คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1.ศาลยกฟ้อง 6 อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ชุมนุมไล่ “รัฐบาลสมัคร” ส่วนอีก 3 รอกำหนดโทษ 2 ปี ศาลชี้ พันธมิตรฯ ปราศรัยเป็นประโยชน์ต่อประชาชน!
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 78 ปี, นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 66 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 68 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 63 ปี, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 68 ปี, นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 41 ปี, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อายุ 64 ปี, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 57 ปี และนายเทิดภูมิ ใจดี อายุ 72 ปี อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฯลฯ ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ระบุว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 จำเลยทั้ง 9 คนซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้จัดชุมนุมใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง ก่อนนำกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนินมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล ได้ปิดการจราจรในถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ไปจนถึงสี่แยก จปร.เป็นที่ชุมนุมประท้วงไปจนถึงวันที่ 5 ต.ค. 2551 ส่วนบนเวทีปราศรัยจำเลยทั้ง 9 คน ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช หลังจากนั้นได้ร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนเคลื่อนกำลังในลักษณะ “ดาวกระจาย” ไปกดดันสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 นั้น เป็นการฟ้องซ้ำ เนื่องจากโจทก์เคยฟ้องและศาลมีคำพิพากษาในคดีร่วมกันบุกรุกทำเนียบรัฐบาลและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยอีก ส่วนจำเลยที่ 7-9 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 ร่วมชุมนุมในกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ทำให้การจราจรบางเส้นทางถูกปิดกั้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ
อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า “การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนทราบว่ารัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช อยู่ภายใต้การครอบงำและสั่งการของนายทักษิณ ชินวัตร และทราบถึงการกระทำของกลุ่มบุคคลในเครือข่ายระบอบทักษิณ รวมทั้งทราบถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ไม่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารราชการบ้านเมือง มีวาระซ่อนเร้นและเป็นการกระทำที่ขัดผลประโยชน์หลายเรื่อง การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และการกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116"
ศาลยังระบุด้วยว่า ข้อมูลที่กลุ่มพันธมิตรฯ ปราศรัยระหว่างการชุมนุม ปัจจุบันพบว่ามีมูลความจริงในหลายเรื่อง บางเรื่องมีการดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มบุคคลที่กระทำผิด และศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว ข้อมูลบางเรื่องต้องถือว่าเป็นประโยชน์และให้ความรู้แก่ประชาชน ทำให้ประชาชนตื่นรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้น และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เครือข่ายระบอบทักษิณมีกลุ่มที่ล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จริง การกระทำของพวกจำเลยถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประโยชน์ชาติในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี กรณีไม่อาจยกเว้นการกระทำซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายระบุว่าเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องได้
จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 7-9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เจตนาและเหตุผลในการกระทำ ประกอบอายุ ประวัติ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา และสุขภาพของจำเลยที่ 7-9 โดยรวมแล้ว กรณีเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 ด้วย
2.ศาลฎีกาพิพากษากลับจำคุก “ตู่ จตุพร” 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีปราศรัยหมิ่น “อภิสิทธิ์” สั่งฆ่าประชาชน!
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332
คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2552 ว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2552 นายจตุพร ได้ปราศรัยในที่ชุมนุม นปช.ใส่ความรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในขณะนั้นทำนองว่า โจทก์เป็นคนสั่งทหารให้ไปยิงประชาชน เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดฆ่าประชาชน ใส่ร้ายประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง สร้างสถานการณ์ที่กระทรวงมหาดไทยว่า ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงทุบรถ เป็นการจัดฉากของรัฐบาลทรราชฟันน้ำนมและเป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด โจทก์จะต้องถูกประหารชีวิต ข้อหาฆ่าคนตาย และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนที่ได้ฟังการปราศรัยของจำเลย
ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2555 ให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่า ในทางนำสืบรับฟังได้ว่า เป็นกรณีที่ได้มีการปราศรัย แถลงข่าววิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นการตอบโต้ทางการเมือง ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องเช่นกัน
ขณะที่ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเสร็จไปก่อนที่จะเกิดความไม่สงบที่กระทรวงมหาดไทย ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะสร้างสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก และไม่สมเหตุสมผลที่โจทก์จะต้องสร้างสถานการณ์ไม่สงบให้เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาลโจทก์ เมื่อพิจารณาภาพเหตุการณ์ประกอบหนังสือพิมพ์ ปรากฏว่า วันดังกล่าวมีกลุ่มคนสวมเสื้อแดงรุมทุบทำลายรถนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ หากรัฐบาลโจทก์จัดฉาก ก็น่าจะนำนายนิพนธ์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลออกไปพร้อมโจทก์ด้วย ไม่น่าจะจัดฉากสร้างสถานการณ์ ข้ออ้างไม่มีน้ำหนัก การกล่าวปราศรัยของจำเลยไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี พร้อมให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เดลินิวส์ มติชน ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยชำระค่าโฆษณา
หลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ได้คุมตัวนายจตุพรที่ยังคงมีสีหน้ายิ้มแย้ม ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาต่อไป
3.ศาลอ่านคำพิพากษามาราธอน 12 ชม.คดีค้ามนุษย์โรฮีนจา จำเลยกว่า 100 คน “พล.ท.มนัส” เจอคุก 27 ปี ขณะที่ “โกโต้ง” หนักกว่า 75 ปี!
