xs
xsm
sm
md
lg

ดอกเตอร์บนแปลงเกษตร ต้นแบบความสำเร็จของคนปลูกข้าว : ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เพราะทุน “ภูมิพล” จากองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้เขาสามารถเรียนหนังสือได้จนจบและกลายเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าคนหนึ่งในสังคม

ณ เวลานี้ ถ้าพูดถึงวงการข้าวเกษตรอินทรีย์อีสาน คงไม่มีใครไม่รู้จัก ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน และผู้จัดการสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ร้อยเอ็ด จำกัด ครอบคลุมจังหวัดในภาคอีสานหลายจังหวัด

เมื่อช่วงต้นปี ดร.รณวริทธิ์ ได้รับรางวัล Smart Farmer สาขานวัตกรรมการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นรางวัลของ กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน สำนึกรักบ้านเกิด และบริษัท โทเทิลแอคเซสคอมมินิเคชั่น จำกัด หรือ DTAC ซึ่งจัดขึ้นประจำทุกปี

และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา เขาก็จะได้รับรางวัลเกียรติยศ “เพชรพาณิชย์” สาขาผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร เนื่องในวันสถาปนากระทรวงพาณิชย์ครบ 96 ปี โดยมีคุณอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานในพิธี และคุณชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในการจัดงาน

จุดเริ่มต้น “คนของพ่อ”

เพราะความที่เป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ในวัยเด็ก ทำให้เขาต้องดิ้นรนต่อสู้ชีวิตเพื่อความอยู่รอด เขาจึงเป็นเด็กที่ขยัน มุ่งมั่น อดทน และไม่ย่อท้อในการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังฝักใฝ่ในการเรียน ทำให้เขาสามารถสอบชิงทุน “ภูมิพล” ซึ่งเป็นทุ่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นเงินรางวัลเรียนดีแก่นิสิต นักศึกษา และเป็นเงินทุนอุดหนุนการศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา ที่เรียนดีและขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นต้นมา

ในขณะนั้น ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สอบชิงทุนได้เป็นอันดับที่ 2 ของมหาวิทยาลัย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ ดังนั้น ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล จึงมีในหลวงเป็นหลักชัยและแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตของเขาตลอดมา

“ชีวิตเด็กบ้านนอกคนหนึ่งมีพ่อหลวงเป็นหลักชัย ในวันที่ผมไม่มีใคร ผมมีพ่อหลวงให้การศึกษา ให้อนาคต ทำให้ผมมีโอกาสได้ดูแลน้องอีก 5 คนของผม และได้รับโอกาสอันดีนี้ด้วย ทุกคนจบปริญญาตรีและประกอบอาชีพสุจริต เป็นพสกนิกรที่ดีของพระองค์ท่าน เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ และเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม เป็นจิตสำนึกที่ผมต้องน้อมนำมาสานต่อ มาปฏิบัติ และขยายผลให้มากมายหลากหลายและกว้างไกลที่สุด เพื่อลดปัญหาที่พระองค์ท่านหนักพระทัยยิ่ง นั่นคือปัญหาความยากจนของพสกนิกรของพระองค์ท่าน ผมจึงก้าวมาทำงานในจุดนี้ด้วยกำลังใจและความมุ่งมั่น”

จุดพลิกผัน สู่การเกษตรอินทรีย์

หลังจากจบการศึกษาและยึดอาชีพครูมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ก็ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรและนักวิชาการ เริ่มถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจอย่างเต็มตัว

“ข้าว มาจากคำว่า “สุโทธนะ” แปลว่า “ทรัพย์” หมายถึง ผู้ให้ชีวิตอันประเสริฐ คำถามคือ แล้วการที่เราปลูกข้าวบนพื้นฐานการใช้สารเคมี และตกค้างอยู่ในข้าว คนกินข้าว สารเคมีเหล่านั้นเป็นสารก่อมะเร็งและโรคภัยต่างๆ มากมาย เราเป็นผู้ให้ชีวิตอันประเสริฐ จริงหรือ? หรือเราเป็นฆาตกรเลือดเย็นกันแน่ การสะสมสารเคมีในร่างกายมนุษย์อันเป็นผลมาจากการกินข้าวของเรา เรากำลังทำให้คนเหล่านั้น “ตายผ่อนส่ง” เลือดเย็นแน่นอน

“คิดดังนั้น ผมจึงหันหลังให้กับการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรโดยสิ้นเชิง แต่ไม่เลิกทำนาโดยเด็ดขาด ผมต้องใช้หนี้ชีวิตนี้ให้หมด ไถ่บาปนี้ให้สิ้น และมีมาตรการเดียวคือทำข้าวอินทรีย์และต้องมีการตรวจประเมินรับรองจากองค์กรที่ 3 ตามมาตรฐานที่มีกฎหมายรับรอง นอกจากจะทำให้ชาวนาพ้นวิกฤตราคาข้าวแล้ว ประชาชนคนไทย และชาวนาเองยังจะได้กินข้าวที่ปราศจากสารเคมีเจือปนเพื่อจะได้มี “ชีวิตอันประเสริฐ” ตามความหมายของที่ถูกต้องของคำว่า “ข้าว”

