พสกนิกรกราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทุกคนยังคงอยู่ในความโศกเศร้าเสียใจ หลายคนกอดพระบรมฉายาลักษณ์ที่นำมาจากบ้านไว้แนบอกตลอดเวลา และเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
วันนี้ (20 ธ.ค.) สำหรับบรรยากาศการเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในวันนี้ดำเนินมาเป็นวันที่ 52 ของการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทั้งนี้ พสกนิกรที่มากราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทุกคนยังคงอยู่ในความโศกเศร้าเสียใจ หลายคนกอดพระบรมฉายาลักษณ์ที่นำมาจากบ้านไว้แนบอกตลอดเวลา และเมื่อได้เข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพแล้ว สำนักพระราชวังแจกภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พิมพ์ 4 สี ขนาด 5 คูณ 7 นิ้ว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่พสกนิกรทุกคนเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย
โดยเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ในเวลา 04.50 น. ก่อนเปลี่ยนเข้าทางประตูมณีนพรัตน์ ถนนหน้าพระลาน เวลา 08.30 น. เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางประตูวิเศษไชยศรี
ด้าน นายชัยยะ คงชื่น อายุ 56 ปี ประธานชมรมการศึกษา วัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ชาวไทยใหญ่ กล่าวว่า วันนี้ได้นำชาวไทยใหญ่จำนวน 400 คน ที่กระจัดกระจายกันตามหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอ แม่อาย อ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ ก็มีชาวไทยใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และอยุธยาบางส่วน ก็มาเจอกันที่กรุงเทพฯโดยออกจากเชียงใหม่ เมื่อบ่ายสามโมง และมาถึงสนามหลวงเวลา 02.30 น. เพราะอยากมาถึงตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อต่อคิวกันเอง ไม่อยากเบียดเบียนใคร เพียงแต่ขอความอนุเคราะห์ผู้ใหญ่ชาวบ้านบางคนอาจสื่อสารไม่ค่อยได้ ที่มานี้บ้างเป็นผู้สูงอายุ บ้างเป็นคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน แต่ก็มีใจเดียวกันที่อยากจะมากราบพ่อหลวง เพื่อไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านหลายคนมากับโครงการหลวงบ้าง มากับอำเภอต่างๆ แต่เราอยากรวมตัวกันมาโดยเฉพาะชาวไทยใหญ่ของเรา
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพวกเราชาวไทยใหญ่มาก เมื่ออดีตนั้นชาวไทยใหญ่อาศัยอยู่ในเขตพม่า รัฐฉาน ซึ่งมองว่าเราเป็นศัตรู มีปัญหาแย่งชิงเหมืองทองคำ เขื่อน เราจึงต้องหนีออกมา 16 - 17 หลังคาเรือน เมื่อมาอยู่ที่นี่ พระองค์ก็เสด็จฯไปเยี่ยม ถามถึงเรื่องราวต่างๆ เมื่อปี 2516 พระราชทานที่อยู่ และตัวตนให้กับเราตั้งแต่ถนนหนทางยังไม่มี ต้องนั่งเรือเข้าไปในหมู่บ้าน พระองค์ก็ทรงนั่งเรือเข้าไป หลังจากนั้น จึงได้พระราชทานเส้นทางรถให้เราอีก และยังพระราชทานโรงเรียนพ่อหลวงอุปถัมภ์ให้ลูกหลานได้เรียน ถือเป็นความประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณที่สุด นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังพระราชทานอาชีพอย่างการทอผ้าส่งศิลปาชีพให้พวกเรา ทำให้เรารักอย่างสุดหัวใจ เพราะหากไม่มีพระองค์ ชาวไทยใหญ่ก็คงจบชีวิตแค่นั้น ไม่อาจมีลูกหลานได้หลายรุ่นเช่นนี้”
“แม้ไม่เคยได้รับเสด็จฯ แต่ก็รู้สึกซาบซึ้งในสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อชาวไทยใหญ่เสมอ ทุกวันนี้มีอาชีพ ลูกหลานเติบโตมีอาชีพ มีรายได้ ก็จากสิ่งที่พระองค์พระราชทานให้แก่เรา” นายชัยยะ กล่าว
ส่วน นางเพ็ญพรรณ นิชย์วัฒนกุล อายุ 66 ปี ครูสอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ ปัจจุบันเกษียณราชการและมาพำนักอยู่กับลูกสาว ย่านจตุจักร กรุงเทพฯ ออกเดินทางมาพร้อมกับญาติ 8 คน ตั้งแต่เวลาตีสอง ด้วยความตั้งใจอยากมากราบสักการะพระบรมศพ แม้ต้องอดหลับอดนอนก็ไม่คิดว่าเป็นปัญหา เพราะตระหนักว่าความลำบากเพียงแค่นี้ มิอาจเทียบเท่ากับทุกสิ่งทุกอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความผาสุกของคนไทย
“วันนี้มากราบสักการะพระบรมศพเป็นครั้งที่สอง เมื่อได้เข้ามาภายในเขตพระราชฐาน พร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระองค์สถิตย์อยู่บนสรวงสวรรค์ จู่ๆ ก็รู้สึกขนลุกซู่ขึ้นมา ความรู้สึกไม่ต่างจากอดีตเมื่อราว 40 ปีก่อน สมัยยังเรียน มศ.5 มีโอกาสมาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ บริเวณวัดพระแก้ว แม้จะนานมาแล้วแต่จำได้แม่นยำว่าได้ชื่นชมพระบารมีท่านระยะใกล้ชิดมาก ห่างกันไม่เกิน 10 เมตร คิดว่าเป็นบุญของตัวเองจริงๆ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ ไม่เคยเห็นความทุกข์ของพระองค์เอง ทรงห่วงใยแต่ความทุกข์ของราษฎร ดังนั้นเมื่อทำงานเป็นครู จึงตั้งใจอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ ควบคู่กับสอนหลักการใช้ชีวิตบนความพอเพียง รู้จักกินรู้จักใช้” ครูวัยเกษียณ กล่าว