xs
xsm
sm
md
lg

ทรัมป์บอก ต่อไปตัวใครตัวมัน! หลายประเทศวิตก แต่ไทยสบายมาก! อยู่ได้อย่างสุขสงบด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพ่อ!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายเหมือนพลิกฝ่ามือว่า ต่อไปตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่ จะดูแลเฉพาะคนอเมริกันเท่านั้น เลิกทำตัวเป็นตำรวจโลก เที่ยวข่มขู่ให้ใครต่อใครเป็นประชาธิปไตยแบบ “มือถือสาก ปากถือศีล” อย่างอเมริกา เมื่อยักษ์ใหญ่พลิกนโยบายที่แส่ไปทั่วโลก ก็เหมือนปลาอานนท์พลิกตัว หลายประเทศที่พึ่งพาอเมริกาพากันวิตก แต่ไทยเราสบายมาก ไม่มาแทรกแซงยุแยงตะแคงรั่วก็ดี เราก็อยู่ได้อย่างสุขสงบ ด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พ่อพร่ำสอนไว้

“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งทันสมัย แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” ทรงมีพระราชดำรัสนี้ ตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรไทยมาเป็นเวลากว่า ๔๐ ปีแล้ว เป็นปรัชญาสำหรับการดำรงอยู่และการปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง มีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอ ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกภายใน
ทรงมีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ประชาชนหลายสาขาอาชีพที่เก็บกดมานานในยุคเผด็จการ จึงชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมกันเป็นประจำ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ทั้งนี้เนื่องมาจากการใช้แผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติติดต่อกันมา ๓ ฉบับ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ ถึงปี ๒๕๑๗ โดยเฉพาะแผนฉบับที่ ๓ ได้เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจากเงินกู้ต่างประเทศ และหาทางชำระหนี้ด้วยการเร่งส่งออกสินค้าเกษตร ขยายพื้นที่เพาะปลูกโดยลดพื้นที่ป่า และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก

ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราร้อยละ ๗-๘ ต่อปี ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาช่องว่างของการกระจายรายได้ ประเด็นนี้สอดคล้องกับความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นที่มาของพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ทรงมีพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า

“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามระดับชั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด...”

หลังจากนั้น ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย ว่า

“...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...”

ก่อนที่ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างหนักในปี ๒๕๔๐ และเป็นต้นเหตุของการแพร่ “โรคต้มยำกุ้ง”ไปทั่ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเตือนในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ แล้วว่า

“...ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางที่ดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทยเรานี่ก้าวหน้าดี การเงินการอุตสาหกรรมการค้าดี มีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไปส่วนใหญ่ ทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินเท่านั้นๆ มีการกู้เท่านั้นๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วประเทศก็เจริญมีหวังเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลย ต้องเตือนเขาว่า จริง ตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้น ไม่มีทาง...”

ในระยะเวลาปี ๒๕๓๐-๒๕๓๘ ถือได้ว่าเป็นช่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราสูงและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงก็ได้ทรงเตือนสติผู้บริหารประเทศและประชานทั่วไป ไม่ให้นิ่งนอนใจหรือประมาทกับภาวะเศรษฐกิจที่มีอัตราส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงนั้น ทรงเป็นห่วงความโลภของคนอันเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทรงเน้น “ความพอเพียง พอสมควร ตามอัตภาพ” มาตลอด อันเป็นการลดความเสี่ยงอันเกิดจากสภาพความไม่แน่นอนในทุกด้าน ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ แล้ว ทรงขยายให้เห็นถึงรูปธรรมของการไม่ประมาณตน เห็นแก่ได้โดยไม่คำนึงถึงผลเสีย ทรงเห็นว่าการจะทำโครงการใดๆ จะต้องทำด้วย “ความรอบคอบ ไม่ตาโต”เกินไป
เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ แล้ว ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐เนื่องในเฉลิมพระชนมพรรษา ว่า

“...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป...”

ต่อมาในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ทรงมีพระราชดำรัสอีกว่า

“...พอเพียงนี้ก็มีความหมายว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ...”