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา รวม 11 สำนวน ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยรวม 103 คน โดยหนึ่งในนั้นมี พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก รวมอยู่ด้วย เป็นจำเลยที่ 54
โดยในส่วนของ พล.ท.มนัสนั้น ศาลพิพากษาว่า มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ได้รับผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลผู้กระทำความผิดในการค้ามนุษย์ไม่ให้ถูกจับกุม การกระทำนั้นจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และมีส่วนร่วมเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษ 2 เท่าของความผิดนั้น ให้จำคุก 8 ปี ฐานค้ามนุษย์อายุเกิน 18 ปี ค้ามนุษย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดค้ามนุษย์ ให้รับโทษสองเท่า จำคุก 12 ปี ฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อการค้ามนุษย์อายุเกิน 18 ปี ให้จำคุก 6 ปี ให้ที่พักพิงต่างด้าว ให้จำคุก 1 ปี รวมจำคุก พล.ท.มนัส 27 ปี
ขณะที่นายปัจจุบัน หรือโกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล จำเลยที่ 29 ศาลพิพากษาจำคุก 75 ปี ส่วนจำเลยรายอื่นๆ เช่น นายบรรจง หรือจง ปองผล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 1 นายอ่าสัน หรือหมู่สัน หรือบังสัน อินทธนู อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 2 นายประสิทธิ์ หรือเดช หรือบังเบส หรือบังเค เหล็มเหล๊ะ อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 6 ศาลพิพากษาจำคุกคนละ 78 ปี โดยจำเลยที่ศาลพิพากษาจำคุกเกิน 50 ปี ให้ลงโทษจำคุก 50 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย 62 คน โดยได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 4- 94 ปี และยกฟ้องจำเลยทั้งสิ้น 40 คน แต่ให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์ 28 คน โดยให้จำเลยที่ศาลวินิจฉัยว่ามีความผิดฐานค้ามนุษย์ ร่วมกันชดใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายชาวโรฮีนจา 58 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,400,250 บาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า องค์คณะผู้พิพากษา 9 คนได้ใช้เวลาอ่านคำพิพากษาคดีนี้ที่มีจำนวนมากกว่า 500 หน้า ยาวนานถึง 12 ชั่วโมง
4.ศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายคดี “ยิ่งลักษณ์” ปล่อยปละให้มีการทุจริตจำนำข้าว นัดพิพากษาพร้อมคดี “บุญทรง” กับพวก 25 ส.ค.นี้!
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย คดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 4 แสนล้านบาท โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นขอแถลงปิดคดีด้วยวาจาหลังการไต่สวนพยานเสร็จสิ้น
สำหรับการไต่สวนพยานจำเลยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีมวลชนเดินทางมารอให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประมาณ 400-500 คน นอกจากนี้ยังมีแกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส.พรรคหลายสิบคนเดินทางมาให้กำลังใจด้วย
ด้าน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อยที่บริเวณศาล พร้อมจัดกำลังตำรวจหลายหน่วยมาคอยดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ก่อนฝากเตือนมวลชนที่มาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ระมัดระวังเรื่องการแสดงออก พร้อมพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยเพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยของมวลชนด้วย
ทั้งนี้ หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงศาล ได้ทักทายประชาชนที่มารอให้กำลังใจ พร้อมปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อ โดยระบุว่าเวลาไม่พอ จากนั้นได้ถ่ายรูปร่วมกับแกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีต ส.ส.ก่อนเดินเข้าไปภายในอาคารศาลฎีกาฯ
ส่วนบรรยากาศการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย พยานจำเลยปากแรกคือ นายพศดิษ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญที่เกษียณแล้ว ได้เบิกความยืนยันถึงขั้นตอนการจ่ายข้าวออกจากคลังสินค้า ว่ามีการตรวจสอบตามขั้นตอนและคู่มือที่กรมการค้าภายในกำหนด และทุกครั้งที่มีการมารับข้าวจะต้องมีเอกสารหรือตั๋วมายืนยันโดยลงชื่อและเลขรหัสไว้ด้วย และว่า การตรวจสอบของคณะกรรมการ 100 ชุดของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั้นทำขั้นตอนการแทงข้าวไม่ถูกวิธี จึงกลายเป็นว่ามีข้าวหักและเสียมาก
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่ามีข้าวของกัมพูชาปลอมปนนั้น พยานระบุว่า ลักษณะข้าวของกัมพูชากับไทยแตกต่างกันชัดเจน ซึ่งข้าวของกัมพูชามีลักษณะเม็ดตรง ป้อม แต่ข้าวไทยเม็ดมีลักษณะงอนหัวและท้าย ยืนยันไม่มีการนำข้าวกัมพูชามาปะปนในโครงการ และระหว่างการดำเนินโครงการจำนำข้าวก็มีการสั่งตรวจเข้มตามแนวชายแดนเพื่อเฝ้าระวังด้วย
อย่างไรก็ตาม พยานได้ตอบการซักค้านของอัยการโจทก์ โดยยอมรับว่า พยานเคยถูกลงโทษทางวินัยเมื่อปี 2548 โดยถูกตัดเงินเดือนร้อยละ 10 เป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากส่งเอกสารใบประทวนล่าช้า แต่การลงโทษนั้นไม่ใช่การกระทำระหว่างโครงการจำนำข้าว
ส่วนพยานจำเลยปากที่ 2 คือ นายชนุตร์ปกรณ์ วงษ์สีนิล อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) ปี 2556 ที่เบิกความสรุปขั้นตอนการบันทึกข้อมูลการรับเข้า-ออกจากคลังสินค้า ซึ่งระบบสารสนเทศที่เคยดูแลประมวลผลได้วันต่อวัน
จากนั้น พยานได้ตอบการซักค้านของอัยการว่า ที่ตนถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่บริษัทเอกชนกล่าวหารับเงิน 30 ล้านบาทช่วยเหลือการคืนข้าวที่ล่าช้า เหตุที่ตนถูกร้องเพราะถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากเอกชนจะให้ช่วยเหลือเรื่องเงินค่าปรับ แต่ตนไม่รับ ซึ่งเคยให้การ ปปช.แล้ว ส่วนที่เคยมีทนายคนนอกไม่ใช่ลูกจ้าง อคส.มาตรวจสอบเอกสารก่อนส่ง ปปช.เรื่องการตรวจสอบการจำนำข้าวนั้น นายชนุตร์ปกรณ์กล่าวว่า เป็นคำสั่งของผู้ใหญ่ในกระทรวงผ่านมาทางผู้อำนวยการ อคส.คนก่อนโดยให้ตนดูแลความสะดวก
ทั้งนี้ หลังศาลไต่สวนพยานจำเลยปากสุดท้ายแล้วเสร็จ ศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาว่า คดีนี้ศาลไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลยรวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีนี้ ศาลให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มอย่างเต็มที่ โดยโจทก์ยื่นบัญชีเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด ศาลอนุญาตให้จำเลยแถลงปิดคดีด้วยวาจาวันที่ 1 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น.และอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี เป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวหลังไต่สวนพยานปากสุดท้ายเสร็จ โดยขอบคุณประชาชนที่มาให้กำลังใจ พร้อมขอไม่ให้สัมภาษณ์ เนื่องจากคงมีข้อสรุปกันแล้ว และชวนให้ติดตามการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของตนในวันที่ 1 ส.ค.นี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาลฎีกาฯ นัดพิพากษาคดีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ตรงกับสำนวนคดีที่นายบุญทรง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 28 ราย ถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีทุจริตระบายข้าว เนื่องจากข้อเท็จจริงหลักฐานที่เสนอในคดีมีความเชื่อมโยงกัน อีกทั้งองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวน มีจำนวน 5 คนที่ร่วมพิจารณาทั้งสองสำนวน
5.เจ้าหน้าที่รวบ 8 ผู้ต้องหาทีมฆ่ายกครัว 8 ศพที่กระบี่แล้ว “บังฟัต” นายทุนเงินกู้หัวโจก พบชนวนเหตุขัดแย้งจำนองที่ดิน!
