MGR Online - ศาลอาญาประทับรับฟ้อง “อดีตพระเณรคำ” ใน 2 สำนวนคดี ทั้งกระทำชำเราเด็กไม่เกิน 15 ปี-ฉ้อโกง ปชช.-ฟอกเงิน ศาลนัดตรวจหลักฐาน 18 ก.ย. ขณะที่ศาลแพ่งสั่งยึดที่ดินสิ่งปลูกสร้าง-รถหรูรวม 27 รายการ กว่า 43 ล้าน เจ้าหน้าที่คุมตัวไปขังที่เรือนจำทันที เหตุยังไม่มีใครยื่นประกันตัว
วันนี้ (20 ก.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควบคุมตัวนายวิรพล สุขผล อดีตพระฉายาวิรพล ฉัตติโก หรือเณรคำ อายุ 38 ปี ผู้ต้องหาคดีพรากผู้เยาว์ฯ-กระทำชำเราเด็กไม่เกิน 15 ปี และฟอกเงิน มาส่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อนำตัวฟ้องศาลอาญา ภายหลังจากทางการไทย รับตัวอดีตพระเณรคำจากทางการสหรัฐอเมริกามาไทยเมื่อค่ำวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งดีเอสไอได้แจ้งข้อกล่าวหากับอดีตพระเณรคำ ผู้ต้องหาและสอบคำให้การเบื้องต้นแล้ว ซึ่งอดีตพระเณรคำได้ให้การปฏิเสธชั้นสอบสวน
โดยการควบคุมตัวอดีตพระเณรคำจากดีเอสไอ ถ.แจ้งวัฒนะ มายังสำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษกนั้น ได้จัดรถสายตรวจ นำขบวนรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ 7 ที่นั่ง สีดำ 3 คันของดีเอสไอ เดินทางมายังอัยการ มีอดีตพระเณรคำนั่งมาในรถฟอร์จูนเนอร์คันแรก โดยอดีตพระเณรได้สวมเสื้อแขนสั้นและกางเกงขายาวสีขาวคล้ายชุดปฏิบัติธรรม เดินขึ้นไปพบอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีกำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอประมาณ 15-20 นายควบคุมตัวอดีตพระเณรคำมา
เมื่ออดีตพระเณรคำ และดีเอสไอมาถึง นายวิรุณฬ ฉันท์ธนันท์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้รับตัวผู้ต้องหามาสอบประวัติว่าเป็นบุคคลเดียวกับผู้ต้องหาหรือไม่ พร้อมแจ้งคำสั่งฟ้องคดีอาญา ก่อนที่ดีเอสไอและอัยการควบคุมอดีตพระเณรคำ มายื่นฟ้องต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พร้อมสำนวน
ขณะเดียวกัน ที่ห้องประชุม 100 ปี ชั้น 11 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษก, นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนันท์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้ร่วมกันแถลงข่าวการสั่งฟ้องคดีอดีตพระเณรคำ
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า อัยการคดีพิเศษฝ่ายคดีพิเศษได้ตรวจพยานหลักฐานแสดงตัวบุคคลและคำให้การชั้นสอบสวนผู้ต้องหาแล้วเชื่อได้ว่าผู้ต้องหานั้นเป็นบุคคลเดียวกับนายวิรพล สุขผล โดยนายวิรุฬห์ ฉันท์ธนันท์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 มีความเห็นสั่งฟ้อง 2 คดี
คดีที่ 1 ฐานความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีฯ และกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีซึ่งไม่ใช่ภริยาตนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ที่อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และมาตรา 317 วรรคสามอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี ซึ่งเป็นการสั่งฟ้องตามความเห็นเดิมที่พนักงานสอบสวนเคยสรุปสำนวนส่งให้อัยการ แต่ข้อหาทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีและพาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อการอนาจาร ตาม ม.279,283 ทวิ นั้นอัยการสั่งยุติดำเนินคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความแล้ว เพราะคดีมีอายุความ 15 ปีนับแต่วันกระทำผิด ซึ่งเหตุข้อกล่าวหานั้นเกิดเมื่อปี 2543-2544 คดีจึงขาดอายุความตั้งแต่ปี 2559
