xs
xsm
sm
md
lg

ภูฏานกับความน่าทึ่งที่มากกว่า “ความสุขมวลรวมของประเทศ” / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
------------------------------------------------------------------------------------

ผมเชื่อว่าคนไทยเรามีความรู้สึกชื่นชมต่อประเทศภูฏานประเทศเล็กๆ ที่มีความหาญกล้ายึดแนวความคิดการวัดความสำเร็จของการพัฒนาประเทศด้วย “ความสุขมวลรวมของประเทศ (Gross National Happiness, GNH)” ซึ่งสวนกระแสทุนนิยมส่วนใหญ่ที่วัดด้วยรายได้ที่เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross National Domestic Product, จีดีพี)”

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังถึงองค์ประกอบที่นำไปสู่ดัชนีความสุขของชาวภูฏาน พร้อมกับเขียนบทความลงใน “โลกที่ซับซ้อน” โดยใช้ชื่อบทความว่า “อะไรเอ่ย…ประเทศภูฏานให้ความสำคัญมากที่สุด แต่พรรคการเมืองไทยไม่สนใจเลย?” (แต่มีคนแชร์เพียง 15 รายเท่านั้น)

คำตอบคือ เขาให้ความสำคัญต่อการใช้เวลาของมนุษย์มากที่สุดครับ โดยให้น้ำหนักสูงสุดถึง 13% จากองค์ประกอบใหญ่รวม 9 ด้าน เขาพิจารณาว่าคนเราใช้เวลาไปทำอะไรบ้าง ทั้งในเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และส่วนรวมในชุมชน เป็นต้น สำหรับความสำคัญอันดับสองซึ่งมีน้ำหนักเท่ากันมี 4 ด้านๆ ละ 12% คือ (1) ความมีธรรมาภิบาลของหน่วยงานรัฐ (2) สุขภาพ (3) วัฒนธรรม และ (4) ความเข้มแข็งของชุมชน ในขณะที่ด้านการศึกษาคนไทยเราให้ความสำคัญกันมากจนต้องขายไร่ขายนาให้ลูกเรียน แต่ชาวภูฏานกลับให้ความสำคัญต่ำที่สุดคือ 7% เท่านั้น สำหรับองค์ประกอบอื่นๆ ที่เหลือ หากสนใจกรุณาค้นชื่อบทความนี้ได้จากกูเกิลครับ

ผมจำได้ว่า ในวันนั้นผมได้รับความรู้ในเรื่องนี้มาจากการได้ฟังคำบรรยายของข้าราชการระดับสูงของประเทศภูฏานจากเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของไทยในปี 2552 จากนั้นผมก็เจาะลึกถึงรายละเอียดขององค์ประกอบย่อยของความสุขมวลรวมด้วยความสนุกสนาน พร้อมทั้งวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ผมชอบ

ความเหมาะสมในการใช้ดัชนีความสุขมวลรวมของประเทศ นอกจากเป็นการวัดสิ่งที่เป็นคุณค่าหลักของมนุษย์แล้ว ค่าดัชนีความสุขดังกล่าวยังไม่ทำให้ค่าเฉลี่ยของประเทศต้องเพี้ยนไป เพราะมันมีค่าอยู่ระหว่าง 0 กับ 1.0 ในขณะที่ค่าของจีดีพีไม่มีขีดจำกัด บางคนมีรายได้นับพันล้านบาท ในขณะที่คนส่วนใหญ่ได้ไม่กี่บาท ค่าเฉลี่ยจึงเป็นค่าที่หลอกลวงของผู้ฉวยโอกาส

มาวันนี้ ผมได้ความรู้ใหม่ที่น่าสนใจมากจากประเทศภูฏานอีกแล้ว นอกเหนือจากเรื่องความสุขมวลรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปัญหาโลกร้อน และเรื่องรัฐธรรมนูญของประเทศภูฏานซึ่งในบ้านเรากำลังจะลงประชามติกันในเร็วนี้ๆ หลังจากที่ปิดประตูร่างโดยไม่ฟังใคร

ผมได้รับความรู้ที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้จากบทความใน Eco Watch เรื่อง “This Country Isn’t Just Carbon Neutral … It’s Carbon Negative.” (ประเทศนี้ไม่ใช่แค่สมดุลในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคาร์บอนติดลบ) เขียนโดย Cole Mellino ซึ่งผู้เขียนได้มาจากการฟังคำบรรยายเมื่อเร็วๆ นี้ ในรายการ TED Talks โดยที่ผู้บรรยายก็คือ นายกรัฐมนตรี ของประเทศภูฏานเอง (หมายเหตุ TED มาจากคำย่อของ Technology, Entertainment, Design ดำเนินการมาประมาณ 20 ปี ทั่วโลกชูคำขวัญว่า “ความคิดที่มีคุณค่าต่อการเผยแพร่” หรือ Ideas Worth Spreading)
 

