xs
xsm
sm
md
lg

“ยุคลุงตู่” คนไทยว่างงานเพิ่ม ทะลุกว่า 4.11 แสน แต่ยังใจชื้นต่างชาติให้คะแนนมีความสุขเพิ่ม 1 อันดับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สภาพัฒน์” แจงไตรมาสสองคนไทยว่างงานเพิ่ม 1.08% จากปีก่อน ทะลุกว่า 4.11 แสนคน พบผู้ที่เคยมีงานทำมาก่อนว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 31.3% ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่รอฤดูกาลเพาะปลูก ขณะที่แรงงานด้านอุตสาหกรรมลดลง 1.7% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก แต่ยังใจชื้น! “เจ็บป่วย-คดีอาญา-ยาเสพติด-อุบัติเหตุ- ค้ามนุษย์” ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำปี 59 คนไทยมีค่าดัชนีความสุขที่ 33 ดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 58 อยู่ลำดับที่ 34 จาก 158 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์

วันนี้ (29 ส.ค.) นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตมาสที่ 2 ของ ปี 2559 พบว่า การจ้างงานลดลงร้อยละ 0.9 โดยภาคเกษตรลดลงร้อยละ 6.2 เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างรอฤดูกาลเพาะปลูกที่เหมาะสม ส่วนภาคนอกเกษตรยังคงมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.4 เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาการก่อสร้างโรงแรมและภัตตาคาร การขนส่งและจัดเก็บสินค้า ร้อยละ 5.4 4.0 และ 0.9 ตามลำดับ แต่สาขาการผลิตมีการจ้างงานที่ลดลงร้อยละ 1.7 การว่างงานในไตรมาสสองเท่ากับร้อยละ 1.08 ส่วนการทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 มีจำนวนผู้ว่างงานแฝงเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ค่าจ้างแรงงานโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3

ทั้งนี้ พบว่าการว่างงานเพิ่มขึ้น ในไตรมาสสองมีผู้ว่างงาน 411,124 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 และคิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.08 เทียบกับร้อยละ 0.88 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2558 โดยผู้ที่ทั้งเคยและไม่เคยทํางานมาก่อนมีการว่างงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.3 และ 13.7 ตามลําดับ ในส่วนของผู้ที่เคยทํางานมาก่อนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมากจากปีที่แล้วนั้นสอดคล้องกับข้อมูลผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ซึ่งเป็นการว่างงานจากกรณีเลิกจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 และจากกรณีลาออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ขณะที่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทํางานมาก่อนส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และเมื่อจําแนกตามระดับการศึกษาพบว่า ประมาณร้อยละ 47 ของผู้ว่างงานที่ไม่เคยทํางานมาก่อนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 7.0

โดยยังพบว่า ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์และผลตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายได้ของแรงงานภาคนอกเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 แต่รายได้ของแรงงานภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 2.7

ส่วนหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง ในไตรมาสแรกปี 2559 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเท่ากับ 11,077,755 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.7 ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 11.5 ในปี

สภาพัฒน์ยังพบว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังโรคที่แพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคปอดอักเสบโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า คนไทยมีความสุขแต่ต้องเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายที่มีอัตราเพิ่มขึ้น ในส่วนของคดีอาญาโดยรวมในไตรมาสสองของปี 2559 ลดลงร้อยละ 14.6 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 โดยคดียาเสพติด คดีชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ รับแจ้งลดลงร้อยละ 11.3 18.9 และ 29.4 ตามลำดับ ในส่วนของคดีข่มขืนและคดีการพนันแม้ลดลงร้อยละ 19.4 และ 28.1 แต่ยังต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ และการพนันอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน พบว่าการจัดการปัญหายาเสพติดควรเน้นการปูองกันโดยใช้กลไกประชารัฐควบคู่กับการปราบปราม การใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และสลายโครงสร้างปัญหา พร้อมเปิดโอกาสให้บุคคลที่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการยาเสพติดให้ละเลิกพฤติการณ์ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศปลายทาง ต้นทาง และประเทศทางผ่านของยาเสพติด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก World Happiness Report 2016 ของสหประชาชาติ รายงานถึงดัชนีความสุขโลกโดยรวบรวมข้อมูลจากหลายปัจจัย อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ระบบสังคมสงเคราะห์ รายได้ประชากร อายุขัยของประชากร ความมีอิสระในการตัดสินใจ ความเอื้ออาทร และทัศนคติต่อปัญหาคอร์รัปชัน แล้วนํามาวิเคราะห์เป็นค่าความสุขในประเทศต่างๆ 157 ประเทศทั่วโลก พบว่าในปี 2559 ประเทศไทยมีความสุขมากขึ้นเล็กน้อย มีค่าดัชนีความสุขอยู่อันดับที่ 33 ของโลกเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่อยู่อันดับที่ 34 จาก 158 ประเทศทั่วโลก และมีค่าดัชนีความสุขอยู่อันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ผลการสํารวจสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทยของสํานักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับกรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยการใช้แบบสํารวจสุขภาพจิตคนไทย ฉบับสั้น 15 ข้อ พบว่า ในปี 2558 เฉลี่ยสุขภาพจิตของคนไทยอยู่ที่ 31.44 คะแนน ลดลงเล็กน้อยมากจากปี 2557 ที่คะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ย 31.48 คะแนน เนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในการประกอบอาชีพ

สําหรับจังหวัดที่คนมีความสุขมากที่สุด คือ จังหวัดสิงห์บุรี รองลงมาเป็นจังหวัดลําพูน พระนครศรีอยุธยา บึงกาฬ และพังงา นอกจากนี้ยังพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เป็นภาคที่มีความสุขสูงสุด และพบผู้ชายมีความสุขมากกว่าผู้หญิง คนที่แต่งงานมีความสุขมากกว่าคนโสด แต่ต้องเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายที่มีอัตราเพิ่มขึ้น

ส่วนอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงร้อยละ 6.9 มีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 3.1 เพื่อลดการสูญเสียและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนควรมีการบริหารจัดการสถานการณ์อุบัติเหตุจราจรทางบกอย่างรอบด้าน โดยการผลักดันให้มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบปฏิญญามอสโก สร้างวัฒนธรรมการเคารพกฎหมาย และมุ่งเน้นการวิเคราะห์สาเหตุและต้นตอของอุบัติเหตุจราจรทางบก

นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไทยได้รับการเลื่อนอันดับดีขึ้นอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 2 Watch List จากการที่ไทยให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ประกาศเจตนารมณ์ และกำหนดนโยบายเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ และยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม

สภาพัฒน์ยังสรุปบทความเรื่อง “การประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย” ว่าการประกอบอาชีพของแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นผู้ค้าขายรายย่อยมากขึ้น ผลสำรวจพบว่าผู้ค้าขายรายย่อยต่างด้าวร้อยละ 40 เป็นเจ้าของกิจการในหลายรูปแบบทั้งเป็นเจ้าของเอง รับช่วงจากผู้ออกทุนโดยตกลงแบ่งผลประโยชน์การค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวทำให้มีข้อกังวลถึงผลกระทบด้านสุขภาพ ความสะอาดและสุขอนามัย การแพร่ระบาดของโรค ปัญหาอาชญากรรม และการใช้ทรัพยากรและบริการสาธารณะ ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีการพิจารณาทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดงานอาชีพสำหรับคนต่างด้าวให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการใช้แรงงานต่างด้าว รวมทั้งประชาสัมพันธ์และรณรงค์ผ่านสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำของคนต่างด้าวให้กับแรงงานต่างด้าวก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานไทย





กำลังโหลดความคิดเห็น