คดีที่ 2 อัยการสั่งฟ้องอดีตพระเณรคำ ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมหรือเท็จฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551 มาตรา 14 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และข้อหาฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ม.5, 60 โทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกัน ซึ่งการยื่นฟ้องสำนวนคดีฉ้อโกงฯนี้ อัยการได้ระบุท้ายฟ้องขอให้ศาลสั่งอดีตพระเณรคำ จำเลย คืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหาย 29 คน รวมเป็นเงิน 28.6 ล้านบาทเศษด้วย
โดยทั้งสองคดีในการยื่นฟ้องต่อศาลนั้น อัยการได้ขอให้ศาลนับโทษทั้ง 2 คดีต่อจากกันด้วยพร้อมคัดค้านการให้ประกันตัวในศาล เนื่องจากเคยมีพฤติการณ์จะหลบหนี จึงเกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวจะหลบหนีอีก
ต่อมาเวลา 10.20 น. อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้นำตัวนายวิรพล อดีตพระเณรคำ มายื่นฟ้องเป็นจำเลย ต่อศาลอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้พาตัวอดีตพระเณรคำ ลงมาควบคุมตัวยังห้องเวรชี้ ชั้น 1 ของศาล เพื่อรอสอบคำให้การคดีทั้ง 2 สำนวน
โดยศาลอาญา ประทับรับคำฟ้องคดีพรากผู้เยาว์ฯ และกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.277 วรรคแรก และม.317 วรรคสาม ไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2340/60 และคดีฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551 ม.14 และฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ม.5, 60 รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2341/2560 ซึ่งนายวิรพล อดีตพระเณรคำ จำเลยได้ให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดีทั้ง 2 สำนวน ศาลจึงนัดตรวจพยานหลัดฐานทั้งสองคดีในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ เนื่องจากนายวิรพลยังไม่ได้ยื่นประกันตัว ต่อมาเวลา 13.30 น.เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ด้านนายภาณุ สุขวัลลิ ทนายความของนายวิรพล เปิดเผยว่า ตนเป็นหนึ่งในทีมทนายความของนายวิรพล ซึ่งมีทนายประมาณ 2-3 คน โดยวันนี้จะยังไม่ยื่นขอปล่อยชั่วคราวที่อัยการได้ยื่นฟ้องทั้ง 2 สำนวน ซึ่งทีมทนายความจะรอดูรายละเอียดสำนวนคดีก่อน ประกอบกับอัยการยื่นคัดค้านการปล่อยชั่วคราวด้วย อย่างไรก็ดีตนได้พูดคุยกับนายวิรพลแล้วตั้งแต่เมื่อคืน (19 ก.ค.) ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีอาการเครียดหรือวิตกกังวลใดๆ ส่วนทนายความก็เพิ่งได้รับสำนวนคดีมาซึ่งนายวิรพลก็ได้กำชับให้ทีมทนายความพูดคุยกันให้ดีในส่วนรายละเอียด ขณะที่พยานหลักฐานที่จะนำมาใช้ต่อสู้คดีก็จะต้องสอบถามจากนานยวิรพลอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี วันเดียวกัน (20 ก.ค.) ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ฟ.61/2556 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 3 ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินมูลค่า 43 ล้านบาทเศษของนายวิรพล สุขผล กับพวกซึ่งเป็นผู้คัดค้านรวม 8 คน ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ
โดยศาลแพ่งเห็นว่า นายวิรพลและผู้คัดค้านทั้ง 8 คนไม่สามารถชี้แจงแหล่งที่มาของทรัพย์ได้ ขณะที่นายวิรพลบวชเป็นพระมีรายได้จากประชาชนที่มาทำบุญ ไม่ได้มีรายได้จากแหล่งอื่น จึงเชื่อว่าทรัพย์สิน 27 รายการ เช่น ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง, รถหรูปอร์เช่, จักรยานยนต์ และทรัพย์อื่นว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จึงให้ทรัพย์สินทั้ง 27 รายการ มูลค่ากว่า 43 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีแพ่งริบทรัพย์ดังกล่าวเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งนายวิรพลและผู้ที่มีชื่อทรัพย์สินสามารถยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลอุทธรณ์ได้อีกภายใน 30 วัน