หัวใจ 4 ข้อ ของเกษตรอินทรีย์

จากจุดเริ่มต้นในการทำเกษตรอินทรีย์ที่สวนกระแสกับการทำเกษตรเคมี ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นและขยันหมั่นเพียร ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดที่มีพลิกฟื้นเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร

“เกษตรอินทรีย์ ในความหมายของผมคือ ต้องมีมาตรฐานรับรอง เรื่องคุณภาพไม่ต้องห่วง ชาวนาเราเก่งอยู่แล้ว ทำได้ดีเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก แต่มาตรฐานกลับไม่ใส่ใจ จุดนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ผมต้องทำเป็นงานเร่งด่วนอันดับ 1 คือ ปรับเปลี่ยนที่ใจของเกษตรกรให้เกิดการยอมรับในการจัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างมีขั้นตอนและยึดมั่นใน 4 หลักการใหญ่ คือ

1. หลักสุขภาพ (Health) การทำเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากลต้องยึดสุขภาพองค์รวมของผู้เกี่ยวข้อง หรือ steak holder เป็นสำคัญรวมถึงดิน น้ำ ลม ฟ้าอากาศด้วย

2. หลักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Ecology) เกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากลคือการบริหารจัดการแปลงเกษตรของเราเองให้มีระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์นั่นเอง

3. หลักความเป็นธรรม (Fairness) คือการให้ความเสมอภาคและเคารพในศักดิ์ของสิ่งมีชีวิต ในโลก โดยเสมอหน้า ให้ความสำคัญและความเป็นธรรมตลอดสายการผลิต

4. หลักการเอาใจใส่ (Care) ผู้ผลิตข้าวจะต้องเอาใจใส่ทุกขั้นตอน from farm to dish ถือเป็นหัวใจหลักของทุกหลักการทั้ง 4 ข้อและเป็นแนวปฏิบัติที่พ่อเจ้าอยู่หัวทรงเน้นให้ทุกคนตระหนักอยู่ตลอดเวลาในการประกอบอาชีพการงาน

จากนั้นก็ต้องมีการเก็บข้อมูลรายแปลงเพื่อจัดทำฐานข้อมูล (Data Base) และระบบควบคุมภายใน หรือ ICS (Internal Control System) เสนอต่อองค์กรผู้ตรวจประเมินจากภายนอก หรือที่เรียกกันว่า Third Party หรือ CB (Certify Body) เข้ามาตรวจประเมินรับรองตามตัวชี้วัดต่อไป ซึ่งต้องทำเป็นประจำทุกปีมิได้ขาด

“การผลิตนำการตลาด”
กลยุทธ์ที่ต้องใส่ใจ

นอกจากความรู้ความสามารถในด้านนักวิชาการอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์แล้ว ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ก็ยังมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน และผู้จัดการสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ร้อยเอ็ด จำกัด ครอบคลุมจังหวัดในภาคอีสานหลายจังหวัด

“หลักคิดที่พ่อเจ้าอยู่หัวให้ไว้คือ คิดให้รอบคอบก่อนลงมือทำ และทำแต่พอทำได้ อย่าให้เหลือกำลัง ผมใช้กลยุทธ์ “การผลิตนำการตลาด” คือผลิตแล้วต้องขายได้ อย่าผลิตแล้วเที่ยวไปหาขาย มันบีบหัวใจ เราทำสินค้าที่เน้นกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ดังนั้น การนำเสนอสินค้า ก่อนการลงมือผลิตจึงทำให้เราทราบ คุณภาพ ปริมาณ และราคา ที่ลูกค้าต้องการแล้วค่อยมาประชุมปรึกษาหารือกับสมาชิกก่อนทำการปลูก จะทำให้สินค้าพอดีขายกับลูกค้าประจำ อาจขาดนิดหน่อยสำหรับลูกค้าจร นั่นคือ “ไม่พอขาย ดีกว่าขายไม่หมด” นั่นเป็นหลักคิดจากพ่อเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น”

เพราะ “พ่อสอน”
ให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

“ความหวังอันสูงสุดคือ สร้างแนวทางให้ชาวนาหรือเกษตรกร ซึ่งเป็นพสกนิกรของพระองค์ท่านสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่มีหนี้สิน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง หรือนักธุรกิจที่ไร้คุณธรรม และหวังในเรื่องส่วนตัวและครอบครัวคือหวังให้ “ลูก” สืบทอดปณิธานของ “พ่อ” ต่อไป เพราะเป็นการสืบทอดแนวทางตามพระราชดำริของ “พ่อเจ้าอยู่หัว” ผู้บันดาลให้มีวันนี้สำหรับครอบครัวเรา นั่นเองครับ”

“ทำดี ทำถูก ก็ทำไปเถอะ
คนไม่เห็นเทวดาก็เห็น”

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ได้รับรางวัลเกียรติยศ ระดับชาติ “Smart Farmer” ด้านนวัตกรรมการแปรรูปน้ำมันรำข้าวอินทรีย์ และรางวัล “เพชรพาณิชย์” ไปหมาดๆ สาขาผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรเนื่องในวันสถาปนากระทรวงพาณิชย์ครบ 96 ปี

“แรกทีเดียว เราไม่คิดว่าจะมีคนมาสนใจ เพราะสิ่งที่เราทำมัน “สวนกระแส” แต่ก็ทำไปตามความมุ่งมั่นและความเป็นจริง คือต้องทำต้องผลิตสินค้าจากทุกส่วนของข้าวอินทรีย์ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าและมีมูลค่าให้มากที่สุด เพราะนี่คือ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของแท้ของพ่อเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงใช้ยาสีฟันจนหยดสุดท้าย หลอดยาสีฟันรีดแบบเป็นกระดาษ ผมก็ต้องเอามาเป็นแบบอย่าง “Zero West” สุดท้ายก็มีคนเห็น คนเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับใครแข่งกับตนเองนี่แหละ

“อีสานบ้านผมเขาว่าทำดี ทำถูก ก็ทำไปเถอะ คนไม่เห็นเทวดาก็เห็น อันนี้เป็นจริงแน่นอน ทั้งสองรางวัลในปีนี้นำมาซึ่งความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งตนเอง ครอบครัว และญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล สิ่งที่แน่นอนกว่ารางวัลทั้งสอง คือต้องทำต่อไปและทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปครับ”

“อย่าคิดแบบคนสิ้นคิดว่าทำไม่ได้
มันเพียงแต่ทำยาก”

ในฐานะชาวนาไทยที่ี่เรารู้จักกันว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ที่ปลูกข้าวหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปมาก

“พ่อเจ้าอยู่หัวสอนให้เรารู้จักบูรณาการ คือใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยสมัยเก่า จะทำให้ชีวิตเราอยู่ได้อย่างมีคุณภาพและศักยภาพ อย่างปลูกข้าวแบบไม่ใส่ใจ ปลูกเห่อตามกระแส ภูมิปัญญาเรามีมาแต่เดิมสร้างคุณภาพได้ไม่แพ้ใคร เอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับ นานาชาติ อย่าคิดแบบคนสิ้นคิดว่า “ทำไม่ได้” มันเพียงแต่ทำยาก ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ เมื่อทำได้แล้วก็จะเกิดความชำนาญ กลายเป็นทักษะ ที่สุดแล้วจะพัฒนามาเป็นวิถีชีวิต

“สมาชิกเครือข่ายฯ ของเราที่ทำกันอยู่ พวกเราไม่เคยตกเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องมาอุ้มชู ช่วยเหลือ หรือประกันราคาอะไรกับเราเลย เราดูแลตนเองได้ ช่วยตนเองได้ เราพึ่งตนเองได้ ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรก็ Set Zero ต้อง Zero จริงๆ นะครับ แม้แต่ใจยังต้องทำให้ว่างให้ได้ แล้วก้าวเข้ามา เราพร้อมจะร่วมงานกับทุกภาคส่วนตลอดเวลาครับ อยากให้ชาวนากลุ่มอื่นๆ หรือหน่วยงานของรัฐหันมาใส่ใจส่งเสริม บ้าง แล้วจะรู้ว่ามันไม่ยากอย่างที่คิด”

ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ถือเป็นตัวอย่างและแบบอย่างที่ดีในการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ยึดแนวทางตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร ปลูกข้าวหอมมะลิปลอดสารเคมี และนำมาผลิตสินค้าหลากหลายชนิดจนเป็นที่รู้จัก เป็นเจ้าของอาณาจักร “กฤษณกรณ์ฟาร์ม” มีศูนย์จำหน่ายถาวรสินค้าอินทรีย์ กระทรวงพาณิชย์ ที่สนับสนุนโดยสำนักงานพาณิชย์ จังหวัดร้อยเอ็ด จำหน่ายสินค้าที่เป็นสินค้าอินทรีย์แปรรูปอย่างหลากหลาย มีมาตรฐานรองรับทั้งในประเทศไทยและระดับสากล ซึ่งข้าวหอมมะลิร้อยเอ็ดของเครือข่ายนี้โด่งดังไปทั่วโลก จนพ่อค้าข้าวชาวยุโรป อาทิ สเปน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน สนใจเดินทางมาดูงานและทำสัญญาซื้อขายถึงแปลงนา

สนใจข้าวเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเครือข่ายชาวนาเกษตรอินทรีย์อีสาน และชมพื้นที่ปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ ได้ที่ แปลงนาอินทรีย์ ที่ “กฤษณกรณ์ฟาร์ม” บ้านชาด หมู่ที่ 4 ต.หนองพอก อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด


เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม

กำลังโหลดความคิดเห็น