 
นายรัฐมนตรี ท่านนี้ชื่อ เชอริง ต๊อบเกย์ (Tshering Tobgay) วัย 51 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์ และระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา ต๊อบเกย์ เคยรับราชการมาก่อน และลาออกมาสู่วงการเมืองในปี 2551 จนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกลางปี 2556

ผมขอเล่าเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนนะครับ ท่านนายกฯ ต๊อบเกย์ ซึ่งอยู่ในชุดประจำชาติที่เขาอ้างอย่างติดตลกว่า “เป็นชุดที่มีกระเป๋าใหญ่ที่สุดในโลก” ได้เสนอต่อผู้ฟังที่ปรบมืออย่างพอใจเป็นระยะๆ ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 5 ได้บัญญัติว่า “เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และป้องกันการทำลายระบบนิเวศ รัฐบาลต้องให้มีพื้นที่ป่าไม้ปกคลุมไว้อย่างน้อย 60% ของพื้นที่ประเทศตลอดเวลา”
 

 
และท่านนายกฯ ซึ่งใช้เวลาบรรยายไม่ถึง 19 นาทีดี ได้ให้ทั้งสาระ และข้อมูลที่น่าสนใจมากว่าปัจจุบัน ประเทศภูฏานซึ่งมีประชากรเพียง 7 แสน 5 หมื่นคน มีพื้นป่าที่ยังบริสุทธิ์อยู่ถึง 72% ของพื้นที่ประเทศ คือ มากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดขั้นต่ำ ต้นไม้เหล่านี้จึงทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าที่ชาวภูฏานปล่อยหลายเท่าตัว นอกจากนี้ ประเทศภูฏานยังได้ส่งออกไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังน้ำไปให้ประเทศเพื่อนบ้านถึง 3 เท่าของไฟฟ้าที่ชาวภูฏานใช้

นอกจากนี้ ท่านยังได้เรียนต่อผู้ฟังว่า “ประเทศภูฏานมีจีดีพีเพียง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผมรู้ว่าบางท่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้มีรายได้มากกว่านี้ แต่ชาวภูฏานจะได้รับการศึกษาฟรี การรักษาพยาบาลฟรีด้วย”

ผมได้ตรวจสอบแล้วครับ พบว่า เรื่องการศึกษาฟรี และเรื่องการรักษาพยาบาลฟรีอยู่ในมาตรา 9 ว่าด้วย “แนวนโยบายหลักแห่งรัฐ (Principles of State Policy)” แต่จะฟรีขนาดไหนผมไม่ขอลงรายละเอียด

ท่านนายกฯ ต๊อบเกย์ ได้ฉายภาพที่ประเทศถูกน้ำท่วมอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจากปัญหาโลกร้อน พร้อมกับตั้งคำถามว่า “ทำไมชาวภูฏานซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดโลกร้อนแต่อย่างใด แต่ต้องมารับผลกระทบที่รุนแรง น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม”

“เราไม่ได้นั่งเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย เรากำลังต่อสู้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือ เราจึงได้ให้สัญญาว่า ประเทศนี้จะสมดุลเรื่องคาร์บอน (Carbon Neutral) เราได้ยกมือขึ้นสัญญาในเรื่องนี้ตั้งปี 2552 ที่โคเปนเฮเกน แต่ไม่มีใครสังเกตรัฐบาลทั้งหลายในโลกก็ยุ่งมาก และมัวแต่ถกเถียง และกล่าวโทษซึ่งกันและกัน แต่เมื่อประเทศเล็กๆ และยากจนยกมือขึ้นว่าจะรักษาสมดุลด้านคาร์บอน ก็ไม่มีใครได้ยิน ไม่มีใครสนใจ คราวนี้ที่กรุงปารีสทุกคนได้ยิน”

“อะไรคือความแตกต่างที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส รัฐบาลต่างๆ ออกมายอมรับความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีความตั้งใจจะทำงานร่วมกัน ทุกประเทศจากที่เล็กมากๆ จนถึงใหญ่มากๆ ได้สัญญาร่วมกันว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

