xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานอบรม “ชาวนา” เป็น “Smart Farmers” สอนเทคนิคขายข้าวออนไลน์ ประสาน “โรงงาน” เปิดรับออเดอร์ซื้อข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน เร่งช่วย “ชาวนา” แก้ราคาข้าวตกต่ำ ประสานโรงงาน - ลูกจ้าง เปิดรับออเดอร์ “ข้าว” โดยตรง ช่วยลูกจ้างได้ข้าวราคาเหมาะสม เกษตรกรอยู่ได้ ไม่ขาดทุน พร้อมจัดอบรมชาวนาเป็น Smart Farmers สอนใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์ การใช้เว็บช่วยขายข้าวทั่วโลก เพิ่มช่องทางจำหน่าย ไม่ต้องถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง พร้อมช่วยจัดหางานรองรับหลังฤดูเก็บเกี่ยว

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำในปัจจุบัน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรชาวนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือ โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการทันที ทั้งนี้ กสร. ได้สั่งการให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตใน กทม. ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยแรงงาน เข้าไปติดต่อนายจ้าง สถานประกอบกิจการ และนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อสอบถามความต้องการซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยตรงของลูกจ้าง และสถานประกอบกิจการนั้นๆ โดย กสร. จะเป็นตัวกลางในการประสานกับพาณิชย์จังหวัด เพื่อนำข้าวมาจำหน่ายให้กับลูกจ้างตามความต้องการ เพื่อให้ลูกจ้างได้ซื้อข้าวในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรให้สามารถอยู่ได้ ไม่ขาดทุน

นายสุเมธ กล่าวว่า เบื้องต้นสถานประกอบกิจการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สระบุรี ได้แสดงความจำนงสั่งซื้อข้าวมาแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมจำนวนการสั่งซื้อเพื่อจัดส่งข้าวถึงสถานประกอบกิจการโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ประสานให้เกษตรกรนำข้าวมาจำหน่ายในกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ กสร. ได้ร่วมแสดงน้ำใจในการช่วยเหลือ สนับสนุนและเป็นกำลังใจให้แก่กลุ่มเกษตรที่กำลังเดือดร้อนในปัจจุบันด้วย ซึ่งเพียงวันแรกมียอดสั่งซื้อข้าวผ่าน กสร. ทั่วประเทศแล้วกว่า 40 ตัน

ด้าน นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ส่วนของ กพร. จัดให้มีการอบรมเกษตรกร ภายใต้โครงการ “DSD Smart Farmers” เนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วย 1. เทคนิคการคัดเลือกสินค้าเกษตรที่จะขาย 2. เครื่องมือ Marketing online นำสินค้าไปขายทั่วโลก 3. ขั้นตอนการใช้ Alibaba.com สำหรับส่งขายทั่วโลก 4. เทคนิคและขั้นตอนการส่งออกสินค้าทางการเกษตร และ 5. ตลาดออนไลน์ CLMV (กัมพูชา, ลาว, พม่า, เวียดนาม) ซึ่งใช้เวลาในการฝึกอบรมเพียง 3 วัน (18 ชั่วโมง) เท่านั้น เนื่องจากเกษตรสามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรได้มาก แต่ขาดช่องทางในการจำหน่าย ทำให้พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคา ส่งผลให้สินค้าทางการเกษตรตกต่ำ และด้วยปัจจุบันเป็นยุค Digital Technology Thailand 4.0 มีระบบการบริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ จึงได้รวมกลุ่มเกษตรกรที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาตนเอง ซึ่งเป็นผู้นำในกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ เข้าอบรมในหลักสูตร “การใช้ Smart Farmer Application Digital Technology Thailand 4.0 พาเกษตรกรไทย ค้าขายก้าวไกล ไร้พรมแดน” และเริ่มนำร่องเป็นแห่งแรกแล้วที่จังหวัดเลย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป โดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเลย บูรณาการร่วมกับสำนักงานเทศบาลเมืองเลย ตามแนวทาง “ประชารัฐ” โดยเน้นการปฏิบัติจริง ทำจริง และขายได้จริง เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดโลก ค้าขายทั้งในประเทศ และกลุ่มอาเซียน เพื่อจะก้าวสู่ตลาดโลกอย่างไร้พรมแดน

นายธีรพล กล่าวว่า การอบบรมหลักสูตรดังกล่าว เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยและชุมชน นำไปสู่กระบวนการปรับตัวเข้าสู่สังคม Digital Technology 4.0  อีกทั้งให้ความรู้แก่เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองตามแนวปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้ พร้อมทั้งจัดหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพิ่มเติมด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้แก่ผู้สนใจการฝึกอาชีพต่างๆ เช่น ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์การเกษตร ฯลฯ เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพเสริม สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ผู้สนใจติดต่อได้ที่ สถาบัน/ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ใกล้บ้านท่าน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 245 4035

ด้าน นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมหอการค้าแห่งประเทศไทย ตลอดจนนายจ้างและสถานประกอบการเพื่อจัดหาตำแหน่งงานว่างตามความเหมาะสมและความถนัดในพื้นที่ไว้รองรับหลังจากว่างเว้นจากฤดูเก็บเกี่ยวเป็นอาชีพเสริมจำนวนหลายตำแหน่ง/หลายพื้นที่ เช่น คนงานช่วยปฏิบัติงานเกษตร ผู้ใช้แรงงานในฟาร์ม แรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์ พนักงานทำความสะอาด พนักงานซักล้าง รีดเสื้อผ้า พนักงานรักษารถ แม่บ้าน เป็นต้น พร้อมจัดเจ้าหน้าที่และประสานอาสาสมัครแรงงาน/บัณฑิตแรงงานในพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำ แนะแนวอาชีพ ให้ข้อมูลการประกอบอาชีพอิสระ การรับงานไปทำที่บ้าน การหางานทำ และประสานกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการจัดหลักสูตรฝึกอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น