xs
xsm
sm
md
lg

“รองอธิการ มธ.” โต้กลับรีดเงินติดแผงโซลาร์ กังขาใช้ไฟเฉพาะกลางคืนเอาเปรียบคนอื่นหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ โต้กลับแนวคิดเก็บเงินองค์กรติดแผงโซลาร์รูฟท็อป ถามกลับใครใช้มากช่วงพีคอย่างเดียว คือ เอาเปรียบคนอื่นงั้นหรือ ทั้งที่ กฟผ. ก็ขูดรีดรายใหญ่กิโลวัตต์ละร้อยกว่าบาทอยู่แล้ว ตอกอย่าคิดว่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยแล้วพอใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อได้ ชี้สำรองพลังงานทดแทนด้วยฟอสซิลไร้สาระเกินไป แนะไปดูประเทศอื่นก่อนโทษพลังงานทดแทน

จากกรณีที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีแนวคิดที่จะเรียกเก็บเงินค่าสำรองไฟฟ้า จากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อปทั่วประเทศ โดยจะเรียกเก็บกลุ่มโรงงาน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ เนื่องจากทำให้ยอดใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศหายไปจำนวนมากในช่วงเวลากลางวัน และกลับมาใช้ไฟฟ้าสูงมากในช่วงกลางคืน ซึ่งหากในอนาคตเกิดการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น จะยิ่งทำให้ต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้ามารองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในตอนกลางคืนด้วย แม้ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของประเทศจะมีสูงถึงกว่า 30% ก็ตาม

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ชาลี เจริญลาภนพรัตน์” ระบุว่า ทำไมต้องไปคาดหวังว่าทุกคนต้องใช้ไฟฟ้าให้สม่ำเสมอทั้งวัน ใครใช้มากช่วงพีคอย่างเดียวคือเอาเปรียบคนอื่น คนที่เปิดไฟแต่ตอนหัวค่ำ โรงงานที่เดินเครื่องช่วยหัวค่ำ แม่ค้าเปิดร้านหัวค่ำหรือ บริษัทที่ปิดไฟกลางวัน คือ เอาเปรียบคนอื่นด้วยหรือ เราจะอยู่กันบนตรรกะนี้จริงๆ หรือ ทั้งที่ตอนนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เก็บค่าพีคกับหน่วยงานขนาดใหญ่ ที่ซื้อไฟฟ้า 22 กิโลวัตต์ (KV) อยู่แล้ว กิโลวัตต์ละเป็นร้อยกว่าบาท

ทั้งนี้ ภารกิจของ กฟผ. คือ สร้างความมั่นคงไฟฟ้าด้วยการบริหารจัดการให้ดี มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างภาระกับสิ่งแวดล้อม อย่ามาบอกว่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แค่ 0.1% ของโลก แล้วพอใจ เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อได้ เพราะนั่นมันไม่ใช่ Socially Responsible Approach (ปฏิบัติการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม) ซึ่งถ้าระบบ Smart Grid ระบบจัดการช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ไม่ดี ก็ต้องไปทำวิจัยลงทุน แต่ไม่ใช่การเตรียมสำรองพลังงานทดแทน 100% ด้วยพลังงานฟอสซิล เป็นเรื่องที่ไร้สมองเกินไป

ส่วนไฟฟ้าที่ดับที่ออสเตรเลียไม่ใช่เพราะมีพลังงานทดแทนมากเกินไป แต่เพราะการบริหารจัดการที่ห่วยของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่นั่น ที่ไม่สามารถเตรียมการได้ทัน ทั้งที่รู้พยากรณ์ล่วงหน้าว่าวันนั้นอุณหภูมิจะสูง 40 องศาเซลเซียส แล้วเราจะมาแก้ปัญหาโลกร้อน 40 กว่าองศาเซลเซียส ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลมาปั่นแอร์อีกจริงหรือ

“ขอให้กลับไปศึกษาโครงสร้างราคาไฟฟ้าที่เยอรมันและเดนมาร์กให้ดีก่อนจะมาบอกว่าไฟฟ้าแพงเพราะพลังงานทดแทน เพราะมันไม่ใช่เลย ภารกิจของ กฟผ. คือ “ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย” การสร้างความสุขนี้ไม่ใช่การให้เขามีไฟฟ้าใช้อย่างเดียว โดยซื้อจาก กฟผ. เท่านั้น แต่ผมคิดว่าน่าจะหมายถึงให้เขาลืมตาอ้าปากและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ไม่สร้างภาระให้รุ่นต่อไป นั่นจึงจะเป็นความสุขที่แท้จริง” รศ.ดร.ชาลี ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น