“ประเทศภูฏาน มีโครงการจะใช้รถยนต์ไฟฟ้า ใช้หลอดไฟ LED สำนักงานของรัฐบาลพยายามจะไม่ใช้กระดาษ และมีโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมอีก”
 

 
ด้วยความที่อยากจะรู้ว่า ทำไมประเทศเล็กๆ ที่ถูกแซนด์วิชด้วยประเทศขนาดยักษ์ของโลกคือ จีน และอินเดีย และพื้นที่เต็มไปด้วยภูเขา จึงได้มีความคิดที่ก้าวหน้า และมีเหตุมีผลมากขนาดนี้ ผมจึงได้คำตอบจากวิกีพีเดีย ความว่า

รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ประกาศใช้ตั้งแต่กลางปี 2551 โดยผ่านการวางแผนอย่างพิถีพิถันโดยข้าราชการ และองค์กรต่างๆ นานเกือบ 7 ปี ท่ามกลางการปฏิรูปประชาธิปไตยของภูฏาน โดยที่แนวคิดหลักของรัฐธรรมนูญอยู่บนหลักปรัชญาพุทธศาสนา และหลักสิทธิมนุษยชนสากล รวมทั้งการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญยุคใหม่ของประเทศต่างๆ กว่า 20 ฉบับ มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ มีการศึกษากฎหมายที่มีอยู่ ตลอดจนขนบธรรมเนียมที่มีมาก่อน

เว็บไซต์นี้อ้างว่า จากความเห็นของเจ้าหญิง Princess SonamWangchuck (วัย 35 พรรษา) ว่า คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับอิทธิพลมาจากรัฐธรรมนูญของประเทศแอฟริกาใต้ เพราะประเทศนี้มีการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มแข็ง

โบราณว่า ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง! แล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ แต่ก่อนอื่นผมขอสรุปเรื่องของประเทศภูฏานที่ผมได้นำมาเล่าก่อนนะครับ

เขาเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง นอกจากจะยึดหลักคุณค่าของความเป็นมนุษย์อยู่เหนือสมมติทางวัตถุแล้ว เขายังได้ร่วมต่อสู้กับปัญหาสำคัญร่วมของโลกอย่างกล้าหาญ ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ นอกจากจะมีการศึกษาวิเคราะห์ เปรียบเทียบอย่างพิถีพิถันแล้ว ยังมีการรับฟังเสียงของประชาชน

ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ประเทศไทยเรากำลังดำเนินการภายใต้อำนาจของ คสช. ทั้งๆ ที่เราควรจะพีถีพิถันในการค้นหาสาเหตุของปัญหาในอดีตอย่างจริงจัง แล้วร่วมมือกับภาคประชาชนเพื่อค้นหาคำตอบโดยใช้หลักอริยสัจ 4 แต่กลับปิดห้องเขียนกันเอง เมื่อถึงเวลาต้องทำประชามติก็ใช้วิธี “ปรนัย” คือ กาถูกหรือผิด โดยไม่เปิดโอกาสให้ใช้เหตุผลเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันก่อนเลย

บางท่านอาจจะรู้สึกท้อต่อสังคมไทย (เหมือนๆ กับผมในบางเวลา) แต่...

ลองดูภาพข้างล่างนี้ครับ เป็นโดมิโนที่เรียงกันอย่างพอเหมาะพอดี อันใหญ่ที่สุดสูงกว่า 1 เมตร หนัก 45 กิโลกรัม อันเล็กที่สุดมีขนาด 5 มิลลิเมตร หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของเล็บนิ้วก้อย แต่สามารถทำให้ก้อนใหญ่ และหนักที่สุดต้องล้มตึงลงได้
 

 
ในโลกทุกวันนี้ พลังการสื่อสารที่เคยถูกผูกขาดโดยทุนใหญ่ได้ถูกเคลื่อนมาอยู่ในมือของคนที่เล็กที่สุด และระบบพลังงานผูกขาด (ที่สนับสนุนทุนการสื่อสาร) กำลังถูกแทนที่ด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่คนที่เล็กที่สุดสามารถเข้าถึงได้ เมื่อคนเล็กๆ ตื่นรู้ แล้วอำนาจที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายจะล้มลงได้อย่างง่ายดาย เหมือนกับโดมิโนในรูป

นี่คือ ความคิดที่มีคุณค่าต่อการเผยแพร่ หรือ Ideas Worth Spreading ครับ อ้าวช่วยกันหน่อยครับ อย่าปล่อยให้โอกาสดีๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติต้องหลุดลอยไปโดยที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมเลยครับ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น