ความคืบหน้ากรณีกลุ่มคนร้ายแต่งกายลายพรางทำทีขอเข้าตรวจบ้านนายวรยุทธ สังหลัง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ก่อนใช้ปืนจ่อยิงนายวรยุทธพร้อมครอบครัวและญาติ จนเสียชีวิต 8 ศพ และบาดเจ็บอีก 3 ราย ก่อนขโมยรถยนต์นายวรยุทธหลบหนีไปด้วยเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 10 ก.ค.นั้น ล่าสุด เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ได้แล้วรวม 8 คน
โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ค. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวจับกุมผู้ต้องหาที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกระบี่ โดยกล่าวว่า ชนวนเหตุการฆ่ายกครัวครั้งนี้มาจากการขายฝากที่ดินและขัดแย้งส่วนตัว เนื่องจากนายวรยุทธนำที่ดินไปขายฝากกับนายซูริก์ฟัต หรือบังฟัต หรือรอฟัต บ้านนบ (ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น บ้านนบวงศ์สกุล) ซึ่งเป็นนายทุนเงินกู้และรับจำนำบ้านและที่ดิน มูลค่า 3-4 ล้านบาท จากนั้นบังฟัตนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองต่อ เมื่อถึงเวลาไถ่ถอน นายวรยุทธนำเงินมาไถ่ถอนที่ดินคืน แต่นายบังฟัตไม่คืนโฉนดที่ดินให้ จึงเกิดการทะเลาะมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงมา 3 ครั้งแล้ว ซึ่งนายบังฟัตอ้างว่า นายวรยุทธขู่จะฆ่ายกครัวฝ่ายตน ตนจึงชิงลงมือก่อน โดยจ้างทีมงานคนละ 1,000 บาทต่อครั้ง พร้อมบอกทีมงานว่าไปทวงหนี้ แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งครั้งนี้ครั้งที่ 4 รุนแรงถึงขั้นฆ่ายกครัวกัน
ทั้งนี้ จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า นายบังฟัตวางแผนจัดฉากว่านายวรยุทธมีปัญหาหนี้สิน เรื่องส่วนตัว มีความเครียด จึงฆ่าลูกเมียและคนในบ้านหมด จากนั้นยิงตัวเองตายตาม แล้วยัดปืนกระบอกที่ใช้ยิงใส่ในมือนายวรยุทธ แต่เผอิญคนที่ถูกยิงเสียชีวิตไม่หมด จึงเป็นพยานได้ว่านายวรยุทธไม่ใช่คนยิงครอบครัวตัวเอง ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นที่ร่วมก่อเหตุ มีอาชีพเป็น รปภ.บ้าง รับจ้างกรีดยาง ทำสวน ซึ่งให้การรับสารภาพโดยอ้างว่า ถูกหลอกมาให้ทวงหนี้เท่านั้น
พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวด้วยว่า “กลุ่มคนร้ายกลุ่มนี้เป็นผู้มีอิทธิพล โดยนายบังฟัตเป็นตัวสำคัญตัวหลัก แนวทางสืบสวนชี้ชัดแล้วว่า นายบังฟัตคิดเองทำเองลงมือเอง ส่วนลูกน้องที่ไปด้วยได้ค่าจ้างคนละ 1,000 บาท ทั้งหมดบอกว่าโดนหลอกให้ไปร่วมด้วย ไม่มีทหาร ไม่มีตำรวจเกี่ยวข้องแน่นอน เขาอำมหิตโหดเหี้ยมมาก ตั้งใจทำแบบนี้มาแล้วถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปลายปี 2559 ผู้ตายเอาเงินไปไถ่คืนแล้ว แต่กลับไม่ให้โฉนดที่ดินคืน ผมไม่จำเป็นต้องตอบว่าทำไมต้องฆ่าบานปลายหรือฆ่าเด็ก สิ่งที่ทำอยู่มันตอกย้ำแล้วว่า แก๊งคนร้ายกลุ่มนี้ต้องโดนศาลพิพากษาประหารชีวิตแน่นอน” พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวอีกว่า หลักฐานเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถ อาวุธปืนของนายวรยุทธที่หายไป รถยนต์โตโยต้ายาริสของนายวรยุทธที่คนร้ายนำไปเผาในพื้นที่ จ.พังงา เจ้าหน้าที่ก็ได้มาแล้ว
สำหรับรายชื่อผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ประกอบด้วย 1.นายซูริก์ฟัต หรือบังฟัต บ้านนบวงศ์สกุล 2.น.ส.ชลิตา (ขอสงวนนามสกุล) 3.นายประจักษ์ บุญทอย 4.นายคมสรรค์ เวียงนนท์ 5.นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ 6.นายธวัฒชัย บุญคง 7.นายอรุณ ทองคำ 8.นายธนชัย จำนอง
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้กล่าวชื่นชมการทำงานของตำรวจและทุกหน่วยงานทุกคนที่สามารถจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุครั้งนี้ได้ พร้อมขอให้สังคมช่วยกันชื่นชมตำรวจ จะได้มีกำลังใจในการทำงาน ไม่ใช่ให้ตนชื่นชมอยู่คนเดียว พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวว่าคนร้ายแต่งกายคล้ายทหาร อาจทำให้คนเข้าใจว่าทหารเกี่ยวข้องว่า “มีใครจะขอโทษผมไหม จะขอโทษทหารเขาไหม ใครจะมาขอโทษบ้าง สื่อมวลชนไม่เห็นจะมีเลย ผมก็นึกอยู่ว่า ใครที่แต่งชุดทหารแล้วไปฆ่าคน ผมว่าไอ้นี่มันโง่นะ มันสมควรแล้ว...”
6.“เณรคำ” ถูกจับสึกและเข้าคุกแล้ว หลังสหรัฐฯ ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ด้านศาลแพ่งสั่งยึดทรัพย์ 43 ล้าน!
ความคืบหน้ากรณีศาลชั้นต้น รัฐบาลแห่งแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีคำสั่งให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนายวิรพล สุขผล อดีตพระวิรพล ฉัตติโก หรือพระเณรคำ อดีตประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ในข้อหาพรากผู้เยาว์, กระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน และนายวิรพลไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวนายวิรพลที่สหรัฐอเมริกานั้น
ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอและพนักงานอัยการได้นำตัวนายวิรพลเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อเวลา 21.55 น.วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยนายวิรพลยังห่มจีวรอยู่ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้คุมตัวจากสนามบินสุวรรณภูมิไปสอบที่สำนักงานดีเอสไอ ต่อมา เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ได้แจ้งแสดงคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษให้นายวิรพลรับทราบ เพื่อสละสมณเพศ ซึ่งนายวิรพลกล่าวยอมรับคำสั่งของเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และยอมปลดจีวรด้วยตัวเอง
วันรุ่งขึ้น(20 ก.ค.) พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้นำตัวนายวิรพลส่งให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อนำตัวฟ้องต่อศาลอาญา ต่อมา เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวการสั่งฟ้องนายวิรพล โดยอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง 2 คดี คดีที่ 1 ฐานความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี และกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ส่วนข้อหาทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และพาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อการอนาจารนั้น อัยการสั่งยุติดำเนินคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความแล้ว ส่วนคดีที่ 2 อัยการสั่งฟ้องนายวิรพลฐานนำข้อมูลปลอมหรือเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และข้อหาฟอกเงิน
ทั้งนี้ ท้ายฟ้อง อัยการขอให้ศาลสั่งให้นายวิรพล จำเลย คืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหาย 29 คน รวมเป็นเงิน 28.6 ล้านบาทเศษด้วย นอกจากนี้ยังขอให้ศาลนับโทษทั้ง 2 คดีต่อจากกัน พร้อมคัดค้านการให้ประกันตัวในศาล เนื่องจากนายวิรพลเคยมีพฤติการณ์จะหลบหนี จึงเกรงว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว จะหลบหนีอีก
หลังอัยการนำตัวนายวิรพลยื่นฟ้องต่อศาลอาญา นายวิรพลได้ให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดีทั้ง 2 สำนวน ด้านศาลนัดตรวจพยานหลักฐานทั้งสองคดีในวันที่ 18 ก.ย.เวลา 09.00 น. หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายวิรพลไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากนายวิรพลยังไม่ได้ยื่นประกันตัว
นอกจากนี้ วันเดียวกัน(20 ก.ค.) ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 3 ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินมูลค่า 43 ล้านบาท ของนายวิรพลกับพวก 8 คน ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เนื่องจากศาลเห็นว่า นายวิรพลกับพวกทั้ง 8 คน ไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินได้ ขณะที่นายวิรพลบวชเป็นพระ มีรายได้จากประชาชนที่มาทำบุญ ไม่ได้มีรายได้จากแหล่งอื่น จึงเชื่อว่าทรัพย์สิน 27 รายการ อาทิ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รถหรูปอร์เช่ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด จึงให้ทรัพย์สินทั้ง 27 รายการ มูลค่า 43 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ด้านนายสมชาติ วงศ์ธราธร ทนายความ กล่าวว่า ขณะนี้ น.ส.สลักจิต อ่ำพิพัฒน์ อายุ 32 ปี อดีตภรรยาของนายวิรพลหรือเณรคำ พักอยู่ที่บ้านของตน เนื่องจากหลังเณรคำมีปัญหา น.ส.สลักจิตกับลูกชาย ที่ตอนนี้อายุ 15 ปีแล้ว เดือดร้อนอย่างหนัก เพราะต้องรับภาระด้านการดำรงชีพ และต้องรับผิดชอบทั้งลูกชายและยาย ตนสงสาร จึงปรึกษากับภรรยา และให้ความช่วยเหลือด้วยการรับเข้าทำงานเป็นแม่บ้าน พร้อมส่งเสียลูกชายให้ได้เรียนหนังสือ ยืนยันว่า ไม่ได้มีการอุ้มหรือนำสองแม่ลูกหลบหนีมาหลังจากเณรคำถูกจับกุมได้และนำตัวกลับมา เพื่อจะต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสองแม่ลูกมาอยู่กับตนตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ส่วนคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนั้น มี 2 คดีคือ น.ส.สลักจิตฟ้องร้องข้อหาข่มขืนและพรากผู้เยาว์ เรียกค่าเสียหายจากเณรคำ 100 ล้านบาท เมื่อปี 2550 และคดีบุตรชาย ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร 40 ล้านบาท
ด้าน น.ส.สลักจิต กล่าวว่า ชีวิตช่วงนั้นลำบากมาก เพราะต้องดูแลทั้งลูกและยายที่อายุมาก ไม่มีงานทำ โชคดีที่ทนายความและเมียสงสาร รับเข้าทำงาน ช่วยเหลือตนมาโดยตลอดจนทุกวันนี้ ยอมรับว่าตอนนี้มีครอบครัวและแฟนใหม่แล้ว แต่ไม่ขอให้รายละเอียด ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ ไม่ขอตอบ เพราะทุกอย่างมอบให้ทนายความเป็นคนดำเนินการทั้งหมด
1.ศาลยกฟ้อง 6 อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ชุมนุมไล่ “รัฐบาลสมัคร” ส่วนอีก 3 รอกำหนดโทษ 2 ปี ศาลชี้ พันธมิตรฯ ปราศรัยเป็นประโยชน์ต่อประชาชน!
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 78 ปี, นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 66 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 68 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 63 ปี, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 68 ปี, นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 41 ปี, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อายุ 64 ปี, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 57 ปี และนายเทิดภูมิ ใจดี อายุ 72 ปี อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฯลฯ ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ระบุว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 จำเลยทั้ง 9 คนซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้จัดชุมนุมใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง ก่อนนำกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนินมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล ได้ปิดการจราจรในถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ไปจนถึงสี่แยก จปร.เป็นที่ชุมนุมประท้วงไปจนถึงวันที่ 5 ต.ค. 2551 ส่วนบนเวทีปราศรัยจำเลยทั้ง 9 คน ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช หลังจากนั้นได้ร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนเคลื่อนกำลังในลักษณะ “ดาวกระจาย” ไปกดดันสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 นั้น เป็นการฟ้องซ้ำ เนื่องจากโจทก์เคยฟ้องและศาลมีคำพิพากษาในคดีร่วมกันบุกรุกทำเนียบรัฐบาลและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยอีก ส่วนจำเลยที่ 7-9 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 ร่วมชุมนุมในกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ทำให้การจราจรบางเส้นทางถูกปิดกั้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ
อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า “การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนทราบว่ารัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช อยู่ภายใต้การครอบงำและสั่งการของนายทักษิณ ชินวัตร และทราบถึงการกระทำของกลุ่มบุคคลในเครือข่ายระบอบทักษิณ รวมทั้งทราบถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ไม่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารราชการบ้านเมือง มีวาระซ่อนเร้นและเป็นการกระทำที่ขัดผลประโยชน์หลายเรื่อง การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และการกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116"
ศาลยังระบุด้วยว่า ข้อมูลที่กลุ่มพันธมิตรฯ ปราศรัยระหว่างการชุมนุม ปัจจุบันพบว่ามีมูลความจริงในหลายเรื่อง บางเรื่องมีการดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มบุคคลที่กระทำผิด และศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว ข้อมูลบางเรื่องต้องถือว่าเป็นประโยชน์และให้ความรู้แก่ประชาชน ทำให้ประชาชนตื่นรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้น และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เครือข่ายระบอบทักษิณมีกลุ่มที่ล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จริง การกระทำของพวกจำเลยถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประโยชน์ชาติในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี กรณีไม่อาจยกเว้นการกระทำซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายระบุว่าเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องได้
จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 7-9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เจตนาและเหตุผลในการกระทำ ประกอบอายุ ประวัติ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา และสุขภาพของจำเลยที่ 7-9 โดยรวมแล้ว กรณีเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 ด้วย
2.ศาลฎีกาพิพากษากลับจำคุก “ตู่ จตุพร” 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีปราศรัยหมิ่น “อภิสิทธิ์” สั่งฆ่าประชาชน!
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332
คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2552 ว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2552 นายจตุพร ได้ปราศรัยในที่ชุมนุม นปช.ใส่ความรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในขณะนั้นทำนองว่า โจทก์เป็นคนสั่งทหารให้ไปยิงประชาชน เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดฆ่าประชาชน ใส่ร้ายประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง สร้างสถานการณ์ที่กระทรวงมหาดไทยว่า ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงทุบรถ เป็นการจัดฉากของรัฐบาลทรราชฟันน้ำนมและเป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด โจทก์จะต้องถูกประหารชีวิต ข้อหาฆ่าคนตาย และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนที่ได้ฟังการปราศรัยของจำเลย
ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2555 ให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่า ในทางนำสืบรับฟังได้ว่า เป็นกรณีที่ได้มีการปราศรัย แถลงข่าววิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นการตอบโต้ทางการเมือง ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องเช่นกัน
ขณะที่ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเสร็จไปก่อนที่จะเกิดความไม่สงบที่กระทรวงมหาดไทย ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะสร้างสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก และไม่สมเหตุสมผลที่โจทก์จะต้องสร้างสถานการณ์ไม่สงบให้เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาลโจทก์ เมื่อพิจารณาภาพเหตุการณ์ประกอบหนังสือพิมพ์ ปรากฏว่า วันดังกล่าวมีกลุ่มคนสวมเสื้อแดงรุมทุบทำลายรถนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ หากรัฐบาลโจทก์จัดฉาก ก็น่าจะนำนายนิพนธ์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลออกไปพร้อมโจทก์ด้วย ไม่น่าจะจัดฉากสร้างสถานการณ์ ข้ออ้างไม่มีน้ำหนัก การกล่าวปราศรัยของจำเลยไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี พร้อมให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เดลินิวส์ มติชน ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยชำระค่าโฆษณา
หลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ได้คุมตัวนายจตุพรที่ยังคงมีสีหน้ายิ้มแย้ม ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาต่อไป
3.ศาลอ่านคำพิพากษามาราธอน 12 ชม.คดีค้ามนุษย์โรฮีนจา จำเลยกว่า 100 คน “พล.ท.มนัส” เจอคุก 27 ปี ขณะที่ “โกโต้ง” หนักกว่า 75 ปี!
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา รวม 11 สำนวน ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยรวม 103 คน โดยหนึ่งในนั้นมี พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก รวมอยู่ด้วย เป็นจำเลยที่ 54
โดยในส่วนของ พล.ท.มนัสนั้น ศาลพิพากษาว่า มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ได้รับผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลผู้กระทำความผิดในการค้ามนุษย์ไม่ให้ถูกจับกุม การกระทำนั้นจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และมีส่วนร่วมเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษ 2 เท่าของความผิดนั้น ให้จำคุก 8 ปี ฐานค้ามนุษย์อายุเกิน 18 ปี ค้ามนุษย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดค้ามนุษย์ ให้รับโทษสองเท่า จำคุก 12 ปี ฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อการค้ามนุษย์อายุเกิน 18 ปี ให้จำคุก 6 ปี ให้ที่พักพิงต่างด้าว ให้จำคุก 1 ปี รวมจำคุก พล.ท.มนัส 27 ปี
ขณะที่นายปัจจุบัน หรือโกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล จำเลยที่ 29 ศาลพิพากษาจำคุก 75 ปี ส่วนจำเลยรายอื่นๆ เช่น นายบรรจง หรือจง ปองผล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 1 นายอ่าสัน หรือหมู่สัน หรือบังสัน อินทธนู อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 2 นายประสิทธิ์ หรือเดช หรือบังเบส หรือบังเค เหล็มเหล๊ะ อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 6 ศาลพิพากษาจำคุกคนละ 78 ปี โดยจำเลยที่ศาลพิพากษาจำคุกเกิน 50 ปี ให้ลงโทษจำคุก 50 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย 62 คน โดยได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 4- 94 ปี และยกฟ้องจำเลยทั้งสิ้น 40 คน แต่ให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์ 28 คน โดยให้จำเลยที่ศาลวินิจฉัยว่ามีความผิดฐานค้ามนุษย์ ร่วมกันชดใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายชาวโรฮีนจา 58 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,400,250 บาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า องค์คณะผู้พิพากษา 9 คนได้ใช้เวลาอ่านคำพิพากษาคดีนี้ที่มีจำนวนมากกว่า 500 หน้า ยาวนานถึง 12 ชั่วโมง
4.ศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายคดี “ยิ่งลักษณ์” ปล่อยปละให้มีการทุจริตจำนำข้าว นัดพิพากษาพร้อมคดี “บุญทรง” กับพวก 25 ส.ค.นี้!
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย คดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 4 แสนล้านบาท โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นขอแถลงปิดคดีด้วยวาจาหลังการไต่สวนพยานเสร็จสิ้น
สำหรับการไต่สวนพยานจำเลยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีมวลชนเดินทางมารอให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประมาณ 400-500 คน นอกจากนี้ยังมีแกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส.พรรคหลายสิบคนเดินทางมาให้กำลังใจด้วย
ด้าน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อยที่บริเวณศาล พร้อมจัดกำลังตำรวจหลายหน่วยมาคอยดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ก่อนฝากเตือนมวลชนที่มาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ระมัดระวังเรื่องการแสดงออก พร้อมพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยเพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยของมวลชนด้วย
ทั้งนี้ หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงศาล ได้ทักทายประชาชนที่มารอให้กำลังใจ พร้อมปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อ โดยระบุว่าเวลาไม่พอ จากนั้นได้ถ่ายรูปร่วมกับแกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีต ส.ส.ก่อนเดินเข้าไปภายในอาคารศาลฎีกาฯ
ส่วนบรรยากาศการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย พยานจำเลยปากแรกคือ นายพศดิษ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญที่เกษียณแล้ว ได้เบิกความยืนยันถึงขั้นตอนการจ่ายข้าวออกจากคลังสินค้า ว่ามีการตรวจสอบตามขั้นตอนและคู่มือที่กรมการค้าภายในกำหนด และทุกครั้งที่มีการมารับข้าวจะต้องมีเอกสารหรือตั๋วมายืนยันโดยลงชื่อและเลขรหัสไว้ด้วย และว่า การตรวจสอบของคณะกรรมการ 100 ชุดของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั้นทำขั้นตอนการแทงข้าวไม่ถูกวิธี จึงกลายเป็นว่ามีข้าวหักและเสียมาก
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่ามีข้าวของกัมพูชาปลอมปนนั้น พยานระบุว่า ลักษณะข้าวของกัมพูชากับไทยแตกต่างกันชัดเจน ซึ่งข้าวของกัมพูชามีลักษณะเม็ดตรง ป้อม แต่ข้าวไทยเม็ดมีลักษณะงอนหัวและท้าย ยืนยันไม่มีการนำข้าวกัมพูชามาปะปนในโครงการ และระหว่างการดำเนินโครงการจำนำข้าวก็มีการสั่งตรวจเข้มตามแนวชายแดนเพื่อเฝ้าระวังด้วย
อย่างไรก็ตาม พยานได้ตอบการซักค้านของอัยการโจทก์ โดยยอมรับว่า พยานเคยถูกลงโทษทางวินัยเมื่อปี 2548 โดยถูกตัดเงินเดือนร้อยละ 10 เป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากส่งเอกสารใบประทวนล่าช้า แต่การลงโทษนั้นไม่ใช่การกระทำระหว่างโครงการจำนำข้าว
ส่วนพยานจำเลยปากที่ 2 คือ นายชนุตร์ปกรณ์ วงษ์สีนิล อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) ปี 2556 ที่เบิกความสรุปขั้นตอนการบันทึกข้อมูลการรับเข้า-ออกจากคลังสินค้า ซึ่งระบบสารสนเทศที่เคยดูแลประมวลผลได้วันต่อวัน
จากนั้น พยานได้ตอบการซักค้านของอัยการว่า ที่ตนถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่บริษัทเอกชนกล่าวหารับเงิน 30 ล้านบาทช่วยเหลือการคืนข้าวที่ล่าช้า เหตุที่ตนถูกร้องเพราะถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากเอกชนจะให้ช่วยเหลือเรื่องเงินค่าปรับ แต่ตนไม่รับ ซึ่งเคยให้การ ปปช.แล้ว ส่วนที่เคยมีทนายคนนอกไม่ใช่ลูกจ้าง อคส.มาตรวจสอบเอกสารก่อนส่ง ปปช.เรื่องการตรวจสอบการจำนำข้าวนั้น นายชนุตร์ปกรณ์กล่าวว่า เป็นคำสั่งของผู้ใหญ่ในกระทรวงผ่านมาทางผู้อำนวยการ อคส.คนก่อนโดยให้ตนดูแลความสะดวก
ทั้งนี้ หลังศาลไต่สวนพยานจำเลยปากสุดท้ายแล้วเสร็จ ศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาว่า คดีนี้ศาลไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลยรวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีนี้ ศาลให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มอย่างเต็มที่ โดยโจทก์ยื่นบัญชีเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด ศาลอนุญาตให้จำเลยแถลงปิดคดีด้วยวาจาวันที่ 1 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น.และอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี เป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวหลังไต่สวนพยานปากสุดท้ายเสร็จ โดยขอบคุณประชาชนที่มาให้กำลังใจ พร้อมขอไม่ให้สัมภาษณ์ เนื่องจากคงมีข้อสรุปกันแล้ว และชวนให้ติดตามการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของตนในวันที่ 1 ส.ค.นี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาลฎีกาฯ นัดพิพากษาคดีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ตรงกับสำนวนคดีที่นายบุญทรง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 28 ราย ถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีทุจริตระบายข้าว เนื่องจากข้อเท็จจริงหลักฐานที่เสนอในคดีมีความเชื่อมโยงกัน อีกทั้งองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวน มีจำนวน 5 คนที่ร่วมพิจารณาทั้งสองสำนวน
5.เจ้าหน้าที่รวบ 8 ผู้ต้องหาทีมฆ่ายกครัว 8 ศพที่กระบี่แล้ว “บังฟัต” นายทุนเงินกู้หัวโจก พบชนวนเหตุขัดแย้งจำนองที่ดิน!
ความคืบหน้ากรณีกลุ่มคนร้ายแต่งกายลายพรางทำทีขอเข้าตรวจบ้านนายวรยุทธ สังหลัง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ก่อนใช้ปืนจ่อยิงนายวรยุทธพร้อมครอบครัวและญาติ จนเสียชีวิต 8 ศพ และบาดเจ็บอีก 3 ราย ก่อนขโมยรถยนต์นายวรยุทธหลบหนีไปด้วยเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 10 ก.ค.นั้น ล่าสุด เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ได้แล้วรวม 8 คน
โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ค. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวจับกุมผู้ต้องหาที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกระบี่ โดยกล่าวว่า ชนวนเหตุการฆ่ายกครัวครั้งนี้มาจากการขายฝากที่ดินและขัดแย้งส่วนตัว เนื่องจากนายวรยุทธนำที่ดินไปขายฝากกับนายซูริก์ฟัต หรือบังฟัต หรือรอฟัต บ้านนบ (ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น บ้านนบวงศ์สกุล) ซึ่งเป็นนายทุนเงินกู้และรับจำนำบ้านและที่ดิน มูลค่า 3-4 ล้านบาท จากนั้นบังฟัตนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองต่อ เมื่อถึงเวลาไถ่ถอน นายวรยุทธนำเงินมาไถ่ถอนที่ดินคืน แต่นายบังฟัตไม่คืนโฉนดที่ดินให้ จึงเกิดการทะเลาะมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงมา 3 ครั้งแล้ว ซึ่งนายบังฟัตอ้างว่า นายวรยุทธขู่จะฆ่ายกครัวฝ่ายตน ตนจึงชิงลงมือก่อน โดยจ้างทีมงานคนละ 1,000 บาทต่อครั้ง พร้อมบอกทีมงานว่าไปทวงหนี้ แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งครั้งนี้ครั้งที่ 4 รุนแรงถึงขั้นฆ่ายกครัวกัน
ทั้งนี้ จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า นายบังฟัตวางแผนจัดฉากว่านายวรยุทธมีปัญหาหนี้สิน เรื่องส่วนตัว มีความเครียด จึงฆ่าลูกเมียและคนในบ้านหมด จากนั้นยิงตัวเองตายตาม แล้วยัดปืนกระบอกที่ใช้ยิงใส่ในมือนายวรยุทธ แต่เผอิญคนที่ถูกยิงเสียชีวิตไม่หมด จึงเป็นพยานได้ว่านายวรยุทธไม่ใช่คนยิงครอบครัวตัวเอง ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นที่ร่วมก่อเหตุ มีอาชีพเป็น รปภ.บ้าง รับจ้างกรีดยาง ทำสวน ซึ่งให้การรับสารภาพโดยอ้างว่า ถูกหลอกมาให้ทวงหนี้เท่านั้น
พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวด้วยว่า “กลุ่มคนร้ายกลุ่มนี้เป็นผู้มีอิทธิพล โดยนายบังฟัตเป็นตัวสำคัญตัวหลัก แนวทางสืบสวนชี้ชัดแล้วว่า นายบังฟัตคิดเองทำเองลงมือเอง ส่วนลูกน้องที่ไปด้วยได้ค่าจ้างคนละ 1,000 บาท ทั้งหมดบอกว่าโดนหลอกให้ไปร่วมด้วย ไม่มีทหาร ไม่มีตำรวจเกี่ยวข้องแน่นอน เขาอำมหิตโหดเหี้ยมมาก ตั้งใจทำแบบนี้มาแล้วถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปลายปี 2559 ผู้ตายเอาเงินไปไถ่คืนแล้ว แต่กลับไม่ให้โฉนดที่ดินคืน ผมไม่จำเป็นต้องตอบว่าทำไมต้องฆ่าบานปลายหรือฆ่าเด็ก สิ่งที่ทำอยู่มันตอกย้ำแล้วว่า แก๊งคนร้ายกลุ่มนี้ต้องโดนศาลพิพากษาประหารชีวิตแน่นอน” พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวอีกว่า หลักฐานเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถ อาวุธปืนของนายวรยุทธที่หายไป รถยนต์โตโยต้ายาริสของนายวรยุทธที่คนร้ายนำไปเผาในพื้นที่ จ.พังงา เจ้าหน้าที่ก็ได้มาแล้ว
สำหรับรายชื่อผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ประกอบด้วย 1.นายซูริก์ฟัต หรือบังฟัต บ้านนบวงศ์สกุล 2.น.ส.ชลิตา (ขอสงวนนามสกุล) 3.นายประจักษ์ บุญทอย 4.นายคมสรรค์ เวียงนนท์ 5.นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ 6.นายธวัฒชัย บุญคง 7.นายอรุณ ทองคำ 8.นายธนชัย จำนอง
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้กล่าวชื่นชมการทำงานของตำรวจและทุกหน่วยงานทุกคนที่สามารถจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุครั้งนี้ได้ พร้อมขอให้สังคมช่วยกันชื่นชมตำรวจ จะได้มีกำลังใจในการทำงาน ไม่ใช่ให้ตนชื่นชมอยู่คนเดียว พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวว่าคนร้ายแต่งกายคล้ายทหาร อาจทำให้คนเข้าใจว่าทหารเกี่ยวข้องว่า “มีใครจะขอโทษผมไหม จะขอโทษทหารเขาไหม ใครจะมาขอโทษบ้าง สื่อมวลชนไม่เห็นจะมีเลย ผมก็นึกอยู่ว่า ใครที่แต่งชุดทหารแล้วไปฆ่าคน ผมว่าไอ้นี่มันโง่นะ มันสมควรแล้ว...”