และทรงให้คติเตือนใจว่า

“...คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดอันนี้ ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข...”

เศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนการฝังราก ปักเสาเข็ม และคำนวณให้รับน้ำหนักก่อนสร้างบ้าน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการเป็นการวางรากฐานของบ้านให้มั่นคง ก่อนที่จะสร้างตัวบ้านต่อไป ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงก็คือการวางรากฐานของชีวิตให้มั่นคงยั่งยืนนั่นเอง ส่วนใครจะสร้างบ้านให้ใหญ่โตหรูหราแค่ไหน ก็อยู่ที่ศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่

ทรงชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยหลัก ๓ ประการ คือ
๑. ความพอประมาณ มีการประเมินกำลังของประเทศ มิใช่ลดพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อปรับปรุงไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทั้งๆที่กำลังสำคัญของประเทศยังคงเป็นด้านการเกษตร

๒. การใช้เหตุใช้ผล ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงว่า ทุกประเทศมิใช่ต้องเติบโตเหมือนกัน ถ้าประเทศเล็กๆสามารถเลือกพัฒนาได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถเป็นที่ ๑ ของโลกได้ อย่างที่คนไทยเคยเป็นแชมป์มวยโลกในบางรุ่นมาแล้ว

๓. การมีภูมิคุ้มกัน โดยการส่งเสริมให้มีการออม ทั้งทรัพย์สินและทรัพยากร เช่น น้ำ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะเกิดสงครามแย่งน้ำ ประเทศไทยจึงต้องออมน้ำไว้ในเขื่อน

เมื่อประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ รัฐบาลได้น้อมนำแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” มาดำเนินส่งเสริมขยายผล เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ว่างจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยกลับคืนสู่มาตุภูมิเพื่อทำเกษตรกรรม ให้สามารถยังชีพและมีความพออยู่พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริการเกษตรทฤษฎีใหม่ไว้ก่อนที่ประเทศไทยจะประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้คนไทยสามารถฟื้นตัวได้ในเวลาไม่นานนัก ทฤษฎีใหม่จึงเป็นการดำเนินชีวิตของเกษตรกรในแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างดี สามารถอุ้มชูตัวเองได้ในยามที่ประเทศชาติเผชิญมรสุมเศรษฐกิจ

ส่วนผู้ที่อยู่นอกภาคเกษตรกรรมไม่ว่าจะอาชีพใด ก็สามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้อย่างดีเช่นกัน โดยดำเนินชีวิตแบบไทยๆที่อยู่พอดี ไม่ฟุ่มเฟือยอย่างไร้ประโยชน์ ไม่ยึดวัตถุเป็นที่ตั้ง ยึดทางสายกลาง อยู่กินตามฐานะ ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต เจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หลงไปกับกระแสโลกาภิวัตน์โดยไม่คำนึงถึงเหตุและผล

สำหรับผู้ที่อยู่ในภาคธุรกิจ สามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้ ทั้งจะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นการเตรียมความพร้อมไว้รับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลให้มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่รอบคอบรัดกุม เพราะเศรษฐกิจพอเพียงมิได้เป็นเศรษฐกิจระบบปิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร มิได้หันหลังให้กับกระแสโลกาภิวัตน์ มิได้ปฏิเสธการเป็นหนี้ มิได้ห้ามการกู้ยืมเพื่อลงทุนหรือขยายกิจการ เพียงแต่เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันมิให้เกิดความเสี่ยงมากเกินไป ได้แก่ไม่ประมาท ไม่โลภมาก ไม่แสวงหากำไรจนเกินควร ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสังคม

จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นในเรื่องความสุข ที่เกิดจากความพอมีพอกินของทุกคน มิได้ทรงเน้นไปที่เงินรายได้ ซึ่งปัจจุบันสังคมโลกกำลังหันมาให้ความสนใจวัดผลการพัฒนาประเทศจาก GNH (Gross National Product) หรือ “ดัชนีความสุขแห่งชาติ” สำหรับประเทศไทย การพัฒนาตามแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ ซึ่งใช้ระหว่างปี ๒๕๕๐-๒๕๕๔ มีเป้าประสงค์อยู่ที่สังคมเป็นสุข โดยมีหลักพัฒนาความอยู่เย็นเป็นสุข เป็นค่านิยมของการดำรงชีวิต

การพัฒนาสังคมไทยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ ด้วยองค์ประกอบ ๒ ระดับของความอยู่เย็นเป็นสุข ได้แก่ความอยู่เย็นเป็นสุขของคน และครอบครัว

ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดความสุข ประกอบด้วย การรักษาดุลยภาพของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ การบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ระบบเศรษฐกิจสมดุลและเป็นธรรม สังคมสงบสุข มีชุมชนและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก่คนไทยนั้น เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเน้นการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก มีจุดเริ่มต้นด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมความสามัคคีของชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างอย่างเป็นปกติสุข นอกจากนั้น ด้วยเหตุที่ความพอเพียงเป็นแนวคิดพื้นฐานของสังคมไทย เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมของไทย ก่อนที่จะถูกระบบทุนนิยมเข้ามาทำลาย

การนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกลับมาสู่สังคมไทย เพื่อให้ชนบทสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง และเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะจะช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากหายนะทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ในมุมมองของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา โลกทุนนิยม บริโภคนิยม และเสรีนิยม เป็นขั้วเดียวกัน และกำลังพาโลกไปสู่จุดวิกฤติ ซึ่งจะต้องใช้เศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาเยียวยา เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่เป็นทางออกของประเทศไทยเท่านั้น หากยังเป็นทางออกของชาวโลกด้วย ดังจะเห็นได้ว่า เวลานี้องค์การสหประชาชาติได้เดินหน้าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง โดยแปลแนวพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นภาษาอังกฤษ แจกจ่ายให้ประเทศสมาชิก ทั้งยังได้เชิญเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาไปบรรยายหลายครั้ง

ในโอกาสที่เดินทางมาทูลเกล้าฯถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า

“ด้วยพระปรีชาสามารถในการเป็นนักคิดของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และคุณูปการต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้นานาประเทศตื่นตัวในการปรับรูปการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวความคิดใหม่ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่มีต่อประชาราษฎร์ ที่ได้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งชี้ถึงแนวทางพัฒนาที่เน้นความสมดุล ความพอประมาณ ความมีเหตุผล สำนึกในคุณธรรม และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี พอที่จะต้านทานและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆจากกระแสโลกาภิวัตน์ ด้วยปรัชญาดังกล่าวนี้ องค์การสหประชาชาติจึงมุ่งเน้นเพียรพยายาม และส่งเสริมการพัฒนาคน ให้ความสำคัญต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เป็นเป้าหมายศูนย์กลางในการพัฒนา
รางวัลความสำเร็จด้านการพัฒนามนุษย์นี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีปณิธานที่จะส่งเสริมประสบการณ์ และนำแนวทางปฏิบัติในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันทรงคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่าน มาช่วยจุดประกายแนวความคิดในปรัชญาดังกล่าวสู่นานาประเทศต่อไป ในโอกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีความปลื้มปีติและภาคภูมิใจ ที่ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท”

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่เพียงเป็นแนวทางดำเนินชีวิของคนไทย และแนวทางพัฒนาประเทศของไทยเท่านั้น แต่สหประชาชาติยังนำไปเผยแพร่ให้เป็นแนวทางพัฒนาให้ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในปัจจุบันยิ่งเห็นได้ชัดถึงเศรษฐกิจระบบทุนนิยม ซึ่งมีกลุ่มนักธุรกิจที่ละโมบไม่รู่จักพอ ชักใยอยู่เบื้องหลังการเมือง จนประชาชนต่างเอือมระอาไปตามกัน อย่างที่เห็นในอเมริกาขณะนี้



รางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์”
กำลังโหลดความคิดเห็น