ขณะที่คดีอาญาความผิดทางเพศ ที่อัยการคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้องนายวิรพล อดีตพระเณรคำ เป็นคดีดำหมายเลข อ.2340/2560 นั้นได้บรรยายฟ้องสรุปว่า เมื่อเดือน ม.ค. 2543 ถึงกลางปี 2544 จำเลยได้พราก ด.ญ.เอ (นามสมมติ) อายุไม่เกิน 15 ปี ไปจากผู้ปกครองโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง จากนั้นจำเลยนำตัว ด.ญ.เอไปข่มขืนกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่ อันเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ แต่ระหว่างดำเนินคดีนายวิรพลได้หลบหนีไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งโจทก์ได้ขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ศาลชั้นต้นแห่งรัฐบาลกลางรัฐแห่งแคลิฟอร์เนีย มีคำสั่งให้ส่งตัวมาไทย โดยผู้เสียหายดังกล่าวได้เคยยื่นฟ้องจำเลยเองต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1917/2556 ที่ศาลยกฟ้องเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2820/2557 ข้อหาข่มขืนกระทำชำเราและความผิดต่อเสรีภาพ ซึ่งศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วแต่ผู้เสียหายไม่มาเบิกความต่อศาลคงมีเพียงบุคคลที่อ้างเป็นคนรู้จักข้างบ้าน มาเบิกความเป็นพยานปากเดียวเท่านั้นซึ่งไม่รูเห็นการกระทำผิดของจำเลย ดังนั้น การฟ้องคดีดังกล่าวจึงมีพฤติการณ์บ่งชี้ว่าเป็นการดำเนินคดีในลักษณะสมยอมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จึงไม่เป็นเหตุให้สิทธิการนำคดีอาญานั้นมาฟ้องต้องระงับไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยคดีนี้ โดยก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยยื่นคำร้องขอสืบพยานไว้ล่วงหน้าแล้ว 2 ปากตั้งปี 2559
ส่วนคดีที่ 2 ฐานฉ้อโกงฯ และฟอกเงิน อัยการคดีพิเศษ 4 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2552 ถึงกลางปี 2556 จำเลยตั้งตัวเป็นประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม ต.ยาง อ.กันทามาตร จ.ศรีสะเกษ แล้วได้อาศัยศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา แสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยได้แสดงอวดอ้างจัดงานพิธีพร้อมประกวดกิจกรรมปฏิบัติศาสนกิจ นิมนต์สงฆ์มาแสดงธรรมที่สถานที่ต่างๆ เช่น บริษัท ดอกบัวคู่ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น และแจ้งข่าวแก่ประชาชนว่าประสงค์จะสร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมมหาวิหารครอบองค์พระแก้ว ซึ่งองค์พระแก้วจะเป็นหยกแท้สีเขียวหนัก 199 ตัน นำเข้าจากประเทศอิตาลี ราคาบริจาคบูชาตันละ 300,000 บาท และยังประกาศสร้างรูปหล่อ ก่อสร้างมหาวิหารสำหรับประชาชนที่ศรัทธาที่เข้ามาปฏิบัติธรรมที่ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี แต่แท้จริงแล้วจำเลยไม่ได้ทำตามที่บอก ซึ่งจำเลยได้ชักชวนประชานให้ร่วมกันบริจาคเงินผ่านเว็บไซต์หลวงปู่เณรคำ หรือ www.luangpu nenkham.com โดยการแจ้งข้อความเท็จนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเหตุประชาชน 29 คน หลงเชื่อบริจาคเงิน 28,649,553 บาท ด้วยเช็ค เงินสด เข้าบัญชีที่จำเลยกำหนด อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน