เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงของจีนรายหนึ่งได้รับเลือกเป็นประธานตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) เป็นครั้งแรกในวันพฤหัสบดี (10 พ.ย.) กระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่านักเคลื่อนไหว ที่บอกว่าปักกิ่งอาจใช้หน่วยงานนี้ไล่ล่าฝ่ายต่อต้านที่อยู่ในต่างแดน
นายเม่ง หงเว่ย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าคนใหม่ขององค์การตำรวจโลก ณ ที่ประชุมสมัชชาประจำปีในเกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย ตามคำแถลงจากสำนักงานใหญ่ของอินเตอร์โพลในฝรั่งเศส
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่จีนคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้ โดยจะรับตำแหน่งต่อจากนางมิเรล บาเลสตราซี ชาวฝรั่งเศส
ในขณะที่มันอาจช่วยสนับสนุนความพยายามของจีนในการไล่ล่าบุคคลที่พวกเขากล่าวอ้างว่าเป็นอาชญากรทางเศรษฐกิจแล้วหนีไปต่างประเทศ ส่วนหนึ่งของการผลักดันต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ กังวลว่าความตั้งใจของปักกิ่งอาจมีมากกว่านั้น
“เป็นความรู้สึกที่กังวลมานานแล้วว่าจีนกำลังใช้อินเตอร์โพลจับกุมฝ่ายต่อต้านและพวกที่ลี้ภัยในต่างแดน” วิลเลียม นี นักวิจัยชาวจีนขององค์การนิรโทษกรรมสากลบอกกับเอเอฟพี “เรามองย้อนไปยังคดีต่างๆ ในอดีต จีนละเมิดระบบของอินเตอร์โพล ด้วยการเล็งเป้าหมายไปยังผู้ขัดขืนชาวอุยกูร์โดยเฉพาะ ซึ่งเท่าที่เรารู้ พวกเขาไม่ได้ก่ออาชญากรรมใดๆ ภายใต้มาตรฐานสากล มันเป็นแบบอย่างที่น่ากังวล”
ชนกลุ่มน้อยอุยกูร์มุสลิมในมณฑลซินเจียงของจีนคร่ำครวญมานานเกี่ยวกับการถูกกดขี่ทางศาสนาและวัฒนธรรม โดยช่วงไม่กี่ปีที่่ผ่านมาจำนวนมากตัดสินใจหลบหนีออกจากมณฑลทางตะวันตกเฉียงเหนือแห่งนี้ และมักมุ่งหน้าสู่เอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีนเสาะหาความช่วยเหลือจากนานาชาติสำหรับแผนการลับในการไล่ล่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรทางธุรกิจที่หลบหนีอยู่ในต่างแดน ในนั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่พัวพันการคอร์รัปชัน หรือที่เรียกว่าปฏิบัติการล่าสุนัขจิ้งจอก (Operation Fox Hunt) ซึ่งพวกเขาสามารถดักจับเหล่าผู้หลบหนีได้จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ปฏฺิบัติการดังกล่าวก่อข้อถกเถียงในบางชาติ โดยประเทศเหล่านั้นบอกว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของจีนปฏิบัติการลับในแผ่นดินของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือยินยอมจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
ลู่ คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แสดงความยินดีกับนายเม่ง พร้อมย้ำว่าจีนจะประสานงานและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอินเตอร์โพลและเหล่ารัฐสมาชิก
หลังจากเข้ารับอำนาจในปี 2012 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ดำเนินการกวาดล้างคอร์รัปชันขนาดใหญ่ นำไปสู่การลงโทษเจ้าหน้าที่กว่า 1 ล้านคน แม้มันก่อคำถามว่าเขาเป็นประธานาธิบดีนักปฏิรูปหรือกำลังดำเนินการชำระล้างทางการเมืองอย่างอำมหิตกันแน่