6.“เณรคำ” ถูกจับสึกและเข้าคุกแล้ว หลังสหรัฐฯ ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ด้านศาลแพ่งสั่งยึดทรัพย์ 43 ล้าน!
ความคืบหน้ากรณีศาลชั้นต้น รัฐบาลแห่งแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีคำสั่งให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนายวิรพล สุขผล อดีตพระวิรพล ฉัตติโก หรือพระเณรคำ อดีตประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ในข้อหาพรากผู้เยาว์, กระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน และนายวิรพลไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวนายวิรพลที่สหรัฐอเมริกานั้น
ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอและพนักงานอัยการได้นำตัวนายวิรพลเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อเวลา 21.55 น.วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยนายวิรพลยังห่มจีวรอยู่ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้คุมตัวจากสนามบินสุวรรณภูมิไปสอบที่สำนักงานดีเอสไอ ต่อมา เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ได้แจ้งแสดงคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษให้นายวิรพลรับทราบ เพื่อสละสมณเพศ ซึ่งนายวิรพลกล่าวยอมรับคำสั่งของเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และยอมปลดจีวรด้วยตัวเอง
วันรุ่งขึ้น(20 ก.ค.) พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้นำตัวนายวิรพลส่งให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อนำตัวฟ้องต่อศาลอาญา ต่อมา เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวการสั่งฟ้องนายวิรพล โดยอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง 2 คดี คดีที่ 1 ฐานความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี และกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ส่วนข้อหาทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และพาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อการอนาจารนั้น อัยการสั่งยุติดำเนินคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความแล้ว ส่วนคดีที่ 2 อัยการสั่งฟ้องนายวิรพลฐานนำข้อมูลปลอมหรือเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และข้อหาฟอกเงิน
ทั้งนี้ ท้ายฟ้อง อัยการขอให้ศาลสั่งให้นายวิรพล จำเลย คืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหาย 29 คน รวมเป็นเงิน 28.6 ล้านบาทเศษด้วย นอกจากนี้ยังขอให้ศาลนับโทษทั้ง 2 คดีต่อจากกัน พร้อมคัดค้านการให้ประกันตัวในศาล เนื่องจากนายวิรพลเคยมีพฤติการณ์จะหลบหนี จึงเกรงว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว จะหลบหนีอีก
หลังอัยการนำตัวนายวิรพลยื่นฟ้องต่อศาลอาญา นายวิรพลได้ให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดีทั้ง 2 สำนวน ด้านศาลนัดตรวจพยานหลักฐานทั้งสองคดีในวันที่ 18 ก.ย.เวลา 09.00 น. หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายวิรพลไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากนายวิรพลยังไม่ได้ยื่นประกันตัว
นอกจากนี้ วันเดียวกัน(20 ก.ค.) ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 3 ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินมูลค่า 43 ล้านบาท ของนายวิรพลกับพวก 8 คน ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เนื่องจากศาลเห็นว่า นายวิรพลกับพวกทั้ง 8 คน ไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินได้ ขณะที่นายวิรพลบวชเป็นพระ มีรายได้จากประชาชนที่มาทำบุญ ไม่ได้มีรายได้จากแหล่งอื่น จึงเชื่อว่าทรัพย์สิน 27 รายการ อาทิ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รถหรูปอร์เช่ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด จึงให้ทรัพย์สินทั้ง 27 รายการ มูลค่า 43 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ด้านนายสมชาติ วงศ์ธราธร ทนายความ กล่าวว่า ขณะนี้ น.ส.สลักจิต อ่ำพิพัฒน์ อายุ 32 ปี อดีตภรรยาของนายวิรพลหรือเณรคำ พักอยู่ที่บ้านของตน เนื่องจากหลังเณรคำมีปัญหา น.ส.สลักจิตกับลูกชาย ที่ตอนนี้อายุ 15 ปีแล้ว เดือดร้อนอย่างหนัก เพราะต้องรับภาระด้านการดำรงชีพ และต้องรับผิดชอบทั้งลูกชายและยาย ตนสงสาร จึงปรึกษากับภรรยา และให้ความช่วยเหลือด้วยการรับเข้าทำงานเป็นแม่บ้าน พร้อมส่งเสียลูกชายให้ได้เรียนหนังสือ ยืนยันว่า ไม่ได้มีการอุ้มหรือนำสองแม่ลูกหลบหนีมาหลังจากเณรคำถูกจับกุมได้และนำตัวกลับมา เพื่อจะต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสองแม่ลูกมาอยู่กับตนตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ส่วนคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนั้น มี 2 คดีคือ น.ส.สลักจิตฟ้องร้องข้อหาข่มขืนและพรากผู้เยาว์ เรียกค่าเสียหายจากเณรคำ 100 ล้านบาท เมื่อปี 2550 และคดีบุตรชาย ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร 40 ล้านบาท
ด้าน น.ส.สลักจิต กล่าวว่า ชีวิตช่วงนั้นลำบากมาก เพราะต้องดูแลทั้งลูกและยายที่อายุมาก ไม่มีงานทำ โชคดีที่ทนายความและเมียสงสาร รับเข้าทำงาน ช่วยเหลือตนมาโดยตลอดจนทุกวันนี้ ยอมรับว่าตอนนี้มีครอบครัวและแฟนใหม่แล้ว แต่ไม่ขอให้รายละเอียด ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ ไม่ขอตอบ เพราะทุกอย่างมอบให้ทนายความเป็นคนดำเนินการทั้งหมด