.เปิ้ล เป็นเวลา 4 ปี แต่ก็ได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ขณะเดียวกัน คดีที่ 8 ตำรวจถูกนายตูน และ น.ส.เปิ้ล ฟ้องในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ได้มาถึง ป.ป.ท. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากคำซักค้านในศาล เพราะสถิติคดีทุกโรงพักจะต้องทำให้ได้ตามโควตาตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายมาว่าจะต้องทำได้ ห้ามต่ำกว่าเดือนที่แล้ว ซึ่งชุดจับกุมยอมรับในศาลว่ามีสถิติคดี ประการต่อมา หากตำรวจจับกุมคดียาเสพติดจะได้เงินสินบนนำจับ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี